เซมินารี
บทที่ 129: หลักคำสอนและพันธสัญญา 123


บทที่ 129

หลักคำสอนและพันธสัญญา 123

คำนำ

ขณะศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธถูกจองจำในคุกลิเบอร์ตี้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1838 ถึงวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1839 ท่านเขียนจดหมายปลอบใจและแนะนำวิสุทธิชน หลักคำสอนและพันธสัญญา 123 เป็นข้อความที่คัดลอกมาจากจดหมายลงวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1839 ที่ท่านเขียนถึงวิสุทธิชน ในข้อความคัดลอกนี้ ท่านศาสดาพยากรณ์ขอให้วิสุทธิชนรวบรวมและตีพิมพ์เรื่องราวการข่มเหงและความทุกขเวทนาของพวกเขา และช่วยคนที่ถูกหลักคำสอนเท็จหลอก

หมายเหตุ: บทเรียนต่อจากนี้ (“การสถาปนานอวู” บทที่ 130) ให้โอกาสนักเรียนสองคนสอนบทเรียนบางส่วน ท่านอาจต้องการเลือกนักเรียนสองคนตอนนี้และแจกสำเนาของส่วนที่กำหนดให้สอนในบทที่ 130 เพื่อให้พวกเขาเตรียมตัว

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 123:1–6

โจเซฟ สมิธแนะนำให้วิสุทธิชนรวบรวมและตีพิมพ์เรื่องราวการข่มเหงและความทุกขเวทนาของพวกเขา

เริ่มโดยอ่านข้อความต่อไปนี้

“ขอรับรองว่าข้าพเจ้า เดเลีย รีด ย้ายมามิสซูรีในปี 1836 สามีข้าพเจ้าสิ้นชีวิตหลังจากมาถึงได้ไม่นานและทิ้งข้าพเจ้าไว้กับลูกเล็กๆ เจ็ดคน … เมื่อเกิดปัญหาระหว่างคนในท้องที่กับชาวมอรมอน ข้าพเจ้ากับคนอื่นในสังคมของเราจำต้องออกจากรัฐ … ข้าพเจ้าจำต้องสละทรัพย์สินส่วนใหญ่ [และ] ครอบครัว [ต้อง] กระจัดกระจาย และข้าพเจ้าต้องได้รับเงินเล็กๆ น้อยๆ รายวันจากคนแปลกหน้า” (Delia Reed, in Mormon Redress Petitions: Documents of the 1833–1838 Missouri Conflict, ed. Clark V. Johnson [1992], 523; ปรับตัวสะกดและเครื่องหมายวรรคตอนให้ตรงตามมาตรฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน)

อธิบายว่านี่เป็นคำให้การของซิสเตอร์รีดต่อเจ้าหน้าที่ตุลาการ เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 123:1 ในใจ

  • จากที่ท่านเรียนรู้ในข้อนี้ จุดประสงค์ประการหนึ่งที่ซิสเตอร์รีดให้การเช่นนั้นน่าจะเป็นอะไร

เตือนความจำนักเรียนว่าตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 1838 ถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 1839 ศาสดาพยากรณ์ โจเซฟ สมิธและผู้นำศาสนจักรบางคนถูกจองจำในคุกลิเบอร์ตี้ รัฐมิสซูรี ระหว่างนั้น วิสุทธิชนถูกขับไล่ออกจากรัฐมิสซูรีช่วงเดือนที่หนาวจัดเพราะคำสั่งขุดรากถอนโคนของผู้ว่าการลิลเบิร์น บอกส์ อธิบายว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 123 เป็นข้อความที่คัดลอกมาจากจดหมายเดือนมีนาคม ค.ศ. 1839 ที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเขียนจากคุกลิเบอร์ตี้ให้คำแนะนำวิสุทธิชนในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 123:1–5 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เโจเซฟ สมิธแนะนำให้วิสุทธิชนที่ได้รับการข่มเหงทำ เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจข้อเหล่านี้ ท่านอาจต้องอธิบายว่าใน ข้อ 5 วลี “เรื่องโยงใยของความประพฤติพาลเยี่ยงมาร” หมายถึงความเท็จที่ชั่วร้ายทั้งหลายและวลี “การบังคับขู่เข็ญอันร้ายกาจและโหดเหี้ยม” หมายถึงการกระทำที่ชั่วร้ายและรุนแรง

