เซมินารี
บทที่ 11: หลักคำสอนและพันธสัญญา 3


บทที่ 11

หลักคำสอนและพันธสัญญา 3

คำนำ

โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 3 หลังจากมาร์ติน แฮร์ริสทำต้นฉบับหายไป 116 หน้าซึ่งโจเซฟแปลจากแผ่นจารึกทองคำ ในการเปิดเผยนี้ พระเจ้าตรัสว่างานของพระองค์จะแพร่ไปทั่วทั้งที่มีความชั่วร้ายของมนุษย์ พระเจ้าทรงตำหนิโจเซฟด้วยและเตือนท่านว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าท่านไม่กลับใจ สุดท้ายพระเจ้าทรงอธิบายจุดประสงค์ของพระองค์ในการนำพระคัมภีร์มอรมอนออกมา

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 3:1–3

โจเซฟ สมิธเรียนรู้ว่างานของพระผู้เป็นเจ้าจะล้มเหลวไม่ได้

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองสถานการณ์ที่พวกเขาอาจถูกล่อลวงให้ฟังเพื่อนมากกว่าจะทำตามพระบัญญัติหรือคำแนะนำของพ่อแม่หรือผู้นำ

  • เหตุใดบางครั้งจึงยากจะต่อต้านเพื่อนๆ เมื่อพวกเขาพยายามชักชวนเราให้ทำบางสิ่งที่ผิด

ขอให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่นำไปสู่การสูญเสียต้นฉบับพระคัมภีร์มอรมอน 116 หน้า

ขณะที่นักเรียนตอบ ท่านอาจต้องการเสริมคำตอบของพวกเขาด้วยรายละเอียดต่อไปนี้

ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน ค.ศ. 1828 จนถึงกลางเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1828 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธกำลังแปลแผ่นจารึกขณะอยู่ในเมืองฮาร์โมนีย์ รัฐเพนซิลเวเนีย เกษตรกรและนักธุรกิจที่มั่งคั่งชื่อมาร์ติน แฮร์ริสทำหน้าที่เป็นผู้จดให้โจเซฟขณะที่ท่านแปล มาร์ตินอายุมากกว่าโจเซฟ 22 ปี และได้ให้เงินโจเซฟกับเอ็มมา 50 ดอลลาร์ (ซึ่งสมัยนั้นถือว่าเป็นเงินก้อนใหญ่) เพื่อช่วยพวกท่านย้ายไปเมืองฮาร์โมนีย์ รัฐเพนซิลเวเนีย (ครอบครัวของเอ็มมาอาศัยอยู่ที่นั่น) ด้วยเหตุนี้จึงช่วยจุนเจือโจเซฟขณะที่ท่านแปลแผ่นจารึก ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1828 โจเซฟขอให้มาร์ตินนำสำเนาอักขระจากแผ่นจารึกไปให้ศาสตราจารย์ในนิวยอร์ก (ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:63–65) ลูซี แฮร์ริสภรรยาของมาร์ตินกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ กับความสนใจและความเกี่ยวพันด้านการเงินของมาร์ตินในการแปลแผ่นจารึก เธอและคนอื่นๆ จึงเริ่มเร่งมาร์ตินให้หาหลักฐานมายืนยันว่าแผ่นจารึกมีอยู่จริง เพื่อให้พวกเธอคลายกังวล กลางเดือนมิถุนายนมาร์ตินจึงขอให้โจเซฟอนุญาตให้เขานำต้นฉบับ 116 หน้าที่แปลเสร็จแล้วไปให้พวกเธอดูเป็นหลักฐาน

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกภาพความลำบากใจของท่านศาสดาพยากรณ์เมื่อมาร์ติน แฮร์ริสขอต้นฉบับ เพื่อช่วยเรื่องบริบท ท่านอาจเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านเรื่องราวต่อไปนี้จากประวัติของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

ภาพ
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“[มาร์ติน] ปรารถนาให้ข้าพเจ้าทูลถามพระเจ้าผ่านอูริมและทูมมิมว่าเขาจะ [นำต้นฉบับกลับไปให้ครอบครัวดู] ได้หรือไม่ ข้าพเจ้าทูลถาม และคำตอบคือเขาต้องไม่นำไป อย่างไรก็ดี เขาไม่พอใจคำตอบนี้ และปรารถนาให้ข้าพเจ้าทูลถามอีกครั้ง ข้าพเจ้าทำตาม และคำตอบเป็นเหมือนครั้งก่อน เขายังไม่พอใจและยืนกรานให้ข้าพเจ้าทูลถามอีกครั้ง” (ใน History of the Church, 1:21)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดโจเซฟ สมิธยังขืนทูลถามคำถามเดิมกับพระผู้เป็นเจ้าหลังจากได้รับคำตอบชัดเจนแล้ว

