เซมินารี
บทที่ 26: หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:1–36


บทที่ 26

หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:1–36

คำนำ

ในการเปิดเผยต่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ พระเจ้าทรงบัญชาให้จัดตั้งศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระองค์ในวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1830 พระองค์ทรงสอนเรื่องความสำคัญของพระคัมภีร์มอรมอนเช่นกันและประทานคำแนะนำเกี่ยวกับการปกครองศาสนจักร รวมถึงตำแหน่งฐานะปุโรหิต ศาสนพิธี และแนวทางปฏิบัติของศาสนจักรที่เพิ่งฟื้นฟู การเปิดเผยนี้ ซึ่งเรียกว่า “ข้อบังคับและพันธสัญญา” ในช่วงแรกๆ ของศาสนจักร ปัจจุบันพบใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 20 การเปิดเผยนี้บันทึกไว้หลังจากวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1830 ไม่กี่วัน แต่พระเจ้าน่าจะเปิดเผยหลายส่วนต่อท่านศาสดาพยากรณ์ตั้งแต่ต้นฤดูร้อน ค.ศ. 1829 เนื่องด้วยความยาวของภาคนี้ เราจึงแบ่ง หลักคำสอนและพันธสัญญา 20 ออกเป็นสามบทในคู่มือเล่มนี้

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:1–4

พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาให้สถาปนาศาสนจักร

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงการประชุมครั้งสุดท้ายที่พวกเขาเข้าร่วมซึ่งมีการแบ่งปันประจักษ์พยานในการประชุมนั้น ขอให้พวกเขาบอกว่าการแสดงประจักษ์พยานต่างจากการเล่าเรื่องหรือการแสดงความขอบคุณอย่างไร

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงนิยามต่อไปนี้ของประจักษ์พยานโดยเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“ประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระกิตติคุณคือพยานส่วนตัวยืนยันต่อจิตวิญญาณของเราโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ว่าข้อเท็จจริงบางอย่างที่มีความสำคัญนิรันดร์เป็นความจริงและเรารู้ว่าเป็นความจริง” (“ประจักษ์พยาน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2008, 31)

เขียนบนกระดานดังนี้: เรารู้ว่า …

เชื้อเชิญให้นักศึกษาเปิดไปที่ หลักคำสอนและพันธสัญญา 20 อธิบายว่าผู้นำศาสนจักรอ่านออกเสียงภาคนี้ที่การประชุมใหญ่ของศาสนจักรเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 1830 และ 26 กันยายน ค.ศ. 1830 ซึ่งช่วยเตือนให้สมาชิกของศาสนจักรใหม่นึกถึงความจริงที่สำคัญมากมายของพระกิตติคุณ กระตุ้นให้นักเรียนค้นหาหลักคำสอนและหลักธรรมในภาคนี้ที่อยู่ต่อจาก “เรารู้ว่า …”

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:1–2 ในใจโดยมองหาข้อคิดเกี่ยวกับการฟื้นฟูพระกิตติคุณ

  • สองข้อนี้เป็นพยานถึงความจริงอะไรบ้างเกี่ยวกับการฟื้นฟูพระกิตติคุณ (หลักคำสอนประการหนึ่งที่นักเรียนอาจระบุคือ โจเซฟ สมิธได้รับเรียกจากพระผู้เป็นเจ้าและได้รับบัญชาให้จัดตั้งศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ เชิญนักเรียนคนหนึ่งเขียนหลักคำสอนนี้พร้อมด้วยหลักคำสอนอื่นๆ ที่นักเรียนระบุไว้บนกระดานใต้วลี “เรารู้ว่า …” นักเรียนอาจสร้างรายการคล้ายกันในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความสำคัญของความจริงเหล่านี้ ให้พวกเขาไตร่ตรองประจักษ์พยานของตนเองเกี่ยวกับการเรียกโจเซฟ สมิธและความจริงของศาสนจักร ท่านอาจต้องการ ขอให้นักเรียนแบ่งปันกับชั้นเรียน ว่าพวกเขารู้ได้อย่างไรว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความจริง

  • ท่านคิดว่าคำว่า “การจัดตั้ง” ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:1 หมายถึงอะไรในเรื่องเกี่ยวกับการจัดตั้งศาสนจักร (ท่านอาจต้องเตือนนักเรียนให้นึกถึงการละทิ้งความเชื่อและความจำเป็นของการฟื้นฟู)

  • เราจะช่วยให้ศาสนจักรของพระเจ้า “จัดตั้ง” ต่อไปในวันเวลาของเราได้อย่างไร

หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:5–16

พระเจ้าทรงเล่าเหตุการณ์บางอย่างของการฟื้นฟูพอสังเขป

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:5–8 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่เตรียมโจเซฟ สมิธให้พร้อมจะจัดตั้งศาสนจักรอีกครั้งบนแผ่นดินโลก

  • โจเซฟประสบอะไรที่ทำให้ท่านสามารถจัดตั้งศาสนจักรที่แท้จริงได้อีกครั้งบนแผ่นดินโลก (ท่านได้รับการแนะนำสั่งสอนจากพระผู้เป็นเจ้าและเหล่าเทพและได้รับอำนาจให้แปลพระคัมภีร์มอรมอน)

อธิบายว่าเมื่อจัดตั้งศาสนจักรในเดือนเมษายนปี 1830 พระคัมภีร์มอรมอนเพิ่งได้รับการตีพิมพ์ ขอให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:9–12 ในใจโดยมองหาความจริงที่พระคัมภีร์มอรมอนสอน ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายสิ่งที่พวกเขาค้นพบ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: พระคัมภีร์มอรมอนพิสูจน์ต่อโลกว่า …

เชิญนักเรียนหลายๆ คนมาที่กระดานและเติมประโยคให้ครบถ้วนโดยใช้วลีที่พวกเขาพบใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:9–12 ท่านอาจจะชี้ให้ดูคำตอบของพวกเขาและถามคำถามต่อไปนี้

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องมีประจักษ์พยานว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็นความจริง

  • หากพระคัมภีร์มอรมอนจริง สิ่งนั้นบอกอะไรเกี่ยวกับโจเซฟ สมิธ

เป็นพยานว่า พระคัมภีร์มอรมอนเป็นหลักฐานยืนยันว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงฟื้นฟูพระกิตติคุณในสมัยของเรา ท่านอาจจะเขียนความจริงนี้ไว้บนกระดานใต้ “เรารู้ว่า …”

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:14–15 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงสัญญากับคนที่รับพระคัมภีร์มอรมอนและดำเนินชีวิตตามคำสอนในนั้น

  • พระเจ้าทรงสัญญาพรอะไรบ้างกับคนที่รับพระคัมภีร์มอรมอนด้วยศรัทธา

  • อะไรจะเกิดขึ้นกับคนที่ทำใจแข็งกระด้างในความไม่เชื่อและปฏิเสธพระคัมภีร์มอรมอน

  • มีวิธีใดบ้างที่เราสามารถรับพระคัมภีร์มอรมอนด้วยศรัทธา

  • พระคัมภีร์มอรมอนจะนำบุคคลให้ “ทำงานชอบธรรม” ได้อย่างไร

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่า (1) ประจักษ์พยานของพวกเขาในพระคัมภีร์มอรมอนช่วยให้พวกเขาเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นอย่างไร และ (2) พวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อทำให้ประจักษ์พยานของพวกเขาในเรื่องนี้เข้มแข็งขึ้น

หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:17–36

พระคัมภีร์มอรมอนสอนและชี้แจงหลักคำสอนสำคัญๆ ของพระกิตติคุณ

ท่านอาจต้องการให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านข้อความต่อไปนี้จากประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

