เซมินารี
บทที่ 121: ศาสนจักรย้ายไปภาคเหนือของมิสซูรี


บทที่ 121

ศาสนจักรย้ายไปภาคเหนือของมิสซูรี

คำนำ

คริสต์ศักราช 1837 และ 1838 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและผู้นำคนอื่นๆ นำศาสนจักรผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก เนื่องจากความยุ่งยากทางเศรษฐกิจ ความละโมบ การจับผิด และการข่มเหง วิสุทธิชน 10 ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ในเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอ และทางภาคเหนือของมิสซูรีจึงละทิ้งความเชื่อ รวมทั้งผู้นำที่โดดเด่นบางคนของศาสนจักรด้วย วิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์ในโอไฮโอเริ่มย้ายไปสมทบกับวิสุทธิชนทางภาคเหนือของมิสซูรี บทนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจและเรียนรู้จากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เข้าใจการเปิดเผยที่ได้รับในช่วงเวลานี้อย่างลึกซึ้ง

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

การละทิ้งความเชื่อและเมืองฟาร์เวสท์

ในช่วงเวลาของการละทิ้งความเชื่อและการข่มเหง วิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์ย้ายไปทางภาคเหนือของมิสซูรี

ก่อนชั้นเรียนให้เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ความยากลำบากและการทดลองช่วยเสริมสร้างศรัทธาของเราหรือเป็นเหตุให้เราสูญเสียศรัทธา ท่านอาจต้องการ วาดแผนที่ บนกระดานเพื่อให้เห็นที่ตั้งของเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอ และถิ่นฐานอื่นๆ ทางภาคเหนือของมิสซูรี

ภาพ
แผนที่ โอไฮโอไปมิสซูรี

เริ่มชั้นเรียนโดยเชื้อเชิญให้นักเรียนตอบคำถามบนกระดาน หลังจากนักเรียนแบ่งปันข้อคิดแล้ว ให้อธิบายว่าในปี 1837 และ 1838 ช่วงเวลาของการทดลองชักนำวิสุทธิชนจำนวนมากให้เผชิญคำถามนี้ อธิบายว่าในบทนี้ นักเรียนจะเรียนรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ยุ่งยากเหล่านี้และวิธีที่วิสุทธิชนตอบสนอง เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าการตอบสนองการทดลองของเราถ้าไม่เสริมสร้างก็บั่นทอนศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์อย่างไร

ท่านอาจจะอธิบายให้นักเรียนฟังเช่นกันว่าบทนี้จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจสภาวะแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ของการเปิดเผยที่พวกเขาจะศึกษาใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 113–123

ชี้ให้ดูมิสซูรีบนแผนที่ อธิบายว่าเมื่อวิสุทธิชนถูกไล่ออกจากเทศมณฑลแจ็คสัน มิสซูรี ในปี 1833 ชาวเมืองในเทศมณฑลเคลย์ที่อยู่ใกล้เคียงต้อนรับพวกเขามากมายหลายคนและให้การบรรเทาทุกข์โดยคาดว่าวิสุทธิชนจะอยู่ที่นั่นชั่วคราวเท่านั้น แต่หลังจากวิสุทธิชนอยู่ที่นั่นเกือบสามปี ชาวเมืองเหล่านี้เริ่มกดดันให้พวกเขาออกจากเทศมณฑล

ชี้ให้ดูเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอบนแผนที่ อธิบายว่าในปี 1837 ปีหลังจากอุทิศพระวิหารเคิร์ทแลนด์ วิสุทธิชนประสบการทดลองที่ทดสอบศรัทธาของพวกเขา วิสุทธิชนจำนวนหนึ่งละทิ้งความเชื่อและออกจากศาสนจักร รวมทั้งผู้นำที่โดดเด่นบางคนของศาสนจักรด้วย

