เซมินารี
บทที่ 126: หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:1–10; 122


บทที่ 126

หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:1–10; 122

คำนำ

หลักคำสอนและพันธสัญญา 121–123 ประกอบด้วยส่วนที่เลือกสรรจากสาส์นหรือจดหมายที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเขียนถึงศาสนจักร ลงวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1839 โจเซฟ สมิธบอกให้เขียนจดหมายขณะท่านกับเพื่อนสองสามคนถูกจองจำในคุกลิเบอร์ตี้ ในจดหมาย ท่านศาสดาพยากรณ์รวมคำสวดอ้อนวอนบางตอนของท่านไว้ด้วย โดยทูลขอพระเจ้าให้ทรงอวยพรท่าน เพื่อนๆ ของท่าน และวิสุทธิชนทุกคนที่กำลังทนทุกข์เพราะการกระทำของศัตรู นอกจากนี้ยังมีคำตอบที่ท่านได้รับสำหรับคำสวดอ้อนวอนเหล่านั้นด้วย

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:1–6

โจเซฟ สมิธสวดอ้อนวอนให้วิสุทธิชนที่กำลังทนทุกข์

เชื้อเชิญให้นักเรียนสมมติว่าเพื่อนหรือคนที่พวกเขารักกำลังทุกข์ทรมานกับประสบการณ์ที่ยากลำบาก เธอสารภาพกับท่านว่าเธอไม่เข้าใจว่าทำไมเธอประสบความทุกข์เช่นนั้นและเธอรู้สึกประหนึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงทอดทิ้งเธอ

  • ท่านจะบอกเพื่อนว่าอย่างไร ท่านจะทำอะไรหากท่านเป็นคนที่กำลังประสบความทุกข์เหล่านี้

อธิบายว่าพระเจ้าทรงแนะนำและปลอบโยนโจเซฟ สมิธในช่วงประสบการณ์ที่ยากลำบากอย่างยิ่ง กระตุ้นให้นักเรียนมองหาวิธีที่พระดำรัสแนะนำและปลอบโยนของพระเจ้าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 121–123 จะช่วยให้พวกเขาผ่านพ้นการทดลองของตนได้

อธิบายว่าวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 1838 จอร์จ ฮิงเคิลสมาชิกคนหนึ่งของศาสนจักรและเป็นผู้พันในทหารบ้านของรัฐมิสซูรีหักหลังโจเซฟ สมิธ ฮิงเคิลบอกโจเซฟ สมิธว่าสมาชิกของทหารบ้านมิสซูรีผู้รุกรานวิสุทธิชนในฟาร์เวสท์ มิสซูรีต้องการเจรจาเพื่อระงับข้อโต้แย้งอย่างสันติ เมื่อโจเซฟและผู้นำศาสนจักรท่านอื่นมาเจรจา ทหารบ้านกลับใช้กำลังนำตัวพวกท่านไปเป็นนักโทษสงคราม เดือนต่อมา โจเซฟ สมิธกับเพื่อนร่วมงานถูกกระทำทารุณกรรมและถูกสบประมาท ขณะศัตรูจำคุกพวกท่านในเมืองอินดิเพนเดนซ์ รัฐมิสซูรี และเมืองริชมอนด์ รัฐมิสซูรี ขณะรอการไต่สวนซึ่งอิงกับข้อกล่าวหาเท็จและไม่ทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง โจเซฟ สมิธและผู้นำศาสนจักรท่านอื่นถูกย้ายไปจองจำในคุกลิเบอร์ตี้ รัฐมิสซูรีเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม

ในช่วงสี่เดือนติดต่อกัน ท่านศาสดาพยากรณ์ ไฮรัมพี่ชายท่าน อเล็กซานเดอร์ แมคเร, ไลมัน ไวท์ และ คาเลบ บาลด์วินถูกขังในคุกใต้ดินชั้นล่างของคุกลิเบอร์ตี้ในช่วงฤดูหนาวที่หนาวจัด ซิดนีย์ ริกดันอยู่กับพวกท่านช่วงหนึ่งด้วย แต่ผู้พิพากษาอนุญาตให้ปล่อยเขาปลายเดือนมกราคม ค.ศ. 1839 เพราะกลัวการข่มขู่จากศัตรูบราเดอร์ริกดันจึงไม่ออกจากคุกจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์

