เซมินารี
บทที่ 38: หลักคำสอนและพันธสัญญา 31–32


บทที่ 38

หลักคำสอนและพันธสัญญา 31–32

คำนำ

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1830 พระเจ้าทรงเรียกโธมัส บี. มาร์ชให้สั่งสอนพระกิตติคุณและช่วยสถาปนาศาสนจักร การเรียกนี้ที่อยู่ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 31 มีคำสัญญาและคำแนะนำเพื่อนำทางโธมัสในชีวิตส่วนตัวและในฐานะผู้สอนศาสนา ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1830 โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยที่เวลานี้อยู่ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 32 ซึ่งพระเจ้าทรงเรียกพาร์ลีย์ พี. แพรทท์ และซีบา พีเตอร์สันให้ไปสมทบกับออลิเวอร์ คาวเดรีและปีเตอร์ วิตเมอร์ จูเนียร์เพื่อทำงานเผยแผ่ในบรรดาชาวเลมันทางภาคตะวันตกของมิสซูรี พระเจ้าทรงสัญญาจะอยู่กับคนเหล่านี้ในงานเผยแผ่ศาสนาของพวกเขา

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 31:1–8

พระเจ้าทรงเรียกโธมัส บี. มาร์ชให้สั่งสอนพระกิตติคุณและช่วยสถาปนาศาสนจักร

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงสมาชิกครอบครัวและความรู้สึกที่พวกเขามีต่อคนเหล่านั้น ท่านอาจให้ดูรูปครอบครัวท่านเองและพูดสั้นๆ ถึงความรักที่ท่านมีต่อพวกเขา ขอให้นักเรียนพิจารณาว่ามีใครในครอบครัวพวกเขาที่ไม่เป็นสมาชิกศาสนจักรหรือเวลานี้ไม่ได้ดำเนินชีวิตตามพันธสัญญาที่ทำไว้กับพระเจ้า ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองความหวังที่พวกเขามีต่อสมาชิกครอบครัวคนนั้น

อธิบายว่าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 31พระเจ้าตรัสถึงผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่ชื่อโธมัส บี. มาร์ชและตรัสกับเขาเกี่ยวกับครอบครัวเขา

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจภูมิหลังของภาคนี้ ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำบรรยายต่อไปนี้ว่าโธมัส บี. มาร์ชเป็นสมาชิกศาสนจักรได้อย่างไร

ขณะอยู่ในบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ค.ศ. 1829 โธมัส บี. มาร์ชสรุปว่านิกายที่เขารู้จักไม่มีสักนิกายสอดคล้องกับคำสอนของพระคัมภีร์ไบเบิล เขาเขียนว่า “ผมเชื่อว่าพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าทรงบอกให้ผมเดินทางไปตะวันตก” เขาจากเอลิซาเบธภรรยากับครอบครัวที่ลูกยังเล็กไปค้นหาความจริง หลังจากเดินทางได้สามเดือน โธมัสกำลังกลับบ้านตอนที่เขา “ได้ยินเรื่องหนังสือทองคำที่เด็กหนุ่มนามโจเซฟ สมิธพบ” เขาเดินทางไปพอลไมรา รัฐนิวยอร์ก เขาพบมาร์ติน แฮร์ริสที่นั่น ผู้พิมพ์ให้พระคัมภีร์มอรมอนสิบหกหน้าแรกที่ตรวจคำผิดเสร็จแล้วแก่โธมัส โธมัสเขียนในเวลาต่อมาว่า “หลังจากถึงบ้าน … ผมเอาพระคัมภีร์มอรมอนสิบหกหน้านั้นให้ภรรยาดู … ซึ่งเธอพอใจมาก โดยเชื่อว่านั่นเป็นงานของพระผู้เป็นเจ้า” ราวหนึ่งปีต่อมา หลังจากทราบเรื่องการจัดตั้งศาสนจักร โธมัสกับครอบครัวจึงย้ายไปพอลไมรา ขณะอยู่ในเขตนั้น เขารับบัพติศมาใกล้เฟเยทท์และรับการแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์โดยออลิเวอร์ คาวเดอรีในเดือนกันยายน ค.ศ. 1830 (ดู โธมัส บี. มาร์ช, “History of Thomas Baldwin Marsh,” Millennial Star, June 11, 1864, 375)

  • ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับการค้นหาความจริงของโธมัส บี.มาร์ช

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 31:1–2 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนมองหาวลีที่พระเจ้าทรงใช้ให้กำลังใจโธมัสหลังจากเขารับบัพติศมา

  • พระเจ้าประทานกำลังใจอะไรแก่โธมัสในข้อเหล่านี้

  • พระเจ้าประทานสัญญาอะไรแก่โธมัสเกี่ยวกับครอบครัวของเขา

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 31:1–2 ที่จะช่วยเราได้ถ้าเรามีสมาชิกครอบครัวที่ไม่เป็นสมาชิกของศาสนจักรหรือไม่ดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์ตามพันธสัญญาของพวกเขา (ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: โดยผ่านความซื่อสัตย์ของเรา สมาชิกครอบครัวเราจะได้รับพรให้เชื่อและรู้ความจริง เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

  • มีวิธีใดบ้างที่แต่ละบุคคลได้รับพรผ่านความซื่อสัตย์ของสมาชิกครอบครัว ท่านเคยเห็นตัวอย่างอะไรบ้างของเรื่องนี้

ขอให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 31:3–4 เพื่อเก็บข้อมูลและระบุว่าพระเจ้าทรงเรียกโธมัส บี. มาร์ชให้ทำอะไร เชื้อเชิญให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ จากนั้นขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์เกี่ยวกับพรที่มาถึงคนเหล่านั้นผู้รับใช้เป็นผู้สอนศาสนาอย่างซื่อสัตย์ (ท่านอาจต้องการจัดเตรียมสำเนาคำกล่าวนี้ให้นักเรียนเก็บไว้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา) เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนฟังว่าใครได้รับพรผ่านการรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา

ภาพ
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“ท่านจะเป็นพรแก่ชีวิตคนที่ท่านสอน และลูกหลานต่อจากพวกเขา ท่านจะเป็นพรแก่ชีวิตท่านเอง ท่านจะเป็นพรแก่ชีวิตครอบครัวท่าน ผู้จะสนับสนุนท่านและสวดอ้อนวอนให้ท่าน” (“Of Missions, Temples, and Stewardship,” Ensign, Nov. 1995, 52)

  • ใครได้รับพรผ่านการรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา

แบ่งชั้นเรียนออกเป็นสามกลุ่ม เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 31:5–8 ขอให้กลุ่มหนึ่งมองหาพรที่จะมาถึงคนที่โธมัส บี. มาร์ชจะสอน ขอให้กลุ่มสองมองหาพรที่จะมาถึงโธมัสเมื่อเขารับใช้เป็นผู้สอนศาสนา ขอให้กลุ่มสามมองหาพรที่จะมาถึงครอบครัวของโธมัสขณะที่เขาอยู่ห่างครอบครัว หลังจากนักเรียนอ่านแล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • พรใดจะมาถึงคนที่โธมัสจะสอน

  • โธมัสจะได้รับพรอย่างไรสำหรับการรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา

  • ครอบครัวเขาจะได้รับพรอย่างไร

  • การรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาของบุุคคลหนึ่งเป็นพรแก่ชีวิตท่านหรือชีวิตคนที่ท่านรู้จักอย่างไร

ท่านอาจต้องการยกตัวอย่างที่ท่านเคยเห็นว่าการรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเป็นพรแก่ชีวิตผู้คนอย่างไร

