เซมินารี
บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน: หลักคำสอนและพันธสัญญา 121–123; การสถาปนานอวู (หน่วย 26)


บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 121–123; การสถาปนานอวู (หน่วย 26)

เนื้อหาเตรียมสอนสำหรับครูภาคการศึกษาที่บ้าน

บทสรุปของบทเรียนภาคการศึกษาที่บ้านประจำวัน

บทสรุปต่อไปนี้ของเหตุการณ์ หลักคำสอน และหลักธรรมที่นักเรียนเรียนรู้ขณะศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 121–123 และบทเรียนเรื่อง “การสถาปนานอวู” (หน่วย 26) ไม่ได้มีเจตนาให้ใช้สอนในบทเรียนของท่าน บทเรียนที่ท่านสอนเน้นเฉพาะหลักคำสอนและหลักธรรมเหล่านี้เพียงไม่กี่ข้อ จงทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขณะพิจารณาความต้องการของนักเรียน

วันที่ 1 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:1–10122)

เมื่อนักเรียนศึกษาเรื่องการจับกุมคุมขังศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและคนอื่นๆ ในคุกลิเบอร์ตี้ พวกเขาค้นพบหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเราเรียกหาพระเจ้าในช่วงเวลาของความยากลำบากและความทุกข์ เราจะได้รับสันติสุขของพระองค์ หากเราอดทนด้วยดีในความเป็นมรรตัย พระผู้เป็นเจ้าจะทรงอวยพรเราเวลานี้และในนิรันดร ความทุกข์จะให้ประสบการณ์แก่เราและเกิดขึ้นเพื่อความดีของเรา นักเรียนเรียนรู้ด้วยว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงทนรับความเจ็บปวดและความทุกข์ของคนทั้งปวง

วันที่ 2 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:11–33)

หลังจากศึกษาเกี่ยวกับความทุกข์และการข่มเหงที่วิสุทธิชนประสบจากศัตรูของพวกเขาในมิสซูรี นักเรียนเรียนรู้ว่าพระเจ้าทรงเห็นและรู้งานทั้งหมดของเรา และคนที่ทำผิดจะได้รับการพิพากษาจากพระองค์เมื่อถึงเวลาที่ทรงกำหนดไว้ พวกเขาค้นพบเช่นกันว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงเปิดเผยความรู้ต่อเราผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ การทดลองจะช่วยทำให้เราบริสุทธิ์และเตรียมเราให้พร้อมรับการเปิดเผย

วันที่ 3 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:34–46)

ในจดหมายส่วนนี้ที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเขียนด้วยการดลใจจากคุกลิเบอร์ตี้ นักเรียนเรียนรู้ว่าผู้ดำรงฐานะปุโรหิตจะดึงพลังจากสวรรค์มาใช้ได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม นักเรียนพิจารณาการกระทำบางอย่างด้วยที่บั่นทอนหรือเพิ่มพลังของผู้ดำรงฐานะปุโรหิต

วันที่ 4 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 123; การสถาปนานอวู)

เมื่อนักเรียนศึกษาหน้าที่ของวิสุทธิชนเกี่ยวกับผู้ข่มเหงพวกเขา พวกเขาเรียนรู้หลักธรรมเหล่านี้: พระเจ้าจะทรงทำให้สัญญาของพระองค์เกิดสัมฤทธิผลหลังจากเราทำส่วนของเรา มีคนมากมายผู้ถูกกันไว้จากความจริงเพราะพวกเขาหารู้ไม่ว่าจะพบได้จากที่ใด การตัดสินใจเชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้าที่ดูเหมือนเล็กน้อยสามารถมีอิทธิพลใหญ่หลวงต่ออนาคตของเรา นักเรียนเรียนรู้เช่นกันเกี่ยวกับการตั้งสำนักงานใหญ่ของศาสนจักรในเมืองนอวู รัฐอิลลินอยส์ และค้นพบว่าสมาคมสงเคราะห์เป็นส่วนที่ได้รับการดลใจจากการฟื้นฟูพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

คำนำ

ในบทนี้นักเรียนจะทบทวนคำสอนบางอย่างจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 121–122 ที่จะช่วยเราได้เมื่อเราประสบความยุ่งยากในชีวิต พวกเขาจะค้นพบเช่นกันว่าการข่มเหงจะส่งผลให้งานของพระผู้เป็นเจ้าก้าวหน้าไม่ใช่หยุดก้าวหน้า สุดท้าย นักเรียนจะเรียนเรื่องการสถาปนาสมาคมสงเคราะห์ในเมืองนอวู รัฐอิลลินอยส์ และแบ่งปันด้านต่างๆ ที่สมาคมสงเคราะห์เป็นพรแก่ผู้คน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 121–122

