เซมินารี
บทที่ 106: หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:43–101


บทที่ 106

หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:43–101

คำนำ

วันที่ 16 และ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1833 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยเกี่ยวกับวิสุทธิชนในมิสซูรีผู้ออกจากบ้านเพื่อหนีการข่มเหง วิสุทธิชนส่วนใหญ่เหล่านี้จำต้องทิ้งทรัพย์สมบัติทั้งหมดไว้เบื้องหลัง คู่มือเล่มนี้จะพูดถึงการเปิดเผยที่ท่านศาสดาพยากรณ์ได้รับซึ่งบันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 101ในสามบท บทที่สามนี้มีอุปมาของพระเจ้าเรื่องเจ้านายกับต้นมะกอกเพื่อสอนพระประสงค์ของพระองค์เกี่ยวกับการไถ่ไซอัน อีกทั้งมีคำแนะนำของพระเจ้าให้วิสุทธิชนยังคงรวมกันต่อไป (เกี่ยวกับอุปมาเรื่องข้าวสาลีกับข้าวละมาน) และขอให้มีการชดใช้ความผิดที่ทำกับพวกเขา (เกี่ยวกับอุปมาเรื่องผู้หญิงกับผู้พิพากษาอธรรม)

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:43–62

พระเจ้าประทานอุปมาเรื่องเจ้านายกับต้นมะกอก

เขียนบนกระดานว่า อุปมาเรื่อง …

อธิบายว่าอุปมาคือ “เรื่องราวเรียบง่ายที่ใช้อธิบายและสอน ความจริงหรือหลักธรรมทางวิญญาณ อุปมาใช้หลักของการเปรียบสิ่งที่เป็นรูปธรรมหรือเหตุการณ์ธรรมดาทั่วไปกับความจริง ” (คู่มือพระคัมภีร์, “คำอุปมา,” scriptures.lds.org)

ขอให้นักเรียนบอกชื่ออุปมาบางเรื่องที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัย ตัวอย่างเช่น นักเรียนอาจจะเอ่ยถึงอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียใจดีหรืออุปมาเรื่องหญิงพรหมจารีสิบคน

อธิบายว่าในบทเรียนวันนี้นักเรียนจะสนทนาอุปมาที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานผ่านโจเซฟ สมิธ เติมวลีบนกระดานให้อ่านได้ว่า อุปมาเรื่องเจ้านายกับต้นมะกอก

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:43 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาข่าวสารที่พระเจ้าตรัสว่าทรงต้องการสื่อสารด้วยอุปมาเรื่องนี้ (พระองค์ทรงต้องการให้ผู้คนเข้าใจ “พระประสงค์เกี่ยวกับการไถ่ไซอัน”) เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:44–45 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยใส่ใจรายละเอียดของอุปมา เพื่อให้นักเรียนเข้าใจเรื่องนี้ ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • เจ้านายแนะนำให้คนใช้ของเขาทำอะไร

  • เหตุใดเจ้านายจึงต้องการยามในสวนองุ่นของเขา เหตุใดเขาจึงต้องการยามบนหอสูง

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:46 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาว่าคนใช้ทำตามคำแนะนำของเจ้านายดีเพียงใด

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:47–50 ในใจโดยมองหาอีกครั้งว่าคนใช้ทำตามคำแนะนำของเจ้านายดีเพียงใด

  • คนใช้ทำตามคำแนะนำของเจ้านายดีเพียงใด (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าใน ข้อ 50 วลี “ขัดแย้งกัน” หมายความว่าคนใช้โต้เถียงกัน)

  • เหตุใดคนใช้ไม่สร้างหอสูง

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:51 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะคนใช้ไม่สร้างหอสูง เชื้อเชิญให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ

อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:52–54 ให้นักเรียนฟัง ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำที่เจ้านายกล่าวกับคนใช้ของเขา