ภาพ
ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

“ในภาคยี่สิบของหลักคำสอนและพันธสัญญา พระเจ้าทรงใช้หลายข้อสรุปความจริงสำคัญๆ ที่พระคัมภีร์มอรมอนสอน (ดู ข้อ 17–36) ภาคนี้พูดถึงพระผู้เป็นเจ้า การสร้างมนุษย์ การตก การชดใช้ การเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระคริสต์ ศาสดาพยากรณ์ ศรัทธา การกลับใจ บัพติศมา พระวิญญาณบริสุทธิ์ ความอดทน การสวดอ้อนวอน การรับรองความชอบธรรม การชำระให้บริสุทธิ์ผ่านพระคุณ การรักและรับใช้พระผู้เป็นเจ้า” (“A New Witness for Christ,” Ensign, Nov. 1984, 7)

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:17, 29, 30, 31, 35 และระบุวลีที่กล่าวซ้ำในช่วงต้นๆ ของแต่ละข้อ (นักเรียนควรระบุวลี “เรารู้ว่า” หรือวลีที่ต่างจากนี้) อธิบายว่าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:17–36 เราจะพบหลักคำสอนสำคัญหลายประการที่ศาสนจักรของพระเจ้าประกาศต่อโลกเนื่องด้วยนิมิตแรกและการออกมาของพระคัมภีร์มอรมอน ในบรรดาหลักคำสอนเหล่านี้คือความจริงเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์ พระเยซูคริสต์ และพระวิญญาณบริสุทธิ์ ตลอดจนสิ่งที่เราต้องทำเพื่อจะรอดในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า

เขียนข้ออ้างอิงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:17–19; หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:21–25; หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:26–28.

เพื่อช่วยนักเรียนทำบทบาทของตนในกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดสัมฤทธิผลและเตรียมพวกเขาให้พร้อมระบุความจริงพระกิตติคุณ ให้แบ่งนักเรียนเป็นคู่ๆ และมอบหมายข้อพระคัมภีร์บนกระดานให้แต่ละคู่ เชื้อเชิญให้พวกเขาศึกษาข้อที่มอบหมายด้วยกัน โดยมองหาความจริงเกี่ยวกับพระบิดา พระบุตร พระวิญญาณบริสุทธิ์ และสิ่งที่ทั้งสามพระองค์ทรงทำเพื่อความรอดของเรา

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้เชิญนักเรียนหลายๆ คนแบ่งปันความจริงหนึ่งข้อที่พวกเขาระบุเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์ พระเยซูคริสต์ หรือพระวิญญาณบริสุทธิ์ และอธิบายว่าเหตุใดจึงสำคัญต่อพวกเขา ท่านอาจต้องการกระตุ้นให้นักเรียนเขียนความจริงที่มีความหมายต่อพวกเขาเป็นพิเศษลงในสมุดจดหรือในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

ขณะที่นักเรียนระบุความจริงเหล่านี้ ท่านอาจต้องการเพิ่มเข้าไปในรายการบนกระดานใต้หัวข้อ “เรารู้ว่า …” หลักคำสอนบางประการที่นักเรียนระบุอาจได้แก่

พระผู้เป็นเจ้าทรงพระชนม์และทรงเป็นอนันต์ เป็นนิรันดร์ และไม่เปลี่ยนแปลง (ข้อ 17)

พระองค์ทรงสร้างเราตามรูปลักษณ์และลักษณะที่เหมือนพระผู้เป็นเจ้า (ข้อ 18)

พระผู้เป็นเจ้าประทานพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระองค์ให้ถูกตรึงกางเขนและทรงลุกขึ้นอีกครั้งเพื่อทุกคนที่เชื่อ รับบัพติศมา และอดทนในศรัทธาจะได้รับการช่วยให้รอด (ข้อ 21–25)

พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพยานถึงพระบิดาและพระบุตร (ข้อ 27)

พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงงานด้วยกันเพื่อเตรียมเราให้พร้อมรับชีวิตนิรันดร์ (ข้อ 17–28)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:29–34 ขอให้ชั้นเรียนมองหาความรับผิดชอบที่เรามีถ้าเราต้องการได้รับชีวิตนิรันดร์เป็นมรดก เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจข้อเหล่านี้ ท่านอาจต้องอธิบายว่า การรับรองความชอบธรรม (ข้อ 30) หมายถึงได้รับการให้อภัย การยกโทษ และประกาศว่าไม่มีความผิด การชำระให้บริสุทธิ์ (ข้อ 31) หมายถึงสะอาด บริสุทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นเหมือนพระคริสต์