  • ท่านศาสดาพยากรณ์แนะนำให้วิสุทธิชนทำอะไรในข้อเหล่านี้

วิสุทธิชนจำนวนมากเชื่อฟังคำแนะนำของท่านศาสดาพยากรณ์และรวบรวมเรื่องราวการข่มเหงพวกเขา เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 123:6 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาเหตุผลว่าทำไมจึงบอกให้วิสุทธิชนรวบรวมเรื่องราวการข่มเหงและความทุกขเวทนาของพวกเขา ท่านอาจต้องการอธิบายว่าวลี “ทรงบัญชาเรา” หมายถึง “เรียกร้องจากเรา” ท่านอาจต้องการเตือนความจำนักเรียนเช่นกันว่าพระเจ้าทรงสัญญาไว้ว่าจะทรงไถ่วิสุทธิชนที่ถูกข่มเหงและ “เสด็จออกจากที่ซ่อนของพระองค์, และในความเกรี้ยวโกรธของพระองค์ทรงก่อทุกข์แก่ประชาชาติ” (คพ. 101:89)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 123:6เหตุใดพระบิดาบนสวรรค์ทรงบัญชาให้วิสุทธิชนรวบรวมเรื่องราวการข่มเหงพวกเขา

  • ข้อนี้สอนว่าเราต้องทำอะไรก่อนพระเจ้าจึงจะทรงทำตามสัญญาของพระองค์

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนหลักธรรมแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความพยายามของเรากับสัญญาของพระเจ้า ขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันหลักธรรมที่พวกเขาค้นพบ ต่อไปนี้เป็นวิธีหนึ่งที่นักเรียนจะถ่ายทอดวลีนี้: พระเจ้าจะทรงทำตามสัญญาของพระองค์หลังจากเราทำส่วนของเราแล้ว เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน

  • ท่านคิดว่าเหตุใดพระเจ้าจึงทรงคาดหวังให้เราทำส่วนของเราก่อนจะทรงทำตามสัญญาของพระองค์

  • ท่านเคยเห็นหลักธรรมนี้เกิดขึ้นในชีวิตท่านหรือในชีวิตคนที่ท่านรู้จักเมื่อใด

หลักคำสอนและพันธสัญญา 123:7–17

โจเซฟ สมิธแนะนำให้วิสุทธิชนช่วยคนที่ถูกความเท็จหลอก

เชื้อเชิญให้นักเรียนสมมติว่าพวกเขาได้รับงานมอบหมายให้เขียนรายงานเกี่ยวกับศาสนจักรสำหรับวิชาหนึ่งที่โรงเรียน ข้อกำหนดส่วนหนึ่งคือพวกเขาต้องมีแหล่งข้อมูลอย่างน้อยสามแหล่ง

  • ท่านจะใช้แหล่งข้อมูลอะไรเขียนรายงานของท่าน

  • เหตุใดแหล่งข้อมูลที่ท่านใช้เขียนเกี่ยวกับศาสนจักรจึงสำคัญ

  • ท่านรู้ได้อย่างไรว่าแหล่งใดพูดถึงศาสนจักรได้ถูกต้อง

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 123:7–10 โดยอธิบายว่าเมื่อโจเซฟ สมิธบันทึกข้อเหล่านี้ ความเท็จมากมายเกี่ยวกับศาสนจักรกำลังแพร่ไปทั่ว วิสุทธิชนได้รับบัญชาว่า “หน้าที่อันจำเป็นยิ่ง” ของพวกเขา (คพ. 123:7) คือตอบโต้ความเท็จเหล่านี้อีกทั้งรวบรวมและตีพิมพ์เรื่องราวการข่มเหงและความทุกขเวทนาของพวกเขา

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 123:11–12 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาเหตุผลเพิ่มเติมว่าทำไมวิสุทธิชนจึงได้รับบัญชาให้รวบรวมและตีพิมพ์เรื่องราวการข่มเหงและความทุกขเวทนาของพวกเขา ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 12ผู้มีใจบริสุทธิ์กี่คนมองไม่เห็นความเท็จ

