เซมินารี
บทที่ 1: แผนแห่งความรอด


บทที่ 1

แผนแห่งความรอด

คำนำ

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแนะนำให้ครูเซมินารีนำเสนอสาระโดยสังเขปของแผนแห่งความรอดช่วงต้นปีการศึกษาของแต่ละปี ดังนี้

“สาระโดยสังเขปของ ‘แผนแห่งความสุข’ … หากให้ตั้งแต่ต้นและทบทวนเป็นครั้งคราว จะมีคุณค่ามหาศาลต่อนักเรียนของท่าน …

“เยาวชนสงสัยว่า ‘ทำไม’ —ทำไมเราได้รับบัญชาให้ ทำ บางอย่าง และทำไมเราได้รับบัญชา ไม่ ให้ทำอีกหลายอย่าง ความรู้เรื่องแผนแห่งความสุข แม้ในรูปแบบคร่าวๆ ก็สามารถให้จิตใจที่อ่อนเยาว์มีคำถามว่า ‘ทำไม’”(“The Great Plan of Happiness” [ปราศรัยกับนักการศึกษาศาสนาของซีอีเอส , 10 ส.ค.1993], LDS.org)

บทเรียนนี้ให้สาระโดยสังเขปของแผนแห่งความรอด เน้นที่การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ซึ่งเป็น “ข้อเท็จจริงหลัก รากฐานสำคัญ และหลักคำสอนสูงสุดของแผนแห่งความรอดอันสำคัญยิ่งและเป็นนิรันดร์” (Jeffrey R. Holland, “Missionary Work and the Atonement,” Ensign, Mar. 2001, 8)

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แผนแห่งความสุขของพระบิดาบนสวรรค์

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมเสส 1:39 (หรือนักเรียนอาจท่องข้อนี้ได้ถ้านักเรียนท่องจำมาแล้ว) ขอให้นักเรียนดูตามโดยหาดูว่าพระบิดาบนสวรรค์ตรัสว่าอะไรคือจุดประสงค์ของงานของพระองค์ เขียนข้อความต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: จุดประสงค์ของแผนพระบิดาบนสวรรค์คือเตรียมทางให้เราได้รับความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์

  • อะไรคือความแตกต่างระหว่างความเป็นอมตะกับชีวิตนิรันดร์ (ความเป็นอมตะคือการมีชีวิตตลอดกาลในสภาพฟื้นคืนชีวิตแล้ว ทุกคนจะได้รับของประทานนี้ผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ชีวิตนิรันดร์ หรือความสูงส่ง คือการอยู่ในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าตลอดไปกับครอบครัวของเรา ของประทานนี้มีให้ผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์เช่นกัน แต่ให้เฉพาะคนที่เชื่อฟังกฎและศาสนพิธีทั้งหลายของพระกิตติคุณเท่านั้น)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจคำว่า “ชีวิตนิรันดร์” เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี

ชีวิตของพระผู้เป็นเจ้าคือชีวิตนิรันดร์ ชีวิตนิรันดร์คือชีวิตของพระผู้เป็นเจ้า —คำกล่าวทั้งสองนี้มีความหมายเหมือนกัน” (Mormon Doctrine, 2nd ed. [1966], 237)

  • คนที่ได้รับชีวิตนิรันดร์ได้รับพรอะไรบ้าง

วาด แผนภาพประกอบ บนกระดาน เชื้อเชิญให้นักเรียนลอกแผนภาพหรือเขียนลงในสมุดจดหรือ สมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ ของพวกเขาขณะเรียนรู้เรื่องแผนแห่งความรอดในบทนี้

ภาพ
แผนแห่งความรอด แผนภาพ 1

อธิบายว่าในชีวิตก่อนเกิดบนแผ่นดินโลก เราอยู่เป็นวิญญาณในที่ประทับของพระบิดาบนสวรรค์ ที่นั่นเราเรียนรู้เกี่ยวกับแผนของพระบิดาบนสวรรค์เพื่อความสุขของเราและการทำตามแผนนั้นจะช่วยให้เราบรรลุจุดประสงค์ของพระองค์สำหรับเราอย่างไร (ดู คพ. 138:55–56; อับราฮัม 3:22–28)