  • ข้อเหล่านี้สอนว่าเราต้องทำอะไรจึงจะรอดในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:35–36 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่พวกเขาทำได้เพื่อแสดงว่าพวกเขารู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความจริง

  • เราจะถวายเกียรติและรัศมีภาพแด่พระนามของพระเจ้าได้อย่างไร

ขอให้นักเรียนทบทวนรายการบนกระดานใต้วลี “เรารู้ว่า …” ขอให้พวกเขาพิจารณาในใจว่าหลักธรรมใดในนั้นที่พวกเขารู้ว่าเป็นความจริง หากพวกเขาเขียนรายการเดียวกันไว้ในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา ท่านอาจต้องการให้กาเครื่องหมายถูกไว้ข้างๆ ความจริงเหล่านั้น

สรุปบทเรียนโดยเชื้อเชิญให้นักเรียนเลือกหลักธรรมหนึ่งที่เด่นชัดและแบ่งปันว่าพวกเขารู้ความจริงของหลักธรรมนั้นได้อย่างไร

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:5–8 สรุปเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์

ตารางต่อไปนี้ สรุปเหตุการณ์บางอย่างของการฟื้นฟูที่ หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:5–8 กล่าวถึง

ข้อ

เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์

หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:5

“หลังจากที่แสดงให้ประจักษ์อย่างแท้จริงแก่เอ็ลเดอร์คนแรกนี้ [โจเซฟ สมิธ] ว่าเขาได้รับการปลดบาป”

ฤดูใบไม้ผลิ ปี1820 โจเซฟ สมิธได้รับนิมิตแรก (ดู จส—ป 1:15–20; ดู Milton V. Backman Jr., “Joseph’s Recitals of the First Vision,” Ensign, Jan. 1985, 13 ด้วย)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:5

โจเซฟ สมิธ “เข้าไปพัวพันกับเรื่องเหลวไหลของโลกอีก”

ค.ศ. 1820–1823: “ตลอดช่วงเวลาซึ่งอยู่ระหว่างเวลาที่ข้าพเจ้าเห็นนิมิตกับปีหนึ่งพันแปดร้อยยี่สิบสาม … ข้าพเจ้าถูกทิ้งไว้กับการล่อลวงนานัปการ; และ… ข้าพเจ้าจึงมักถลำไปในความผิดพลาดโง่เขลามากมาย, และแสดงความอ่อนแอของวัยเยาว์, และจุดอ่อนของธรรมชาติมนุษย์” (จส—ป 1:28)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:6

“พระผู้เป็นเจ้าทรงปฏิบัติแก่เขาผ่านเทพผู้บริสุทธิ์”

กันยายน ปี 1823: เทพโมโรไนปฏิบัติศาสนกิจต่อโจเซฟ (ดู จส—ป 1:30–33)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:7

“และประทานพระบัญญัติให้เขาซึ่งดลใจเขา”

กันยายน ปี 1823: เทพโมโรไนให้คำแนะนำแก่โจเซฟ (ดู จส—ป 1:34–42)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:8

“และประทานอำนาจแก่เขาจากเบื้องบน, โดยวิธีซึ่งเตรียมไว้ก่อนแล้ว, ที่จะแปลพระคัมภีร์มอรมอน”

22 กันยายน ค.ศ. 1827–ฤดูร้อน ปี 1829: โจเซฟได้รับแผ่นจารึกทองคำกับอูริมและทูมมิม และแปลพระคัมภีร์มอรมอน (ดู จส—ป 1:59–75)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:30–31 การรับรองความชอบธรรมและการชำระให้บริสุทธิ์

