เซมินารี
บทที่ 5: การศึกษาพระคัมภีร์


บทที่ 5

การศึกษาพระคัมภีร์

คำนำ

บทนี้จะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้วิธีเข้าใจบริบทและเนื้อหาของพระคัมภีร์ดีขึ้น ระบุหลักคำสอนและหลักธรรมพระกิตติคุณที่อยู่ในพระคัมภีร์ และประยุกต์ใช้ความจริงเหล่านั้นในชีวิตของพวกเขา เมื่อนักเรียนค้นพบและปฏิบัติตามความจริงนิรันดร์ที่พบในพระคัมภีร์ พระกิตติคุณย่อมเข้าลึกลงไปในใจพวกเขา คิดหาวิธีทบทวนเนื้อหาในบทนี้ตลอดปี

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

จุดประสงค์ของการศึกษาพระคัมภีร์

ก่อนชั้นเรียน ให้วางสิ่งของที่ใช้กันทั่วไป เช่น ดินสอ สมุดจด หรือหนังสือเพลงสวดไว้ในที่ซึ่งเห็นได้ชัด เลือกตำแหน่งที่ดูเหมือนจะวางของชิ้นนั้นวางไม่ผิดที่หรือนักเรียนไม่สังเกตเห็นได้ง่าย เริ่มชั้นเรียนโดยบอกนักเรียนว่าท่านทำของบางอย่างหายและต้องการให้พวกเขาช่วยหา ขอให้พวกเขาค้นทั่วห้อง แต่อย่าบอกว่าพวกเขากำลังค้นหาอะไร หลังจากนักเรียนหาได้ครู่หนึ่งแล้วแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ให้บอกว่าพวกเขาควรหาอะไร และขอให้พวกเขาลองหาอีกครั้ง

  • เหตุใดจึงหาสิ่งที่ท่านมองหาครั้งที่สองง่ายขึ้น

ชูพระคัมภีร์ของท่าน ชี้ให้เห็นว่าเราหาง่ายขึ้นเมื่อเรารู้ว่ากำลังหาอะไร ฉันใดก็ฉันนั้น การศึกษาพระคัมภีร์ของเราจะมีความหมายมากขึ้นเมื่อเรารู้ว่าจะมองหาอะไรขณะที่เราศึกษา

เพื่อช่วยนักเรียนระบุสิ่งที่เราควรค้นหาเมื่อเราศึกษาพระคัมภีร์ ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานมาเรียน จี. รอมนีย์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด ก่อนนักเรียนอ่าน ขอให้ชั้นเรียนฟังสิ่งที่พวกเขาควรจะพบในพระคัมภีร์ทุกครั้งถ้าพวกเขามองหา (ท่านอาจต้องการจัดเตรียมสำเนาคำกล่าวนี้และของศาสดาพยากรณ์ท่านอื่นๆ ในบทนี้ให้นักเรียน)

ภาพ
ประธานมาเรียน จี. รอมนีย์

“คนๆ หนึ่งจะศึกษาพระคัมภีร์อย่างซื่อสัตย์ไม่ได้หากไม่เรียนรู้หลักธรรมพระกิตติคุณเพราะพระคัมภีร์เขียนไว้เพื่อสงวนหลักธรรมที่เป็นประโยเรา” (ชน์ต่อ“The Message of the Old Testament” CES Symposium on the Old Testament, Aug. 17, 1979, 3, LDS.org)

  • จากคำอธิบายของประธานรอมนีย์ เราควรมองหาอะไรขณะที่เราศึกษาพระคัมภีร์

  • หลักธรรมคืออะไร

ยืนยันหรือเสริมคำตอบของนักเรียนโดยเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำอธิบายต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ก่อนนักเรียนอ่าน ขอให้นักเรียนครึ่งชั้นฟังว่าหลักธรรมคืออะไร ขอให้อีกครึ่งชั้นฟังว่าเหตุใดการค้นหาหลักธรรมในพระคัมภีร์จึงสำคัญมาก

