เซมินารี
บทที่ 72: หลักคำสอนและพันธสัญญา 66


บทที่ 72

หลักคำสอนและพันธสัญญา 66

คำนำ

หลังจากวิลเลียม อี. แม็คเลลลินรับบัพติศมาในฤดูร้อน ปี 1831 เขายอมรับการเรียกให้สั่งสอนพระกิตติคุณ ในเดือนตุลาคม เขาเดินทางไปโอไฮโอเพื่อเข้าร่วมการประชุมใหญ่ของศาสนจักร ที่นั่นเขาพบศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ และวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1831 เขาขอให้โจเซฟ สมิธทูลถามพระเจ้าแทนเขา เพื่อตอบคำขอนี้ พระเจ้าประทานการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 66 การเปิดเผยนี้ประกอบด้วยคำแนะนำที่เจาะจงเกี่ยวกับจุดยืนทางวิญญาณของบราเดอร์แม็คเลลลิน การเรียกให้เขาสั่งสอนพระกิตติคุณ และแนวโน้มที่เขาจะได้รับพรยิ่งใหญ่

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 66:1–3

พระเจ้าทรงประกาศว่าวิลเลียม อี. แม็คเลลลินได้รับพรเพราะเขารับพระกิตติคุณ

ก่อนชั้นเรียน ให้ลอก แผนภาพต่อไปนี้ ไว้บน กระดาน

ภาพ
แผนภาพลายเส้น

ขณะเริ่มชั้นเรียน ขอให้นักเรียนสำรวจแผนภาพบนกระดาน ขอให้พวกเขาไตร่ตรองในใจว่าพวกเขาจะวางตนเองไว้ตรงจุดใดของแผนภาพ เสนอแนะให้พวกเขาพิจารณาเช่นกันว่าพวกเขากำลังเคลื่อนไปทางใด—เข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นหรือออกห่างจากพระองค์ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด ขอให้ชั้นเรียนฟังวิธีต่างๆ ที่เราจะเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้าได้มากขึ้น

ภาพ
ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์

“หากท่านต้องการอยู่ใกล้คนที่ท่านรัก แต่ท่านอยู่แยกจากพวกเขา ท่านรู้ว่าจะทำอย่างไร ท่านจะหาวิธีพูดกับพวกเขา ท่านจะฟังพวกเขา ท่านจะค้นหาวิธีทำสิ่งต่างๆ ด้วยกัน ยิ่งทำเช่นนี้บ่อยเพียงใด สายสัมพันธ์จะยิ่งยืนนานและลึกซึ้งขึ้นเพียงนั้น หากเวลาล่วงเลยไปมากโดยไม่พูด ไม่ฟัง และไม่ทำ สายสัมพันธ์จะคลายลง

“พระผู้เป็นเจ้าทรงดีพร้อมและทรงมหิทธิฤทธิ์ ส่วนท่านและข้าพเจ้าเป็นมรรตัย แต่พระองค์ทรงเป็นพระบิดาของเรา ทรงรักเรา และทรงมอบโอกาสเดียวกันให้เราเข้าใกล้พระองค์เสมือนเพื่อนรัก และท่านจะทำวิธีที่คล้ายกันมาก คือ พูด ฟัง และทำ” (“To Draw Closer to God,” Ensign, May 1991, 66)

  • ตามที่ประธานอายริงก์กล่าว เราจะเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นได้อย่างไร ท่านคิดว่าพูด ฟัง และทำหมายความว่าอย่างไร

อธิบายว่าในยุคแรกของศาสนจักร ชายคนหนึ่งชื่อวิลเลียม อี. แม็คเลลลินเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นเมื่อเขาเรียนรู้เกี่ยวกับพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู เขารับบัพติศมาวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1831 ไม่นานหลังจากนั้น เขาได้รับการวางมือแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์ และเขาไปเป็นผู้สอนศาสนาคู่กับไฮรัม สมิธสามสี่สัปดาห์ ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1831 เขาเดินทางไปโอไฮโอเพื่อร่วมการประชุมใหญ่ของศาสนจักร ขณะอยู่ที่นั่น เขาพบศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ วันที่ 29 ตุลาคม บราเดอร์แม็คเลลลินสวดอ้อนวอนในที่ลับตาทูลขอให้พระเจ้าทรงเปิดเผยคำตอบของคำถามห้าข้อผ่านโจเซฟ สมิธ บราเดอร์แม็คเลลลินขอการเปิดเผยโดยไม่บอกคำถามให้โจเซฟ สมิธรู้ ขณะที่ท่านศาสดาพยากรณ์บอกให้จดการเปิดเผยที่พบใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 66 บราเดอร์แม็คเลลลินพบว่าเขาได้รับคำตอบของคำถามแต่ละข้อ พระเจ้าประทานคำแนะนำและคำเตือนเพื่อช่วยให้เขาซื่อสัตย์และได้รับชีวิตนิรันดร์ในท้ายที่สุด