อธิบายว่าหลังจากมาร์ตินรบเร้ามาก โจเซฟทูลถามพระเจ้าครั้งที่สาม และพระเจ้าทรงอนุญาตให้มาร์ตินนำต้นฉบับไป “โดยมีเงื่อนไขบางอย่าง” (History of the Church, 1:21) มาร์ตินสัญญาว่าเขาจะให้ดูต้นฉบับเฉพาะภรรยาและสมาชิกครอบครัวอีกไม่กี่คนเท่านั้น มาร์ตินกลับไปนิวยอร์กพร้อมต้นฉบับ หลังจากมาร์ตินไปได้ไม่นาน เอ็มมา สมิธก็ให้กำเนิดอัลวินบุตรชายที่สิ้นชีวิตหลังเกิดไม่นาน เอ็มมาเกือบเสียชีวิตเช่นกัน และโจเซฟอยู่ข้างเตียงเธอเป็นเวลาสองสัปดาห์ ช่วงนี้มาร์ตินหายไปสามสัปดาห์และพวกท่านไม่ทราบข่าวคราวจากเขาเลย เอ็มมาฟื้นตัวอย่างช้าๆ เธอเกลี้ยกล่อมให้โจเซฟไปนิวยอร์กและสืบดูว่าเหตุใดมาร์ตินจึงไม่ส่งข่าวมาให้ทราบ โจเซฟเดินทางไปบ้านบิดามารดาของท่าน พอถึงที่นั่้น ท่านส่งคนไปตามมาร์ตินทันที มาร์ตินใช้เวลาตลอดทั้งเช้ากว่าจะมาถึง เมื่อมาถึง เขานั่งรับประทานอาหารกับครอบครัวสมิธแต่ปล่อยมีดกับส้อมทันที เมื่อถามว่าเขาเป็นอะไรหรือเปล่า เขาร้องไห้ออกมาและสุดท้ายก็ยอมรับว่าเขาทำต้นฉบับ 116 หน้าหาย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมของเรื่องนี้ได้จาก History of Joseph Smith by His Mother, ed. Preston Nibley [1958], 124–129)

  • พิจารณาสภาวการณ์ยุ่งยากเหล่านี้สำหรับศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ ท่านคิดว่าท่านจะรู้สึกอย่างไรในสถานการณ์นี้

บอกนักเรียนว่าเมื่อไม่มีต้นฉบับ 116 หน้ากลับไปฮาร์โมนีย์ด้วย โจเซฟ สมิธจึงสวดอ้อนวอนขอการให้อภัย เพราะโจเซฟ “ทำให้พระเจ้าอ่อนพระทัยในการทูลขอโอกาสให้มาร์ติน แฮร์ริสนำงานเขียนไป” (History of the Church, 1:21) โมโรไนจึงนำอูริมและทูมมิมคืนและโจเซฟสูญเสียของประทานในการแปล แต่โมโรไนสัญญาว่าโจเซฟจะได้คืนถ้าท่านจะ “อ่อนน้อมถ่อมตนและสำนึกผิด” (History of Joseph Smith by His Mother, 134) ช่วงหนึ่งต่อมา โจเซฟได้รับการเปิดเผยที่ปัจจุบันคือ หลักคำสอนและพันธสัญญา 3

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 3:1–3 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงต้องการให้ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเข้าใจ

  • ท่านจะสรุปข่าวสารที่พระเจ้าประทานแก่โจเซฟ สมิธในข้อเหล่านี้ว่าอย่างไร (ขณะที่นักเรียนแบ่งปันแนวคิด ให้เน้นหลักคำสอนต่อไปนี้: จุดประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าจะล้มเหลวไม่ได้ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายความจริงนี้ใน ข้อ 1 อาจเป็นประโยชน์ถ้าอธิบายว่าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 3:1 คำว่า ล้มเหลว หมายถึงถูกขัดขวางไม่ให้บรรลุผลสำเร็จ)

  • ความจริงนี้ได้ช่วยโจเซฟ สมิธในยามยากเช่นนี้อย่างไร เหตุใดจึงสำคัญที่เราทุกคนต้องเข้าใจความจริงดังกล่าว