เพื่อช่วยให้นักเรียนรับรู้สภาพทารุณโหดร้ายที่ท่านศาสดาพยากรณ์และเพื่อนๆ ประสบขณะอยู่ในคุกลิเบอร์ตี้ ท่านอาจต้องการใช้เทปหรือวิธีอื่นทำเครื่องหมายสี่เหลี่ยมบนพื้นกว้าง 14 ฟุตและยาว 14 ฟุต (4.3 เมตรคูณ 4.3 เมตร) อธิบายว่านี่เป็นขนาดกว้างยาวโดยประมาณของพื้นคุก เพดานสูงราว 6 ถึง 6.5 ฟุต (ราว 1.8 ถึง 2 เมตร)

ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนดูภาพคุกลิเบอร์ตี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาด้วย (ดู ภาพถ่ายประวัติศาสนจักร ภาพ 12 “คุกลิเบอร์ตี้”) เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกภาพว่าจะเป็นอย่างไรหากถูกจองจำในที่แคบๆ เช่นนั้นกับชายอีก 4 ถึง 5 คนช่วงฤดูหนาว หน้าต่างลูกกรงบานเล็กสองบานให้แสงน้อยมาก ผู้คนเยาะเย้ยและสบประมาทนักโทษจากด้านนอกหน้าต่างเหล่านี้ นักโทษนอนอยู่บนฟางสกปรกบนพื้น เครื่องเรือนมีไม่กี่ชิ้นและมีถังใส่ปฏิกูลมนุษย์รวมอยู่ด้วย ช่วงหนึ่งโจเซฟไม่มีผ้าห่มซึ่งเป็นเพียงอย่างเดียวที่นักโทษมีไว้กันหนาว บางคราวอาหารเป็นพิษ และหลายครั้งน่าขยะแขยงถึงขนาดว่าจะกินลงก็ต่อเมื่อหิวจัดเท่านั้น พวกท่านแทบไม่ได้รับอนุญาตให้คนเยี่ยมและเจ็บปวดมากเมื่อทราบความทุกข์ของวิสุทธิชนที่ถูกไล่ออกจากมิสซูรีกลางฤดูหนาว

  • ท่านน่าจะมีความรู้สึกและความคิดอะไรบ้างหากท่านเป็นโจเซฟ

อธิบายว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 121–123 ประกอบด้วยส่วนที่เลือกสรรจากจดหมายที่ท่านศาสดาพยากรณ์เขียนถึงวิสุทธิชนเมื่อใกล้จะสิ้นสุดการคุมขังในคุกลิเบอร์ตี้ จดหมายมีคำสวดวิงวอนพระเจ้าของโจเซฟรวมอยู่ในนั้นด้วย

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:1–6 ขอให้ชั้นเรียนมองหาคำถามและคำวิงวอนที่ศาสดาพยากรณ์ทูลต่อพระเจ้า (เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจ ข้อ 1 และ ข้อ 4ท่านอาจต้องการอธิบายว่าพลับพลาคือสิ่งปลูกสร้างชั่วคราวที่มีไว้คุ้มกัน)

  • ท่านพบคำถามและคำวิงวอนอะไรบ้าง ท่านประทับใจอะไรอีกบ้างเกี่ยวกับข้อเหล่านี้

หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:7–10; 122

พระเจ้าทรงปลอบโยนโจเซฟ สมิธ

อธิบายว่าคำตอบบางประการของพระเจ้าต่อคำสวดอ้อนวอนของโจเซฟ สมิธพบใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:7–25 และ 122:1–9 เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:7–10 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาหลักธรรมที่จะช่วยโจเซฟ สมิธและเพื่อนๆ ของท่านระหว่างอยู่ในคุกลิเบอร์ตี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนหลักคำสอนและหลักธรรมที่พวกเขาเรียนรู้จากข้อเหล่านี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนแบ่งปันหลักคำสอนและหลักธรรมที่พวกเขาค้นพบ เขียนคำตอบของพวกเขาไว้ บนกระดาน พวกเขาอาจจะค้นพบหลักธรรมสามข้อต่อไปนี้