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 66:1–2 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาเหตุผลที่พระเจ้าประทานพรบราเดอร์แม็ลเลลลิน ณ เวลาของการเปิดเผยนี้

  • เหตุใดบราเดอร์แม็คเลลลินจึงสามารถรับพรจากพระเจ้า (เพราะเขาหันหลังให้บาปของเขา รับความจริงของพระเจ้า และรับความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณ)

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 66:3 ในใจโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าตรัสว่าบราเดอร์แม็คเลลลินยังต้องทำเพื่อให้พระองค์พอพระทัย ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่เรียนรู้

  • ท่านคิดว่า “สะอาด, แต่ไม่ทั้งหมด” หมายความว่าอย่างไร (ท่านอาจต้องช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าถึงแม้บราเดอร์แม็คเลลลินก้าวหน้ามากและได้รับพรเพราะความพยายามของเขา แต่เขายังต้องกลับใจจากบาปบางอย่าง)

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจากคำแนะนำของพระเจ้าใน ข้อ 3 (นักเรียนควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้: เราได้รับบัญชาให้กลับใจจากบาปทั้งหมดของเรา เขียนหลักคำสอนนี้ไว้บนกระดาน)

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องกลับใจจากบาปทั้งหมดของเรา ไม่ใช่แค่บาปบางอย่าง

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ข้อ 3 ในใจอีกครั้งโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าจะทรงทำเพื่อช่วยให้วิลเลียม อี. แม็คเลลลินกลับใจจากบาปทั้งหมดของเขา

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากข้อนี้เกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าจะทรงช่วยเราในการกลับใจของเรา (นักเรียนควรกล่าวถึงหลักธรรมต่อไปนี้: พระเจ้าจะทรงแสดงให้เราเห็นสิ่งที่เราต้องกลับใจ เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

  • พระเจ้าจะทรงแสดงให้เราเห็นสิ่งที่เราต้องกลับใจด้วยวิธีใดบ้าง

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ ขอให้ชั้นเรียนฟังวิธีหนึ่งที่เราสามารถทูลขอพระเจ้าให้ทรงช่วยเรากลับใจ

ภาพ
ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์

“คำถามข้อหนึ่งที่เราต้องทูลถามพระบิดาบนสวรรค์ของเราในการสวดอ้อนวอนส่วนตัวคือ ‘วันนี้ข้าพระองค์ได้ทำหรือไม่ได้ทำอะไรที่ทำให้พระองค์ไม่พอพระทัย ขอเพียงข้าพระองค์ได้รู้ ข้าพระองค์จะกลับใจด้วยสุดใจโดยไม่ผัดวัน’ การสวดอ้อนวอนด้วยความนอบน้อมเช่นนั้นจะได้รับคำตอบ” (“อย่าผัดวัน,” เลียโฮนา, ม.ค. 2000, 40)

กระตุ้นให้นักเรียนนึกถึงพรที่พวกเขาได้รับเมื่อพวกเขาหันหลังให้บาปและรับพระกิตติคุณ เชื้อเชิญให้พวกเขาหมายมั่นจะรู้สิ่งที่ต้องกลับใจทั้งนี้เพื่อพวกเขาจะได้รับพรมากยิ่งขึ้น

หลักคำสอนและพันธสัญญา 66:4–13

พระเจ้าทรงบัญชาให้วิลเลียม อี. แม็คเลลลินสั่งสอนพระกิตติคุณ ละทิ้งความไม่ชอบธรรมทั้งปวง และดำเนินต่อไปอย่างซื่อสัตย์จนกว่าชีวิตจะหาไม่

กลับไปดูคำสัญญาของพระเจ้าว่าจะทรงแสดงให้วิลเลียม อี. แม็คเลลลินเห็นบาปที่เขาต้องกลับใจ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 66:4 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งอื่นที่พระเจ้าทรงสัญญาจะแสดงให้บราเดอร์แม็ลเลลลินเห็น ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • เหตุใดการรู้พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับเราจึงเป็นพร

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ ขอให้แต่ละคู่อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 66:5–9 ด้วยกันโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงต้องการให้บราเดอร์แม็คเลลลินทำ ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 8–9 บราเดอร์แม็ลเลลลินจะได้รับพรอะไรบ้างหากเขาจะทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างซื่อสัตย์ (พระเจ้าจะทรงอยู่กับเขา และจะประทานพรให้เขาสามารถทำให้คนซื่อสัตย์เข้มแข็งและรักษาคนเจ็บป่วยให้หาย)