  • ท่านคิดว่าความเท็จเกี่ยวกับศาสนจักรมีผลต่อคนที่นับถือศาสนาอื่นอย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 12เหตุใดคนมากมายบนแผ่นดินโลกจึงถูกกันไว้จากความจริง (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุความจริงต่อไปนี้: มีคนมากมายถูกกันไว้จากความจริงเพราะพวกเขาไม่รู้ว่าจะพบได้จากที่ใด)

  • การตีพิมพ์ความจริงเกี่ยวกับการข่มเหงวิสุทธิชนและความทุกขเวทนาของพวกเขาในครั้งนี้อาจจะช่วยให้ผู้คนพบความจริงได้อย่างไร

เตือนความจำนักเรียนว่ายังมีคนอีกมากทุกวันนี้ “ที่มืดบอดโดยเล่ห์กลอันแยบยลของมนุษย์” และผู้ถูกกันไว้จากความจริงเพราะพวกเขาหารู้ไม่ว่าจะพบได้จากที่ใด (คพ. 123:12) เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังสิ่งที่กันผู้คนไม่ให้รู้ความจริงเกี่ยวกับศาสนจักรในสมัยของเรา

ภาพ
เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

“มีคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับศาสนจักรมากเหลือเกินเพราะข้อมูลส่วนใหญ่ที่พวกเขาได้ยินเกี่ยวกับเรามาจากรายงานข่าวที่มักเกิดจากข้อโต้แย้ง การสนใจข้อโต้แย้งมากเกินไปมีผลลบต่อแนวความคิดของผู้คนว่าจริงๆ แล้วศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายคืออะไรกันแน่” (“Sharing the Gospel Using the Internet,” Ensign, July 2008, 62)

  • ตามที่เอ็ลเดอร์บัลลาร์ดกล่าว อะไรบ้างที่กันผู้คนไม่ให้รู้ความจริงเกี่ยวกับศาสนจักรในสมัยของเรา

อธิบายว่า เช่นเดียวกับวิสุทธิชนในปี 1839 เราได้รับบัญชาให้ช่วยผู้อื่นมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับศาสนจักร—สมาชิก ผู้นำ ความเชื่อ ประวัติศาสตร์ คำสอน และหลักปฏิบัติของศาสนจักร

  • ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้ผู้อื่นมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับศาสนจักร (เขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด ขอให้ชั้นเรียนฟังวิธีหนึ่งที่เราจะช่วยให้ผู้อื่นมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับศาสนจักร

ภาพ
เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

“มีการสนทนาเกิดขึ้นเสมอเกี่ยวกับศาสนจักร การสนทนาเหล่านั้นจะดำเนินต่อไปไม่ว่าเราจะเลือกร่วมวงสนทนาหรือไม่ก็ตาม แต่เราไม่สามารถยืนอยู่เฉยๆ ได้ขณะที่ผู้อื่น รวมทั้งคนที่วิพากษ์วิจารณ์เราพยายามให้นิยามสิ่งที่ศาสนจักรสอน ถึงแม้การสนทนาบางครั้งมีผู้ฟังหลายพันคนหรือแม้หลายล้านคน ทว่าส่วนใหญ่น้อยกว่านั้นมากๆ แต่การสนทนาทั้งหมดมีผลต่อคนที่ร่วมวงสนทนา การสนทนาแต่ละครั้งกำหนดมโนทัศน์เกี่ยวกับศาสนจักร …

“บัดนี้ ข้าพเจ้าขอให้ท่านร่วมวงสนทนาโดยแบ่งปันพระกิตติคุณทางอินเทอร์เน็ตและอธิบายข่าวสารของการฟื้นฟูด้วยคำที่เรียบง่ายและชัดเจน … แน่นอนว่าท่านต้องเข้าใจหลักธรรมพื้นฐานของพระกิตติคุณก่อนจึงจะทำเช่นนั้นได้ ท่านจำเป็นต้องสามารถให้พยานที่ ชัดเจน และ ถูกต้อง ถึงความจริงของพระกิตติคุณ” (“Sharing the Gospel Using the Internet,” 61, 62)