หลักคำสอนและพันธสัญญา 31:9–13

พระเยซูคริสต์ประทานคำแนะนำส่วนตัวแก่โธมัส บี. มาร์ช

อธิบายว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 31:9–13 เป็นคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่โธมัส บี. มาร์ชเพื่อช่วยเขาในชีวิตส่วนตัวและในฐานะผู้สอนศาสนา ก่อนชั้นเรียน ให้เขียน คำแนะนำต่อไปนี้ ไว้บนกระดานหรือเตรียมเป็นเอกสารแจกนักเรียน

ศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 31:9–12และระบุคำแนะนำหนึ่งข้อที่ท่านรู้สึกว่าสำคัญที่เราต้องทำตามในปัจจุบัน เตรียมตอบคำถามต่อไปนี้

  1. ท่านเลือกคำแนะนำข้อใด ท่านคิดว่าเหตุใดคำแนะนำนี้จึงสำคัญต่อเราในปัจจุบัน

  2. วิธีหนึ่งที่เราสามารถประยุกต์ใช้คำแนะนำนี้ในชีวิตเราคืออะไร

  3. เราจะได้ประโยชน์อย่างไรจากการทำตามคำแนะนำนี้

มอบหมายให้นักเรียนทำงานเป็นคู่ ขอให้พวกเขาศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 31:9–12 เป็นส่วนตัวและแบ่งปันคำตอบของคำถามกับคู่ของพวกเขา

หลังจากนักเรียนแบ่งปันแล้ว ให้พวกเขาอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 31:13 ในใจและระบุพรที่พระเจ้าทรงสัญญากับโธมัส บี มาร์ชหากเขาซื่อสัตย์ เชิญนักเรียนคนหนึ่งมาที่กระดานและเขียนคำสัญญานี้ในรูปของหลักธรรม โดยใช้คำว่า หาก และ เมื่อนั้น กระตุ้นนักเรียนที่เหลือให้ช่วยหากจำเป็น ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกัน แต่หลักธรรมต่อไปนี้ควรชัดเจน: หากเราซื่อสัตย์จนถึงที่สุด เมื่อนั้นพระเจ้าจะทรงอยู่กับเรา ชี้ให้เห็นว่าความจริงนี้ประยุกต์ใช้กับเราได้เมื่อเราพยายามแบ่งปันพระกิตติคุณกับคนอื่นๆ และในสถานการณ์อื่น

  • ท่านรู้สึกเมื่อใดว่าพระเจ้าทรงอยู่กับท่านขณะท่านพยายามซื่อสัตย์ต่อพระองค์ (ให้เวลานักเรียนไตร่ตรองคำถามนี้ก่อนตอบ ท่านอาจแบ่งปันประสบการณ์ของท่านเอง)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 32

พระเจ้าทรงเรียกพาร์ลีย์ พี. แพรทท์และซีบา พีเตอร์สันให้ไปร่วมงานเผยแผ่ในบรรดาชาวเลมัน

ขอให้นักเรียนดูแผนที่ในพระคัมภีร์ชื่อ “การเคลื่อนย้ายไปตะวันตกของศาสนจักร” (ดู แผนที่ประวัติศาสนจักร แผนที่ 6) หรือท่านอาจจะให้ดูแผนที่แผ่นใหญ่แสดงระยะทางระหว่างนิวยอร์กกับมิสซูรี สหรัฐอเมริกา

  • ออลิเวอร์ คาวเดอรีและปีเตอร์ วิตเมอร์ จูเนียร์ได้รับเรียกให้ไปสั่งสอนพระกิตติคุณที่ใด (ถ้านักเรียนจำไม่ได้ ให้พวกเขาดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 28:8–9; 30:5 ผู้สอนศาสนาเหล่านี้ได้รับเรียกให้สั่งสอน “ชาวเลมัน” บริเวณชายแดนตะวันตกของมิสซูรี ช่วยนักเรียนหาบริเวณนี้ในแผนที่)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงบทนำของ หลักคำสอนและพันธสัญญาภาค 32 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุคำถามที่เอ็ลเดอร์บางคนของศาสนจักรถามเกี่ยวกับงานเผยแผ่ที่ออลิเวอร์ คาวเดอรี และปีเตอร์ วิตเมอร์ จูเนียร์ได้รับเรียกให้ทำ