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับพรที่เราจะได้รับเมื่อเราทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับเรา (นักเรียนควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: หากเราซื่อสัตย์ในการทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า พระองค์จะทรงอยู่กับเราและจะประทานพรเราเพื่อให้เราสามารถทำสิ่งที่ทรงเรียกร้องจากเราได้สำเร็จ เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

อธิบายว่านอกจากประทานคำแนะนำแก่บราเดอร์แม็คเลลลินว่าต้องทำอะไรแล้ว พระเจ้าประทานคำเตือนแก่เขาด้วย ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงสองประโยคแรกของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 66:10 ก่อนนักเรียนอ่าน ชี้ให้เห็นว่าประโยคแรกมีคำว่า แบกภาระจนเกินตัวรวมอยู่ด้วย อธิบายว่าบางครั้งเราแบกภาระจนเกินตัวหากสิ่งนั้นขวางทางเราหรือทำภารกิจให้สำเร็จได้ยากมาก

  • พระเจ้าทรงบัญชาให้บราเดอร์แม็ลเลลลิน “ละทิ้งความไม่ชอบธรรมทั้งปวง” ความไม่ชอบธรรมหรือบาปขัดขวางงานเผยแผ่ศาสนาของบราเดอร์แม็ลเลลลินอย่างไร การกลับใจช่วยให้ท่านเติบโตทางวิญญาณอย่างไร

หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: พระเจ้าทรงต้องการให้เราละทิ้งทุกอย่างที่ขัดขวางความก้าวหน้าทางวิญญาณของเรา

กระตุ้นให้นักเรียนพิจารณาสิ่งต่างๆ ในชีวิตที่อาจกำลังขัดขวางพวกเขา

อ่านออกเสียงประโยคที่สามของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 66:10 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนมองหาคำเตือนเฉพาะเจาะจงที่พระเจ้าประทานแก่บราเดอร์แม็คเลลลิน

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 10 บราเดอร์แม็คเลลลินต่อสู้กับการล่อลวงอะไร

  • จาก ข้อ 10 เราเรียนรู้อะไรได้บ้างในเรื่องความรู้ของพระเจ้าเกี่ยวกับเราแต่ละคน (ช่วยให้นักเรียนเห็นว่า พระเจ้าทรงทราบความท้าทายและการล่อลวงของเราแต่ละคน เฉกเช่นพระองค์ทรงทราบความท้าทายและการล่อลวงของบราเดอร์แม็คเลลลิน ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนความจริงนี้ไว้ข้าง ข้อ 10)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องเข้าใจว่าพระเจ้าทรงทราบความท้าทายและการล่อลวงของเราแต่ละคน

ชี้ให้เห็นว่านอกจากจะทรงทราบความท้าทายและการล่อลวงของเราแล้ว พระเจ้าทรงทราบความเข้มแข็งและความสามารถของเราด้วย พระองค์ทรงทราบทุกอย่างเกี่ยวกับเราแต่ละคน ด้วยความเข้าใจว่าพระองค์ทรงรักเราและทรงรู้จักเราโดยสมบูรณ์ เราจึงสามารถแสวงหาและทำตามพระประสงค์ของพระองค์ด้วยความเชื่อมั่นและความวางใจในพระองค์

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 66:11–13 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำแนะนำเพิ่มเติมที่พระเจ้าประทานแก่วิลเลียม แม็คเลลลิน นอกจากนี้ ขอให้ชั้นเรียนมองหาพรที่พระเจ้าทรงสัญญาหากบราเดอร์แม็คเลลลินจะทำตามคำแนะนำนั้น ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 12 เราต้องทำอะไรจึงจะได้รับชีวิตนิรันดร์ (ช่วยให้นักเรียนรับรู้ว่า หากเราดำเนินต่อไปอย่างซื่อสัตย์จนกว่าชีวิตจะหาไม่ เราจะได้รับชีวิตนิรันดร์) เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