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 54เหตุใดเจ้านายจึงอารมณ์เสียที่คนใช้ไม่สร้างหอสูง

  • เหตุการณ์ที่บรรยายในอุปมาเรื่องนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับวิสุทธิชนในมิสซูรี

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนานี้ท่านอาจต้องการเตือนความจำนักเรียนว่าในการเปิดเผยที่ประทานไว้ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1831 พระเจ้าทรงกำหนดที่ตั้งสำหรับพระวิหารในอินดิเพนเดนซ์ มิสซูรี (ดู คพ. 57) วันที่ 3 สิงหาคม ค.ศ. 1831 โจเซฟ สมิธอุทิศสถานที่ก่อสร้างพระวิหารในอินดิเพนเดนซ์ แต่วิสุทธิชนไม่ทำอะไรเพื่อสร้างพระวิหาร วันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1833 พระเจ้าทรงบัญชาวิสุทธิชนในมิสซูรีอีกครั้งให้สร้างพระวิหาร (ดู คพ. 97)

  • หอสูงในอุปมาน่าจะเกี่ยวข้องอย่างไรกับพระวิหารที่วิสุทธิชนไม่ได้สร้าง

  • หลักธรรมอะไรบ้างในอุปมาเรื่องนี้ที่เราสามารถประยุกต์ใช้กับชีวิตเราได้ (เพราะอุปมามีได้หลายความหมาย นักเรียนอาจเสนอหลักธรรมอื่น รวมทั้งหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเราเชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้า เราจะมีพลังต้านศัตรูทางวิญญาณและทางร่างกาย ศาสดาพยากรณ์รับใช้เป็นยามบนหอสูง โดยเตือนให้เรารู้อันตรายที่จะเกิดขึ้น เราเตรียมต้านปฏิปักษ์ผ่านงานพระวิหาร)

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:55–62 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาสิ่งที่เจ้านายบัญชาให้คนใช้ของเขาทำ

  • เจ้านายบอกให้คนใช้ของเขาทำอะไร (รวบรวมกองทัพและไถ่สวนองุ่น)

อธิบายว่าคนใช้ที่กล่าวไว้ใน ข้อ 55 หมายถึงโจเซฟ สมิธ (ดู คพ. 103:21) โจเซฟ สมิธทำตามพระบัญชาของพระเจ้าและตั้งกลุ่มเรียกว่าค่ายไซอันเพื่อไถ่แผ่นดินแห่งไซอัน เราจะสนทนาเรื่องค่ายไซอันในบทที่ 108 และ 110

หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:63–75

พระเจ้าทรงตักเตือนวิสุทธิชนให้ทำงานแห่งการรวมต่อไป

อธิบายว่าถึงแม้วิสุทธิชนในเทศมณฑลแจ็คสัน มิสซูรีเคยถูกขับไล่ออกจากบ้าน แต่พระเจ้าทรงบัญชาให้พวกเขาสร้างอาณาจักรของพระองค์ต่อไป เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:63–64 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่พระเจ้าตรัสว่าพระองค์จะทรงทำต่อไป ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

ขอให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:65–66 ในใจโดยมองหาอุปมาที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสถึง

  • ข้าวสาลีและข้าวละมานในอุปมานี้หมายถึงอะไร (ข้าวสาลีหมายถึงสมาชิกที่ซื่อสัตย์ของศาสนจักร และข้าวละมานหมายถึงคนชั่วร้ายของโลก ท่านอาจต้องการอธิบายว่าข้าวละมานคือวัชพืชที่ดูเหมือนข้าวสาลีเมื่อเป็นต้นอ่อน)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจอุปมาเรื่องนี้ ให้อธิบายว่าในสมัยโบราณ ยุ้งมีไว้เก็บข้าวสาลีให้ปลอดภัย เมื่อกล่าวถึงอุปมาเรื่องนี้และคำสอนอื่นๆ ในพระคัมภีร์เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า “ยุ้งคือพระวิหารศักดิ์สิทธิ์” (“มีชื่อและฐานะอย่างมีเกียรติ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 119) เขียนบนกระดานดังนี้: ยุ้ง = พระวิหารศักดิ์สิทธิ์