เมื่อเราเรียกหาพระเจ้าในช่วงยากลำบากและมีทุกข์ เราจะได้รับสันติสุขของพระองค์

หากเราอดทนต่อการทดลองในความเป็นมรรตัยด้วยดี พระผู้เป็นเจ้าจะทรงอวยพรเราเวลานี้และในนิรันดร

ในช่วงเวลาของการทดลอง เราจะพบการปลอบโยนในการสนับสนุนช่วยเหลือของเพื่อนแท้

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ และเชื้อเชิญให้พวกเขาสนทนาคำถามต่อไปนี้ ถามทีละข้อโดยให้เวลาสนทนานานพอสมควร

  • อะไรคือความแตกต่างระหว่างอดทนต่อการทดลองกับอดทนต่อการทดลองด้วยดี

  • ท่านรู้จักใครที่เป็นแบบอย่างของการอดทนต่อการทดลองด้วยดี

กระตุ้นให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาสนทนากับคู่

  • พระเจ้าตรัสว่าความยากลำบากและความทุกข์ของโจเซฟ สมิธจะ “อยู่เพียงชั่วครู่” (คพ. 121:7) ท่านคิดว่านี่หมายความว่าอย่างไร ทัศนะเช่นนี้จะช่วยให้เราอดทนต่อการทดลองด้วยดีได้อย่างไร

เปิดโอกาสให้นักเรียนแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยมีเมื่อพวกเขาได้รับสันติสุขของพระผู้ช่วยให้รอดในยามยากลำบาก

เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ใครจะแสวงหาคำแนะนำและพรผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาคำตอบของคำถามนี้ขณะพวกเขาอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 122:1–4 หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้นักเรียนไตร่ตรองว่า ข้อ 2–3 พูดถึงคำตอบเหล่านั้นหรือไม่

  • เรายังคงได้รับคำแนะนำจากโจเซฟ สมิธในด้านใด เราได้รับสิทธิอำนาจและพรเพราะท่านในด้านใด

  • พระเจ้าทรงสัญญาอะไรกับโจเซฟ สมิธ

เชิญนักเรียนสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 122:5–7 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาหลักธรรมที่พระเจ้าทรงสอนโจเซฟ สมิธเกี่ยวกับความยากลำบากที่ท่านและคนอื่นๆ กำลังประสบ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 7ความยากลำบากและความทุกข์เกิดผลดีอะไรบ้าง (ขณะที่นักเรียนตอบคำถามนี้ ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ความทุกข์จะให้ประสบการณ์และเกิดขึ้นเพื่อความดีของเรา)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลินแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังว่าความทุกข์จะเกิดขึ้นเพื่อความดีของเราได้อย่างไร

ภาพ
เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลิน

“ท่านอาจรู้สึกโดดเดี่ยวเมื่อความยากลำบากเข้ามาในชีวิต ท่านส่ายหน้าและสงสัยว่า ‘ทำไมต้องเป็นฉัน’

“แต่สุดท้ายแล้วหน้าปัดจานหมุนของความโศกเศร้าจะชี้มาที่เราแต่ละคน ทุกคนต้องประสบกับความโศกเศร้าไม่เวลาใดก็เวลาหนึ่ง ไม่มีใครหนีพ้น …

“การเรียนรู้ว่าต้องอดทนยามผิดหวัง ทนทุกข์ และโศกเศร้าเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เราเรียนรู้จากชีวิต ประสบการณ์เหล่านี้แม้บ่อยครั้งจะทนได้ยาก แต่เป็นประสบการณ์ที่ขยายความเข้าใจของเรา สร้างอุปนิสัย และทำให้เรามีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น” (“ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ขอให้ชื่นชมยินดี,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 33)