เพิ่มข้อเสนอแนะของเอ็ลเดอร์บัลลาร์ดเข้าไปในรายการที่เขียนไว้บนกระดาน

เชื้อเชิญให้นักเรียนคิดหาวิธีช่วยให้ผู้อื่นเรียนรู้ความจริงที่เขียนไว้บนกระดาน ขอให้พวกเขาเลือกหนึ่งข้อที่รู้สึกว่าจะใช้ได้ เชิญนักเรียนสองสามคนรายงานว่าพวกเขาเลือกข้อเสนอแนะใดและพวกเขาวางแผนจะใช้ข้อเสนอแนะนั้นช่วยให้ผู้อื่นมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับศาสนจักรอย่างไร กระตุ้นให้นักเรียนทุกคนทำตามข้อเสนอแนะที่เลือกเพื่อช่วยให้ผู้อื่นพบความจริง

ขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาช่วยให้ผู้อื่นมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับศาสนจักร เชิญนักเรียนสองสามคน แบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขา กับชั้นเรียน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 123:13–16 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าวิสุทธิชนได้รับบัญชาอะไรเกี่ยวกับการพยายามนำเสนอเรื่องราวที่ถูกต้องของความจริงต่อผู้อื่น

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 15เหตุใดวิสุทธิชนจึงได้รับบัญชาว่าอย่าเห็นความพยายามของพวกเขาเป็น “เรื่องเล็ก”

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากคำแนะนำของพระเจ้าใน ข้อ 15 เกี่ยวกับการตัดสินใจเล็กๆ น้อยๆ ที่เราทำเวลานี้ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: การตัดสินใจเชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้าที่ดูเหมือนเล็กน้อยจะมีอิทธิพลใหญ่หลวงต่อชีวิตเราในอนาคต)

  • การตัดสินใจเล็กๆ น้อยๆ ว่าจะสนทนาพระกิตติคุณกับบางคนจะมีอิทธิพลใหญ่หลวงได้อย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 123:17 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าข้อนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับความจริงที่เขียนไว้บนกระดานก่อนหน้านี้: พระเจ้าจะทรงทำตามสัญญาของพระองค์หลังจากเราทำส่วนของเราแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันข้อคิดของพวกเขากับชั้นเรียน

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้อง “ทำสิ่งทั้งปวงที่อยู่ในอำนาจของเรา” อย่างรื่นเริง

  • จาก ข้อ 17 เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเราเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้าสุดความสามารถหรือไม่ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: หากเราทำสิ่งทั้งปวงที่อยู่ในอำนาจของเราเพื่อเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้า เมื่อนั้นเราย่อมมั่นใจได้ว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงใช้เดชานุภาพของพระองค์ช่วยเราตามพระประสงค์และจังหวะเวลาของพระองค์)

  • ท่านคิดว่าการมีความมั่นใจว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงใช้เดชานุภาพของพระองค์ช่วยเราหากเรา “ทำสิ่งทั้งปวงที่อยู่ในอำนาจของเราอย่างรื่นเริง” หมายความว่าอย่างไร ท่านสามารถทำสิ่งใดได้บ้างเพื่อให้มีความมั่นใจเช่นนั้นในชีวิตท่าน

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าเรามั่นใจได้ว่าเมื่อเราได้ทำสุดความสามารถเพื่อทำตามพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้าอย่างเชื่อฟัง พระองค์จะทรงทำตามสัญญาของพระองค์

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 123:1 “รวบรวมความรู้เกี่ยวกับ … ความทุกขเวทนาและการกระทำทารุณกรรม”

วิสุทธิชนที่ทนทุกข์ในมิสซูรีเชื่อฟังคำแนะนำของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 123พวกเขารวบรวมเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับการข่มเหงพวกเขา ต่อไปนี้เป็นคำให้การของพยานสองคนต่อเจ้าหน้าที่ตุลาการ