  • จากอุปมาเรื่องนี้ เราจะได้รับพรอะไรบ้างจากการไปรวมกันที่พระวิหารและรับใช้ที่นั่น (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเราไปรวมกันที่พระวิหาร เราได้รับความคุ้มครองและเตรียมตัวเราให้พร้อมรับชีวิตนิรันดร์)

  • ท่านคิดว่าศาสนพิธีและพันธสัญญาพระวิหารสามารถคุ้มครองเราและเตรียมเราให้พร้อมรับชีวิตนิรันดร์อย่างไร

เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันว่าพระวิหารเป็นแหล่งความคุ้มครองและการเตรียมพร้อมสำหรับพวกเขาและครอบครัวอย่างไร ท่านอาจต้องการเสริมประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับหลักธรรมนี้

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:67–75 โดยอธิบายว่าถึงแม้วิสุทธิชนถูกบังคับให้ออกจากเทศมณฑลแจ็คสัน มิสซูรี แต่พระเจ้าทรงแนะนำให้พวกเขาจัดซื้อที่ดินที่นั่นและในเทศมณฑลใกล้เคียงต่อไป

หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:76–101

พระเจ้าทรงแนะนำให้วิสุทธิชนหาทางกลับบ้านของพวกเขาในมิสซูรีต่อไป

อธิบายว่านอกจากจะทรงแนะนำให้วิสุทธิชนซื้อที่ดินแล้ว พระเจ้ารับสั่งให้พวกเขา “ร้องขอต่อไปให้มีการชดใช้” เพราะการกระทำของคนที่ข่มเหงพวกเขา (ดู คพ. 101:76) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พระองค์รับสั่งให้พวกเขาขอความยุติธรรมผ่านระบบกฎหมายของรัฐบาล

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:76–80 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและบอกชื่อระบบกฎหมายที่ยอมให้วิสุทธิชนขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าฝ่ายปกครอง

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ พระเจ้าทรงชี้นำการสถาปนารัฐธรรมนูญสหรัฐเมื่อหลายปีก่อน เหตุใดพระองค์ทรงต้องการธำรงรักษารัฐธรรมนูญนี้

  • พระเจ้าตรัสว่าจุดประสงค์ประการหนึ่งของ “สิทธิ์เสรีทางศีลธรรม” คือให้เรา “รับผิดชอบบาปของ [เรา] เอง” (คพ. 101:78) เหตุใดภาระรับผิดชอบ—ความรับผิดชอบต่อการกระทำของเรา—จึงเป็นส่วนสำคัญของสิทธิ์เสรี ท่านจะตอบอย่างไรเมื่อมีคนพูดว่า “ฉันมีอิสระจะทำอะไรก็ได้ที่ฉันอยากทำ”

  • พระเจ้าตรัสว่าไม่ควรมีใครอยู่ในความเป็นทาสกัน ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ผู้คนจะไม่อยู่ในความเป็นทาส

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนานี้ ให้เขียนบนกระดานดังนี้: พระผู้เป็นเจ้าประทานสิทธิ์เสรีทางศีลธรรม พลังความสามารถในเลือกแก่เรา แต่เรา …

เชื้อเชิญให้นักเรียนเติมข้อความนี้ให้ครบถ้วนโดยอ้างอิงกับ หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:78 (ขณะที่นักเรียนระบุหลักธรรมต่อไปนี้ ให้เติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วน: พระผู้เป็นเจ้าประทานสิทธิ์เสรีทางศีลธรรม พลังความสามารถในเลือกแก่เรา แต่เราต้องรับผิดชอบการเลือกของเรา)