ภาพ
เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

“หลักธรรมคือความจริงล้วนๆ มีไว้เพื่อประยุกต์ใช้กับสภาวการณ์หลากหลายรอบด้าน หลักธรรมที่แท้จริงทำให้การตัดสินใจชัดเจนแม้ภายใต้สภาวการณ์ที่บีบคั้นและสับสนที่สุด” (“Acquiring Spiritual Knowledge,” Ensign, Nov. 1993, 86)

  • ตามที่เอ็ลเดอร์สก็อตต์กล่าว หลักธรรมคืออะไร เหตุใดการพบหลักธรรมในพระคัมภีร์จึงสำคัญมาก

อธิบายว่าหลักธรรมและหลักคำสอนในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นความจริงพื้นฐานที่ไม่แปรเปลี่ยนซึ่งให้การนำทางสำหรับชีวิตเรา หลักคำสอนและหลักธรรมคือสิ่งที่พระเจ้าและศาสดาพยากรณ์ของพระองค์มุ่งหมายจะให้เราเรียนรู้จากการเปิดเผย คำเทศนา และเหตุการณ์ที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์

เพื่อช่วยให้นักเรียนค้นพบตัวอย่างของหลักคำสอนหรือหลักธรรมที่สอนในพระคัมภีร์ ให้พวกเขาใคร่ครวญนิมิตแรกของโจเซฟ สมิธ ถามว่าพวกเขาสามารถระบุความจริงอันเรียบง่ายที่เราสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของโจเซฟ สมิธได้หรือไม่ นักเรียนอาจระบุหลักคำสอนและหลักธรรมต่างกัน ความจริงต่อไปนี้เป็นตัวอย่างหนึ่ง: ถ้าเราสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธา พระผู้เป็นเจ้าจะทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของเรา

การเข้าใจบริบทและเนื้อหาของพระคัมภีร์

ให้ดูผลไม้ที่ต้องปอกเปลือกก่อนจึงจะกินได้ (ตัวอย่างเช่น กล้วยหรือส้ม)

  • ท่านต้องทำอะไรก่อนจึงจะสามารถใช้สิ่งนี้ตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ (นำเอาเปลือกออก)

  • ถ้าส่วนสำคัญและมีประโยชน์ของสิ่งนี้อยู่ข้างใน อะไรคือจุดประสงค์ของเปลือกด้านนอก (เพื่อห่อหุ้มและเก็บเนื้อในไว้ให้เรา)

อธิบายว่าผลไม้ภายในเปลือกเปรียบได้กับหลักคำสอนและหลักธรรมที่พบในพระคัมภีร์ เปลือกด้านนอกเปรียบได้กับเหตุการณ์ ผู้คน และโอวาทในพระคัมภีร์ เช่นเดียวกับเปลือกมีไว้ห่อหุ้มเนื้อในผลไม้ เรื่องราวพระคัมภีร์เหล่านี้ถ่ายทอดหลักคำสอนและหลักธรรมพระกิตติคุณให้เราในวิธีที่ช่วยให้เราเข้าใจ จดจำ และประยุกต์ใช้ในชีวิตเรา

ขอให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเคยทำเพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจภูมิหลัง โครงเรื่อง เหตุการณ์ และรายละเอียดอื่นๆ ของพระคัมภีร์ดีขึ้น (ท่านอาจต้องการเขียนความคิดบางอย่างของพวกเขาไว้บนกระดาน) หลังจากนักเรียนแบ่งปันความคิดแล้ว ให้อธิบายทักษะการศึกษาพระคัมภีร์ต่อไปนี้และใช้เวลาฝึกสองสามนาที

ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ อธิบายว่าแต่ละภาคของพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาจะมีคำนำภาคที่พูดถึงข้อกังวล คำถาม หรือเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเปิดเผยในภาคนั้น การรู้รายละเอียดเหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจการเปิดเผย

เพื่อแสดงให้เห็นว่าการรู้รายละเอียดเหล่านี้ทำให้เราเข้าใจการเปิดเผยเพิ่มขึ้น ให้เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:1–8 จากนั้นขอให้นักเรียนอ่านคำนำภาคในใจ โดยมองหาข้อมูลที่ช่วยให้พวกเขาเข้าใจข้อเหล่านี้