“นายพลคลาร์กมาเมืองคาลด์เวลล์กับกำลังทหารของเขา ดิฉันอยู่ห่างฟาร์เวสท์ราวสองไมล์ … ใกล้บ้านของคุณแกด เยล ทหารจำนวนหนึ่งของนายพลคลาร์กมาถึงบ้านของคุณเยล อยู่ที่นั่นราวสองวันและทำลายทรัพย์สินจำนวนมาก พวกเขารื้อพื้นบ้านทั้งสองทิ้ง ทำลายเป็ดไก่และหมู และจุดไฟเผา … กองฟาง ดิฉันเห็นพวกเขาจุดไฟเผากองฟางจนวอดวาย พวกเขาขนข้าวโพดจากคุณเยลไปให้ม้าของพวกเขาตามใจชอบ และดิฉันเชื่อว่าต้นข้าวโพดของคุณเยลเสียหายราวสิบเอเคอร์ … หมูบางตัวที่พวกเขายิงทิ้งถูกปล่อยให้เน่าอยู่บนพื้น ดิฉันเห็นทหารบ้านบางคนเข้าไปปล้นบ้านของคุณไซรัส ดาเนียลด้วย ดิฉันเห็นพวกเขาขนเตียงหนึ่งหลังพร้อมเครื่องนอนและเสื้อผ้าจำนวนหนึ่งออกมา” (แมรีย์ เค. ไมลส์, ใน Mormon Redress Petitions: Documents of the 1833–1838 Missouri Conflict, ed. Clark V. Johnson [1992], 496–97; ปรับเปลี่ยนตัวสะกดและเครื่องหมายวรรคตอนให้ตรงตามมาตรฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน)

“ผมขอรับรองว่าคุณพ่อของผมแวะที่โรงโม่ของฮอนและพักอยู่ในเต็นท์ตอนเกิดการสังหารหมู่ที่นั่น ผมอยู่ในเต็นท์เมื่อพวกเขาขี่ม้ามา พวกเราบางคนตะโกนบอกพวกผู้หญิงและเด็กให้ออกจากเต็นท์ ผมวิ่งเข้าไปในร้านตีเหล็กที่พ่ออยู่ ผมคลานเข้าไปใต้เครื่องเป่าลม พี่ชายผมกับเด็กผู้ชายอีกคนชื่อชาร์ลส์ เมอร์ริคเข้าไปด้วย ผมได้รับบาดเจ็บที่สะโพก พี่ชายผมถูกยิงที่ศีรษะ และเด็กชายอีกคนได้รับบาดเจ็บสามแห่งและเสียชีวิตหลังจากนั้น คุณแม่บอกผมว่าผมอายุแปดขวบเดือนที่แล้ว ผมเห็นศัตรูของเราบางคนถอดรองเท้าบูทของคุณพ่อออกก่อนท่านตาย” (แอลมา สมิธ, ใน Mormon Redress Petitions, 537; ปรับเปลี่ยนตัวสะกดและเครื่องหมายวรรคตอนให้ตรงตามมาตรฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 123:4–5 “สิ่งพิมพ์ใส่ร้ายป้ายสีที่กำลังแพร่สะพัดออกไป”

เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าการเผยแพร่ด้านลบเกี่ยวกับศาสนจักรจะช่วยงานเผยแผ่ศาสนาของเราได้อย่างไร

ภาพ
เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์

“ประสบการณ์แสดงให้เห็นว่าช่วงเวลาของการเผยแพร่ด้านลบเกี่ยวกับศาสนจักรช่วยทำให้จุดประสงค์ของพระเจ้าบรรลุผลสำเร็จ ในปี 1983 ฝ่ายประธานสูงสุดเขียนถึงผู้นำศาสนจักรดังนี้ ‘การต่อต้านอาจเป็นโอกาสในตัวมันเอง หนึ่งในความท้าทายอย่างต่อเนื่องที่ผู้สอนศาสนาของเราพบเจอคือการขาดความสนใจในเรื่องศาสนาและข่าวสารของเรา เสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ก่อให้เกิด … ความสนใจในศาสนจักร … เปิดโอกาส [ให้สมาชิก] นำเสนอความจริงต่อคนเหล่านั้นซึ่งมุ่งความสนใจมาที่เรา’ [จดหมายจากฝ่ายประธานสูงสุด, 1 ธ.ค., 1983]