อธิบายว่าพระเจ้าทรงใช้อุปมากระตุ้นให้วิสุทธิชนขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าฝ่ายปกครอง เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านอุปมาใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:81–84 (ดู ลูกา 18:1–8ด้วย) ขอให้ชั้นเรียนดูตามและพิจารณาว่าอุปมาประยุกต์ใช้กับวิสุทธิชนในมิสซูรีอย่างไร จากนั้นขอให้นักเรียนอีกคนหนึ่งอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:85–88 ขอให้ชั้นเรียนมองหาวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงประยุกต์ใช้อุปมากับวิสุทธิชนเหล่านั้น

  • ระหว่างประวัติศาสนจักรช่วงนี้ หญิงม่ายอาจจะหมายถึงใคร (สมาชิกศาสนจักร) ผู้พิพากษาจะหมายถึงใครได้บ้าง (ผู้พิพากษาอาจจะหมายถึงผู้พิพากษาและหัวหน้าฝ่ายปกครองที่วิสุทธิชนจะขอความช่วยเหลือ อาจจะหมายถึงพระบิดาบนสวรรค์ผู้ที่วิสุทธิชนจะสวดอ้อนวอนพระองค์ต่อไปเช่นกัน)

  • จากอุปมาเรื่องนี้ พระเจ้าทรงแนะนำให้วิสุทธิชนทำสิ่งจำเพาะอะไรบ้าง

อธิบายว่าวิสุทธิชนอุทธรณ์ต่อผู้พิพากษาในศาลท้องถิ่นแต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือที่หวังไว้ พวกเขาขอให้ดาเนียล ดังคลินผู้ว่าการรัฐมิสซูรี และแอนดรูว์ แจ็คสันประธานาธิบดีสหรัฐช่วยให้พวกเขาได้กลับบ้านและที่ดินของพวกเขา อีกทั้งให้ความคุ้มครองพวกเขาด้วย ผู้นำทั้งสองไม่ยอมช่วยเหลือ วิสุทธิชนร้องเรียนสภานิติบัญญัติรัฐมิสซูรีด้วย แต่พวกเขาไม่ยอมช่วยเช่นกัน

ให้ดูหลักธรรมที่ท่านเขียนไว้บนกระดาน เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:89–91 ขอให้ชั้นเรียนมองหาว่าหัวหน้าฝ่ายปกครองจะต้องรับผิดชอบอย่างไรหากพวกเขาไม่ยอมช่วยวิสุทธิชน ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:92–95 ในใจโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้ารับสั่งให้วิสุทธิชนทำให้หัวหน้าฝ่ายปกครองของพวกเขา

  • ข้อ 92 สอนอะไรเราเกี่ยวกับพระเจ้า (พระองค์ไม่ทรงต้องการลงโทษผู้คน พระองค์ทรงต้องการให้ทุกคนกลับใจเพื่อพระองค์จะทรงเมตตาพวกเขาได้)

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:96–101 โดยอธิบายว่าพระเจ้าทรงแนะนำวิสุทธิชนให้เก็บทรัพย์สินของพวกเขาในเทศมณฑลแจ็คสันไว้ ถึงแม้พวกเขาไม่ได้อยู่ที่นั่นก็ตาม พระองค์ทรงสัญญาว่าหากพวกเขาจะดำเนินชีวิตอย่างมีค่าควร สักวันพวกเขาจะได้อยู่ที่นั่น

เพื่อสรุป ให้แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับหลักธรรมที่นักเรียนสนทนา

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:44–64 อุปมาเรื่องเจ้านายกับต้นมะกอก