  • เอ็ลเดอร์บางคนของศาสนจักรมีคำถามอะไรเกี่ยวกับงานเผยแผ่ในบรรดาชาวเลมัน (พวกเขาต้องการรู้ว่าจะมีการเรียกผู้สอนศาสนาไปสอนชาวเลมันเพิ่มหรือไม่)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 32:1–3 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าพาร์ลีย์ พี. แพรทท์และซีบา พีเตอร์สันได้รับเรียกให้ทำอะไรและพระเจ้าทรงสัญญาอะไรกับพวกเขา

  • พาร์ลีย์และซีบาได้รับเรียกให้ทำอะไร

  • พระเจ้าทรงสัญญาอะไรกับพวกเขา

ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นความคล้ายคลึงระหว่างคำสัญญาที่ประทานให้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 32:3 และหลักธรรมที่เขียนไว้บนกระดาน: หากเราซื่อสัตย์จนถึงที่สุด เมื่อนั้นพระเจ้าจะทรงอยู่กับเรา

ท่านอาจต้องการอธิบายว่าในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1830 และฤดูหนาว ค.ศ. 1830–1831 ผู้สอนศาสนากลุ่มเล็กกลุ่มนี้ (ต่อมามีผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสคนหนึ่งจากโอไฮโอชื่อเฟรเดอริค จี. วิลเลียมมาสมทบ) เดินทางราว 1,500 ไมล์ (ราว 2,400 กิโลเมตร) จากเฟเยทท์ รัฐนิวยอร์กไปอินดิเพนเดนซ์ รัฐมิสซูรี ส่วนใหญ่จะเดินเท้า ผู้สอนศาสนาสี่คนนี้มาถึงอินดิเพนเดนซ์กลางเดือนมกราคม ค.ศ. 1831 สำหรับการเดินทางส่วนหนึ่ง พวกเขาทนต่อความหนาวจัด ลมแรง และความเหนื่อยล้า โดยส่วนใหญ่จะประทังชีวิตด้วยขนมปังข้าวโพดแช่แข็งและเนื้อหมูดิบ บางแห่งหิมะที่พวกเขาเดินลึกสามฟุต แม้จะยากลำบาก แต่ผู้สอนศาสนาประสบผลสำเร็จในการแนะนำพระกิตติคุณกับชาวอเมริกันอินเดียนผู้อาศัยอยู่ในเขตสงวนอินเดียนใกล้ชายแดนตะวันตกของมิสซูรี พวกเขาสั่งสอนพระกิตติคุณในเมืองเมนทอร์และเคิร์ทแลนด์ รัฐโอไฮโอกับที่ประชุมแห่งหนึ่งของคนที่กำลังมองหาการฟื้นฟูคริสต์ศาสนาพันธสัญญาใหม่ (นักเรียนจะเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับคนเหล่านี้และซิดนีย์ ริกดันผู้นำของพวกเขาเมื่อศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 35) พระเจ้าทรงทำตามสัญญาของพระองค์ว่าจะทรงอยู่กับผู้สอนศาสนาและไม่มีสิ่งใดจะชนะพวกเขาได้ (ดู Church History in the Fulness of Times Student Manual, 2nd ed. [Church Educational System manual, 2003], 84–85.)