  • เอ็ลเดอร์เวิร์ธลินกล่าวว่าประสบการณ์ยากๆ ของเราจะทำอะไรเพื่อเราได้บ้าง

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาว่าการทดลองให้ประสบการณ์และเกิดขึ้นเพื่อความดีของพวกเขาอย่างไร หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ท่านอาจจะขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งมาที่กระดานและเป็นคนจด ขอให้เขาวาดเส้นแนวนอนห่างจากด้านล่างสุดของกระดานประมาณหนึ่งในสาม จากนั้นขอให้นักเรียนเขียนสถานการณ์ท้าทายที่ผู้คนประสบ ขอให้คนจดเขียนคำตอบของพวกเขาไว้เหนือเส้น

หลังจากนักเรียนมีเวลาเขียนพอสมควรแล้ว ถามพวกเขาว่าพวกเขาเคยได้ยินคนพูดว่า “ไม่มีใครเข้าใจหรอกว่าฉันประสบอะไรอยู่” หรือไม่ เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 122:8 ในใจโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าจะตรัสตอบความเห็นนี้ ขณะพวกเขารายงานคำตอบ ขอให้คนจดเขียนคำว่า พระเยซูคริสต์ ไว้ใต้เส้นบนกระดาน

  • ท่านคิดว่า พระผู้ช่วยให้รอดทรง “ลดพระฐานะลงต่ำกว่าสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด” หมายความว่าอย่างไร (ก่อนนักเรียนตอบ ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้พวกเขาอ่าน 2 นีไฟ 9:20–21, แอลมา 7:11 และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:5–6 นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้: พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนรับความเจ็บปวดและความทุกข์ของทุกคน)

  • ท่านคิดว่าความจริงนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อโจเซฟ สมิธและเพื่อนๆ ของท่านในคุกลิเบอร์ตี้อย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักคำสอนนี้ ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เวิร์ธลิน

ภาพ
เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลิน

“เพราะพระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์ใหญ่หลวง พระองค์จึงเข้าพระทัยความทุกข์ของเรา พระองค์เข้าพระทัยความโศกเศร้าของเรา เราประสบความยากลำบากก็เพื่อให้เรามีความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น

“จงจดจำพระดำรัสอันสูงค่าของพระผู้ช่วยให้รอดต่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเมื่อท่านกับเพื่อนทนทุกข์อยู่ในความมืดทึบของคุกลิเบอร์ตี้ …

“… โจเซฟรับการปลอบโยนจากพระดำรัสเหล่านี้และเรารับได้เช่นกัน” (“ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ขอให้ชื่นชมยินดี,” 34)

  • ประสบการณ์ของท่านกับ “ความยากลำบาก” ทำให้ท่านเห็นอกเห็นใจและเข้าใจผู้อื่นมากขึ้นในด้านใด

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 122:9 ในใจและไตร่ตรองว่าข้อนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับชีวิตและการปฏิบัติศาสนกิจของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

  • ท่านรู้สึกว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 122:9 เกี่ยวข้องกับท่านอย่างไร ข้อนี้จะทำให้ท่านเข้มแข็งในช่วงประสบการณ์ยากๆ ได้อย่างไร

อธิบายว่าไม่นานหลังจากเขียนจดหมายนี้ พระเจ้าทรงเปิดทางให้โจเซฟกับเพื่อนๆ ได้กลับไปพบวิสุทธิชนในอิลลินอยส์อีกครั้ง เป็นพยานว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่กับโจเซฟ สมิธผู้รับใช้ของพระองค์ตลอดชีวิตของโจเซฟ ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าหากเรายังคงซื่อสัตย์ระหว่างการทดลอง พระผู้เป็นเจ้าจะทรงอยู่กับเราเช่นกัน จบบทเรียนโดยแบ่งปันประจักษ์พยานต่อไปนี้ซึ่งโจเซฟ สมิธกล่าวก่อนวาระสุดท้ายของชีวิตท่าน “พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพเป็นโล่ของข้าพเจ้า และมนุษย์จะทำอะไรได้เล่าหากพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นสหายของข้าพเจ้า” โ(ใน History of the Church, 5:259)