วิสุทธิชนเรียนบทเรียนสำคัญๆ จากประสบการณ์ของพวกเขากับการข่มเหง

เขียน คำสั่งขุดรากถอนโคน โรงโม่ฮอนส์ และ คุกลิเบอร์ตี้ไว้บนกระดาน เชื้อเชิญให้นักเรียนใช้คำเหล่านี้สรุปสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับการข่มเหงที่วิสุทธิชนประสบในมิสซูรีในปี 1838–1839

เขียน หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:7–10; 122:7–9 ไว้บนกระดาน เตือนความจำนักเรียนว่าในข้อเหล่านี้พระเจ้าทรงเปิดเผยหลักธรรมต่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเพื่อปลอบโยนท่านและวิสุทธิชนในช่วงการทดลองของพวกเขา เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านข้อเหล่านี้ในใจโดยมองหาด้านต่างๆ ที่คำสอนในข้อเหล่านี้จะช่วยพวกเขาในช่วงเวลาของการทดลอง เชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พบ

ระหว่างสัปดาห์ นักเรียนศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:36, 41–42ซึ่งเป็นข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ท่านอาจต้องการขอให้พวกเขาทบทวนโดยอ่าน ข้อ 36 ด้วยกัน ท่านอาจจะขอให้พวกเขาเขียนการกระทำอันชอบธรรมที่พระเจ้าตรัสไว้ใน ข้อ 41–42

  • ท่านรู้จักใครที่เป็นแบบอย่างของหลักธรรมอันชอบธรรมเหล่านี้

แบ่งปันความรู้สึกสำนึกคุณของท่านต่อผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่ชอบธรรมและต่อพรที่ทุกคนจะได้รับผ่านอำนาจฐานะปุโรหิต

การสถาปนานอวู

ขอให้นักเรียนบอกสิ่งที่สามารถดับไฟได้ จากนั้นถามว่าอะไรทำให้ไฟติด อธิบายว่าโจเซฟ สมิธเปรียบเทียบงานของพระผู้เป็นเจ้ากับไฟ

  • ท่านคิดว่าการข่มเหงที่วิสุทธิชนประสบในมิสซูรีเหมือนน้ำที่เริ่มดับงานของพระผู้เป็นเจ้าหรือเหมือนเชื้อเพลิงที่ช่วยให้งานเติบโต เพราะเหตุใด

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความต่อไปนี้ของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ อธิบายว่าท่านศาสดาพยากรณ์เขียนข้อความนี้ไว้ในจดหมายถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ชื่อจอห์น เวนท์เวิร์ธเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1842

ภาพ
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“การข่มเหงมิได้หยุดยั้งความจริงให้ก้าวหน้า แต่กลับเพิ่มเชื้อไฟให้เปลวเพลิง …

“… มาตรฐานแห่งความจริงได้รับการสถาปนา มือที่ไม่สะอาดไม่สามารถหยุดยั้งความก้าวหน้าของงานนี้ได้ การข่มเหงอาจทวีความรุนแรง ฝูงชนอาจชุมนุมกันต่อต้าน กองทัพอาจรวมตัวกันเพื่อคุกคาม การสบประมาทอาจทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง แต่ความจริงของพระผู้เป็นเจ้าจะออกไปอย่างองอาจ มีเกียรติ และเป็นอิสระ จนกว่าจะเข้าไปสู่ทุกทวีป ไปเยือนทุกถิ่น ไปยังทั่วทุกประเทศ และก้องอยู่ในทุกหู จนกว่าจุดประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าจะสำเร็จ และพระเยโฮวาห์ผู้ทรงฤทธานุภาพจะตรัสว่างานสำเร็จแล้ว” (ใน History of the Church, 4:540)

  • เราเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากข้อความนี้ (นักเรียนอาจระบุความจริงหลากหลาย แต่พึงเน้นดังนี้: ไม่มีสิ่งใดจะหยุดยั้งความก้าวหน้าของงานทั่วโลกของพระผู้เป็นเจ้าได้)

  • ท่านเห็นหลักฐานอะไรยืนยันหลักธรรมนี้ในปัจจุบัน

  • ท่านสามารถมีส่วนในความก้าวหน้าของงานของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไรบ้าง