  • เราแตกต่างจากพระบิดาบนสวรรค์อย่างไรในชีวิตก่อนเกิดบนแผ่นดินโลก (พระองค์ทรงมีพระวรกายและคุณสมบัติเพียบพร้อม แต่เราไม่มี)

  • ในชีวิตก่อนเกิดบนแผ่นดินโลก พระบิดาบนสวรรค์ทรงเสนออะไรต่อเราเพื่อช่วยให้เราได้รับความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ (แผนแห่งความรอด)

อธิบายว่าเราใช้คำว่า ความเป็นมรรตัย เพื่อหมายถึงชีวิตเราบนแผ่นดินโลก ตามที่แสดงให้เห็นใน แผนภาพประกอบให้เพิ่มรูปวงรีบนกระดานเพื่อแทนชีวิตบนแผ่นดินโลก และเขียนกำกับว่า ความเป็นมรรตัย วาดลูกศรจาก ชีวิตก่อนเกิดบนแผ่นดินโลก ไปยัง ความเป็นมรรตัย

ภาพ
แผนแห่งความรอด แผนภาพ 2

ให้เวลานักศึกษาไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้

  • เหตุใดเราจึงต้องออกจากที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อจะเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น (คำตอบของนักเรียนอาจได้แก่ เพื่อรับร่างกาย เรียนรู้และเติบโตโดยใช้สิทธิ์เสรีของเรา)

หลังจากนักเรียนสองสามคนตอบแล้ว ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำอธิบายต่อไปนี้ของประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์

ภาพ
ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์

“พระผู้เป็นเจ้าประทานแผนหนึ่งแก่เรา พระองค์ทรงส่งเราทุกคนมาแผ่นดินโลกเพื่อรับร่างกายพร้อมกับรับประสบการณ์และการเติบโต” (The Teachings of Spencer W. Kimball, ed. Edward L. Kimball [1982], 25)

  • ตามคำกล่าวของประธานคิมบัลล์ พระผู้เป็นเจ้าทรงส่งเรามาแผ่นดินโลกด้วยเหตุผลอะไรบ้าง (ขณะที่นักเรียนตอบ พวกเขาควรระบุความจริงต่อไปนี้ พระผู้เป็นเจ้าทรงส่งเรามาแผ่นดินโลกเพื่อรับร่างกาย รับประสบการณ์และการเติบโต)

  • เรื่องท้าทายต่างๆ ของการล่อลวง ความเจ็บป่วย ความโศกเศร้า ความเจ็บปวด ความท้อแท้สิ้นหวัง ความพิการ และความยากลำบากอื่นๆ ของมนุษย์มีบทบาทอะไรขณะที่เราพยายามให้ได้รับชีวิตนิรันดร์

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:19–20 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุอุปสรรคที่สามารถขัดขวางไม่ให้เราได้รับชีวิตนิรันดร์

  • เราเผชิญอุปสรรคอะไรบ้างในความเป็นมรรตัยที่สามารถขัดขวางไม่ให้เราได้รับชีวิตนิรันดร์ (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้ช่วยพวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้ บาปขัดขวางไม่ให้เราเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์และกลับไปอยู่กับพระองค์) ดู โมเสส 6:57ด้วย ซึ่งสอนว่าโดยผ่านการกลับใจ เราสามารถกลับไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าได้)

ให้เขียนบนกระดานว่า บาป บนแผนภาพใกล้คำว่า ความเป็นมรรตัย เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 10:21อีกคนหนึ่งอ่าน โมเสส 6:57 และอีกคนหนึ่งอ่าน แอลมา 41:10–11 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาเหตุผลว่าเหตุใดบาปจึงขัดขวางไม่ให้เราเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์และได้รับชีวิตนิรันดร์