ย่อหน้าต่อไปนี้อธิบายวิธีแปลความหมายอุปมาเรื่องเจ้านายกับต้นมะกอกอีกด้านหนึ่ง

“ดูเหมือนจะแปลความหมายอุปมาในทำนองนี้: เจ้านายคือพระเจ้า ที่ดินอันเลิศเลอในสวนองุ่นของพระองค์คือไซอันในมิสซูรี สถานที่ซึ่งวิสุทธิชนอยู่ในไซอันคือต้นมะกอก คนใช้คือผู้ตั้งถิ่นฐานวิสุทธิชนยุคสุดท้าย และยามคือเจ้าหน้าที่ในศาสนจักร แม้แต่การสร้างในไซอัน พวกเขาก็ยังมีความเห็นขัดแย้งกันและไม่สร้างหอสูงหรือพระวิหารซึ่งได้อุทิศสถานที่ก่อสร้างไว้แล้วเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ค.ศ. 1831 หากพวกเขาสร้างพระวิหารตามพระบัญชา นั่นจะเป็นที่หลบภัยทางวิญญาณสำหรับพวกเขา เพราะจากที่นั่นยามของพระเจ้าจะมองเห็นการเคลื่อนไหวของศัตรูแต่ไกลโดยการเปิดเผย ความรู้ล่วงหน้านี้จะช่วยให้พวกเขารอดและไม่ลำบากเมื่อศัตรูโจมตี

“แต่วิสุทธิชนในมิสซูรีเกียจคร้าน เหลวไหล และไม่ตื่นตัว ศัตรูมา และการข่มเหงมิสซูรีจึงเกิดขึ้น ผู้คนของพระเจ้ากระจัดกระจายและงานส่วนใหญ่ของพวกเขาสูญเปล่า พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพทรงตำหนิผู้คน ตามที่เราเห็นแล้ว แต่พระองค์ทรงบัญชาให้คนใช้คนหนึ่งของพระองค์ (ข้อ 55) คือโจเซฟ สมิธ (103:21)รวบรวม ‘กำลังของบ้านเรา’ และนำที่ดินและทรัพย์สมบัติของพระองค์คืนมาจากคนที่รวมกันต่อต้านพวกเขา

“ด้วยเหตุนี้ ท่านศาสดาพยากรณ์และเหล่าพี่น้องชายในค่ายไซอันที่โด่งดังจึงไปมิสซูรีในปี 1834 เพื่อพยายามทำตามคำแนะนำในอุปมา ก่อนไป พวกท่านได้รับการเปิดเผยเพิ่มเติม (ดู 103:21–28) เกี่ยวกับการไถ่ไซอัน พี่น้องชายได้รับคำแนะนำให้พยายามซื้อที่ดินในมิสซูรี ไม่ใช้การบีบบังคับ และหากศัตรูมารุกรานพวกเขา พวกเขาจะสาปแช่งคนเหล่านั้น ไซอันไม่ได้รับการไถ่ในเวลานั้น แต่เราอาจคาดหวังได้ในอนาคตอันใกล้ … ไซอันจะได้รับการไถ่เมื่อพระเจ้าทรงประสงค์” (ซิดนีย์ บี. สเพอร์รีย์, Doctrine and Covenants Compendium [1960], 521–22; อ้างใน คำสอนและพันธสัญญา คู่มือนักเรียน [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2001], 332)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:78 สิทธิ์เสรีทางศีลธรรมและภาระรับผิดชอบ

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าเหตุใดจึงชอบคำว่า สิทธิ์เสรีทางศีลธรรม มากกว่า สิทธิ์เสรีอิสระ