แบ่งชั้นเรียนออกเป็นสองกลุ่ม จัดเตรียมสำเนา ประวัติย่อต่อไปนี้ ให้กลุ่มละแผ่น (หากท่านมีชั้นเรียนขนาดใหญ่ ท่านอาจต้องการแบ่งนักเรียนออกเป็นสี่กลุ่มถึงหกกลุ่มและแจกสำเนาให้กลุ่มละแผ่น นี่จะช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการสนทนามากขึ้น) เชื้อเชิญให้แต่ละกลุ่มอ่านประวัติย่อด้วยกันและสนทนาคำถามที่อยู่ท้ายประวัติ มอบหมายให้คนหนึ่งในแต่ละกลุ่มนำการสนทนาและช่วยกลุ่มเขียนหลักธรรมหนึ่งไว้แบ่งปันกับชั้นเรียนต่อจากนั้น

ประวัติย่อ 1—การละทิ้งความเชื่อในเคิร์ทแลนด์

ปี 1837 วิสุทธิชนในเมืองเคิร์ทแลนด์ รัฐโอไฮโอประสบปัญหาการเงินบางอย่าง เพื่อช่วยให้วิสุทธิชนพึ่งพาตนเองเรื่องเงินมากขึ้น โจเซฟ สมิธและผู้นำศาสนจักรท่านอื่นจึงตั้งบริษัทคล้ายธนาคารและเรียกว่าสมาคมความมั่นคงเคิร์ทแลนด์ เพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแพร่กระจายไปทั่วในช่วงเวลานี้ ธนาคารหลายแห่งทั่วสหรัฐจึงล้มละลาย สมาคมความมั่นคงเคิร์ทแลนด์ล้มละลายในฤดูใบไม้ร่วงปี 1837 เช่นกัน นักลงทุนสองร้อยคนในธนาคารแทบสิ้นเนื้อประดาตัวรวมทั้งโจเซฟ สมิธผู้สูญเสียมากที่สุด ถึงแม้สมาคมความมั่นคงเคิร์ทแลนด์ไม่ได้ใช้เงินทุนของศาสนจักรแต่วิสุทธิชนบางคนถือว่าเป็นธนาคารของศาสนจักรหรือของท่านศาสดาพยากรณ์และตำหนิโจเซฟ สมิธเรื่องปัญหาการเงินของพวกเขา บางคนถึงกับเรียกท่านว่าศาสดาพยากรณ์ที่ล้มเหลว ถึงแม้ธนาคารล้มละลาย แต่อีกหลายคนที่สูญเงินยังคงมีศรัทธาและเชื่อถือท่านศาสดาพยากรณ์ (ดู ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนาจักร, 2003], 173–174)

วิญญาณของการละทิ้งความเชื่อและการจับผิดแพร่อยู่ในหมู่วิสุทธิชนจำนวนมาก บริคัม ยังก์พูดถึงครั้งหนึ่งเมื่อผู้นำศาสนจักรและวิสุทธิชนบางคนประชุมกันเพื่อถอดถอนโจเซฟ สมิธและตั้งศาสดาพยากรณ์คนใหม่

ภาพ
ประธานบริคัม ยังก์

“อัครสาวกสิบสองหลายคน พยานของพระคัมภีร์มอรมอน และเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ท่านอื่นของศาสนจักรจัดสภาในห้องชั้นบนของพระวิหาร เรื่องที่พวกเขาสนทนากันคือจะถอดถอนศาสดาพยากรณ์โจเซฟและตั้งเดวิด วิตเมอร์เป็นประธานศาสนจักรได้อย่างไร … ข้าพเจ้าลุกขึ้นบอกพวกเขาด้วยท่าทีที่สงบและทรงพลังว่าโจเซฟคือศาสดาพยากรณ์ ข้าพเจ้ารู้เช่นนั้น และว่าพวกเขาอาจตำหนิและใส่ร้ายป้ายสีท่านเท่าที่พวกเขาพอใจ แต่พวกเขาจะทำลายการแต่งตั้งศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ พวกเขาทำได้เพียงทำลายอำนาจของตนเอง ตัดความสัมพันธ์ของตนกับศาสดาพยากรณ์และพระผู้เป็นเจ้า และทำให้ตนเองจมดิ่งในนรก’” (Manuscript History of Brigham Young 1801–1844, ed. Elden Jay Watson [1968], 15–16)

ราวเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1838 ผู้ละทิ้งความเชื่อประมาณ 200 ถึง 300 คนออกจากศาสนจักร รวมทั้งอัครสาวกสี่คน พยานสามคนของพระคัมภีร์มอรมอน และสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุด (ดู Church History in the Fulness of Times, 177) อย่างไรก็ตาม วิสุทธิชนส่วนใหญ่ตอบสนองการทดสอบช่วงนี้ด้วยศรัทธาเหมือนบริคัม ยังก์มาก พระเจ้าทรงทำให้พวกเขาเข้มแข็ง และพวกเขายังคงแน่วแน่ต่อประจักษ์พยานของตน หลายคนที่ออกจากศาสนจักรในช่วงการละทิ้งความเชื่อครั้งนี้ได้กลับมาและขอเข้าร่วมศาสนจักรของพระเจ้าอีกครั้ง ในกลุ่มนั้นมีออลิเวอร์ คาวเดอรี, มาร์ติน แฮร์ริส, ลูค จอห์นสัน และเฟรเดอริค จี. วิลเลียมส์รวมอยู่ด้วย

ระหว่างการต่อสู้ดิ้นรนเหล่านี้ในเมืองเคิร์ทแลนด์ ผู้ละทิ้งความเชื่อบางคนหมายมั่นสังหารโจเซฟ สมิธ พระวิญญาณทรงเตือนท่านกับซิดนีย์ ริกดันให้ออกเดินทางช่วงกลางคืนของวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1838 ศัตรูของพวกท่านตามจับพวกท่านหลายวัน แต่พระเจ้าทรงคุ้มครองพวกท่าน พวกท่านกับครอบครัวมาถึงเมืองฟาร์เวสท์ รัฐมิสซูรีวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1838

สนทนาคำถามต่อไปนี้เป็นกลุ่ม

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรบ้างจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เหล่านี้

  • ท่านจะต้องทำอะไรจึงจะซื่อสัตย์ต่อท่านศาสดาพยากรณ์ในช่วงของการจับผิดครั้งนี้

  • การอดทนต่อการทดลองด้วยศรัทธาได้เสริมสร้างศรัทธาของท่านในพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อใด

  • การทำตามศาสดาพยากรณ์เป็นความคุ้มครองทางวิญญาณสำหรับท่านในด้านใด

ประวัติย่อ 2—การเป็นผู้นำทางภาคเหนือของมิสซูรี

ในฤดูร้อน ปี 1836 เมื่อชาวเมืองในเทศมณฑลเคลย์ มิสซูรีกำลังกดดันวิสุทธิชนให้หาบ้านถาวรกว่านั้น จอห์น วิตเมอร์และวิลเลียม ดับเบิลยู. เฟลพ์สที่ปรึกษาสองคนในฝ่ายประธานสเตคมิสซูรีใช้เงินศาสนจักรซื้อที่ดินในที่แห่งหนึ่งเรียกว่าฟาร์เวสท์ทางภาคเหนือของมิสซูรี แต่เมื่อพวกเขาเสนอขายที่ดินให้วิสุทธิชนที่มาถึง พวกเขากลับขายเอากำไรเล็กน้อยและเก็บไว้กับตนเอง ความผิดเรื่องนี้และเรื่องอื่นส่งผลให้สภาสูงในมิสซูรีร้อนใจและถอนฝ่ายประธานสเตคออกจากตำแหน่ง

โจเซฟ สมิธสนับสนุนการกระทำของสภาและวิลเลียม ดับเบิลยู. เฟลพ์สไม่พอใจ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1838 บราเดอร์เฟลพ์สลงนามในบันทึกคำให้การฟ้องท่านศาสดาพยากรณ์ บันทึกดังกล่าวส่งผลให้โจเซฟ สมิธและคนอื่นๆ ถูกจับเข้าคุกลิเบอร์ตี้ในฤดูหนาว บราเดอร์เฟลพ์สถูกปัพพาชนียกรรมจากศาสนจักรหลังจากนั้นไม่นาน