หลักคำสอนและพันธสัญญา 3:4–15

พระเจ้าทรงตำหนิโจเซฟ สมิธและแนะนำให้โจเซฟกลับใจ

อธิบายว่าถึงแม้พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่างานของพระองค์จะล้มเหลวไม่ได้ แต่พระองค์ทรงต้องการให้ท่านศาสดาพยากรณ์เข้าใจความผิดพลาดที่ทำลงไปและผลของความผิดพลาดเหล่านั้นเช่นกัน เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 3:4–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยระบุคำและวลีที่โจเซฟไม่อยากได้ยิน เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันคำและวลีที่พวกเขาเลือกและเหตุผลที่เลือก

  • โจเซฟ “ดำเนินตามการชักนำของมนุษย์” ในลักษณะใด (คพ. 3:6)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 3:12–15 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและหาวลีที่เน้นว่าเหตุใดการกระทำของโจเซฟจึงร้ายแรงมาก จากนั้นให้นักเรียนรายงานสิ่งที่ค้นพบ

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 3:7 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนระบุสิ่งที่พระเจ้าตรัสว่าโจเซฟ สมิธควรทำเมื่อท่านถูกมาร์ติน แฮร์ริสกดดัน (ก่อนนักเรียนอ่าน ท่านอาจต้องการอธิบายคำในข้อนี้ว่า มนุษย์ หมายถึงมนุษยชาติ) หลังจากนักเรียนระบุคำแนะนำของพระเจ้าแล้ว ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: เราควรกลัวพระผู้เป็นเจ้ามากกว่ามนุษย์ (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำหรือวลีใน ข้อ 7 ที่สอนหลักธรรมนี้)

  • ท่านคิดว่ากลัวพระผู้เป็นเจ้ามากกว่ามนุษย์หมายความว่าอย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่ากลัวพระผู้เป็นเจ้าหมายความว่าอย่างไร ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำอธิบายต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“มีหลายข้อในพระคัมภีร์ที่แนะนำมนุษย์ให้กลัวพระผู้เป็นเจ้า ในสมัยของเราปกติเราตีความคำว่า กลัว เป็น “เคารพ” หรือ “คารวะ” หรือ “รัก” กลัวพระผู้เป็นเจ้าจึงหมายถึงรักพระผู้เป็นเจ้า หรือเคารพพระองค์และกฎของพระองค์ บ่อยครั้งนั่นอาจเป็นการอ่านที่ถูกต้อง แต่ข้าพเจ้าสงสัยว่าบางครั้ง กลัว ไม่ได้หมายถึง กลัว จริงๆ เช่นเมื่อศาสดาพยากรณ์พูดว่ากลัวจะทำให้พระผู้เป็นเจ้าขุ่นเคืองเพราะละเมิดพระบัญญัติของพระองค์ …

“… เราควรรักและคารวะพระองค์จนเรากลัวทำผิดในสายพระเนตรของพระองค์ ไม่ว่าคนอื่นจะมีความคิดเห็นหรือกดดันอย่างไรก็ตาม” (“A Sense of the Sacred” [ไฟร์ไซด์ซีอีเอสสำหรับคนหนุ่มสาว, 7 พ.ย., 2004], 6–7, LDS.org; ดู speeches.byu.eduด้วย)

  • ตามที่เอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันกล่าว กลัวพระผู้เป็นเจ้าหมายถึงอะไร

  • การกลัวพระผู้เป็นเจ้าตามที่เอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันอธิบายจะช่วยให้เราตัดสินใจถูกต้องได้อย่างไรทั้งที่เรารู้สึกถึงแรงกดดันจากคนรอบข้าง

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 3:8 ในใจโดยมองหาสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าจะทำถ้าโจเซฟ สมิธฟังคำตอบครั้งแรกที่มาร์ตินขอ เชื้อเชิญให้นักเรียนสรุปสิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากข้อนี้ นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาพึงเข้าใจว่า ถ้าเราซื่อสัตย์ต่อพระบัญญัติของพระเจ้า พระองค์จะทรงค้ำจุนเราในยามเดือดร้อน ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน

ขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาทำตามพระบัญญัติของพระเจ้าแทนที่จะทำตามการชักนำหรืออิทธิพลของผู้อื่น เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันว่าพวกเขาได้รับการค้ำจุนจากพระเจ้าสำหรับการเชื่อฟังของพวกเขาอย่างไร