  • การรู้ว่าโจเซฟ สมิธถูกขังในเรือนจำลิเบอร์ตี้หลายเดือนช่วยให้เราเข้าใจข้อเหล่านี้ดีขึ้นอย่างไร

การนิยามคำ ชี้ให้เห็นว่าเราอาจไม่คุ้นกับคำบางคำที่ใช้ในพระคัมภีร์ Bible Dictionary คู่มือพระคัมภีร์ เชิงอรรถ และพจนานุกรมทั่วไปสามารถช่วยให้เรารู้นิยามของคำและเข้าใจความหมาย

เพื่อยกตัวอย่าง ให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:2 ในใจ อธิบายว่าคำว่า ยั้ง สามารถหมายถึงล่าช้าหรือหน่วงเหนี่ยว

  • การรู้นิยามนี้ช่วยให้เราเข้าใจข้อนี้ดีขึ้นอย่างไร

การระบุหลักคำสอนและหลักธรรม

อธิบายว่าเมื่อเราเข้าใจบริบทและเนื้อหาของข้อพระคัมภีร์เพิ่มขึ้นแล้ว เราย่อมพร้อมจะระบุความจริงพระกิตติคุณที่อยู่ในนั้น เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ ขอให้ชั้นเรียนฟังวลีที่บอกว่าเราควรทำอะไรเพื่อระบุความจริงขณะที่เราศึกษาพระคัมภีร์

ภาพ
เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

“ขณะที่เราแสวงหาความรู้ทางวิญญาณ จงค้นหาหลักธรรม ค่อยๆ แยกหลักธรรมออกจากรายละเอียดที่ใช้อธิบายหลักธรรมเหล่านั้น … การจัดระเบียบความจริงที่เรารวบรวมไว้ให้เป็นข้อความที่เรียบง่ายของหลักธรรมนับเป็นความพยายามที่คุ้มค่ามาก” (“Acquiring Spiritual Knowledge,” 86)

  • เอ็ลเดอร์สก็อตต์ใช้วลีใดพูดถึงขั้นตอนของการระบุความจริงในพระคัมภีร์ (“ค่อยๆ แยกหลักธรรมออกจากรายละเอียดที่ใช้อธิบายหลักธรรม” “จัดระเบียบความจริงที่เรารวบรวมไว้ให้เป็นข้อความที่เรียบง่ายของหลักธรรม”)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้อง “จัดระเบียบความจริง” ที่เราเรียนรู้จากข้อพระคัมภีร์ให้เป็นข้อความที่เรียบง่ายของหลักคำสอนหรือหลักธรรม

ชี้ให้เห็นว่าหลักคำสอนและหลักธรรมพระกิตติคุณบางข้อระบุง่ายเพราะบอกไว้ชัดเจนในพระคัมภีร์ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:7–8 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุความจริงที่บอกไว้ชัดเจนในข้อเหล่านี้ นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: หากเราอดทนด้วยดีต่อการทดลองของเรา พระผู้เป็นเจ้าจะทรงยกเราให้สูงส่งและช่วยให้เรามีชัยเหนือศัตรู

อธิบายว่าหลักคำสอนและหลักธรรมมากมายไม่ได้บอกชัดเจนในพระคัมภีร์แต่อธิบายหรือพรรณนาไว้ทั่วพระคัมภีร์หลายๆ ข้อ การระบุหลักคำสอนหรือหลักธรรมรูปแบบนี้ต้องอาศัยการจำแนกความจริงที่อธิบายไว้ในข้อพระคัมภีร์และบอกความจริงเหล่านั้นได้อย่างเรียบง่ายและชัดเจน เพื่อช่วยนักเรียนฝึกระบุหลักคำสอนและหลักธรรมที่ไม่ได้บอกไว้ชัดเจน ให้พวกเขาถามคำถามเช่น “ฉันจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากข้อนี้” “ข่าวสารหรือประเด็นของข้อเหล่านี้คืออะไร” หรือ “พระเจ้าทรงประสงค์ให้ฉันเรียนรู้อะไรจากข้อนี้”