อธิบายว่า ณ เวลาที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเขียนคำพยากรณ์นี้ไว้ในจดหมายถึงจอห์น เวนท์เวิร์ธ พระเจ้าทรงเริ่มเรียกผู้สอนศาสนาให้ไปสั่งสอนพระกิตติคุณในประเทศต่างๆ คำพยากรณ์นั้นเริ่มเกิดสัมฤทธิผลเมื่อคนหลายพันคน—ส่วนใหญ่มาจากเกรทบริเตน—รับบัพติศมา สมาชิกใหม่เป็นกำลังสำคัญของศาสนจักร และหลายคนเดินทางไปสมทบกับวิสุทธิชนในเมืองนอวู

บอกนักเรียนว่าในเมืองนอวู รัฐอิลลินอยส์ สตรีของศาสนจักรเป็นกำลังสำคัญในการทำให้งานของพระเจ้าก้าวหน้า เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านสองย่อหน้าต่อไปนี้

ในปี 1842 สตรีบางคนในเมืองนอวู รัฐอิลลินอยส์รวมตัวกันเพื่อหาวิธีช่วยเรื่องการก่อสร้างพระวิหารนอวู พวกเธอตั้งสมาคมหนึ่งและจากนั้นจึงขอความเห็นจากศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านอนุมัติ แต่ท่านได้รับการดลใจให้จัดตั้งสมาคมสงเคราะห์ “ภายใต้ฐานะปุโรหิตตามแบบแผนของฐานะปุโรหิต” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 485; ดู Daughters in My Kingdom: The History and Work of Relief Society [2011], 12ด้วย)

เอ็มมา สมิธได้รับเรียกเป็นประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญคนแรก ซิสเตอร์เอไลซา อาร์. สโนว์ผู้รับใช้เป็นเลขานุการสมาคมสงเคราะห์ในนอวูและต่อมาได้รับเรียกให้รับใช้เป็นประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญคนที่สองสอนว่า “ถึงแม้ชื่อ [สมาคมสงเคราะห์] จะทันสมัย แต่สถาบันนี้มีต้นกำเนิดมาแต่โบราณ [ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ] บอกว่านี่เป็นองค์กรเดียวกันกับที่ดำรงอยู่ในศาสนจักรสมัยโบราณ” (“Female Relief Society,” Deseret News, Apr. 22, 1868, 1; ดู Daughters in My Kingdom, 7ด้วย)

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับสมาคมสงเคราะห์จากคำกล่าวของเอไลซา อาร์. สโนว์ (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียนความจริงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: สมาคมสงเคราะห์เป็นส่วนที่ได้รับการดลใจจากการฟื้นฟูศาสนจักรของพระเยซูคริสต์)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องเข้าใจความจริงนี้

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้เกี่ยวกับจุดประสงค์ของสมาคมสงเคราะห์

“สมาคมสงเคราะห์สถาปนาขึ้นเพื่อช่วยเตรียมธิดาของพระผู้เป็นเจ้าให้พร้อมรับพรแห่งชีวิตนิรันดร์ จุดประสงค์ของสมาคมสงเคราะห์คือเพิ่มพูนศรัทธาและความชอบธรรมส่วนบุคคล เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวและบ้าน และให้การบรรเทาทุกข์โดยเสาะหาและช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก” (Daughters in My Kingdom, xi)

ขอให้นักเรียนทบทวนสิ่งที่พวกเขาเขียนไว้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของตนเองสำหรับวันที่ 4 งานมอบหมาย 7 (ครูขอให้พวกเขาพูดคุยกับสมาชิกคนหนึ่งของสมาคมสงเคราะห์และเขียนบางด้านที่สมาคมสงเคราะห์เป็นพรแก่ชีวิตเธอและเปิดโอกาสให้เธอได้มีส่วนในงานของพระเจ้า) เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้จากกิจกรรมนี้

สรุปบทนี้โดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าความพยายามของชายหญิงที่ซื่อสัตย์ในปัจจุบันกำลังช่วยให้งานของพระเจ้าขยายตัวต่อเนื่องทั่วโลกอย่างไร เชื้อเชิญให้นักเรียนดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์เพื่อพวกเขาจะสามารถมีส่วนในงานของพระเจ้าต่อไป

หน่วยถัดไป (หลักคำสอนและพันธสัญญา 124–128)

ขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาเคยมีส่วนร่วมในบัพติศมาและการยืนยันแทนผู้วายชนม์ อธิบายว่าการศึกษาส่วนใหญ่ของพวกเขาในสัปดาห์ที่จะมาถึงจะเกี่ยวข้องกับพระวิหารนอวูและการฟื้นฟูศาสนพิธีบัพติศมาแทนผู้วายชนม์