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“หลายปีที่ผ่านมา โดยทั่วไปเราใช้คำว่า สิทธิ์เสรีอิสระ นั่นใช่ว่าไม่ถูกต้อง แต่ในระยะหลังเราสังเกตเห็นว่า สิทธิ์เสรีอิสระ ไม่เป็นการแสดงออกในพระคัมภีร์ พระคัมภีร์พูดถึง ‘อิสระที่จะเลือก’ และ ‘อิสระที่จะกระทำ’ เพื่อตัวเราเองและพูดถึงภาระผูกพันที่เราต้องทำสิ่งสารพันด้วย ‘เจตจำนงอิสระ’ ของเราเอง แต่คำ สิทธิ์เสรี ปรากฏเป็นคำโดดๆ หรือในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา ภาค 101 ข้อ 78 ปรากฏพร้อมคำขยาย ทางศีลธรรม: ‘เพื่อมนุษย์ทุกคนจะกระทำในหลักคำสอนและหลักธรรม … ตาม สิทธิ์เสรีทางศีลธรรม ซึ่งเราให้แก่เขา, เพื่อมนุษย์ทุกคนจะรับผิดชอบบาปของเขาเองในวันแห่งการพิพากษา’ (เน้นตัวเอน) เมื่อเราใช้คำ สิทธิ์เสรีทางศีลธรรม เรากำลังเน้นอย่างถูกต้องถึงภาระรับผิดชอบซึ่งเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ในของประทานอันสูงส่งแห่งสิทธิ์เสรี เราเป็นสัตภาวะที่มีศีลธรรมและเป็นผู้มีสิทธิ์เสรีของตนเอง มีอิสระที่จะเลือกแต่ต้องรับผิดชอบการเลือกของเราเช่นกัน” (“Moral Agency” [Brigham Young University devotional address, Jan. 31, 2006], 1, speeches.byu.edu)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:80 พระผู้เป็นเจ้าทรงสถาปนารัฐธรรมนูญของสหรัฐ

ประธาน เจ. รูเบน คลาร์ก จูเนียร์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า

ภาพ
ประธาน เจ. รูเบน คลาร์ก จูเนียร์

“พี่น้องทั้งหลาย สำหรับข้าพเจ้า พระดำรัสของพระเจ้าที่ว่า ‘เราจึงสถาปนารัฐธรรมนูญของแผ่นดินนี้’ ทำให้รัฐธรรมนูญของสหรัฐอยู่ในฐานะซึ่งจะเป็นเช่นนั้นหากเขียนไว้ในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา นี่ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นพระคำของพระเจ้าต่อเรา พระเจ้าประทานรัฐธรรมนูญไม่ใช่โดยการเอ่ยออกมาเป็นคำพูด แต่โดยการทำให้พระดำริและพระวิญญาณของพระองค์มีผลต่อความนึกคิดของมนุษย์ โดยทรงดลใจพวกเขาให้ทำออกมาเป็นเอกสารสำคัญชิ้นนี้ของการปกครองมนุษย์ และนั่นมิได้เปลี่ยนผู้มีอำนาจกำหนดรัฐธรรมนูญฉบับนี้” (ใน Conference Report, Apr. 1935, 93)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:80. “คนมีปัญญาผู้ที่เรายกขึ้นเพื่อจุดมุ่งหมายนี้เอง”

ประธานบริคัม ยังก์พูดถึงบางคนผู้เป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อสถาปนารัฐธรรมนูญของสหรัฐ

ภาพ
ประธานบริคัม ยังก์

“เราเชื่อว่าพระเจ้าทรงเตรียมการมาตลอดว่าเมื่อใดพระองค์ควรนำงานนี้ออกมา เมื่อใดควรถึงเวลาที่กำหนดไว้ อาจจะมีแห่งหนึ่งบนที่รองพระบาทของพระองค์ที่ควรมีเสรีภาพของมโนธรรมมากพอ ที่วิสุทธิชนของพระองค์จะอยู่ได้อย่างสงบภายใต้ความคุ้มครองของกฎหมายรัฐธรรมนูญและสิทธิเท่าเทียมกัน ในแง่นี้เราถือว่าผู้อยู่ในการปฏิวัติได้รับการดลใจจากพระผู้ทรงฤทธานุภาพให้สลัดโซ่ตรวนของรัฐบาลแม่เกรตบริเตนกับศาสนาที่สถาปนาไว้ เพราะเหตุนี้อดัมส์, เจฟเฟอร์สัน, แฟรงคลิน, วอชิงตัน และอีกหลายคนที่ได้รับการดลใจให้ดำเนินการต่อต้านรัฐบัญญัติของกษัตริย์แห่งเกรตบริเตน … จึงสถาปนาการปกครองใหม่บนหลักธรรมของการให้มีเสรีภาพมากขึ้น บนพื้นฐานของการปกครองตนเองโดยให้อิสระในการนับถือศาสนา