ท่านอาจต้องการสรุปบทนี้โดยเป็นพยานถึงความจริงที่ท่านสนทนาไปแล้ว

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 31

การเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 31 เป็นหนึ่งในการเปิดเผยหลายครั้ง (ดู คพ. 30–36) ที่พระเจ้าประทานเกี่ยวกับงานเผยแผ่ศาสนาระหว่างเวลาที่พระองค์ทรงเปิดเผยหลักธรรมแห่งการรวมผู้คนของพระองค์ครั้งแรก (ดู คพ. 29:1–8) กับเมื่อพระองค์ทรงระบุสถานที่รวมพวกเขาครั้งแรก (ดู คพ. 37)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 31:2, 5–8 โดยผ่านความซื่อสัตย์ของเรา สมาชิกในครอบครัวเราจะได้รู้ความจริง

ทุกคนที่เรียนรู้เกี่ยวกับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ต้องเลือกด้วยตัวเองว่าจะยอมรับหรือไม่ อย่างไรก็ดี ตัวอย่างความซื่อสัตย์ของเราจะมีผลดีต่อผู้อื่น วิธีและจังหวะเวลาของพระเจ้าเพื่อทำให้คำสัญญาเกิดสัมฤทธิผลเช่นที่ทรงทำต่อโธมัส บี. มาร์ช ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 31:2, 5–8 อาจไม่บรรลุความหวังและความคาดหวังของเราเสมอไป แต่เรื่องราวต่อไปนี้ที่ประธานโธมัส เอส. มอนสันเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ท่านเคยมีขณะประธานคณะเผยแผ่ในแคนาดาแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าทรงทำให้คำสัญญาของพระองค์ต่อคนซื่อสัตย์เกิดสัมฤทธิผล

ภาพ
ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“วันหนึ่งผู้สอนศาสนาที่เพิ่งมาใหม่นั่งอยู่ในห้องทำงานของข้าพเจ้า เขาเป็นคนฉลาด แข็งแรง เต็มไปด้วยความกระตือรือร้น และปรารถนาจะรับใช้ มีความสุขและปลาบปลื้มที่ได้เป็นผู้สอนศาสนา ขณะที่ข้าพเจ้าพูดกับเขา ข้าพเจ้าบอกว่า ‘เอ็ลเดอร์ ผมคิดว่าคุณพ่อคุณแม่ของคุณคงสนับสนุนคุณสุดหัวใจในการเรียกเป็นผู้สอนศาสนาของคุณ’ เขาก้มหน้าและตอบว่า ’ไม่เลยครับ ประธานครับ คุณพ่อของผมไม่ได้เป็นสมาชิกของศาสนจักร คุณพ่อไม่เชื่ออย่างที่เราเชื่อ ท่านจึงไม่เห็นความสำคัญในงานมอบหมายของผมเท่าใดนัก’ ข้าพเจ้าบอกเขาโดยไม่ลังเลและด้วยการกระตุ้นเตือนจากแหล่งหนึ่งซึ่งไม่ใช่จากตัวข้าพเจ้าว่า ‘เอ็ลเดอร์ ถ้าคุณจะรับใช้พระผู้เป็นเจ้าอย่างซื่อสัตย์และขยันขันแข็งในการประกาศข่าวสารของพระองค์ คุณพ่อของคุณจะเข้าร่วมศาสนจักรก่อนที่คุณจะจบงานเผยแผ่’ เขาจับมือข้าพเจ้าแน่น น้ำตาคลอและเริ่มไหลอาบแก้ม เขาประกาศว่า ‘การได้เห็นคุณพ่อยอมรับความจริงคงจะเป็นพรประเสริฐที่เกิดขึ้นในชีวิตผม’

“ชายหนุ่มคนนี้ไม่ได้นั่งอยู่เฉยๆ โดยหวังและปรารถนาให้คำสัญญานั้นเป็นจริง แต่เขาทำตามตัวอย่างของอับราฮัม ลินคอลน์ ซึ่งมีผู้กล่าวถึงอับราฮัม ลินคอล์น ว่า ‘เมื่อเขาสวดอ้อนวอน เขาสวดอ้อนวอนประหนึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า และจากนั้นเขาทำงานประหนึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับเขา’ การรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาของชายหนุ่มคนนี้เป็นเช่นนั้น

“ทุกครั้งที่มีการประชุมใหญ่กับผู้สอนศาสนา ข้าพเจ้าจะหาตัวเขาให้พบก่อนเริ่มการประชุมและถามว่า ‘เอ็ลเดอร์ คุณพ่อก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว’