ในคุก โจเซฟ สมิธและคนที่อยู่กับท่านทนทุกข์แสนสาหัส ไม่เฉพาะจากสภาพโหดร้ายของการจำคุกเท่านั้นแต่จากรายงานว่าวิสุทธิชนถูกไล่ออกจากบ้านและถูกกระทำทารุณกรรมต่างๆ นานาด้วย กลุ่มคนร้ายมิสซูรีที่ผู้ว่าการปล่อยให้กำเริบเสิบสานต่างพากันทำลายทรัพย์สินและชีวิต รวมทั้งการสังหารหมู่ 17 คนที่โรงโม่ของชายชื่อเจคอบ ฮอนด้วย

วิลเลียม ดับเบิลยู. เฟลพ์สทนทุกข์ทางวิญญาณเพราะการกระทำของเขา และเขาเขียนจดหมายขออภัยโจเซฟ สมิธในอีกหนึ่งปีต่อมา ท่านศาสดาพยากรณ์เขียนตอบดังนี้

ภาพ
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“จริงอยู่ที่เราทุกข์ทรมานมามากอันเนื่องจากพฤติกรรมของคุณ …

“แต่เราดื่มจอกนั้นแล้ว พระประสงค์ของพระบิดาลุล่วง และเรายังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเราขอบพระทัยพระเจ้าสำหรับสิ่งนั้น …

“โดยเชื่อว่าคำสารภาพของคุณเป็นความจริง และคุณกลับใจจริง ผมจึงมีความสุขอีกครั้งที่ได้ยื่นมือขวาแห่งมิตรภาพให้คุณและปลื้มปีติในการกลับมาของบุตรที่หายไป …

“‘มาเถิด น้องรัก สงครามผ่านพ้นไปแล้ว

“‘เดิมทีเป็นเพื่อนกัน สุดท้ายก็เป็นเพื่อนกันอีก’” (ใน History of the Church, 4:163, 164)

สนทนาคำถามต่อไปนี้เป็นกลุ่ม

  • เหตุใดจึงยากจะให้อภัยเพื่อนที่ทรยศท่านและเป็นเหตุให้ท่านทุกข์ทรมาน

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรบ้างจากแบบอย่างของโจเซฟ สมิธ

  • เราสามารถเรียนรู้บทเรียนอะไรอีกบ้างจากประสบการณ์นี้

หลังจากกลุ่มมีเวลาอ่านและสนทนาประวัติย่อแล้ว ให้เชิญพวกเขาเล่าประวัติที่ได้เรียนรู้และหลักธรรมที่ค้นพบให้ชั้นเรียนฟัง ขณะที่พวกเขาสอน ขอให้พวกเขาเขียนหลักธรรมไว้บนกระดาน หลักธรรมเหล่านี้อาจได้แก่: เมื่อเราเลือกตอบสนองการทดลองด้วยศรัทธาแทนความสงสัย ประจักษ์พยานของเราจะเข้มแข็งขึ้น; เมื่อเราสนับสนุนศาสดาพยากรณ์และทำตามคำแนะนำของท่าน เราจะได้รับความมั่นคงทางวิญญาณที่ผูกมัดเรากับพระผู้เป็นเจ้า (ดูประวัติย่อ 1) เมื่อเราให้อภัยผู้อื่น พระเจ้าจะทรงสามารถเยียวยาความสัมพันธ์ของเราได้ (ดูประวัติย่อ 2)

ขณะที่นักเรียนระบุหลักธรรม ให้ถามคำถามติดตามผลต่อไปนี้เพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจและรู้สึกถึงความสำคัญของความจริงเหล่านี้ คำถามเหล่านี้อาจได้แก่

  • เหตุใดหลักธรรมนี้จึงสำคัญที่เราต้องจดจำ

  • ท่านจะอธิบายความจริงนี้กับเพื่อนว่าอย่างไร

  • ท่านเคยประสบหรือเคยเห็นตัวอย่างของหลักธรรมนี้เมื่อใด

เพื่อช่วยให้นักเรียนประยุกต์ใช้ความจริงที่พวกเขาเรียนรู้ ขอให้พวกเขาเลือกหนึ่งหรือสองหลักธรรมที่กลุ่มระบุไว้ จากนั้นให้พวกเขาเขียนคำตอบของคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

