เซมินารี
บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน: หลักคำสอนและพันธสัญญา 124–128 (หน่วย 27)


บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 124–128 (หน่วย 27)

เนื้อหาเตรียมสอนสำหรับครูภาคการศึกษาที่บ้าน

บทสรุปของบทเรียนภาคการศึกษาที่บ้านประจำวัน

บทสรุปต่อไปนี้ของเหตุการณ์ หลักคำสอน และหลักธรรมที่นักเรียนเรียนรู้ขณะศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 124–128 (หน่วย 27) ไม่ได้มีเจตนาให้ใช้สอนในบทเรียนของท่าน บทเรียนที่ท่านสอนเน้นเฉพาะหลักคำสอนและหลักธรรมเหล่านี้เพียงไม่กี่ข้อ จงทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขณะพิจารณาความต้องการของนักเรียน

วันที่ 1 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:1–83)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 124 เป็นการเปิดเผยแรกที่ได้รับในเมืองนอวู รัฐอิลลินอยส์ ที่จัดพิมพ์ไว้ในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา เมื่อนักเรียนศึกษาพระบัญชาของพระเจ้าให้สร้างพระวิหารในนอวู พวกเขาเรียนรู้ว่าพระวิหารเป็นแห่งเดียวที่เราจะได้รับความสมบูรณ์ของศาสนพิธีฐานะปุโรหิตสำหรับการไถ่คนเป็นและคนตาย พวกเขาค้นพบด้วยว่าเราพิสูจน์ความซื่อสัตย์ของเราโดยการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้า

วันที่ 2 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:84–145; 125–126)

เมื่อนักเรียนสรุปการศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 124พวกเขาเรียนรู้ว่าหากเราสดับฟังคำแนะนำของศาสดาพยากรณ์ นั่นจะดีกับเราและพระเจ้าทรงเรียกผู้นำฐานะปุโรหิตให้ปกครองงานแห่งการปฏิบัติศาสนกิจและช่วยทำให้วิสุทธิชนดีพร้อม ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 125 และ 126นักเรียนเรียนรู้ว่าหากเราทำงานอย่างขยันหมั่นเพียรเพื่อพระเจ้า พระองค์จะทรงยอมรับเครื่องถวายที่ชอบธรรมของเรา

วันที่ 3 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 127; 128:1–11)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 127 และ 128 นำมาจากจดหมายที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเขียนถึงวิสุทธิชนขณะท่านจะย้ายออกไปเพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่มิสซูรีจับกุมท่านอย่างผิดกฎหมาย ในภาคเหล่านี้นักเรียนค้นพบว่าการวางใจพระบิดาบนสวรรค์จะช่วยให้เราอดทนต่อความยากลำบากและเมื่อบันทึกอย่างถูกต้องศาสนพิธีพระวิหารที่เราประกอบบนแผ่นดินโลกจะผูกไว้ในสวรรค์

วันที่ 4 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 128:12–25)

ระหว่างศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 128 ที่เหลือ นักเรียนระบุหลักธรรมต่อไปนี้เกี่ยวกับงานพระวิหาร: ความรอดของคนตายจำเป็นและสำคัญต่อความรอดของเรา บัพติศมาแทนคนตายช่วยเชื่อมโยงเรากับบรรพชนของเราชั่วนิรันดร์ กุญแจ พลัง และอำนาจของสมัยการประทานในอดีตได้รับการฟื้นฟูในสมัยการประทานความสมบูรณ์แห่งเวลา เมื่อเราทำงานประวัติครอบครัวและรับศาสนพิธีพระวิหารแทนบรรพชนของเรา เราทำเครื่องถวายที่ชอบธรรมแด่พระเจ้า

คำนำ

บทนี้เน้น หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:1–21 เมื่อนักเรียนศึกษาข้อเหล่านี้ พวกเขาจะเรียนเรื่องโจเซฟกับไฮรัม สมิธและบทบาทของพวกท่านในการฟื้นฟูศาสนจักรของพระเยซูคริสต์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:1–14

พระเจ้าทรงอธิบายสาเหตุที่พระองค์ทรงเรียกโจเซฟ สมิธให้ฟื้นฟูพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