“คำตอบของเขาเหมือนเดิมทุกครั้งคือ ‘ไม่ก้าวหน้าเลยครับประธาน แต่ผมรู้ว่าพระเจ้าจะทรงทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับผมผ่านท่านในฐานะประธานคณะเผยแผ่ของผม’ จากวันกลายเป็นสัปดาห์ จากสัปดาห์กลายเป็นเดือน และในที่สุด สองสัปดาห์ก่อนที่เราออกจากสนามเผยแผ่เพื่อกลับบ้าน ข้าพเจ้าได้รับจดหมายจากคุณพ่อของผู้สอนศาสนาคนนี้ ข้าพเจ้าประสงค์จะแบ่งปันกับท่านวันนี้

“‘เรียนบราเดอร์มอนสัน

“‘ผมประสงค์จะขอบคุณท่านมากที่ท่านดูแลลูกชายผมซึ่งเพิ่งจบจากงานเผยแผ่ในแคนาดาเป็นอย่างดี

“‘เขาเป็นแรงบันดาลใจให้เรา

“‘ลูกชายผมได้รับสัญญาว่าขณะไปเป็นผู้สอนศาสนาผมจะกลายเป็นสมาชิกของศาสนจักรก่อนเขากลับ ผมเชื่อว่าท่านสัญญาเช่นนี้กับเขา แต่ผมไม่ทราบ

“‘ผมมีความสุขที่จะรายงานว่าผมรับบัพติศมาเข้าสู่ศาสนจักรก่อนเขาจบงานเผยแผ่หนึ่งสัปดาห์ …

“‘… น้องชายของเขาเพิ่งรับบัพติศมาและการยืนยันเป็นสมาชิกของศาสนจักร

“‘ผมขอขอบคุณท่านอีกครั้งสำหรับความกรุณาและความรักทั้งหมดที่พี่น้องของท่านในสนามเผยแผ่มอบให้ลูกชายผมในช่วงสองปีที่ผ่านมา

“‘ด้วยความนับถือ

“‘คุณพ่อที่สำนึกในพระคุณ’

“คำสวดอ้อนวอนด้วยความนอบน้อมของผู้มีศรัทธาได้รับคำตอบอีกครั้ง” (ใน Conference Report, Apr. 1964, 131–132)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 31:10 โธมัส บี. มาร์ชเป็น “แพทย์ให้ศาสนจักร” อย่างไร

โธมัส บี. มาร์ชได้ทักษะบางอย่างในการใช้สมุนไพรฤทธิ์อ่อนมาทำเป็นยาและสามารถใช้ความรู้นี้ช่วยคนอื่นๆ แต่การเรียกที่ใหญ่หลวงกว่าของเขาคือการเยียวยาจิตวิญญาณ มีตัวอย่างมากมายบันทึกไว้ว่า โธมัส บี. มาร์ชสละเวลาช่วยสมาชิกของศาสนจักรแก้ไขปัญหาของพวกเขา

หลักคำสอนและพันธสัญญา 32 งานเผยแผ่ในบรรดาชาวเลมันประสบผลสำเร็จหรือไม่

ถึงแม้งานเผยแผ่ครั้งแรกในบรรดาชาวเลมันจะประสบผลสำเร็จไม่มากนักในการสอนชาวอเมริกันอินเดียน แต่มีผลอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์ยุคแรกของศาสนจักร ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธอธิบายดังนี้