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 121–123 ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์

“ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธกับเพื่อนของท่าน (ไฮรัม สมิธ, ไลมัน ไวท์, คาเลบ บาลด์วิน, อเล็กซานเดอร์ แมคเร และช่วงหนึ่งกับซิดนีย์ ริกดัน) ทนทุกข์ใหญ่หลวงขณะอยู่ในคุกรอการไต่สวนเรื่องข้อกล่าวหาเท็จ ‘พวกเขากระทำการป่าเถื่อนสารพัดขณะพวกท่านอยู่ที่นั่น อาหารไม่พอและไม่เหมาะสมเป็นสิ่งที่พวกท่านกินทุกวัน บางครั้งเฉพาะการดลใจของพระเจ้าเท่านั้นที่ช่วยให้พวกท่านรอดจากความมึนเมาของอาหารเป็นพิษซึ่งไม่มีใครหนีพ้น [อเล็กซานเดอร์ แมคเรกล่าวว่า “เรากินไม่ลงจนกว่าเราจะหิวจัด” (B. H. Roberts, A Comprehensive History of the Church, 1:521)]

“‘คุกไม่มีที่ให้นอน เราจึงต้องหาที่พักเอาแรงบนเตียงฟางที่วางอยู่บนไม้กระดานและพื้นหิน พวกท่าน [ได้รับอนุญาต] ให้ติดต่อกับโลกภายนอกน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนแรกหรือช่วงถูกกักขัง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติเมื่อวิสุทธิชนยุคสุดท้ายประสบการข่มเหงหนักที่สุดในมิสซูรี และต้องการผู้นำที่เป็นศาสดาพยากรณ์ของพวกเขาอย่างยิ่ง’ [Alvin R. Dyer, The Refiner’s Fire, 2nd ed. [1968], 276]

“พวกท่านได้รับอนุญาตให้เพื่อนๆ มาเยี่ยมที่คุกเป็นครั้งคราวอีกทั้งยอมให้รับและส่งจดหมายติดต่อกันได้ ระหว่างวันที่ 20 ถึง 25 มีนาคม ค.ศ. 1839 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟบอกให้เขียน จดหมายส่งข่าวยาวมาก ที่นักโทษทุกคนลงนาม (จริงๆ แล้วมีจดหมายสองฉบับ ถึงแม้ท่านศาสดาพยากรณ์ระบุว่าฉบับที่สองเป็นจดหมายที่ต่อจากฉบับแรก) ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธเขียนเกี่ยวกับจดหมายฉบับนี้ว่า ‘นี่เป็นหนึ่งในจดหมายสำคัญที่สุดที่เคยเขียนด้วยมือมนุษย์ จริงๆ แล้วนี่เป็นผลจากการดลใจที่นอบน้อม เป็นการสวดอ้อนวอน การพยากรณ์ และคำตอบโดยการเปิดเผยจากพระเจ้า ไม่มีใครนอกจากผู้มีจิตใจสูงส่งและเปี่ยมด้วยวิญญาณแห่งความรักของพระคริสต์เท่านั้นจึงจะเขียนจดหมายเช่นนี้ได้ เมื่อคำนึงถึง [ความทุกข์ของพวกท่าน] ไม่แปลกที่ท่านศาสดาพยากรณ์ร้องออกมาด้วยความปวดร้าวของจิตวิญญาณท่านเพื่อขอการบรรเทา ทว่าในคำวิงวอนที่จริงใจนั้น มีวิญญาณของความอดกลั้นและความรักต่อเพื่อนมนุษย์รวมอยู่ด้วย’ (Church History and Modern Revelation, 2 vols. [1953], 2:176.)