เตือนนักเรียนว่าเมื่อเริ่มบทเรียน ท่านขอให้พวกเขานึกถึงสถานการณ์ที่พวกเขาอาจจะถูกล่อลวงให้ฟังเพื่อนแทนที่จะเชื่อฟังพระองค์ จากนั้นให้ดึงความสนใจของพวกเขามาที่ความจริงบนกระดาน

  • ความจริงนี้จะช่วยท่านได้อย่างไรเมื่อท่านถูกเพื่อนล่อลวงให้ทำสิ่งที่ท่านรู้ว่าไม่ถูกต้อง

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาว่าพวกเขาจะประยุกต์ใช้ความจริงนี้กับความสัมพันธ์ในปัจจุบันของพวกเขากับเพื่อนๆ และครอบครัวได้อย่างไร

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 3:9–10 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำสัญญาที่พระเจ้าประทานแก่โจเซฟ สมิธแม้โจเซฟจะทำความผิดพลาดร้ายแรง (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายสิ่งที่พบ)

  • พระเจ้าประทานสัญญาอะไรกับโจเซฟ สมิธ คำสัญญานี้ประยุกต์ใช้กับเราได้อย่างไร (นักเรียนอาจบอกหลักธรรมต่างกันไป แต่พึงเน้นว่า ถ้าเรากลับใจจากบาปของเรา เราจะได้รับพระเมตตาจากพระเจ้า)

  • เมื่อนึกถึงสิ่งที่พระเจ้าตรัสกับโจเซฟใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 3:4–6 ท่านน่าจะรู้สึกอย่างไรหลังจากได้ยินคำสัญญานี้จากพระเจ้าถ้าท่านเป็นโจเซฟ

ขอให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 3:9, 11 ในใจและระบุสิ่งที่พระเจ้าทรงเตือนศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

  • เหตุใดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องจดจำพระดำรัสเตือนเหล่านี้ขณะที่เรากลับใจจากบาปและแสวงหาพระเมตตาจากพระเจ้า

หลักคำสอนและพันธสัญญา 3:16–20

พระเจ้าทรงอธิบายจุดประสงค์ของพระองค์สำหรับพระคัมภีร์มอรมอน

ขอให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 3:16–20 ในใจโดยระบุจุดประสงค์ที่พระเจ้าประทานแก่พระคัมภีร์มอรมอน

  • เหตุใดงานที่โจเซฟ สมิธและมาร์ติน แฮร์ริสทำอยู่จึงสำคัญต่อพระเจ้าและผู้คนของพระองค์

สรุปบทนี้โดยเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้และรู้สึกวันนี้ พวกเขาจะประยุกต์ใช้ความจริงที่เรียนรู้ได้อย่างไร แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพระเมตตาของพระเจ้าเมื่อเรากลับใจจากบาปของเรา ท่านอาจต้องการบอกนักเรียนด้วยว่าในบทต่อไปพวกเขาจะเรียนรู้ว่าพระเจ้าทรงชดเชยต้นฉบับ 116 หน้าที่หายไปอย่างไร

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 3 ลูซี แฮร์ริส

ลูซี แม็ค สมิธบันทึกว่าลูซีภรรยาของมาร์ติน แฮร์ริส “เป็นผู้หญิงที่แปลกมาก ผู้หญิงที่มีนิสัยอิจฉาริษยา … และเมื่อมีคนพูดอะไรที่เธอได้ยินไม่ชัด เธอจะระแวงว่าพวกเขามีความลับที่เจตนาจะปกปิดเธอ” ลูซี แฮร์ริสสงสัยเรื่องโจเซฟ สมิธและตั้งใจจะดูแผ่นจารึกให้ได้ เมื่อมาร์ตินไปพบโจเซฟเรื่องงานแปล ลูซี แฮร์ริสจะตามไปด้วย เธอซักถามโจเซฟเรื่องแผ่นจารึกและขอดู ท่านบอกเธอว่าเธอดูไม่ได้ “เพราะท่านไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงแผ่นจารึกกับใครยกเว้นกับคนที่พระเจ้าทรงกำหนดให้เป็นพยานถึงแผ่นจารึกเหล่านั้น”

คืนหลังจากโจเซฟบอกลูซี แฮร์ริสเรื่องนี้ เธอฝัน ซึ่งเธอเล่าให้ครอบครัวสมิธฟังในตอนเช้าว่า “รูปกายหนึ่งปรากฏต่อเธอและบอกเธอว่าเพราะเธอโต้เถียงผู้รับใช้ของพระเจ้า … เธอจึงทำสิ่งซึ่งไม่ถูกต้องในสายพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้า ต่อจากนั้นเขาพูดกับเธอว่า ‘ดูแผ่นจารึกนี่สิ ดูให้เห็นกับตาและเชื่อ’” ลูซีบอกโจเซฟหลังจากนั้นว่าเธอต้องการช่วยสนับสนุนการแปล

