เซมินารี
บทที่ 97: หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:1–20


บทที่ 97

หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:1–20

คำนำ

วันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1833 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยที่ บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 93 การเปิดเผยครั้งนี้จะแบ่งสอนเป็นสองส่วน บทนี้เน้น ข้อ 1–20 ซึ่งพระเยซูคริสต์ทรงอธิบายจุดประสงค์ของการเปิดเผยว่า “เราให้คำกล่าวเหล่านี้แก่เจ้า เพื่อเจ้าจะเข้าใจ และรู้ว่าจะนมัสการอย่างไร, และรู้ว่าเจ้านมัสการอะไร, เพื่อเจ้าจะมาเฝ้าพระบิดาในนามของเรา, และได้รับความสมบูรณ์แห่งพระองค์ในเวลาอันสมควร” (คพ. 93:19)

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:1–5

พระเยซูคริสต์ทรงสอนว่าแต่ละคนจะเห็นพระพักตร์พระองค์และรู้ว่าพระองค์ทรงดำรงอยู่ได้อย่างไร

ให้ดูภาพคนที่นักเรียนรู้จักดีและถามพวกเขาว่าพวกเขารู้จักชื่อบุคคลนั้นหรือไม่ (หากท่านไม่สามารถให้ดูภาพได้ ให้เขียนชื่อบุคคลนั้นบนกระดานและขอให้นักเรียนอธิบายว่าคนนั้นเป็นใครและรู้จักเขาเพราะอะไร)

  • เหตุใดคนจำนวนมากจึงรู้ว่าบุคคลนี้เป็นใคร

  • ท่านคิดไหมว่าสำคัญที่ต้องรู้ว่าบุคคลนี้เป็นใคร เพราะเหตุใด

ให้ดูภาพพระเยซูคริสต์ (ท่านอาจจะใช้ พระเยซูคริสต์ [หนังสือภาพพระกิตติคุณ (2009), ภาพที่ 1]; ดู LDS.org ด้วย) และอธิบายว่าคนส่วนมากในปัจจุบันไม่รู้ว่าพระองค์ทรงเป็นใคร

ภาพ
พระเยซูคริสต์
  • ท่านคิดว่าเหตุใดการรู้ว่าพระเยซูคริสต์เป็นใครจึงสำคัญ

เป็นพยาน ว่าเราไม่สามารถบรรลุศักยภาพอันสมบูรณ์ของเราในฐานะบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าได้หากเราไม่รู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ อธิบายว่าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 93 พระเจ้าทรงสอนว่าเราจะเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับพระองค์และเดชานุภาพในการให้พรเราเวลานี้และตลอดนิรันดรได้อย่างไร เขียน คำถามสองข้อต่อไปนี้ ไว้บนกระดาน โดยเว้นช่องว่างให้นักเรียนเขียนคำตอบของพวกเขาไว้ใต้คำถาม

เราต้องทำอะไรจึงจะมีประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

เราสามารถรู้อะไรเกี่ยวกับพระองค์บ้างหากเราทำสิ่งเหล่านี้

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:1–5 ก่อนนักเรียนเริ่มอ่าน ขอให้นักเรียนครึ่งชั้นมองหาคำตอบของคำถามข้อแรกและอีกครึ่งชั้นมองหาคำตอบของคำถามข้อสอง หลังจากอ่านแล้ว ให้เชิญนักเรียนสองสามคนออกมาที่กระดานและเขียนคำตอบของคำถาม จากนั้นให้ถามชั้นเรียนดังนี้

  • ท่านจะกล่าวถึงคำสัญญาใน ข้อ 1 เป็นข้อความ “หาก–เมื่อนั้น” ว่าอย่างไร (คำตอบของนักเรียนควรสะท้อนหลักธรรมต่อไปนี้: หากเราละทิ้งบาปของเรา มาหาพระคริสต์ เรียกหาพระนามของพระองค์ เชื่อฟังพระสุรเสียงของพระองค์ และรักษาพระบัญญัติของพระองค์ เมื่อนั้นเราจะเห็นพระพักตร์พระองค์และรู้ว่าพระองค์ทรงดำรงอยู่)