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ เหตุใดบาปจึงขัดขวางไม่ให้เราเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์และได้รับชีวิตนิรันดร์ (นักเรียนอาจให้คำตอบหลากหลาย ช่วยพวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้ ไม่มีสิ่งไม่สะอาดอยู่ในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าได้)

เชิญนักเรียนสองคนออกมาหน้าชั้น ขอให้คนหนึ่งถือภาพพระเยซูทรงสวดอ้อนวอนในเกทเสมนี (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], หน้า 56; ดู LDS.org ด้วย) และอีกคนถือภาพการตรึงกางเขน (หน้า 57) เชิญนักเรียนคนที่สามอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:40–42 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุสิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงเตรียมไว้เพื่อให้เราสามารถเอาชนะบาปได้

  • ตามที่กล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:40–42 อะไรทำให้เราสามารถเอาชนะบาปได้ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พึงให้พวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้ พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์และถูกตรึงกางเขนเพราะบาปของทุกคน)

เชื้อเชิญให้นักเรียนที่ถือภาพอธิบายว่าเหตุการณ์ในภาพเกี่ยวข้องอะไรกับความสามารถของเราในการเอาชนะผลของบาป ติดภาพไว้บนกระดานตามที่แสดงให้เห็นใน แผนภาพประกอบ

ภาพ
แผนแห่งความรอด แผนภาพ 3 พร้อมรูปภาพ

เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: คพ. 18:22–23; คพ. 25:13, 15 มอบหมายให้นักเรียนทำงานเป็นคู่ ขอให้คนหนึ่งอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:22–23 และอีกคนหนึ่งอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:13, 15 ขอให้ทั้งคู่มองหาสิ่งที่เราต้องทำเพื่อเข้าถึงพลังการชำระให้สะอาดของการชดใช้และได้รับชีวิตนิรันดร์ เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พบกับคู่ของตน

  • เราต้องทำอะไรเพื่อมาหาพระเยซูคริสต์และได้รับพรจากการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์ (คำตอบอาจได้แก่ แสดงศรัทธาในพระเยซูคริสต์ กลับใจ รับบัพติศมา รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ อดทนด้วยศรัทธา รักษาพันธสัญญา และเชื่อฟังพระบัญญัติ ตามที่แสดงให้เห็นในแผนภาพถัดไป ให้วาดลูกศรจากซ้ายไปขวาในวงรีล่างสุด เขียนคำตอบของนักเรียนไปตามแนวลูกศร)

สรุปคำตอบของนักเรียนโดยเป็นพยานว่า ถ้าเราเชื่อฟังหลักธรรมและศาสนพิธีทั้งหลายของพระกิตติคุณ เราสามารถเอาชนะบาปผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ อธิบายว่าเมื่อเราทำและรักษาพันธสัญญาบัพติศมา เราได้รับการอภัยบาปของเราอย่างเมตตาถ้าเรากลับใจ นอกจากนี้ โดยผ่านของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ เรายังมีสิทธิ์รับความช่วยเหลือตามเส้นทางสู่ชีวิตนิรันดร์ได้ทุกวันด้วย

  • พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยท่านผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างไรขณะท่านพยายามดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณทุกวัน

อธิบายว่านอกจากบาปแล้ว มีอุปสรรคอย่างที่สองที่เราต้องเอาชนะจึงจะได้รับชีวิตนิรันดร์ ถามนักเรียนว่าพวกเขาบอกชื่ออุปสรรคดังกล่าวได้หรือไม่

หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียน ความตายทางร่างกาย บนแผนภาพข้างๆ คำว่า บาป เชิญนักเรียนคนหนึ่งอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นกับวิญญาณและร่างกายหลังจากเราตาย เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:33–34 อีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:22 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาคำตอบของคำถามต่อไปนี้

  • การแยกจากกันถาวรของวิญญาณและร่างกายเราเป็นอุปสรรคต่อการเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร (นักเรียนควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้ เราไม่สามารถเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์ได้หากไม่มีร่างกายเป็นเนื้อหนังและกระดูก