ภาพ
ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

“การเดินทางราวหนึ่งหมื่นห้าพันไมล์ ส่วนใหญ่จะผ่านแดนทุรกันดาร และในสภาพอากาศที่เลวร้ายใช้เวลาราวสี่เดือน อย่างไรก็ดี นั่นเป็นการเดินทางที่ได้ประโยชน์มากเมื่อหลายคนน้อมรับพระกิตติคุณตามรายทางและเกิดสาขามากมายในเคิร์ทแลนด์และภูมิภาคอื่นๆ มีคนเด็ดเดี่ยวจำนวนมากเข้ามาในศาสนจักร นี่เป็นการเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาครั้งแรกทางตะวันตกของรัฐนิวยอร์ก และผลที่เกิดขึ้นพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อศาสนจักรนับไม่ถ้วน” (Church History and Modern Revelation, 2 vols. [1953], 1:150)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 32:1–3 พาร์ลีย์ พี. แพรทท์และซีบา พีเตอร์สัน

การเปิดเผยใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 32 กล่าวกับพาร์ลีย์ พี. แพรทท์และซีบา พีเตอร์สัน ท่านอาจจะอ่านออกเสียงข้อมูลประวัติศาสตร์ต่อไปนี้เพื่อช่วยให้ชั้นเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับชายสองคนนี้มากขึ้น

ในฤดูร้อน ค.ศ. 1830 พาร์ลีย์ พี. แพรทท์กับแธงค์ฟูลภรรยาของเขาเดินทางจากบ้านในแอมเฮิสต์ รัฐโอไฮโอไปเยี่ยมญาติในรัฐนิวยอร์ก พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงกระตุ้นเตือนให้พาร์ลีย์แวะที่หมู่บ้านนวร์ก รัฐนิวยอร์ก ใกล้พอลไมรา เรียนรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนที่นั่น ต่อมาเขาเขียนเกี่ยวกับการตอบสนองต่อหนังสือเล่มนี้ว่า

ภาพ
พาร์ลีย์ พี. แพรทท์

“ข้าพเจ้าอ่านทั้งวัน การกินเป็นภาระ ข้าพเจ้าไม่อยากอาหาร การนอนเป็นภาระเมื่อถึงเวลากลางคืน เพราะข้าพเจ้าชอบอ่านมากกว่านอน

“ขณะอ่าน พระวิญญาณของพระเจ้าสถิตกับข้าพเจ้า และข้าพเจ้ารู้และเข้าใจว่าหนังสือเล่มนี้เป็นความจริง” (Autobiography of Parley P. Pratt, ed. Parley P. Pratt Jr. 1938, 20)

พาร์ลีย์เดินทางไปพอลไมรา ที่นั่นเขาพบและได้รับการสอนจากไฮรัม สมิธ ในไม่ช้าไฮรัมกับพาร์ลีย์จึงเดินทางไปเฟเยทท์ รัฐนิวยอร์ก เพื่อประชุมกับสมาชิกสาขาที่กำลังเติบโตของศาสนจักร พาร์ลีย์รับบัพติศมาและรับการแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์โดยออลิเวอร์ คาวเดอรีในเดือนกันยายน ค.ศ. 1830

เรารู้เพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของซีบา พีเตอร์สัน เรารู้ว่าเขารับบัพติศมาโดยออลิเวอร์ คาวเดอรีในเดือนเมษายน ค.ศ. 1830 และรับการแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 32:3 “ไม่มีอะไรจะเอาชนะพวกเขาได้”

เรื่องราวต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่พระเจ้าประทานพรพาร์ลีย์ พี. แพรทท์เมื่อเขาทำงานเผยแผ่ให้เกิดสัมฤทธิผล