ท่านอาจต้องการเน้นว่าพรนี้จะมาในเวลาของพระเจ้า ในวิธีของพระองค์ และตามพระประสงค์ของพระองค์ (ดู คพ. 88:68; ดู อีนัส 1:27ด้วย)

  • การกระทำแต่ละอย่างใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:1 จะช่วยให้เรารู้จักพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร

  • จากสิ่งที่ท่านเรียนรู้ใน ข้อ 3 อะไรเป็นหลักคำสอนสำคัญที่ต้องเข้าใจเกี่ยวกับพระบิดาและพระบุตร (นักเรียนควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้: พระบิดาและพระบุตรทรงเป็นหนึ่งเดียวกัน)

  • พระบิดาและพระบุตรทรงเป็นหนึ่งเดียวกันหมายความว่าอย่างไร

ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าพระบิดาและพระบุตรทรงเป็นสองพระองค์แยกกันชัดเจน แต่ละองค์ทรงมีพระวรกายเปี่ยมด้วยรัศมีภาพ (ดู คพ. 130:22) แต่พระบิดาและพระบุตรทรงเป็นหนึ่งเดียวกันในจุดประสงค์และหลักคำสอน ทั้งสองพระองค์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างสมบูรณ์ในการทำให้แผนแห่งความรอดของพระบิดาบนสวรรค์บังเกิดขึ้น

ชี้ให้เห็นวลีต่อไปนี้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:4: “พระบิดาเพราะพระองค์ประทานความสมบูรณ์แห่งพระองค์แก่เรา” จากนั้นให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:17, 26 ถามคำถามต่อไปนี้

  • พระเยซูคริสต์ทรงได้รับความสมบูรณ์แห่งพระบิดาหมายความว่าอย่างไร (ดู คพ. 93:16–17, 26)

  • ความจริงใน ข้อ 4–5 ช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้นอย่างไรว่าพระบิดาและพระบุตรทรงเป็นหนึ่งเดียวกัน

อธิบายว่าเพราะพระบิดาและพระบุตรทรงเป็นหนึ่งเดียวกัน เราจึงจะรู้จักทั้งพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์เมื่อเราทำสิ่งที่พระเจ้าตรัสไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:1

หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:6–20

พระเจ้าทรงใช้บันทึกของยอห์นช่วยให้เราเข้าใจว่าพระเยซูคริสต์ทรงได้รับความสมบูรณ์แห่งรัศมีภาพของพระบิดาบนสวรรค์อย่างไร

อธิบายว่าเราสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ได้มากขึ้นโดยศึกษาข้อมูลที่พระเจ้าประทานจากบันทึกของยอห์นใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 93 อาจจะเป็นประโยชน์หากอธิบายด้วยว่าอัครสาวกยอห์นเป็นลูกศิษย์ของยอห์นผู้ถวายบัพติศมาเมื่อพระเยซูทรงเริ่มการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัย ในงานเขียนของอัครสาวกยอห์น เขาให้เรื่องราวบางส่วนของคำพยานที่ยอห์นผู้ถวายบัพติศมากล่าวถึงพระผู้ช่วยให้รอด

แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละสี่คน ให้แต่ละกลุ่มอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:6–11 ด้วยกันและระบุพระสมัญญานามที่ใช้กล่าวถึงพระผู้ช่วยให้รอด พระสมัญญานามที่นักเรียนพบควรได้แก่ “พระวาทะ, แม้ผู้ส่งสารแห่งความรอด” (ข้อ 8) “แสงสว่างและพระผู้ไถ่ของโลก” (ข้อ 9) “พระวิญญาณแห่งความจริง” (ข้อ 9) และ “พระองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระบิดา” (ข้อ 11)