ให้นักเรียนดูภาพมารีย์และพระเยซูคริสต์ที่ฟื้นคืนพระชนม์ (หนังสือภาพพระกิตติคุณ; หน้า 59; ดู LDS.org ด้วย) และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นในภาพ จากนั้นให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 11:42–44 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงทำเพื่อเราจะสามารถเอาชนะอุปสรรคของความตายทางร่างกายได้

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ พระเยซูคริสต์ทรงทำอะไรเพื่อให้เราเอาชนะความตายทางร่างกายได้ (ช่วยนักเรียนระบุหลักคำสอนต่อไปนี้ เพราะการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ มนุษยชาติทั้งปวงจะฟื้นคืนชีวิตและจะมีชีวิตตลอดกาล)

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 138:14–17

  • “ความหวังแห่งการฟื้นคืนชีวิตอันรุ่งโรจน์” สามารถนำปีติมาให้ท่านและครอบครัวท่านอย่างไร

เตือนนักเรียนว่าความเป็นอมตะเป็นของประทานที่ทุกคนจะได้รับ แต่ชีวิตนิรันดร์เป็นของประทานของพระเจ้ามีให้แก่คนที่เชื่อฟังกฎและศาสนพิธีทั้งหลายของพระกิตติคุณเท่านั้น ติดภาพมารีย์และพระเยซูคริสต์ผู้ฟื้นคืนพระชนม์ไว้บนกระดานข้างภาพอื่น เขียน การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เหนือภาพทั้งสาม

วาดวงกลมอีกวงหนึ่ง ไว้ในวงรีด้านบนสุดและเขียนกำกับว่า ชีวิตนิรันดร์ วาดลูกศรตามแนวตั้งจากปลายลูกศรที่อยู่ล่างสุดของแผนภาพไปถึงคำว่า ชีวิตนิรันดร์

ภาพ
แผนแห่งความรอด แผนภาพสุดท้าย

ขอให้นักเรียนสรุปสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับแผนของพระบิดาบนสวรรค์เพื่อความสุขของเรา เชื้อเชิญให้พวกเขาหาโอกาสสอนแผนแห่งความสุขให้สมาชิกครอบครัวหรือเพื่อน

เพื่อสรุปบทเรียน ให้อธิบายว่าในการศึกษาพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา นักเรียนจะเรียนรู้ความจริงอีกมากมายเกี่ยวกับแผนแห่งความสุข บทนี้นำเสนอสาระโดยสังเขปเท่านั้น แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับความจริงที่ชั้นเรียนสนทนาในบทนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

การชดใช้เป็นศูนย์กลางของแผนแห่งความรอด

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเป็นพยานว่า

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ได้ชื่อว่าเป็น ‘เหตุการณ์สูงส่งที่สุดในบรรดาเหตุการณ์ทั้งหมดนับตั้งแต่การสร้างเรื่อยมาจนถึงยุคสมัยอันไม่สิ้นสุดของนิรันดร’ [บรูซ อาร์. แมคคองกี, The Promised Messiah: The First Coming of Christ (1981), 218.]

“การพลีพระชนม์ชีพครั้งนั้น—การชดใช้ของพระเยซูคริสต์—เป็นศูนย์กลางของแผนแห่งความรอด” (“การเสียสละ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 19)

บทเรียนของความเป็นมรรตัย

เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลินแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าความท้าทายในช่วงความเป็นมรรตัยสามารถขัดเกลาเราได้

ภาพ
เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลิน

“การเรียนรู้ว่าต้องอดทนยามผิดหวัง ทนทุกข์ และโศกเศร้าเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เราเรียนรู้จากชีวิต ประสบการณ์เหล่านี้แม้บ่อยครั้งจะทนได้ยาก แต่เป็นประสบการณ์ที่ขยายความเข้าใจของเรา สร้างอุปนิสัย และทำให้เรามีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น” (“ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ขอให้ชื่นชมยินดี,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 33)