น่าเสียดายที่ใจของลูซี แฮร์ริสเปลี่ยนได้ไม่นาน ในไม่ช้าเธอก็ต้องการเห็นหลักฐานของแผ่นจารึกอีก ไม่นานหลังจากโจเซฟและเอ็มมาย้ายไปฮาร์โมนีย์ รัฐเพนซิลเวเนีย มาร์ตินตามไปโดยไม่บอกภรรยาว่าเขาจะออกเดินทาง เมื่อเธอทราบ เธอโกรธที่สามีใช้เวลาอยู่ห่างเธอมากเกินไปและถึงกับเป็นกังวลมากขึ้นเกรงว่าครอบครัวสมิธจะหลอกเขา

มาร์ตินกลับมานิวยอร์กซิตีในระยะสั้น แต่เมื่อเขาเตรียมไปฮาร์โมนีย์อีกครั้ง ลูซี แฮร์ริสยืนกรานจะไปด้วย เมื่อทั้งสองมาถึงบ้านของโจเซฟกับเอ็มมา เธอประกาศว่าเธอจะไม่ไปไหนจนกว่าจะเห็นแผ่นจารึก เธอค้นหาทุกซอกทุกมุมทั่วบ้าน แต่ไม่พบ นับแต่นั้น เธออ้างว่าสามีเธอถูก “นักตุ้มตุ๋นตัวฉกาจ” หลอกลวง หลังจากอยู่ที่นั่นสองสัปดาห์ มาร์ตินพาเธอกลับบ้าน ทั้งที่เธอพยายามห้ามเขา แต่เขาก็กลับไปฮาร์โมนีย์เพื่อช่วยโจเซฟ ขณะที่มาร์ตินไม่อยู่ ลูซีเดินเข้าออก “บ้านทุกหลังบอกความคับข้องใจของเธอ และประกาศว่าโจเซฟ สมิธกำลังหลอกลวงผู้คน” (ดู History of Joseph Smith by His Mother, ed. Preston Nibley [1958], 114–122.)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 3 ความปวดร้าวเรื่องต้นฉบับที่หาย

ไม่นานหลังจากมาร์ตินนำต้นฉบับ 116 หน้าไป เอ็มมา สมิธให้กำเนิดอัลวินบุตรชายที่เสียชีวิตในวันที่เขาเกิด เอ็มมาเกือบเสียชีวิตเช่นกัน และโจเซฟอยู่ข้างเตียงเธอเป็นเวลาสองสัปดาห์ ช่วงนี้มาร์ตินหายตัวไปสามสัปดาห์ พวกท่านไม่ทราบข่าวคราวจากเขาเลย โจเซฟกังวลเรื่องต้นฉบับแต่ไม่ได้บอกเรื่องนี้กับเอ็มมาเพราะเป็นห่วงสุขภาพที่อ่อนแอของเธอ

“แต่ในไม่กี่วัน [เอ็มมา] เอ่ยเรื่องนี้ด้วยตัวเอง และปรารถนาให้สามีไปพามารดาของเธอมาอยู่กับเธอ ส่วนเขาควรเดินทางไปพอลไมรา [นิวยอร์ก] เพื่อจะได้รู้สาเหตุที่คุณมาร์ตินเงียบหายไป ตอนแรกโจเซฟคัดค้าน แต่พอเห็นเธอร่าเริงแจ่มใส และยินดีให้ท่านออกจากบ้าน ท่านจึงตกลง

“ท่านโดยสารรถม้าคันแรกที่จะไปพอลไมรา เมื่อท่านอยู่ตามลำพัง ท่านเริ่มใคร่ครวญสิ่งที่มาร์ตินทำ และความเสี่ยงซึ่งท่าน (โจเซฟ) เผชิญที่ปล่อยให้ต้นฉบับออกจากมือท่าน … และโดยที่รบเร้าพระเจ้าไม่เลิกรา ท่านจึงถลำไปในการล่วงละเมิด และด้วยเหตุนี้จึงสูญเสียต้นฉบับ”