เมื่อพวกเขาอ่านจบแล้ว แจกสำเนา ข้อมูลต่อไปนี้ เกี่ยวกับพระสมัญญานามที่กล่าวข้างต้นให้นักเรียนแต่ละคน ให้สมาชิกกลุ่มแต่ละคนเลือกหนึ่งพระสมัญญานามและศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องในใจ แนะนำให้นักเรียนเตรียมอธิบายให้คนที่เหลือในกลุ่มฟังว่าพระสมัญญานามนั้นหมายถึงอะไรและแบ่งปันคำตอบของคำถามต่อไปนี้ ท่านอาจต้องการให้ดูคำถามบนกระดานหรือเขียนรวมไว้ในเอกสารเพื่อให้นักเรียนดูได้ตามต้องการ

  • ข้อมูลนี้ช่วยให้ท่านรู้จักพระเยซูคริสต์ เห็นคุณค่า และติดตามพระองค์มากขึ้นอย่างไร

“พระวาทะ, แม้ผู้ส่งสารแห่งความรอด”

ใน ยอห์น 1:1กล่าวถึงพระเยซูคริสต์ว่า “พระวาทะ” เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า

ภาพ
เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน

“ในภาษากรีกของพันธสัญญาใหม่ พระวาทะ คือ Logos หรือ ‘การแสดงความคิดความรู้สึกออกมาเป็นคำพูด’ … คำศัพท์ดังกล่าวอาจฟังดูแปลกแต่นั่นเป็นคำที่เหมาะสม เราใช้คำถ่ายทอดความคิดความรู้สึกของเราแก่ผู้อื่น ดังนั้นพระเยซูจึงทรงเป็นพระวาทะ หรือการแสดงความคิดความรู้สึก ของพระบิดาของพระองค์ต่อโลก” (“พระเยซูพระคริสต์: พระอาจารย์ของเราและทรงเป็นยิ่งกว่านั้น,” เลียโฮนา, เม.ย. 2000, 6) พระเยซูคริสต์ทรงมีอีกพระนามหนึ่งว่าผู้ส่งสารแห่งความรอดเพราะพระองค์ทรงประกาศพระคำของพระบิดาต่อเรา และคนที่ฟังและเชื่อฟังข่าวสารของพระองค์จะได้รับความรอด (ดู ยอห์น 12:49–50)

“แสงสว่างและพระผู้ไถ่ของโลก”

โดยผ่านแสงสว่างของพระคริสต์ พระเยซูคริสต์ประทานชีวิตและแสงสว่างแก่สิ่งทั้งปวง พระองค์ทรงมีอีกพระนามหนึ่งว่าแสงสว่างของโลกเพราะพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างให้ทุกคนรู้ว่าควรดำเนินชีวิตอย่างไร พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ไถ่ของโลกเพราะโดยผ่านการชดใช้พระองค์ทรงจ่ายราคาค่าบาปของมวลมนุษยชาติและทรงทำให้การฟื้นคืนชีวิตเกิดกับทุกคน

“พระวิญญาณแห่งความจริง”

พระสมัญญานาม “พระวิญญาณแห่งความจริง” ช่วยให้เราเข้าใจว่าพระเยซูคริสต์ทรงครอบครองความสมบูรณ์แห่งความจริง (ดู อีนัส 1:6; คพ. 93:26) พระองค์ทรงเปิดเผยความจริงต่อมนุษยชาติ (ดู คพ. 76:7–8) พระสมัญญานามดังกล่าวใช้กล่าวถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ผู้ทรงเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ด้วย (ดู ยอห์น 15:26)

“พระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระบิดา”

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์สัตภาวะยิ่งใหญ่ที่สุดที่ประสูติบนโลกนี้ พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระบิดาแห่งวิญญาณของมวลมนุษยชาติ แต่พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระองค์เดียวผู้ประสูติในโลกในฐานะพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าในเนื้อหนัง เพราะพระเยซูคริสต์ประสูติจากบิดาอมตะ พระองค์จึงทรงมีเดชานุภาพเหนือความตาย (ดู ยอห์น 5:26) เดชานุภาพนี้ยอมให้พระองค์ทรงทำการชดใช้และการฟื้นคืนพระชนม์เพื่อมวลมนุษยชาติสำเร็จ

