เซมินารี
บทที่ 94: หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:118–141


บทที่ 94

หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:118–141

คำนำ

บทนี้เป็นบทสุดท้ายของสี่บทที่พูดถึง หลักคำสอนและพันธสัญญา 88 พระเจ้าประทานการเปิดเผยนี้ที่การประชุมใหญ่ของมหาปุโรหิตวันที่ 27–28 ธันวาคม ค.ศ. 1832 (ข้อ 1–126) และ 3 มกราคม ค.ศ. 1833 (ข้อ 127–141) บทนี้ครอบคลุม หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:118–141 ในการเปิดเผยส่วนนี้ พระเจ้าทรงบัญชาผู้ดำรงฐานะปุโรหิตกลุ่มหนึ่งให้จัดตั้งโรงเรียนศาสดาพยากรณ์ภายใต้การกำกับดูแลของโจเซฟ สมิธ ผู้มาเข้าโรงเรียนนี้จะเรียนรู้ด้วยกันโดยการศึกษาและโดยศรัทธา อีกทั้งแสดงความรักและมิตรภาพต่อกัน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:118–126

พระเจ้าทรงอธิบายรูปแบบของการเรียนรู้

เริ่มโดยสนทนาคำถามต่อไปนี้

  • ตอนนี้ท่านกำลังเรียนอะไรที่โรงเรียน ที่บ้าน ที่ทำงาน ที่โบสถ์

  • การเรียนวิชาต่างๆ ที่โรงเรียนเช่นคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ต่างจากการเรียนพระกิตติคุณอย่างไร อาจจะเหมือนกันอย่างไร

อธิบายว่าที่เคิร์ทแลนด์ โอไฮโอ ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1833 ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตกลุ่มหนึ่งทำตามพระบัญชาของพระเจ้าให้ประชุมกันในโรงเรียนศาสดาพยากรณ์เพื่อเตรียมตนเองให้พร้อมสั่งสอนพระกิตติคุณทั่วแผ่นดินโลก เมื่อพี่น้องชายเหล่านี้ประชุมกัน พระเจ้าทรงสอนให้พวกเขารู้วิธีหนุนใจหรือจรรโลงใจกันผ่านพระวิญญาณขณะพวกเขาเรียนรู้ด้วยกัน เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาหลักธรรมเกี่ยวกับการเรียนรู้ขณะพวกเขาศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:118–141 ในวันนี้

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:118 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาว่าสมาชิกในโรงเรียนศาสดาพยากรณ์ต้องแสวงหาการเรียนรู้อย่างไร

  • พี่น้องชายเหล่านี้ต้องแสวงหาการเรียนรู้อย่างไร

  • ท่านคิดว่าเรียนรู้ “โดยการศึกษาและโดยศรัทธา” หมายความว่าอย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าการเรียนรู้โดยศรัทธาหมายความว่าอย่างไร ให้เชิญคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์เแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“การเรียนรู้ด้วยศรัทธาเรียกร้องการทุ่มเททางร่างกาย จิตใจ และวิญญาณ ไม่ใช่รับอย่างเดียว …

“… การเรียนรู้โดยศรัทธาไม่สามารถถ่ายทอดจากผู้สอนไปสู่ผู้เรียนผ่านการบรรยาย การสาธิต หรือการใช้ประสบการณ์ แต่ผู้เรียนต้องใช้ศรัทธาและกระทำเพื่อให้ได้ความรู้ด้วยตนเอง” (“แสวงหาการเรียนรู้ด้วยศรัทธา,” เลียโฮนา, ก.ย. 2007, 20)

อธิบายว่าเราสามารถเรียนรู้โดยศรัทธาเมื่อเราเข้าร่วมโอกาสการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้นร่วมกับการสวดอ้อนวอนแล้วปฏิบัติตามสิ่งที่เราเรียนรู้ เราเรียนรู้เมื่อเราใช้ศรัทธาผ่านการเชื่อฟัง