  • ฉันจะทำอะไรต่างจากเดิมเพราะหลักธรรมที่ฉันเรียนรู้วันนี้

เหตุการณ์ที่นำไปสู่การขับไล่วิสุทธิชนออกจากภาคเหนือของมิสซูรี

ขอให้นักเรียนยกมือหากพวกเขาเคยเห็นสมาชิกคนหนึ่งของศาสนจักรทำการเลือกที่เป็นเหตุให้อีกคนหนึ่งมีความรู้สึกในแง่ลบต่อศาสนจักร (อย่าขอให้พวกเขาแบ่งปันประสบการณ์) ท่านอาจต้องการขอให้นักเรียนพิจารณาเช่นกันว่าการกระทำของพวกเขาเองส่งผลให้ผู้อื่นมีความความรู้สึกอย่างไรต่อศาสนจักร

  • เหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องคิดว่าการกระทำหรือคำพูดของเราสะท้อนภาพศาสนจักรอย่างไร

อธิบายว่าในปี 1838 การกระทำและคำพูดของสมาชิกศาสนจักรบางคนทำให้ชาวมิสซูรีบางคนรู้สึกลบต่อวิสุทธิชนยุคสุดท้ายมากขึ้นไปอีก จัดเตรียมสำเนา ประวัติย่อต่อไปนี้ให้นักเรียนและเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่วิสุทธิชนบางคนพูดหรือทำซึ่งทำให้ศาสนจักรและสมาชิกเสียหาย ท่านอาจให้นักเรียนคนนั้นหยุดครู่หนึ่งหลังจากอ่านแต่ละย่อหน้า ทุกครั้งที่หยุด ให้ถามนักเรียนดังนี้

  • วิสุทธิชนบางคนพูดหรือทำอะไรที่เป็นเหตุให้เกิดปฏิกิริยาด้านลบต่อศาสนจักร

คริสต์ศักราช 1837 และ 1838 สมาชิกศาสนจักรบางคนที่ถูกปัพพาชนียกรรมและไม่พอใจผู้อยู่อาศัยท่ามกลางวิสุทธิชนในฟาร์เวสท์เริ่มฟ้องร้องศาสนจักรกับผู้นำและรังควานศาสนจักร วิสุทธิชนบางคนเริ่มทนผู้แตกแยกเหล่านี้ไม่ได้ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1838 ซิดนีย์ ริกดันกล่าวอย่างเผ็ดร้อนในโอวาทที่เรียกกันว่า “โอวาทเกลือ” เขาอ้าง มัทธิว 5:13 และกล่าวว่าถ้าเกลือหมดรสเค็ม ย่อมไม่มีประโยชน์อันใดและควรทิ้งเสีย โดยบอกเป็นนัยว่าคนที่ออกจากศาสนจักรควรถูกขับออกจากบรรดาวิสุทธิชน อีกทั้งสมาชิกศาสนจักร 84 คนยังได้ลงนามเอกสารสั่งให้ผู้ละทิ้งความเชื่อออกจากเทศมณฑลด้วย สองสัปดาห์ต่อมา วันที่ 4 กรกฎาคม ซิดนีย์ ริกดันกล่าวสุนทรพจน์ซึ่งเขาสัญญาว่าวิสุทธิชนจะปกป้องตนเองแม้จะเกิด “สงครามของการขุดรากถอนโคน” ก็ตาม ถึงแม้สุนทรพจน์ทั้งสองครั้งดูเหมือนจะขัดกับพระดำรัสแนะนำของพระเจ้าให้ “วิงวอนขอสันติภาพ” (คพ. 105:38) แต่การตีพิมพ์สุนทรพจน์ดังกล่าวเป็นเหตุให้คนที่ไม่ใช่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายหวาดกลัวมาก (ดู ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา, 191–192)

วันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1838 เมื่อวิสุทธิชนกลุ่มหนึ่งพยายามออกเสียงเลือกตั้งในเมืองกัลลาติน รัฐมิสซูรี พวกเขาถูกชาวมิสซูรีกลุ่มหนึ่งผลักออกไปด้านข้าง และคนท้องถิ่นคนหนึ่งต่อยวิสุทธิชนคนหนึ่ง วิสุทธิชนโต้กลับและทั้งสองฝ่ายมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งและการข่มขู่มากขึ้น เพิ่มความเข้าใจผิดระหว่างวิสุทธิชนยุคสุดท้ายกับเพื่อนบ้านในมิสซูรี

ในช่วงนี้ ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสคนหนึ่งชื่อแซมพ์สัน อวาร์ดทำการสาบานลับกับคนเหล่านั้นผู้จะร่วมก่อตั้งกองโจรปล้นสะดมกับเขาเรียกว่าพวกดาไนท์ อวาร์ดสั่งให้พวกเขาแย่งชิงและปล้นชาวมิสซูรี โดยบอกว่านี่จะช่วยเสริมสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า อวาร์ดโน้มน้าวผู้ติดตามเขาให้เชื่อว่าคำสั่งของเขามาจากฝ่ายประธานสูงสุด ความจริงเปิดเผยในเวลาต่อมา และอวาร์ดถูกปัพพาชนียกรรม การกระทำของอวาร์ดก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อภาพลักษณ์ของศาสนจักรและมีส่วนทำให้ท่านศาสดาพยากรณ์ถูกคุมขังในคุกลิเบอร์ตี้

ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1838 การสู้รบระหว่างสมาชิกศาสนจักรบางคนกับทหารบ้านของมิสซูรีทำให้แต่ละฝ่ายมีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง รายงานเกินจริงเกี่ยวกับการสู้รบไปถึงลิลเบิร์น ดับเบิลยู. บ็อกส์ผู้ว่าการรัฐมิสซูรีผู้ออกคำสั่งหลังจากนั้นเรียกว่าคำสั่งขุดรากถอนโคนคือ “พวกมอรมอนต้องได้รับการปฏิบัติเยี่ยงศัตรูและ ต้องถูกขุดรากถอนโคน หรือถูกขับไล่ออกจากรัฐเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนหากจำเป็น” (อ้างอิงใน History of the Church, 3:175) ไม่นานทหารบ้านซึ่งมีจำนวนมากกว่ากองกำลังวิสุทธิชนห้าเท่าก็ล้อมเมืองฟาร์เวสท์ โจเซฟ สมิธและผู้นำศาสนจักรท่านอื่นๆ ถูกคุมขังในคุกลิเบอร์ตี้ตลอดฤดูหนาว วิสุทธิชนที่เหลือถูกบังคับให้ออกจากรัฐ

  • เหตุใดจึงน่าจะสำคัญที่เราต้องเข้าใจว่าการข่มเหงบางอย่างที่วิสุทธิชนประสบเป็นผลจากการกระทำของสมาชิกศาสนจักร

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรบ้างจากเหตุการณ์เหล่านี้ว่าการกระทำและคำพูดของเราเองส่งผลต่อผู้อื่น (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เน้นหลักธรรมต่อไปนี้: การกระทำและคำพูดของเราจะส่งผลให้ผู้อื่นมองศาสนจักรของพระเยซูคริสต์เอย่างไร ท่านอาจต้องการขอให้นักเรียนอ่าน แอลมา 39:11)

เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยมีเมื่อพวกเขาเห็นคำพูดหรือการกระทำของอีกคนหนึ่งส่งผลให้บางคนมองศาสนจักรในแง่บวก

สรุปโดยให้ดูคำถามที่่ท่านเขียนไว้บนกระดานก่อนชั้นเรียนอีกครั้ง เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้วันนี้ว่าการตอบสนองความท้าทายและการทดลองของเราไม่เสริมสร้างก็บั่นทอนศรัทธาของเราอย่างไร แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพลังของความซื่อสัตย์ต่อพระกิตติคุณในยามยากลำบาก