“พระสุรเสียงของพระเจ้านั่นเองที่ทรงดลใจชายผู้มีค่าควรทั้งหมดผู้ทรงอิทธิพลในช่วงยากลำบากเหล่านั้น ไม่เพียงให้ออกไปรบเท่านั้นแต่ให้ใช้ปัญญาในสภา ใช้ความทรหด ความกล้าหาญ และความอดทนในสนามรบด้วย ต่อจากนั้นจึงร่างและลงมติยอมรับมาตรการอันเฉียบแหลมและมีประสิทธิภาพซึ่งทำให้พวกเขาเองและคนรุ่นต่อๆ มาได้รับพรของการปกครองที่เป็นเอกเทศและมีอิสระ” (Discourses of Brigham Young, sel. John A. Widtsoe [1954], 359–60)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:81–95 “พวกเขาจะร้องขอต่อไปให้มีการชดใช้”

ในการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 101 พระเจ้าทรงย้ำอุปมาเรื่องหญิงที่รบเร้าผู้พิพากษาจนเขายอมทำตามที่เธอขอ (ดู ใน ลูกา 18:1–8) พระองค์ทรงเปรียบอุปมากับสถานการณ์ของวิสุทธิชนผู้ถูกขับไล่ออกจากบ้านของพวกเขาในมิสซูรี พวกเขาต้องไปพบหัวหน้าฝ่ายปกครองเพื่อขอความยุติธรรมและความคุ้มครอง โดยเริ่มกับผู้พิพากษาและหากจำเป็นให้ไปพบผู้ว่าการรัฐมิสซูรีและประธานาธิบดีของสหรัฐ หากไม่มีใครใส่ใจคำอุทธรณ์ของวิสุทธิชน พระเจ้าตรัสว่าพระองค์จะกริ้วและลงโทษคนที่ขับไล่วิสุทธิชนเพราะทุกคนจะ “ตกอยู่ในสภาพที่ไม่มีข้ออ้าง” (คพ. 101:93) ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธอธิบายดังนี้

ภาพ
ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

“วิสุทธิชนได้รับคำแนะนำให้ร้องทุกข์ถึงศาลยุติธรรมเช่นกันและขอให้มีการชดใช้ความผิดที่ทำกับพวกเขา นี่เป็นขั้นตอนที่จำเป็นมาก และเมื่อวิสุทธิชนทำเช่นนี้และถูกปฏิเสธสิทธิ์ทางศาสนาและทางแพ่งของพวกเขา เจ้าหน้าที่เหล่านั้นจึงตกอยู่ในสภาพที่ไม่มีข้ออ้าง และการพิพากษาของพระผู้ทรงฤทธานุภาพจึงเกิดกับพวกเขาในเวลาต่อมาในช่วงสงครามกลางเมือง …

“เนื่องจากมีกฎเที่ยงธรรมของการลงโทษตามที่กำหนดไว้และเป็นนิรันดร์เช่นเดียวกับกฎอื่นของพระผู้ทรงฤทธานุภาพ [ดู 2 โครินธ์ 9:6; คพ. 6:33] วันนั้นจึงต้องมาถึงเมื่อจะมีการปรับเปลี่ยนเบื้องพระพักตร์พระผู้พิพากษาที่เที่ยงธรรมผู้จะไม่ทรงตื่นตระหนกเพราะคำขู่ของคนผิด” (Church History and Modern Revelation, 2 vols. [1953], 1:462, 469)