“เราสามารถใช้โอกาสเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ในหลายด้านๆ อาทิ เขียนจดหมายที่อ่อนโยนถึงบรรณาธิการ สนทนากับเพื่อน แสดงความคิดเห็นบนบล็อก หรือขจัดความหวาดระแวงให้แก่คนที่ใส่ร้ายป้ายสี เราสามารถโต้ตอบคนเหล่านั้นผู้ถูกข้อมูลผิดและอคติชักจูงด้วยความรัก—ผู้ ‘ถูกกันไว้จากความจริงเพราะพวกเขาหารู้ไม่ว่าจะพบได้จากที่ใด’ (คพ. 123:12) ข้าพเจ้ารับรองกับท่านว่าการโต้ตอบผู้กล่าวหาเราด้วยวิธีนี้ไม่ใช่ความอ่อนแอนี่คือ ความกล้าหาญในการการกระทำแบบชาวคริสต์” (“ความกล้าหาญแบบชาวคริสต์: คุณค่าแห่งความเป็นสานุศิษย์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 90)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 123:4–5 การประเมินเจตนาและความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล

นักเขียนบางคนที่เขียนเกี่ยวกับศาสนจักรและประวัติศาสนจักรนำเสนอข้อมูลเข้าข้างตัวเองหรือไม่ก็เขียนความจริงบางส่วนที่สามารถชักนำให้เข้าใจผิดได้ เจตนาของงานเขียนบางอย่างเหล่านี้คือเพื่อทำลายศรัทธาในศาสนจักรและผู้นำศาสนจักร

เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดถึงการทดลองศรัทธาของเราดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น

“มีคนต้องการทำลายชื่อเสียงของศาสนจักรและทำลายศรัทธาเสมอ ทุกวันนี้พวกเขาใช้อินเทอร์เน็ต

“ข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับศาสนจักรไม่เป็นความจริง ไม่ว่าจะโน้มน้าวจิตใจเพียงใดก็ตาม ในปี 1985 ข้าพเจ้าจำได้ว่าเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งเดินเข้ามาในสำนักงานของข้าพเจ้าในฟลอริดา เขามีบทความในนิตยสาร Time ชื่อว่า ‘Challenging Mormonism’s Roots’ บทความพูดถึงจดหมายที่พึ่งค้นพบ น่าจะเขียนโดยมาร์ติน แฮร์ริส ซึ่งขัดแย้งกับเรื่องราวการพบแผ่นจารึกพระคัมภีร์มอรมอนของโจเซฟ สมิธ

“เพื่อนร่วมงานถามข้าพเจ้าว่าข้อมูลใหม่นี้จะทำลายศาสนจักรมอรมอนหรือไม่ บทความอ้างชื่อชายคนหนึ่งที่พูดว่าเขาออกจากศาสนจักรเพราะเอกสารดังกล่าว ต่อมามีรายงานว่าคนอื่นๆ ออกตาม ข้าพเจ้าแน่ใจว่านั่นเป็นการทดลองศรัทธาของพวกเขา

“ไม่กี่เดือนต่อมา ผู้เชี่ยวชาญพบว่า (และคนปลอมเอกสารสารภาพว่า) จดหมายนั้นหลอกลวงทั้งเพ ข้าพเจ้าหวังอย่างยิ่งว่าคนที่ออกจากศาสนจักรเพราะการหลอกลวงครั้งนี้จะหาทางกลับมา” (“การทดลองศรัทธาของท่าน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 41)

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกระตุ้นวิสุทธิชนยุคสุดท้ายให้ประเมินสิ่งที่อ่านเกี่ยวกับศาสนจักรและประวัติศาสนจักรอย่างถี่ถ้วนอีกทั้งพึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์และปัญญาของพวกเขาขณะทำเช่นนั้น

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“การประเมิน … มีสองมิติ ทางปัญญาและทางวิญญาณ

“ในทางปัญญา เห็นชัดว่าผู้อ่านและผู้ชมต้องรอบรู้มากกว่าในการประเมินสิ่งที่ถ่ายทอดให้พวกเขา …

“สำหรับวิสุทธิชนยุคสุดท้าย การประเมินมีมิติทางวิญญาณด้วย ทั้งนี้เพราะความเชื่อของเราในคำประกาศของโมโรไนที่ว่า ‘โดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ท่านจะรู้ความจริงของทุกเรื่อง’ (โมโรไน 10:5) สัญญาดังกล่าวรับรองกับผู้อ่านที่มีความละเอียดอ่อนทางวิญญาณว่าพลังของการเล็งเห็นจะช่วยพวกเขาประเมินความหมายของสิ่งที่เรียนรู้