ห้าสิบไมล์ทางตะวันตกของเคิร์ทแลนด์ พาร์ลีย์ถูกจับด้วย “ข้อหาที่ไร้สาระ” ถูกสอบสวน และ “ถูกสั่งขังในเรือนจำ” หรือไม่ก็จ่ายค่าปรับ (Autobiography of Parley P. Pratt, ed. Parley P. Pratt [1938], 36) เพราะเขาไม่สามารถจ่ายได้ คืนนั้นพาร์ลีย์จึงถูกใส่กุญแจไว้ในโรงแรมเล็กๆ แห่งหนึ่ง เช้าวันรุ่งขึ้น เพื่อนร่วมงานมาเยี่ยมเขาช่วงสั้นๆ และเขาขอให้คนเหล่านั้นเดินทางล่วงหน้าไปก่อนโดยสัญญาว่าจะตามไปโดยเร็ว พาร์ลีย์เล่าว่า “หลังจากนั่งข้างกองไฟครู่หนึ่งในความดูแลของเจ้าหน้าที่ ข้าพเจ้าขอออกไปข้างนอก ข้าพเจ้าเดินไปที่ลานสาธารณะโดยมีเขาตามไปด้วย ข้าพเจ้าพูดว่า ‘คุณพีบอดี คุณวิ่งเก่งไหม’ ‘ไม่ครับ’ เขาตอบ ‘แต่หมาบูลด็อกตัวใหญ่ของผมวิ่งเก่งนะ และมันถูกฝึกมาให้ช่วยผมในงานนี้หลายปีแล้ว มันจะจัดการทุกคนตามคำสั่งของผม’ ‘เอาละ คุณพีบอดี คุณบังคับผมให้ไปหนึ่งไมล์ ผมไปกับคุณแล้วสองไมล์ คุณให้โอกาสผมสั่งสอน ร้องเพลง จัดหาที่พักและอาหารเช้าให้ผมด้วย ตอนนี้ผมต้องเดินทางต่อ ถ้าคุณวิ่งเก่งคุณก็ไปกับผมได้ ผมขอบคุณสำหรับความมีน้ำใจของคุณ—ลาก่อนครับ’

“จากนั้นข้าพเจ้าก็เริ่มวิ่ง ส่วนเขายืนตะลึงและก้าวขาไม่ออก … เขาแปลกใจไม่หายจึงไม่ได้วิ่งตามข้าพเจ้าจนกระทั่งข้าพเจ้าวิ่งไปแล้วสองร้อยหลา … ตอนนี้เขาร้องเรียกไล่ตามหลังข้าพเจ้า และตะโกนสั่งสุนัขของเขาให้จับข้าพเจ้า สุนัขตัวนั้นตัวโตที่สุดเท่าที่ข้าพเจ้าเคยเห็น มันไล่กวดข้าพเจ้าด้วยความโกรธจัด เจ้าหน้าที่คนนั้นยังคงไล่ตาม ปรบมือและร้องบอกว่า ‘สตูบอย สตูบอย—จับเขามา—ระวัง—จับเขาให้ได้’ พลางชี้นิ้วมาทางที่ข้าพเจ้าวิ่ง สุนัขวิ่งเร็วจนตามข้าพเจ้าทัน และมันกำลังจะกระโจนใส่ข้าพเจ้าเมื่อความคิดแวบหนึ่งเข้ามาราวฟ้าแลบให้ข้าพเจ้าช่วยเจ้าหน้าที่คนนั้นส่งสุนัขที่กำลังโกรธจัดเข้าป่าเลยหน้าข้าพเจ้าไปหน่อย ข้าพเจ้าชี้นิ้วไปทางนั้น ปรบมือ และตะโกนเลียนแบบเจ้าหน้าที่ สุนัขวิ่งผ่านข้าพเจ้าเข้าไปในป่าด้วยความเร็วอีกเท่าตัว ขณะเจ้าหน้าที่และตัวข้าพเจ้าเร่งมัน และเราทั้งคู่วิ่งไปทางเดียวกัน”

เอ็ลเดอร์แพรทท์หลอกสุนัขกับเจ้าหน้าที่สำเร็จโดยเปลี่ยนเส้นทางวิ่งจนมาสมทบกับเพื่อนร่วมงาน พาร์ลีย์ทราบในเวลาต่อมาว่าสิเมโอน คาร์เตอร์คนที่เขาฝากพระคัมภีร์มอรมอนไว้ กับอีกหกสิบคนในเขตนั้นเข้าร่วมศาสนจักร (ดู Autobiography of Parley P. Pratt, 38–39)