  • สังเกตขณะเริ่ม ข้อ 118 ว่าพระเจ้าตรัสว่าบางคนไม่มีศรัทธา เราสามารถเรียนรู้อะไรจากข้อนี้เกี่ยวกับวิธีเพิ่มพูนศรัทธาของเรา (ช่วยนักเรียนระบุหลักธรรมคล้ายกับหลักธรรมต่อไปนี้: หากเราพยายามเรียนรู้อย่างกระตือรือร้นผ่านการศึกษาและศรัทธา ศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์จะเพิ่มขึ้น ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจสภาวการณ์บางอย่างซึ่งพวกเขาสามารถประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้ในชีวิต ให้อ่านออกเสียงสถานการณ์ต่อไปนี้ หลังจากอ่านแต่ละสถานการณ์ ขอให้นักเรียนอธิบายว่าบุคคลนั้นจะพยายามเรียนรู้อย่างกระตือรือร้นโดยการศึกษาและโดยศรัทธาได้อย่างไร ขอให้พวกเขาอธิบายด้วยว่าการทำเช่นนั้นจะช่วยบุคคลดังกล่าวเพิ่มพูนศรัทธาอย่างไร

  1. เยาวชนหญิงคนหนึ่งอ่านพระคัมภีร์เป็นประจำ แต่เธอไม่หยุดคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เธออ่านเลย เธอรู้สึกว่าการอ่านพระคัมภีร์มีประโยชน์ต่อเธอไม่มากนัก

  2. เยาวชนชายคนหนึ่งเข้าร่วมการประชุมของศาสนจักรและชอบร่วมวงสนทนาในชั้นเรียน บางครั้งเขารู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนให้เปลี่ยนแปลงบางอย่างในชีวิตตามที่เขาเรียนรู้ แต่เขามักจะเลือกไม่ทำตามการกระตุ้นเตือนเหล่านั้น

หลังจากชั้นเรียนสนทนาสถานการณ์เหล่านี้แล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • ท่านเคยรู้สึกเมื่อใดว่าศรัทธาของท่านเพิ่มขึ้นเนื่องจากพยายามเรียนรู้อย่างกระตือรือร้นโดยการศึกษาและโดยศรัทธา การกระทำของท่านช่วยให้ศรัทธาของท่านเพิ่มขึ้นอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:119 ในใจและมองหาว่าพระเจ้าทรงเรียกจอห์น เมอร์ด็อกให้ทำอะไร ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

อธิบายว่าเพื่อตอบรับพระบัญชาให้สร้างบ้านตามที่ตรัสไว้ใน ข้อ 119ในที่สุดวิสุทธิชนจึงสร้างพระวิหารเคิร์ทแลนด์ ขณะกำลังก่อสร้างพระวิหาร โรงเรียนศาสดาพยากรณ์ ประชุมกันในห้องชั้นบนของร้านนูเวล เค. วิทนีย์ในเคิร์ทแลนด์

  • คำแนะนำใน ข้อ 119 น่าจะเกี่ยวข้องอย่างไรกับสถานที่ซึ่งพี่น้องชายมาประชุมโรงเรียนศาสดาพยากรณ์ กับบ้านของเรา และกับการที่เราพยายามศึกษาในโรงเรียน (โรงเรียนศาสดาพยากรณ์วางรูปแบบตามหลักธรรมที่สอนไว้ในข้อนี้ บ้านของเราสามารถเป็นสถานที่แห่งการสวดอ้อนวอน การอดอาหาร ศรัทธา การเรียนรู้ และระเบียบ)

แบ่งชั้นเรียนออกเป็นคู่ๆ เชื้อเชิญให้นักเรียน ค้นคว้า หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:121–126 กับคู่และระบุว่าพระเจ้าทรงคาดหวังให้พี่น้องชายในโรงเรียนศาสดาพยากรณ์ประพฤติตนอย่างไร ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายสิ่งที่พวกเขาค้นพบ ขณะนักเรียนกำลังศึกษาข้อเหล่านี้ ให้เขียน คำแนะนำต่อไปนี้ ไว้บนกระดานเพื่อทำด้วยกันหลังจากค้นคว้าข้อดังกล่าว