หลังจากกลุ่มมีเวลาสนทนาจนจบแล้ว ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:12–17 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นเหมือนพระบิดาของพระองค์อย่างไร

  • พระเยซูคริสต์ทรงเป็นเหมือนพระบิดาของพระองค์อย่างไร (คำตอบของนักเรียนควรสะท้อนหลักธรรมต่อไปนี้: พระเยซูคริสต์ทรงเติบโตจากพระคุณสู่พระคุณจนพระองค์ได้รับความสมบูรณ์แห่งรัศมีภาพของพระบิดา)

  • ท่านคิดว่าพระเยซูคริสต์ทรงดำเนินต่อไปจากพระคุณสู่พระคุณจนพระองค์ได้รับความสมบูรณ์หมายความว่าอย่างไร

ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าพระคุณคือพลังและอำนาจจากพระผู้เป็นเจ้าที่ช่วยให้เราได้รับชีวิตนิรันดร์และความสูงส่ง เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:19–20 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุเหตุผลที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเปิดเผยวิธีที่พระองค์ทรงได้รับความสมบูรณ์แห่งพระบิดา

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 19เหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดทรงเปิดเผยวิธีที่พระองค์ทรงได้รับความสมบูรณ์แห่งพระบิดา

ช่วยให้นักเรียนเห็นว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเปิดเผยว่าพระองค์ทรงได้รับความสมบูรณ์อย่างไรก็เพื่อให้เรา “เข้าใจและรู้จัก” พระองค์และพระบิดาบนสวรรค์ ให้เรารู้ว่าจะนมัสการพระบิดาและได้รับความสมบูรณ์ของพระองค์อย่างไร เขียน คำกล่าวต่อไปนี้ ของเอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองบนกระดาน (คำกล่าวนี้อยู่ใน The Promised Messiah: The First Coming of Christ [1978], 568)

“การนมัสการที่สมบูรณ์แบบคือการทำตาม เรายกย่องคนที่เราทำตาม” (เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี)

  • ท่านคิดว่านมัสการหมายถึงอะไร

  • เราต้องนมัสการพระบิดาบนสวรรค์อย่างไร (นักเรียนควรกล่าวถึงหลักธรรมต่อไปนี้: เราต้องนมัสการพระบิดาบนสวรรค์โดยทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์)

  • ความก้าวหน้าของพระผู้ช่วยให้รอดจากพระคุณสู่พระคุณคล้ายกับกระบวนการเรียนรู้และก้าวหน้าที่เราประสบอย่างไร

  • มีสัญญาอะไรให้ไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:20 กับคนที่ทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์และรักษาพระบัญญัติของพระองค์ (นักเรียนควรกล่าวถึงหลักธรรมต่อไปนี้: หากเรารักษาพระบัญญัติ เราจะได้รับความสมบูรณ์แห่งพระบิดา เฉกเช่นพระเยซูคริสต์ทรงได้รับ)

ชูภาพพระผู้ช่วยให้รอดที่ท่านให้ดูเมื่อเริ่มชั้นเรียน

  • เหตุใดการมีประจักษ์พยานถึงแบบอย่าง คำสอน และการชดใช้ของพระเยซูคริสต์จึงสำคัญ

  • ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อดำเนินต่อไป “จากพระคุณสู่พระคุณ” (คพ. 93:13) และเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานลอเรนโซ สโนว์ และขอให้ชั้นเรียนตรึกตรองว่าพวกเขาต้องการทำอะไรเพื่อเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น

ภาพ
ประธานลอเรนโซ สโนว์

“อย่าคาดหวังว่าจะดีพร้อมในทันที ถ้าท่านคาดหวังเช่นนั้น ท่านจะผิดหวัง วันนี้จงเป็นคนดีกว่าวันวาน และวันพรุ่งนี้ดีกว่าวันนี้ การล่อลวงที่อาจจะชนะเราบ้างวันนี้ อย่าให้ชนะเราวันพรุ่งนี้ ด้วยเหตุนี้จงเป็นคนดีขึ้นวันละนิด อย่าปล่อยชีวิตให้ผ่านไปโดยไม่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นและตัวเราเอง” (คำสอนของประธานศาสนจักร: ลอเรนโซ สโนว์ [2012], 104)