เชื้อเชิญนักเรียนให้ฝึกระบุหลักคำสอนและหลักธรรมโดยทบทวน หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:1–8 ขอให้นักเรียนเขียนความจริงพระกิตติคุณที่เราได้เรียนรู้จากคำสวดอ้อนวอนของโจเซฟ สมิธและคำตอบของพระเจ้าสำหรับคำสวดอ้อนวอนนั้นลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้เชิญนักเรียนหลายๆ คนอ่านหลักคำสอนหรือหลักธรรมที่พวกเขาระบุจากข้อเหล่านี้ ความจริงที่นักเรียนระบุอาจได้แก่

พระผู้เป็นเจ้าทรงได้ยินคำสวดอ้อนวอนของเรา

ถ้าเราเรียกหาพระผู้เป็นเจ้าในยามยากลำบาก พระองค์จะประทานสันติสุขแก่เรา

การประยุกต์ใช้หลักคำสอนและหลักธรรมในชีวิตเรา

พูดถึงผลไม้ที่ชั้นเรียนสนทนาก่อนหน้านี้ในบทเรียนอีกครั้ง

  • ผลไม้มีคุณค่าอะไรถ้าไม่รับประทานหลังปอกเปลือก

  • ถ้าหลักคำสอนและหลักธรรมที่เราระบุในพระคัมภีร์เปรียบได้กับผลไม้ที่เราปอกเปลือกแล้ว เราควรทำอะไรทันทีที่เราระบุความจริงเหล่านั้น (ประยุกต์ใช้ในชีวิตเรา)

อธิบายว่าเมื่อเรารู้สึกถึงความจริงและความสำคัญของหลักคำสอนและหลักธรรมที่เราระบุในพระคัมภีร์ เราจะรู้สึกปรารถนาจะประยุกต์ใช้ในชีวิตเรา เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันกับคู่ว่าพวกเขาจะประยุกต์ใช้ความจริงหนึ่งข้อที่พวกเขาระบุไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:1–8 ได้อย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้นักเรียนดูตามและระบุวลีที่มีความหมายต่อพวกเขา

ภาพ
ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“ถ้า [ท่าน] คุ้นเคยกับการเปิดเผย ย่อมไม่มีคำถามใด—คำถามส่วนตัวหรือเกี่ยวกับสังคมหรือการเมืองหรืออาชีพ—ไม่มีคำตอบ ในนั้นมีความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณอันเป็นนิจ ในนั้นเราพบหลักธรรมแห่งความจริงที่จะแก้ไขความสับสนทั้งหมด ปัญหาทั้งหมด และความยุ่งยากใจทั้งหมดที่จะเกิดแก่ครอบครัวมนุษย์หรือบุคคลใดในครอบครัว” (“Teach the Scriptures” address to CES religious educators, Oct. 14, 1977, 3–4, LDS.org)

  • วลีใดสะดุดใจท่าน เพราะเหตุใด

สรุปบทเรียนโดยแบ่งปันว่าหลักคำสอนและหลักธรรมในพระคัมภีร์เป็นพรแก่ชีวิตท่านอย่างไรเมื่อท่านค้นพบและประยุกต์ใช้ ท่านอาจเชิญนักเรียนแบ่งปันหลักคำสอนหรือหลักธรรมที่พวกเขาค้นพบในพระคัมภีร์และบอกว่าสิ่งนั้นเป็นพรแก่ชีวิตพวกเขาอย่างไร กระตุ้นให้นักเรียนค้นหาความจริงนิรันดร์เหล่านี้อย่างขยันหมั่นเพียรขณะที่พวกเขาศึกษาพระคัมภีร์และประยุกต์ใช้ในชีวิตพวกเขา

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

การค้นพบและประยุกต์ใช้หลักคำสอนและหลักธรรมพระกิตติคุณ

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันให้คำแนะนำเกี่ยวกับการศึกษาพระคัมภีร์ดังนี้

ภาพ
ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

“สิ่งสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่ท่านทำได้ … คือตั้งใจศึกษาพระคัมภีร์ หมั่นค้นคว้าพระคัมภีร์ ดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์ เรียนรู้หลักคำสอน เชี่ยวชาญหลักธรรมที่อยู่ในนั้น (“The Power of the Word,” Ensign, May 1986, 81)