ตัดสินใจว่าคำแนะนำข้อใดช่วยเยาวชนที่กำลังพยายามเรียนพระกิตติคุณเป็นพิเศษ สนทนาว่าท่านคิดว่าเหตุใดการกระทำเหล่านี้จึงสำคัญในการช่วยให้คนบางคนเรียนพระกิตติคุณ

หลังจากนักเรียนมีเวลาอ่านและสนทนาคำแนะนำของพระเจ้ามากพอแล้ว ขอให้นักเรียนสองสามคนอธิบายสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในการสนทนาของพวกเขา ขณะพวกเขาตอบ ท่านอาจจะใช้คำถามและคำอธิบายบางข้อต่อไปนี้ช่วยให้พวกเขาเข้าใจคำแนะนำบางประการของพระเจ้า

  • ท่านคิดว่า “ยุติคำพูดเล่นๆ ทั้งปวง … การสรวลเสเฮฮา, … และความไม่จริงจัง” (ข้อ 121) หมายความว่าอย่างไร เหตุใดการละเว้นจากการกระทำเหล่านี้ในสภาวะแวดล้อมทางวิญญาณจึงเป็นประโยชน์ขณะที่เราพยายามเรียนรู้เรื่องศักดิ์สิทธิ์

อธิบายว่าการประชุมสำหรับโรงเรียนศาสดาพยากรณ์ต้องศักดิ์สิทธิ์ คำแนะนำเกี่ยวกับการสรวลเสเฮฮาและคำพูดเล่นๆ เหล่านี้หมายความว่าคนที่เข้าร่วมในโรงเรียนศาสดาพยากรณ์ต้องมีความคารวะในสภาวะแวดล้อมที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะสุดท้ายแล้วการประชุมเหล่านี้จะเกิดขึ้นในพระวิหาร

  • สังเกตการใช้คำ ทุกคน ซ้ำใน ข้อ 122 ชั้นเรียนจะได้รับผลอย่างไรหากนักเรียน ทุกคน มีส่วนร่วมในบทเรียนและพยายามเรียนรู้จากกัน

  • ท่านคิดว่าการนอน “นานเกินความจำเป็น” ส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้หรือรู้สึกถึงพระวิญญาณอย่างไร ท่านคิดว่าการนอนหลับตามสมควรและตื่นแต่เช้าจะช่วยให้เราเรียนรู้ได้ดีขึ้นในด้านใด

  • ท่านจะสรุปคำแนะนำเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่ประทานให้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:118–126ว่าอย่างไร (นักเรียนอาจระบุหลักธรรมที่หลากหลาย หลังจากพวกเขาตอบแล้ว ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: การปฏิบัติอันชอบธรรมและหยุดการปฏิบัติที่ไม่ชอบธรรมจะช่วยให้เราเรียนรู้และได้รับการจรรโลงใจ)

  • พฤติกรรมใดในข้อเหล่านี้ที่ชั้นเรียนเซมินารีของเราจะนำมาปฏิบัติหรือเลิกปฏิบัติเพื่อเราจะสามารถเรียนรู้พระกิตติคุณได้ดีขึ้นและจรรโลงใจกัน

เชื้อเชิญให้นักเรียนย้อนกลับไปดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:121–126 ไตร่ตรองว่าพวกเขาต้องนำคำแนะนำใดมาปฏิบัติเต็มที่มากขึ้นในชีวิตพวกเขา กระตุ้นให้พวกเขาจดเป้าหมายว่าจะปฏิบัติตามสิ่งที่ได้เรียนรู้

หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:127–141

พระเจ้าทรงอธิบายระเบียบของโรงเรียนศาสดาพยากรณ์

เชิญนักเรียนออกมาที่กระดานและเขียนสภาวะแวดล้อมบางอย่างที่พวกเขาศึกษาพระกิตติคุณ (คำตอบอาจได้แก่: โรงเรียนวันอาทิตย์ ชั้นเรียนเยาวชนหญิงหรือโควรัมฐานะปุโรหิต เซมินารี และ บ้าน) ขอให้นักเรียนพิจารณาว่ามีคนในสภาวะแวดล้อมเหล่านี้ที่พวกเขาไม่รู้จักดีหรือเข้ากันไม่ได้หรือไม่ เชื้อเชิญให้พวกเขานึกถึงคนหนึ่งในนั้นขณะพวกเขาศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:127–141 ขอให้พวกเขาไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้