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนด้านหนึ่งที่พวกเขามุ่งหมายจะก้าวหน้าและปรับปรุงโดยทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:5 พระเยซูคริสต์ทรงแสดงงานของพระบิดาให้ประจักษ์

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าจุดประสงค์สำคัญของการปฏิบัติศาสนกิจขณะพระเยซูคริสต์ทรงเป็นมรรตัยคือช่วยให้เรารู้จักพระบิดาในสวรรค์

ภาพ
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“ในทุกสิ่งที่พระเยซูเสด็จมาเพื่อตรัสและทำ รวมถึงและโดยเฉพาะในการทนทุกข์และการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ พระองค์ทรงแสดงให้เราเห็นว่าพระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์ของเราทรงเป็นใครและทรงเป็นอย่างไร พระบิดาทรงทุ่มเทให้บุตรธิดาของพระองค์มากเพียงใดในทุกยุคทุกสมัยและในทุกประชาชาติ พระเยซูทรงพยายามเปิดเผยและทรงทำให้พระอุปนิสัยที่แท้จริงของพระบิดาของพระองค์ พระบิดาในสวรรค์ของเราเป็นเรื่องใกล้ตัวเราทั้งในคำพูดและการกระทำ

“พระเยซูทรงทำสิ่งดังกล่าวอย่างน้อยก็บางส่วนเพราะทั้งในสมัยนั้นและสมัยนี้เราจำเป็นต้องรู้จักพระผู้เป็นเจ้าให้ถ่องแท้มากขึ้นเพื่อจะรักพระองค์ได้ลึกซึ้งขึ้น …

“เมื่อพระคริสต์ประทานอาหารแก่คนหิวโหย รักษาคนป่วย ตำหนิความหน้าซื่อใจคด วิงวอนขอศรัทธา—พระคริสต์ผู้ทรงกำลังแสดงให้เราเห็นทางของพระบิดาผู้ทรง “เปี่ยมด้วยพระเมตตากรุณา กริ้วช้า อดทนนาน และเปี่ยมด้วยพระกรุณาธิคุณ’ [Lectures on Faith (1985), 42.]” (“ความยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2003, 84, 87)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:12–16 พระบิดาทรงต้องการให้เราได้รับความสมบูรณ์ของพระองค์

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าเราจะเป็นอย่างที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้เราเป็นและได้รับความสมบูรณ์ของพระองค์อย่างไร

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นแผนซึ่งแสดงให้เราเห็นวิธีเป็นอย่างที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงปรารถนาให้เราเป็น

“อุปมาเรื่องหนึ่งอธิบายความเข้าใจนี้ บิดาผู้มั่งคั่งรู้ว่าถ้าเขามอบทรัพย์สมบัติให้ลูกที่ยังไม่รู้จักคิดและเป็นผู้ใหญ่พอ มรดกอาจจะถูกผลาญจนหมด บิดาจึงพูดกับลูกคนนี้ว่า

“‘พ่อจะยกทุกอย่างที่พ่อมีให้กับลูก ไม่เพียงทรัพย์สมบัติเท่านั้น แต่เกียรติยศชื่อเสียงที่มีอยู่ในบรรดาผู้คนด้วย สิ่งที่พ่อ มี พ่อยกให้ลูกได้ แต่สิ่งที่พ่อ เป็น ลูกต้องทำด้วยตัวของลูกเอง ลูกจะได้มรดกนี้ก็ต่อเมื่อลูกเรียนรู้สิ่งที่พ่อเรียนรู้และดำเนินชีวิตอย่างพ่อ พ่อจะให้กฎและหลักธรรมแก่ลูกซึ่งสิ่งนั้นทำให้พ่อรู้จักคิดและเป็นผู้ใหญ่มาแล้ว จงทำตามตัวอย่างของพ่อ ประพฤติอย่างที่พ่อประพฤติ และลูกจะกลายเป็นอย่างที่พ่อเป็นและทุกสิ่งที่พ่อมีจะเป็นของลูก’