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

คำอธิบายเกี่ยวกับช่วงเวลาของการละทิ้งความเชื่อในเคิร์ทแลนด์

ในช่วงปี 1837 วิญญาญมืดมีผลต่อสมาชิกบางคนของศาสนจักรในเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอ

“ช่วงนี้ความคิดจะเก็งกำไรเรื่องที่ดินและทรัพย์สินทุกประเภทซึ่งแพร่หลายทั่วประเทศกำลังหยั่งรากลึกในศาสนจักร ความคิดเช่นนี้ส่งผลให้การคาดเดาผิดๆ การจับผิด การแก่งแย่งชิงดี การแตกแยก และการละทิ้งความเชื่อเกิดตามมาอย่างรวดเร็ว และดูประหนึ่งอำนาจทั้งหมดทั้งมวลของแผ่นดินโลกและนรกกำลังรวมอิทธิพลกันเป็นพิเศษเพื่อล้มล้างศาสนจักรในชั่วพริบตาและทำให้ถึงกาลอวสาน” (History of the Church, 2:487)

เอไลซา อาร์. สโนว์ผู้อยู่ในเคิร์ทแลนด์เวลานี้และต่อมารับใช้เป็นประธานสมาคมสงเคราะห์คนที่สองบรรยายช่วงเวลานี้ในเคิร์ทแลนด์ว่า

ภาพ
เอไลซา อาร์. สโนว์

“คนมากมายผู้เคยอ่อนน้อมถ่อมตนและซื่อสัตย์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ทุกอย่าง—ผู้พร้อมจะทำตามคำแนะนำทุกอย่างของฐานะปุโรหิต กำลังลำพองในวิญญาณและทะนงตนด้วยความถือดีในใจ ขณะที่วิสุทธิชนดื่มด่ำความรักและวิญญาณของโลก พระวิญญาณพระเจ้าทรงถอนจากใจพวกเขา และพวกเขาเต็มไปด้วยความจองหองและเกลียดชังคนที่ดำรงความซื่อสัตย์สุจริตของตน” (Biography and Family Record of Lorenzo Snow [1884], 20)

บริคัม ยังก์พูดถึงบรรยากาศในศาสนจักรช่วง ค.ศ. 1837 และการที่ท่านพยายามปกป้องศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธดังนี้

ภาพ
ประธานบริคัม ยังก์

“เวลานี้ความคิดจะเก็งกำไร ความไม่พอใจและการละทิ้งความเชื่อกลืนกินอัครสาวกสิบสองหลายคนซึ่งกระจายทั่วทุกโควรัมของศาสนจักร แพร่ไปอย่างกว้างขวางจนยากจะเห็นเส้นทางให้เดินตามอย่างชัดเจน

“… นี่เป็นวิกฤติเมื่อแผ่นดินโลกและนรกดูเหมือนจะรวมตัวกันล้มล้างท่านศาสดาพยากรณ์และศาสนจักรของพระผู้เป็นเจ้า เข่าของคนเข้มแข็งที่สุดหลายคนในศาสนจักรอ่อนแรง

“ในช่วงที่อำนาจมืดโอบล้อมข้าพเจ้ายืนเคียงข้างโจเซฟ และด้วยสติปัญญาและพลังความสามารถทั้งหมดที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าสนับสนุนผู้รับใช้ของพระผู้เป็นเจ้าสุดกำลังและทำให้โควรัมของศาสนจักรเป็นหนึ่งเดียว” (Manuscript History of Brigham Young 1801–1844, ed. Elden Jay Watson [1968], 15, 16–17)

ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของปัญหาการเงินในเคิร์ทแลนด์