  • การดำเนินต่อไปอย่างซื่อสัตย์จนกว่าชีวิตจะหาไม่มีความหมายต่อท่านอย่างไร

อธิบายว่าเมื่อได้รับการเปิดเผยนี้ บราเดอร์แม็คเลลลินได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู หลังจากได้รับการเปิดเผยนี้ เขาเป็นพยานถึงการเรียกเป็นศาสดาพยากรณ์ของโจเซฟ สมิธ เขากล่าวว่า “โจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์แท้จริง … ของพระเจ้าและ … มีพลังอำนาจและได้รับการเปิดเผยจากพระผู้เป็นเจ้า” (จดหมายจากวิลเลียม อี. แม็คเลลลินถึงญาติๆ, 4 ส.ค., 1832, RLDS Archives, 4; อ้างอิงใน เอ็ม. รัสเซลล์ บาล์ลาร์ด, “What Came from Kirtland” [ไฟร์ไซด์ระบบการศึกษาของศาสนจักรสำหรับคนหนุ่มสาว, 6 พ.ย., 1994], 8, speeches.byu.edu) บราเดอร์แม็คเลลลินรับใช้อย่างซื่อสัตย์นานหลายปีและได้รับเรียกเป็นหนึ่งในสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองชุดแรกในสมัยการประทานนี้ อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้ดำเนินต่อไปอย่างซื่อสัตย์จนกว่าชีวิตจะหาไม่ เขาหันมาต่อต้านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและรับปัพพาชนียกรรมในปี 1838 ท่านอาจต้องการอ่านออกเสียงย่อหน้าต่อไปนี้

“ขณะโจเซฟอยู่ในเรือนจำที่เมืองริชมอนด์ รัฐมิสซูรี แม็คเลลลินซึ่งเป็นคนตัวใหญ่แข็งแรงไปพบนายอำเภอและขอสิทธิ์เฆี่ยนท่านศาสดาพยากรณ์ เขาได้รับอนุญาตโดยมีเงื่อนไขว่าโจเซฟจะต้องยอมสู้ด้วย นายอำเภอประกาศให้ทราบ … คำขออย่างจริงจังของแม็คเลลลิน ซึ่งโจเซฟยินยอมหากถอดกุญแจมือของท่าน แต่แม็คเลลลินไม่ยอมต่อสู้เว้นแต่เขาจะมีไม้พลอง ซึ่งโจเซฟยอมให้มี แต่นายอำเภอไม่ยอมให้พวกเขาต่อสู้โดยไม่เท่าเทียมกัน” (“History of Brigham Young,” Millennial Star, Dec. 17, 1864, 808)

ดึงความสนใจของนักเรียนมาที่แผนภาพบนกระดาน และเสนอแนะให้พวกเขาพิจารณาอีกครั้งว่าพวกเขาจะวางตนเองไว้ตรงจุดใดบนแผนภาพ ขอให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้

  • ท่านจะทำอะไรเพื่อขยับเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นและดำเนินต่อไปอย่างซื่อสัตย์จนกว่าชีวิตจะหาไม่

เป็นพยานถึงหลักคำสอนและหลักธรรมที่ท่านสนทนาไปแล้ว และกระตุ้นนักเรียนให้ปฏิบัติตามนั้น

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 66 คำถามห้าข้อของวิลเลียม อี. แม็คเลลลิน

สิบปีหลังจากวิลเลียม อี. แม็คเลลลินถูกปัพพาชนียกรรมจากศาสนจักร เขาเขียนเกี่ยวกับการเปิดเผยที่โจเซฟ สมิธได้รับซึ่งเวลานี้บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 66 ดังนี้

ภาพ
วิลเลียม อี. แม็คเลลลิน

“ข้าพเจ้าได้รับการเปิดเผยเกี่ยวกับตัวข้าพเจ้าและเขียนจากปากเขา ข้าพเจ้าคาดหวังและเชื่อว่าเมื่อข้าพเจ้าพบบราเดอร์โจเซฟ ข้าพเจ้าควรได้รับการเปิดเผย ข้าพเจ้าเข้าเฝ้าพระเจ้าในที่ลับตา และคุกเข่าทูลขอพระองค์ให้ทรงเปิดเผยคำตอบของคำถามห้าข้อผ่านท่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ โดยที่เขาไม่รู้เรื่องที่ข้าพเจ้าขอ เวลานี้ข้าพเจ้าเป็นพยานด้วยความยำเกรงพระผู้เป็นเจ้าว่า คำถามทุกข้อที่ข้าพเจ้ามีเข้าถึงพระกรรณของพระเจ้าแห่งซาบาโอธ และได้รับคำตอบอย่างครบถ้วนน่าพอใจ ข้าพเจ้าปรารถนาเช่นนั้นเพราะมีประจักษ์พยานเกี่ยวกับการดลใจของโจเซฟ จนถึงวันนี้ข้าพเจ้าถือว่านั่นเป็นหลักฐานซึ่งข้าพเจ้าไม่สามารถปฏิเสธได้” (in Ensign of Liberty, of the Church of Christ, Jan. 1848, 61)

เราไม่รู้ว่าคำถามห้าข้อของบราเดอร์แม็ลเลลลินคืออะไร แต่ตามคำกล่าวของเขาว่าการเปิดเผยตอบคำถามของเขา เราจึงสันนิษฐานได้ว่าเขากังวลเรื่องจุดยืนของเขาต่อพระพักตร์พระเจ้าและเขาต้องการรู้ว่าพระเจ้าทรงประสงค์ให้เขาทำอะไร