“อุปมาเรื่องนี้คล้ายคลึงกับแบบแผนของสวรรค์ พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์สัญญามรดกอันหาใดเทียบได้ของชีวิตนิรันดร์ ความสมบูรณ์ของพระบิดา และเปิดเผยกฎตลอดจนหลักธรรมซึ่งจะทำให้ได้มรดกนั้น” (“การท้าทายเพื่อที่จะเป็น,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 47)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:13–14 พระเยซูคริสต์ “หาได้รับความสมบูรณ์ไม่ในตอนแรก”

พระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระเยซูคริสต์รวมถึงสิ่งนี้เช่นกันคือ แม้พระองค์ สมาชิกองค์หนึ่งในพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ ทรงผ่านม่านเข้ามาสู่ความเป็นมรรตัย เป็นเหมือนเราแต่ละคน และไม่ตระหนักในอัตลักษณ์อันสูงส่งของพระองค์ตั้งแต่แรกในฐานะพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระผู้เป็นเจ้าพระบิดา ประธานลอเรนโซ สโนว์อธิบายว่า “เมื่อพระเยซูบรรทมในรางหญ้า เป็นทารกที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ พระองค์มิได้ทรงทราบว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า และทรงสร้างแผ่นดินโลกมาก่อน เมื่อเฮโรดออกกฤษฎีกา พระองค์มิได้ทรงทราบสิ่งใด พระองค์ไม่ทรงมีเดชานุภาพที่จะช่วยพระองค์เองให้รอด และ [โยเซฟกับมารีย์] ต้องพาพระองค์ [หนี] ไปอยู่อียิปต์เพื่อปกป้องพระองค์ให้พ้นจากผลกระทบของกฤษฎีกานั้น … พระองค์ทรงเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และในระหว่างความก้าวหน้าของพระองค์ พระองค์ทรงได้รับการเปิดเผยว่าพระองค์ทรงเป็นใคร พระองค์ทรงอยู่ในโลกเพื่อจุดประสงค์ใด รัศมีภาพและเดชานุภาพที่พระองค์ทรงครอบครองก่อนเสด็จมาในโลกประจักษ์ต่อพระองค์” (คำสอนของประธานศาสนจักร: ลอเรนโซ สโนว์ [2012], 279)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:12, 19–20 การดำเนินต่อไปจากพระคุณสู่พระคริสต์และการได้รับความสมบูรณ์แห่งรัศมีภาพของพระบิดา

คำกล่าวต่อไปนี้ของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธทำให้เข้าใจด้านหนึ่งของการเติบโตจากพระคุณสู่พระคุณจนเราได้รับความสมบูรณ์

ภาพ
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“ไม่ฉลาดเลยที่เราจะมีความรู้ทั้งหมดที่อยู่ตรงหน้าเราโดยทันที แต่เราควรมีทีละเล็กละน้อย แล้วเราจะเข้าใจได้” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 289)

ท่านกล่าวเพิ่มเติมว่า

ภาพ
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“เมื่อท่านไต่บันได ท่านต้องเริ่มจากขั้นต่ำสุดและขึ้นไปทีละขั้น จนถึงขั้นบนสุด เช่นเดียวกับหลักธรรมของพระกิตติคุณ—ท่านต้องเริ่มจากขั้นแรกแล้วดำเนินต่อไปจนท่านเรียนรู้หลักธรรมทั้งหมดของความสูงส่ง แต่ก่อนที่ท่านจะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาอีกนานหลังจากท่านผ่านม่านไป เมื่ออยู่ในโลกนี้ท่านจะยังไม่เข้าใจทุกอย่าง การเรียนรู้ความรอดและความสูงส่งของเราเป็นงานอันยิ่งใหญ่แม้หลังความตาย” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 289)