คริสต์ศักราช 1837 ความละโมบเกาะกุมจิตใจสมาชิกศาสนจักรบางคนและแม้กับผู้นำที่โดดเด่นบางคนของศาสนจักรในเคิร์ทแลนด์ ทองและเงินขาดแคลน ประชาชนใช้ธนบัตรจากธนาคารหลายแห่งในเขตนั้น เพื่อช่วยให้วิสุทธิชนพึ่งพาตนเองทางการเงินมากขึ้น โจเซฟ สมิธและผู้นำศาสนจักรท่านอื่นๆ จึงตั้งบริษัทคล้ายธนาคารเรียกว่าสมาคมความมั่นคงเคิร์ทแลนด์ วิสุทธิชนจำนวนมากซื้อหุ้นในธนาคารใหม่ บริษัทเปิดดำเนินการได้ไม่กี่เดือนก็เริ่มเกิดวิกฤตการเงินที่ต่อมาเรียกว่าความตื่นตระหนกปี 1837 ในนครนิวยอร์กและโหมซัดไปทางตะวันตก ส่งผลให้ธนาคารหลายร้อยแห่งล้ม รวมทั้งสมาคมความมั่นคงเคิร์ทแลนด์ด้วย

ปัจจัยอื่นๆ เป็นสาเหตุที่ทำให้สมาคมความมั่นคงเคิร์ทแลนด์ไม่มีเสถียรภาพเช่นกัน ธนาคารอีกหลายแห่งไม่ยอมรับว่าธนบัตรของสมาคมความมั่นคงเคิร์ทแลนด์เป็นเงินตราที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และหนังสือพิมพ์ต่อต้านมอรมอนหลายฉบับจัดประเภทให้เป็นเงินสิ้นค่า ยิ่งไปกว่านั้น เงินต้นของสมาคมส่วนมากอยู่ในรูปของที่ดิน สมาคมจึงมีทองและเงินไม่มากพอจะให้แลกเป็นธนบัตรได้ ศัตรูของศาสนจักรมีธนบัตรมากพอจะแลกซื้อทองและเงินจากสมาคมจนสมาคมต้องระงับการจ่ายทองและเงินให้ลูกค้าหลังจากออกธนบัตรรุ่นแรกไปแล้วไม่กี่สัปดาห์ ด้วยเหตุนี้โจเซฟ สมิธกับซิดนีย์ ริกดันจึงถูกกล่าวหาว่าทำผิดพระราชบัญญัติธนาคารของโอไฮโอและถูกไต่สวน โจเซฟกับซิดนีย์ต้องจ่ายค่าปรับคนละ 1,000 ดอลลาร์

โจเซฟ สมิธทำสุดความสามารถเพื่อโน้มน้าวผู้ลงทุนให้ทุ่มเงินสนับสนุนธนาคารมากขึ้น แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นช่วยธนาคารอื่น อย่างไรก็ดี วิธีนี้ไม่แก้ปัญหา ผู้จัดการที่ขาดประสบการณ์และไม่ซื่อสัตย์ทำให้ธนาคารสั่นคลอนยิ่งกว่าเดิม วอร์เร็น พาร์ริชแคชเชียร์ของธนาคารและอาลักษณ์ส่วนตัวของโจเซฟขโมยเงิน 20,000 กว่าดอลลาร์

ความคิดจะเก็งกำไรมากขึ้นในเคิร์ทแลนด์ทำให้ศาสนจักรมีปัญหาเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะคิดว่ามีเงินซึ่งยืมมาจากธนาคาร หลายคนจึงเป็นหนี้จากการซื้อที่ดินไว้ขายต่อเพื่อเก็งกำไร

ราวฤดูใบไม้ร่วง ปี 1837 สมาคมความมั่นคงเคิร์ทแลนด์ต้องปิดตัวลง หลายร้อยคนสูญเสียแทบทุกอย่างที่ลงทุนไปและโจเซฟ สมิธสูญเสียมากที่สุด เพราะหลายคนถือว่าสมาคมความมั่นคงเป็นธนาคารของศาสนจักรหรือธนาคารของท่านศาสดาพยากรณ์ วิสุทธิชนบางคนจึงตำหนิโจเซฟ สมิธเรื่องปัญหาการเงินของพวกเขาและถึงกับเริ่มเรียกท่านว่าศาดาพยากรณ์ที่ล้มเหลว อีกหลายคนที่สูญเสียเงินยังคงมีศรัทธาและเชื่อถือท่านศาสดาพยากรณ์ (ดู ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนาจักร, 2003], 173–174)