ภาค 121–123 คัดลอกมาจากจดหมายส่งข่าวฉบับนี้และรวมไว้ในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาฉบับพิมพ์ปี 1876 พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาฉบับที่มีสามภาคนี้ได้รับการสนับสนุนเป็นพระคัมภีร์ในการประชุมใหญ่ของศาสนจักรเดือนตุลาคม ปี 1880” (หลักคำสอนและพันธสัญญา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้ง 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2001], 388)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:1–3 “อีกนานเท่าใดเล่าที่พวกเขาจะทนรับการกระทำผิดและการกดขี่ที่ผิดกฎหมายเหล่านี้”

ก่อนโจเซฟ สมิธจะถูกจองจำในคุกลิเบอร์ตี้ ท่านและผู้นำศาสนจักรอีกหลายคน รวมทั้งพาร์ลีย์ พี. แพรทท์ถูกจองจำอย่างไม่เป็นธรรมในเมืองริชมอนด์ รัฐมิสซูรี ขณะอยู่ในคุกที่ริชมอนด์ พวกท่านได้ยินผู้คุมบรรยายการกระทำอันน่ารังเกียจด้วยภาษาที่สกปรกหยาบคายเกี่ยวกับการปล้น การข่มขืน และการฆาตกรรมที่กระทำต่อวิสุทธิชนยุคสุดท้าย พาร์ลีย์ พี. แพรทท์เล่าว่าหลังจากฟังนานพอสมควรแล้ว โจเซฟโต้ตอบดังนี้

ภาพ
พาร์ลีย์ พี. แพรทท์

“[โจเซฟ] ผุดลุกขึ้นยืนและพูดเสียงดังกึกก้องราวสิงโตคำราม เท่าที่ข้าพเจ้าจำได้ท่านพูดดังนี้

“‘เงียบ เจ้าพวกปีศาจจากขุมนรก ในพระนามของพระเยซูคริสต์ผมตำหนิพวกคุณ และสั่งให้พวกคุณหยุด ผมจะไม่ทนฟังคำพูดพวกนั้นแม้แต่นาทีเดียว หยุดพูด มิฉะนั้น ไม่คุณก็ผมต้องตายเดี๋ยวนี้!’”

ผู้คุม “ขอโทษ และไม่ปริปากพูดจนถึงเวลาเปลี่ยนเวรยาม” ต่อมาพาร์ลีย์พูดถึงประสบการณ์นี้ว่า “ผมเคยเห็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม … ในศาลของประเทศอังกฤษ ผมเคยเห็นรัฐสภาในสมัชชาออกกฎหมายให้ประเทศมาแล้ว … แต่ผมเคยเห็นความสง่าน่าเกรงขามแค่ ครั้งเดียว ตอนเที่ยงคืนขณะถูกตีตรวนในคุกใต้ดินในหมู่บ้านไกลลิบของมิสซูรี” (Autobiography of Parley P. Pratt, ed. Parley P. Pratt Jr. [1938], 211; ดูหน้า 210 ด้วย)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 122:5–7 จุดประสงค์ในความทุกข์ทรมาน

เมื่อกล่าวถึง หลักคำสอนและพันธสัญญา 121–122เอ็ลเดอร์ออร์สัน เอฟ. วิทนีย์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเกี่ยวกับเหตุผลประการหนึ่งที่เราประสบความยากลำบากดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์ออร์สัน เอฟ. วิทนีย์

“ความยากลำบากมีไว้เพื่อพัฒนาเรา ทำให้เราบริสุทธิ์ เติบโต รอบรู้และก้าวหน้า เพื่อให้เราปะทะคลื่นอันบ้าคลั่งของความโศกเศร้าและความโชคร้าย เราทุกคนจะเข้มแข็งขึ้นและเป็นคนดีขึ้นเมื่อเราว่ายทวนน้ำขึ้นไปยืนอยู่บนฝั่งไกลออกไปอีก” (“A Lesson from the Book of Job,” Improvement Era, Nov. 1918, 6)