ข้อความต่อไปนี้มาจากบทความของเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ส่วนข้ออ้างอิงด้านล่างอธิบายหลักคำสอนเรื่องการรับรองความชอบธรรมและการชำระให้บริสุทธิ์พอสังเขปเท่านั้น ท่านอาจต้องการอ่านทั้งบทความเพื่อให้เข้าใจหลักคำสอนเหล่านี้ถ่องแท้มากขึ้น

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“เพราะ ‘ผลอันไม่มีขอบเขตของการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้อันยิ่งใหญ่ของพระองค์’ พระเยซูคริสต์จึงทรงสามารถตอบสนองหรือทรง ‘ตอบเจตนารมณ์ของกฎ’ เพื่อเรา การอภัยโทษเกิดขึ้นโดยพระคุณของพระองค์ผู้ทรงตอบสนองข้อเรียกร้องของความยุติธรรมโดยการทนทุกข์ของพระองค์เอง ‘พระองค์ผู้ชอบธรรมเพื่อผู้ไม่ชอบธรรม เพื่อจะนำพวกท่านไปถึงพระเจ้า’ (1 เปโตร 3:18) พระองค์ทรงนำการกล่าวโทษเราออกไปโดยไม่นำกฎออกไป เราได้รับการอภัยโทษและอยู่ในสภาพของความชอบธรรมกับพระองค์ เรากลับไม่มีบาปเหมือนพระองค์ กฎและความยุติธรรมค้ำจุนและคุ้มครองเรา กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราได้รับการ รับรองความชอบธรรม

“ดังนั้น เราจึงอาจพูดได้อย่างถูกต้องว่าคนที่ได้รับการรับรองความชอบธรรมคือคนที่ได้รับอภัยโทษ ไม่มีบาป หรือไม่มีความผิด ตัวอย่างเช่น ‘ผู้ใดกลับใจและรับบัพติศมาในนามของเราจะเต็มเปี่ยม; และหากเขาอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่, ดูเถิด, เราจะถือว่าเขา ไม่มีความผิด ต่อพระพักตร์พระบิดาของเราในวันนั้นเมื่อเราจะยืนเพื่อพิพากษาโลก’ (3 นีไฟ 27:16; เน้นตัวเอน) กระนั้นการปลดบาปถือเป็นเรื่องน่ายินดี แต่การชดใช้ทำสำเร็จมากกว่านั้น โมโรไนกล่าวว่า ‘มากกว่า’ นั้น

“‘และอนึ่ง, หากท่านโดยพระคุณของพระผู้เป็นเจ้าดีพร้อมในพระคริสต์, และไม่ปฏิเสธเดชานุภาพของพระองค์, เมื่อนั้นท่านย่อม ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ ในพระคริสต์โดยพระคุณของพระผู้เป็นเจ้า, ผ่านการหลั่งพระโลหิตของพระคริสต์, ซึ่งมีอยู่ในพันธสัญญาของพระบิดาอันนำไปสู่การปลดบาปของท่าน, ทำให้ท่านกลับบริสุทธิ์, ปราศจากมลทิน’ (โมโรไน 10:33; เน้นตัวเอน)

“การชำระให้บริสุทธิ์ผ่านพระโลหิตของพระคริสต์คือสะอาด บริสุทธิ์ และศักดิ์สิทธิ์ หากการรับรองความชอบธรรมนำโทษของบาปในอดีตออกไป เมื่อนั้นการชำระให้บริสุทธิ์ย่อมลบรอยเปื้อนหรือผลของบาป ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเป็นพยานว่า

“‘และนี่คือพระกิตติคุณ, ข่าวอันน่ายินดี, ซึ่งเสียงที่ออกจากสวรรค์กล่าวคำพยานต่อเรา—

“‘ว่าพระองค์เสด็จมาในโลก, แม้พระเยซู, เพื่อถูกตรึงกางเขนเพื่อโลก, และเพื่อแบกรับบาปของโลก, และเพื่อชำระโลกให้บริสุทธิ์, และเพื่อทำให้สะอาดจากความไม่ชอบธรรมทั้งปวง’ (คพ. 76:40–41)” (“Justification and Sanctification,” Ensign, June 2001, 20–22)