“เกี่ยวกับพลังทางวิญญาณของเราในการประเมิน เราต้องจำไว้ว่าพระวิญญาณของพระเจ้าจะไม่ทรงนำทางเราหากเจตคติของเราเองเป็นเจตคติของการจับผิด หลักธรรมดังกล่าวนำมาใช้ทั้งกับผู้อ่านและผู้เขียน …

“ประจักษ์พยานส่วนตัวของเราแต่ละคนมีพยานของพระวิญญาณเป็นรากฐาน ไม่ใช่การผสมผสานหรือการสั่งสมข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ถ้าเรามีฐานมั่น การเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ย่อมไม่สามารถสั่นคลอนประจักษ์พยานของเราได้ พระบิดาบนสวรรค์ประทานพลังแห่งเหตุผลให้เรา และคาดหวังให้เราใช้พลังเหล่านั้นอย่างเต็มที่ แต่พระองค์ประทานพระผู้ปลอบโยนให้เราด้วย ผู้ที่พระองค์ตรัสว่าจะนำเราเข้าสู่ความจริงและโดยอำนาจของพระองค์เราจะรู้ความจริงของทุกเรื่อง พระองค์ทรงเป็นผู้นำทางสูงสุดสำหรับวิสุทธิชนยุคสุดท้ายผู้มีค่าควรและเต็มใจพึ่งพาพระองค์” (“Reading Church History,” in Symposium Speeches [symposium on the Doctrine and Covenants and Church history, Aug. 14–16, 1985], 4, 5)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 123:17 “ทำสิ่งทั้งปวงที่อยู่ในอำนาจของเรา”

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเชื่อและดำเนินชีวิตตามหลักธรรมที่ว่าเราต้องทำสุดความสามารถก่อนจึงจะได้รับความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้า ดังที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:86–89 พระเจ้าทรงบัญชาให้วิสุทธิชนขอร้องผู้นำรัฐบาลรวมทั้งประธานาธิบดีสหรัฐใส่ใจเรื่องราวความทุกขเวทนาและการข่มเหงพวกเขา วันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1839 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธกับ เอลีอัส ฮิกบีผู้พิพากษาเข้าพบมาร์ติน แวน บูเร็นประธานาธิบดีสหรัฐ

“ตอนแรกแวน บูเร็นไม่สนใจคำร้องของท่านศาสดาพยากรณ์ แต่เมื่อการสนทนาคืบหน้า ประธานาธิบดีสัญญาว่าจะพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งและ ‘รู้สึกเห็นใจ [ชาวมอรมอน] เนื่องจากความทุกข์ยากลำบาก [ของพวกเขา]’ [ใน History of the Church, 4:40]

“หลังจากพบปะสนทนากับประธานาธิบดีแวน บูเร็นแล้ว ท่านศาสดาพยากรณ์กับเอลีอัส ฮิกบีอยู่ในตะวันออกสองเดือน โดยพยายามขอการสนับสนุนจากวฺุฒิสมาชิกและตัวแทนที่ยินดียอมรับอุดมการณ์ของพวกท่าน [ดู History of the Church, 4:40, 43–44] พวกท่านเข้าพบประธานาธิบดีแวน บูเร็นอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1840 คราวนี้แวน บูเร็นไม่มีความรู้สึกเห็นใจศาสนจักรอย่างที่เคยมี ตามคำกล่าวของท่านศาสดาพยากรณ์ ประธานาธิบดีปฏิบัติต่อพวกท่านอย่างหยาบคายและประกาศว่า ‘ท่านสุภาพบุรุษ อุดมการณ์ของพวกคุณเที่ยงธรรม แต่ผมทำอะไรให้พวกคุณไม่ได้ … ถ้าผมช่วยพวกคุณผมจะเสียคะแนนเสียงของมิสซูรีi’ [ใน History of the Church, 4:80]” (Arnold K. Garr, “Joseph Smith: Campaign for President of the United States,” Ensign, Feb. 2009, 49)

ถึงแม้ประธานาธิบดีสหรัฐไม่ยอมช่วยวิสุทธิชน แต่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธยังคงขอความช่วยเหลือจากผู้นำรัฐบาลคนอื่นๆ ต่อไป เพราะโจเซฟทำทุกสิ่งในอำนาจของท่าน ท่านจึงมั่นใจว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงใช้เดชานุภาพของพระองค์ช่วยท่าน