  • ความสัมพันธ์ของฉันกับคนที่ฉันเรียนพระกิตติคุณกับเขาส่งผลอย่างไรต่อความสามารถของฉันในการเรียนรู้และรับการจรรโลงใจจากพระวิญญาณ

อธิบายว่าพระเจ้าทรงคาดหวังให้สมาชิกในโรงเรียนศาสดาพยากรณ์สร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันขณะพวกเขาเรียนรู้ด้วยกัน เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:128–134 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาบทบาทของครูในการสร้างสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ทางวิญญาณในโรงเรียนศาสดาพยากรณ์

  • ผู้สอนในโรงเรียนศาสดาพยากรณ์สร้างสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ทางวิญญาณอย่างไร (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าผู้สอนต้อนรับสมาชิกชั้นเรียนหมายความว่าเขาทักทายสมาชิกขณะคนเหล่านั้นเข้ามาในชั้นเรียน นี่เป็นการทักทายเฉพาะในโรงเรียนศาสดาพยากรณ์)

  • ท่านสังเกตเห็นอะไรเกี่ยวกับการต้อนรับหรือการทักทายใน ข้อ 133

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:135–137 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาบทบาทของนักเรียนในการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ดี

  • สมาชิกในโรงเรียนศาสดาพยากรณ์ต้องมีความสัมพันธ์ต่อกันแบบใด

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 137พระเจ้าทรงสัญญาอะไรหากสมาชิกในโรงเรียนศาสดาพยากรณ์จะทำตามคำแนะนำของพระองค์ (โรงเรียนจะกลายเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ที่พระวิญญาณสามารถจรรโลงใจพวกเขาได้)

  • จะเกิดอะไรขึ้นได้บ้างในชั้นเรียนศาสนจักรหรือบ้านของเราหากเราทำตามคำแนะนำของพระเจ้าใน ข้อ 128–137 (นักเรียนอาจระบุหลักธรรมหลากหลาย แต่ท่านอาจต้องการเน้นดังนี้: หากเราแสดงความเป็นมิตรและความรักต่อกัน เมื่อนั้นเราสามารถอัญเชิญพระวิญญาณขณะที่เราศึกษาพระกิตติคุณด้วยกัน)

เชื้อเชิญให้นักเรียนดูการต้อนรับอีกครั้งใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:133

  • ท่านคิดว่าเราจะแสดง “ความตั้งใจที่มั่นคง, ไม่หวั่นไหว, และไม่เปลี่ยนแปลง, เพื่อเป็นเพื่อน” กับสมาชิกชั้นเรียนหรือสมาชิกครอบครัวที่เราอาจไม่รู้จักดีหรือยากที่จะรักได้อย่างไร

  • ท่านเคยประสบสภาพแวดล้อมของการเรียนพระกิตติคุณที่ทุกคนตั้งใจเป็นเพื่อนกันเมื่อใด (ท่านอาจจะแบ่งปันประสบการณ์ของท่านเอง)

เชื้อเชิญให้นักเรียนตรึกตรองว่าพวกเขาจะตั้งใจรักคนที่พวกเขาเรียนพระกิตติคุณด้วยกันได้อย่างไร กระตุ้นให้พวกเขาทำตามการกระตุ้นเตือนที่รู้สึกเพื่อแสดงความเมตตาและความรักมากขึ้นต่อเพื่อนร่วมชั้นและสมาชิกครอบครัว เป็นพยานว่าพระเจ้าจะทรงช่วยพวกเขาขณะพวกเขาพยายามรักกัน

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:118 “แสวงหาการเรียนรู้, แม้โดยการศึกษาและโดยศรัทธาด้วย”

ประธานมาเรียน จี. รอมนีย์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดสอนดังนี้