เขียนคำว่า แข็งแรง ไว้บนกระดาน ถามนักเรียนว่าลักษณะพิเศษอะไรบ้างตามมาตรฐานทางโลกที่บ่งบอกว่าคนๆ นั้นแข็งแรง ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียนคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดานใต้ แข็งแรง จากนั้นเขียนคำว่า อ่อนแอ ไว้บนกระดาน ถามนักเรียนว่าลักษณะพิเศษไรบ้างตามมาตรฐานทางโลกที่บ่งบอกว่าคนๆ นั้นอ่อนแอ

  • โลกพยายามทำให้เยาวชนชายหรือเยาวชนหญิงรู้สึกอ่อนแอตามมาตรฐานของโลกด้วยวิธีใด

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 35:13 จากนั้นให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:1 ในใจโดยมองหาว่าพระเจ้าตรัสว่าใครอ่อนแอ

  • โจเซฟ สมิธอาจจะอ่อนแอในด้านใดเมื่อพระเจ้าทรงเรียกท่านให้ฟื้นฟูพระกิตติคุณ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 35:1เหตุใดพระเจ้าทรงเรียกคนอ่อนแอให้ช่วยงานของพระองค์ (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้สรุปคำตอบของพวกเขาโดยเขียนความจริงทำนองนี้ไว้บนกระดาน: พระเจ้าทรงแสดงพระปรีชาญาณของพระองค์ผ่านสิ่งอ่อนแอของแผ่นดินโลก)

  • พระเจ้าทรงแสดงพระปรีชาญาณของพระองค์ผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธในด้านใด

ขอให้นักเรียนบอกชื่อการเรียกและงานมอบหมายบางอย่างที่พวกเขาอาจได้รับขณะยังอยู่ในวัยเยาว์ (คำตอบอาจได้แก่ ผู้สอนประจำบ้าน สมาชิกในฝ่ายประธานชั้นเรียนหรือโควรัม ผู้สอนศาสนา พูดในการประชุมศีลระลึก หรือผูกมิตรบางคนในวอร์ดหรือสาขา)

  • การจดจำหลักธรรมที่เขียนไว้บนกระดานจะช่วยเราได้อย่างไรเมื่อเราได้รับการเรียกและงานมอบหมายต่างๆ ให้รับใช้ในศาสนจักร

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:2–14 โดยอธิบายว่าพระเจ้าทรงบัญชาศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธให้เขียนถ้อยแถลงพระกิตติคุณถึงผู้ปกครองของแผ่นดินโลก

หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:15–21

พระเจ้าประทานคำแนะนำแก่ผู้นำศาสนจักรในนอวู

ขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่มีคนกล่าวชมพวกเขาด้วยความจริงใจ เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์และสาเหตุที่คำชมเหล่านี้มีความหมายต่อพวกเขา

อธิบายว่าพระเจ้าตรัสถึงหลายคนในการเปิดเผยนี้และทรงชมเชยพวกเขาโดยชี้ให้เห็นข้อดีและผลงานของพวกเขา เชื้อเชิญให้นักเรียนค้นคว้า หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:15–20 ในใจโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าตรัสเกี่ยวกับคนเหล่านี้ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายวลีที่พวกเขาประทับใจ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชิญนักเรียนหันไปหาคู่และแบ่งปันว่าพวกเขาค้นพบอะไร พวกเขาประทับใจข้อความใดและเพราะเหตุใด

ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:19 พระเจ้าทรงประกาศว่าพระองค์ทรงรับชายที่ซื่อสัตย์สามคนผู้สิ้นชีวิตได้ไม่นาน (เดวิด ดับเบิลยู. แพทเทน, เอดเวิร์ด พาร์ทริจ และโจเซฟ สมิธ ซีเนียร์บิดาของท่านศาสดาพยากรณ์) ไว้ในที่ประทับของพระองค์

เชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวน หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:15, 20โดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าตรัสเกี่ยวกับไฮรัม สมิธและจอร์จ มิลเลอร์

  • พระเจ้าตรัสอะไรเกี่ยวกับไฮรัม สมิธและจอร์จ มิลเลอร์

  • พระเจ้าทรงรู้สึกอย่างไรต่อผู้มีความสุจริต (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่พวกเขาควรระบุความจริงต่อไปนี้: พระเจ้าทรงรักและวางใจคนที่มีความสุจริตใจ)

  • ท่านจะนิยามความสุจริตใจว่าอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลินแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลิน

“สำหรับข้าพเจ้า ความสุจริตหมายถึงการทำสิ่งถูกต้องและดีอยู่เสมอ โดยไม่คำนึงถึงผลเฉพาะหน้า หมายถึงการเป็นคนชอบธรรมจากส่วนลึกของจิตวิญญาณ ไม่เพียงการกระทำเท่านั้น แต่สำคัญกว่านั้นคือในความคิดและในใจของเราด้วย ความสุจริตส่วนตัวบ่งบอกความไว้ใจได้และความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาถึงขนาดว่าเราไม่สามารถผิดต่อความไว้วางใจหรือพันธสัญญาได้” (“Personal Integrity,” Ensign, May 1990, 30)

  • จากนิยามของเอ็ลเดอร์เวิร์ธลิน ท่านคิดว่าเหตุใดพระเจ้าทรงรักคนเหล่านั้นที่มีความสุจริตใจ

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าไฮรัม สมิธเป็นแบบอย่างของความสุจริตใจอย่างไร ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

“ไฮรัม สมิธผู้เป็นพี่ชาย เพื่อน และพี่เลี้ยงของท่านศาสดาพยากรณ์ได้แสดงให้เห็นความรักที่สมบูรณ์ชัดเจน ความจงรัก และความภักดีต่อพระเจ้าและต่อโจเซฟน้องชายของเขา ความเป็นพี่น้องของพวกท่านอาจไม่มีใครเทียบได้ …

“โจเซฟพูดถึงไฮรัมว่า ‘ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนในใจขอให้พี่น้องชายทุกคนของข้าพเจ้าเป็นเหมือนไฮรัมพี่ชายที่รักของข้าพเจ้าผู้ครอบครองความอ่อนโยนของลูกแกะ ความสุจริตของโยบ และกล่าวโดยสรุปคือครอบครองความนอบน้อมและความถ่อมตนของพระคริสต์ ข้าพเจ้ารักเขาด้วยความรักที่แรงกล้ากว่าความตาย เพราะข้าพเจ้าไม่เคยตำหนิเขาสักครั้ง ทั้งเขาก็ไม่เคยตำหนิข้าพเจ้า’ (History of the Church, 2:338) …

“ไฮรัมไม่หวั่นไหวแม้เผชิญหน้ากับความตาย หลังจากช่วงเวลาหนึ่งของความสูญเสียใหญ่หลวงและการข่มเหง เขาเขียนว่า

“‘ผมขอบพระทัยพระผู้เป็นเจ้าที่ผมรู้สึกว่าถึงกำหนดต้องตาย แทนที่จะปฏิเสธสิ่งซึ่งตาของผมเคยเห็น มือของผมเคยจับ [แผ่นจารึกซึ่งแปลเป็นพระคัมภีร์มอรมอน] และผมเคยแสดงประจักษ์พยานยืนยัน ไม่ว่าผมต้องรับชะตากรรมที่ใด ผมสามารถรับรองกับพี่น้องชายที่รักของผมได้ว่าผมสามารถแสดงประจักษ์พยานเมื่อมีเพียงความตายอยู่ตรงหน้าได้แรงกล้าเท่าๆ กับที่ผมทำเช่นนั้นตลอดมาขณะยังมีชีวิต’ (Times and Seasons, Dec. 1839, p. 23.)” (“The Family of the Prophet Joseph Smith,” Ensign, Nov. 1991, 7)

  • ไฮรัม สมิธแสดงให้เห็นความสุจริตของเขาอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองชีวิตด้านหนึ่งซึ่งพวกเขาจะมีความสุจริตในด้านนั้นได้มากขึ้น กระตุ้นให้พวกเขาตั้งเป้าหมายส่วนตัวเพื่อปรับปรุงความสุจริตในด้านนั้น

สรุปโดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านยืนยันหลักธรรมที่สอนวันนี้

หน่วยถัดไป (หลักคำสอนและพันธสัญญา 129–132)

ถามนักเรียนว่าพวกเขารู้หรือไม่ว่าอาณาจักรซีเลสเชียลมีกี่ระดับ อธิบายว่าในการศึกษาของสัปดาห์ที่จะมาถึง พวกเขาจะค้นพบหลักธรรมจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับอาณาจักรซีเลสเชียลและแผนแห่งความรอด