หลังลงจากรถม้า โจเซฟเดินอีก 20 ไมล์ที่เหลือในช่วงกลางคืน จนมาถึงบ้านของบิดามารดาท่านในแมนเชสเตอร์ “เมื่อโจเซฟรับประทานอาหารไปได้เล็กน้อย … ท่านขอให้เราส่งคนไปตามคุณมาร์ตินทันที เราทำตามโดยไม่รอช้า … เราเริ่มเตรียมอาหารเช้าให้ครอบครัว เราคิดว่าคุณมาร์ตินน่าจะอยู่รับประทานอาหารกับเราทันทีที่เตรียมเสร็จ เพราะปกติเขาจะรีบมาเมื่อส่งคนไปตาม แปดนาฬิกาเราวางอาหารไว้บนโต๊ะขณะรอเขาอย่างใจจดใจจ่อ เรารอจนถึงเก้านาฬิกา เขาไม่มา—จนถึงสิบนาฬิกา และเขายังไม่มา—จนถึงสิบเอ็ดนาฬิกา เขาก็ยังไม่ปรากฏตัว แต่เที่ยงครึ่งเราเห็นเขาก้าวเดินช้าๆ ด้วยจังหวะสม่ำเสมอมาที่บ้านเรา ดวงตาของเขาจ้องมองพื้นอย่างครุ่นคิด พอมาถึงประตูรั้ว เขาหยุด แทนที่จะเดินเข้ามา เขากลับขึ้นไปนั่งอยู่บนรั้วครู่หนึ่งพร้อมกับดึงหมวกลงมาปิดตา ในที่สุดเขาก็เข้ามาในบ้าน หลังจากเรานั่งโต๊ะได้ไม่นาน คุณแฮร์ริสก็มานั่งกับพวกเรา เขาหยิบมีดกับส้อมขึ้นมาประหนึ่งกำลังจะใช้มัน แต่ปล่อยมือทันที ไฮรัมสังเกตเห็น จึงพูดว่า ‘มาร์ติน ทำไมคุณไม่กินล่ะครับ ไม่สบายหรือเปล่า’ ถึงตอนนี้คุณแฮร์ริสเอามือกุมขมับ และร้องออกมาด้วยความปวดร้าวที่สุดว่า ‘โอ ผมเสียจิตวิญญาณไปแล้ว! ผมเสียจิตวิญญาณไปแล้ว!’

“โจเซฟผู้ไม่เคยแสดงความกลัวจนถึงตอนนี้ ผุดลุกขึ้นยืน พลางร้องอุทานว่า ‘มาร์ติน คุณทำต้นฉบับหายหรือ คุณผิดคำสาบาน และนำการกล่าวโทษลงมาบนศีรษะคุณกับผมอย่างนั้นหรือ’

“‘ครับ หายไปแล้ว’ มาร์ตินตอบ ‘และผมไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน’ …

“โจเซฟกล่าวว่า … ‘หมดกัน! หมดกัน! ผมจะทำอย่างไรดี ผมทำบาปเสียแล้ว—ผมเองที่ยั่วโทสะพระผู้เป็นเจ้า ผมควรพอใจกับคำตอบแรกที่ได้รับจากพระเจ้า เพราะพระองค์รับสั่งกับผมว่าไม่ปลอดภัยที่จะปล่อยให้งานเขียนออกไปจากการครอบครองของผม’ เขาร้องไห้คร่ำครวญ และเดินไปมาไม่หยุด

“ในที่สุด เขาบอกมาร์ตินให้กลับไปหาอีกครั้ง

“‘ไม่ครับ’; มาร์ตินบอก ‘ไม่มีประโยชน์ เพราะผมกรีดเตียงกรีดหมอน [หาต้นฉบับ] ผมรู้ว่าไม่อยู่ที่นั่น’

“‘ถ้าอย่างนั้นผมต้อง’ โจเซฟถาม ‘กลับไปพร้อมกับเรื่องแบบนี้หรือ ผมไม่กล้าทำอย่างนั้น และผมจะปรากฏต่อพระพักตร์พระเจ้าได้อย่างไร ผมไม่สมควรจะได้รับคำตำหนิจากเทพของพระผู้สูงสุดหรอกหรือ’ …

“เช้าวันรุ่งขึ้น เขาเดินทางกลับบ้าน เราจากกันด้วยจิตใจที่หนักอึ้งเพราะเวลานี้ดูเหมือนว่าทุกสิ่งซึ่งเราคาดว่าจะดี และเป็นบ่อเกิดของความพึงพอใจอย่างมาก หายไปหมด และหายไปตลอดกาล” (ลูซี แม็ค สมิธ, History of Joseph Smith by His Mother, ed. Preston Nibley [1958], 125–29)