ภาพ
ประธานมาเรียน จี. รอมนีย์

“ข้าพเจ้าเชื่อเรื่องการศึกษา ข้าพเจ้าเชื่อว่าคนเราเรียนรู้ได้มากผ่านการศึกษา จริงๆ แล้วข้าพเจ้าสังเกตเห็นว่าพวกเขาเรียนรู้เล็กน้อยเกี่ยวกับสิ่งทั้งหลายดังที่เป็นอยู่ ดังที่เป็นมา หรือดังที่จะเป็นหากไม่ศึกษา แต่ข้าพเจ้าเชื่อเช่นกันว่าศรัทธาทำให้การเรียนรู้โดยการศึกษาเพิ่มขึ้นเร็วมาก” (Learning for the Eternities [1977], 72)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:121 “จงยุติคำพูดเล่นๆ ทั้งปวง, จากการสรวลเสเฮฮาทั้งปวง”

ตามที่กล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 88 สมาชิกในโรงเรียนศาสดาพยากรณ์ต้องยุติคำพูดเล่นๆ การสรวลเสเฮฮา และความปรารถนาที่เป็นตัณหาราคะเพราะการประชุมของพวกเขาต้องศักดิ์สิทธิ์และในที่สุดจะเกิดขึ้นในพระวิหาร ทั้งนี้มิได้หมายความว่าการสรวลเสเฮฮาในตัวมันเองเป็นบาป ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์สอนเกี่ยวกับการสรวลเสเฮฮาดังนี้

ภาพ
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“ท่านร่าเริงเบิกบานได้ แน่นอนว่าท่านทำได้! เราต้องการให้ท่านสนุกสนาน เราต้องการให้ท่านชื่นชมชีวิต … เราต้องการให้ท่านสดชื่น ร่าเริง ร้องเพลง เต้นรำ หัวเราะ และมีความสุข

“แต่ในการทำเช่นนั้น จงอ่อนน้อมและสวดอ้อนวอนเสมอ และท้องฟ้าจะยิ้มให้ท่าน” (“คำแนะนำและการสวดอ้อนวอนของศาสดาเพื่อเยาวชน,” เลียโฮนา, ก.พ. 2001, 40)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:138–141 การล้างเท้า

เมื่อพี่น้องชายที่ดำรงฐานะปุโรหิตเข้าร่วมโรงเรียนศาสดาพยากรณ์ ท่านศาสดาพยากรณ์จะทำศาสนพิธีล้างเท้าให้พวกเขาตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ดังอธิบายไว้ใน ยอห์น 13 เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเกี่ยวกับศาสนพิธีนี้ว่า

ภาพ
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี

“การล้างเท้าเป็นศาสนพิธีพระกิตติคุณ เป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์และบริสุทธิ์ ประกอบศาสนพิธีโดยวิสุทธิชนในสถานที่เงียบสงบในสถานศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหารของพวกเขา ไม่ได้ทำต่อหน้าชาวโลกหรือทำให้คนทางโลก ในวันและสมัยการประทานของพระเยซูพระองค์ทรงเริ่มต้นศาสนพิธีนี้ในห้องชั้นบน ณ เวลาของพระกระยาหารมื้อสุดท้าย

“‘พระเจ้าของเราทรงทำสองสิ่งในการประกอบศาสนพิธีนี้ 1. พระองค์ทรงทำให้กฎเดิมที่ประทานแก่โมเสสเกิดสัมฤทธิผล และ 2. พระองค์ทรงเริ่มต้นศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์ซึ่งควรประกอบโดยผู้มีอำนาจที่ถูกต้องในบรรดาสานุศิษย์ที่แท้จริงของพระองค์นับจากวันนั้นเป็นต้นมา

“‘เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูสิ่งทั้งปวง ศาสนพิธีล้างเท้าจึงได้รับการฟื้นฟูในสมัยการประทานความสมบูรณ์แห่งเวลา …

“‘ความรู้เกี่ยวกับการล้างเท้าได้รับการเปิดเผยทีละขั้นทีละตอนในสมัยนี้จนกระทั่งเวลานี้ความรู้ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ถูกรวมไว้ในศาสนพิธีที่เปิดเผยในพระนิเวศของพระเจ้า’ (Mormon Doctrine, [2nd ed. (1966), 829, 831])” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1966–73], 1:708, 710)