พระคัมภีร์มอรมอนสอนว่าจุดประสงค์ประการหนึ่งของความเป็นมรรตัยคือเพื่อประสบปีติ “อาดัมตกเพื่อมนุษย์จะเป็นอยู่; และมนุษย์เป็นอยู่, เพื่อพวกเขาจะมีปีติ” (2 นีไฟ 2:25)

พระบิดาบนสรรค์ทรงคอยเรากลับมา

ประธานโธมัส เอส. มอนสันเป็นพยานถึงความปรารถนาของพระผู้เป็นเจ้าให้บุตรธิดาแต่ละคนของพระองค์กลับไปที่ประทับของพระองค์

ภาพ
ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“รัศมีภาพซีเลสเชียลนั่นเองที่เราแสวงหา เราปรารถนาจะอยู่ในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า เราต้องการเป็นสมาชิกในครอบครัวนิรันดร์ พรเช่นนั้นได้มาจากความพยายาม การแสวงหา การกลับใจชั่วชีวิต และความสำเร็จในที่สุด …

“พระบิดาบนสวรรค์ทรงปลาบปลื้มในคนที่รักษาพระบัญญัติ พระองค์ทรงห่วงใยเด็กที่หลงทาง วัยรุ่นที่เชื่องช้า หนุ่มสาวที่ออกนอกลู่นอกทาง พ่อแม่ที่บกพร่องต่อหน้าที่ พระอาจารย์ตรัสอย่างอ่อนโยนต่อคนเหล่านี้และต่อคนทั้งปวงว่า ‘กลับมา ขึ้นมา เข้ามา กลับบ้าน มาหาเรา’

“… ในฐานะพยานพิเศษของพระองค์ ข้าพเจ้าเป็นพยานต่อท่านว่าพระองค์ทรงพระชนม์ และทรงรอการกลับไปอย่างผู้ชนะของเรา” (“การแข่งขันในชีวิต,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 93)

“เป็นอย่างที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงปรารถนาให้เราเป็น”

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์สอนว่า

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“การพิพากษาครั้งสุดท้ายไม่เพียงเป็นการประเมินการทำดีและการทำชั่วทั้งหมด—สิ่งที่เรา ทำไปแล้วเท่านั้น แต่เป็นการยอมรับผลสุดท้ายของการกระทำและความคิดของเรา—สิ่งที่เรา เป็นด้วย การแสดงออกภายนอกเท่านั้นจึงยังไม่พอ พระบัญญัติ ศาสนพิธี และพันธสัญญาแห่งพระกิตติคุณไม่ใช่รายการเงินฝากที่กำหนดให้ทำไว้ในบัญชีสวรรค์ พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นแผนที่แสดงให้เราเห็นวิธีเป็นอย่างที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงประสงค์ให้เราเป็น” (“การท้าทายเพื่อที่จะเป็น,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 47)

อะไรคือความแตกต่างระหว่างความเป็นอมตะกับชีวิตนิรันดร์

เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลินสอนว่า

ภาพ
เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลิน

“ชีวิตนิรันดร์ … ต่าง [จากความเป็นอมตะ] โดยสิ้นเชิง ความเป็นอมตะเกี่ยวข้องกับปริมาณ ชีวิตนิรันดร์เกี่ยวข้องกับคุณภาพ …

“ชีวิตนิรันดร์คือจุดสูงสุดของการดำรงอยู่ ในฐานะบุตรธิดาทางวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า ท่านและข้าพเจ้าเป็นผู้สืบทอดทรัพย์สินอันประมาณค่ามิได้นี้ เป็นผู้อุปถัมภ์อนาคตอันรุ่งโรจน์ เป็นผู้รับพระคุณ

“ถ้าความเป็นอมตะคืองานของพระผู้เป็นเจ้าแล้วชีวิตนิรันดร์ก็คือรัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้า” (“What Is the Difference between Immortality and Eternal Life?” New Era, Nov. 2006, 8)