เซมินารี
บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน: หลักคำสอนและพันธสัญญา 17–19 (หน่วย 5)


บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 17–19 (หน่วย 5)

เนื้อหาเตรียมสอนสำหรับครูภาคการศึกษาที่บ้าน

บทสรุปของบทเรียนภาคการศึกษาที่บ้านประจำวัน

บทสรุปต่อไปนี้ของเหตุการณ์ หลักคำสอน และหลักธรรมที่นักเรียนเรียนรู้ขณะศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 17–19 (หน่วย 5) ไม่ได้มีเจตนาให้ใช้สอนในบทเรียนของท่าน บทเรียนที่ท่านสอนเน้นเฉพาะหลักคำสอนและหลักธรรมเหล่านี้เพียงไม่กี่ข้อ จงทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขณะพิจารณาความต้องการของนักเรียน

วันที่ 1 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 17)

โดยผ่านคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่พยานสามคนของพระคัมภีร์มอรมอน นักเรียนเรียนรู้ว่าหากเราใช้ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า เราจะได้รับพยานถึงความจริงที่เราปรารถนาจะรู้ คนที่ได้รับพยานถึงความจริงมีความรับผิดชอบในการเป็นพยานยืนยันความจริงนั้น พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นพยานด้วยพระองค์เองว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็นความจริง

วันที่ 2 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 18)

ในบทเรียนนี้นักเรียนเรียนรู้ว่าค่าของจิตวิญญาณยิ่งใหญ่นักจนพระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์และสิ้นพระชนม์เพื่อให้ทุกคนได้กลับใจและกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์ นักเรียนค้นพบเช่นกันว่าหากเราช่วยให้ผู้อื่นกลับใจและมาหาพระเจ้า เราจะรู้สึกปีติกับพวกเขาในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า เราสามารถได้ยินสุรเสียงของพระเยซูคริสต์ขณะที่เราอ่านพระคัมภีร์โดยอำนาจของพระวิญญาณ

วันที่ 3 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:1–22)

จากคำแนะนำที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานแก่มาร์ติน แฮร์ริส นักเรียนเรียนรู้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงทำให้พระประสงค์ของพระบิดาเกิดสัมฤทธิผลและพระเยซูคริสต์จะทรงพิพากษาเราตามงานของเรา นักเรียนเรียนรู้เช่นกันว่าเราต้องกลับใจจากบาปหาไม่แล้วเราจะทนทุกข์ คนที่เลือกไม่กลับใจจะต้องรับโทษบาปของตน

วันที่ 4 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:23–41)

นักเรียนเรียนรู้เกี่ยวกับสัญญาที่พระเจ้าประทานแก่มาร์ติน แฮร์ริสว่า หากมาร์ตินจะเรียนรู้จากพระคริสต์ ฟังพระคำของพระองค์ และเดินด้วยความสุภาพอ่อนน้อมแห่งพระวิญญาณ เมื่อนั้นเขาจะมีสันติสุข สัญญานี้ประยุกต์ใช้กับเราได้เช่นกัน บทเรียนช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยว่าหากเราทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า พระองค์จะประทานพรที่มีค่ายิ่งกว่าทรัพย์สมบัติของแผ่นดินโลกแก่เรา

คำนำ

บทนี้จะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ว่าเหตุใดการกลับใจจึงจำเป็น และจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจเรื่องการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ยิ่งเราเข้าใจเรื่องการเสียสละและการเชื่อฟังของพระเยซูคริสต์มากเท่าใด เราจะยิ่งสงสัยน้อยลงเกี่ยวกับความสามารถของเราในการช่วยงานของพระผู้เป็นเจ้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 17

พระเจ้าทรงสัญญากับพยานสามคนว่าพวกเขาจะได้รับอนุญาตให้เห็นแผ่นจารึกและสิ่งของศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ

นำของน่าสนใจชิ้นหนึ่งมาที่ชั้นเรียน แต่อย่าให้นักเรียนเห็น เมื่อเริ่มชั้นเรียน ให้บอกนักเรียนว่าท่านนำของชิ้นหนึ่งมาด้วย ถามนักเรียนว่าพวกเขาเชื่อไหมว่าท่านมีของชิ้นนั้นทั้งที่พวกเขาไม่เห็น

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 17:2 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พยานสามคนจำเป็นต้องมีก่อนจึงจะเห็นแผ่นจารึกทองคำ

  • ท่านคิดว่าเหตุใดพยานสามคนจำเป็นต้องมีศรัทธาก่อนจึงจะเห็นแผ่นจารึก

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 17:3–5 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงเรียกร้องให้พยานสามคนทำหลังจากพวกเขาเห็นแผ่นจารึกทองคำและสิ่งของศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ

  • พระเจ้ารับสั่งว่าพยานสามคนจะต้องทำอะไรหลังจากพวกเขาเห็นแผ่นจารึกทองคำและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ

  • พระเจ้าทรงเรียกร้องอะไรจากเราหลังจากเราได้รับพยานถึงความจริง (หลังจากเราได้รับพยานถึงความจริง เรามีความรับผิดชอบในการเป็นพยานยืนยันความจริงนั้น)

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองสิ่งที่พวกเขารู้ว่าจริงและพวกเขาจะเป็นพยานยืนยันสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร

หลักคำสอนและพันธสัญญา 18–19

พระเจ้าตรัสถึงความทุกขเวทนาของพระองค์และทรงสอนความสำคัญของการกลับใจ

ให้นักเรียนดูผลไม้ผลหนึ่งหรือภาพผลไม้ผลหนึ่ง ถามพวกเขาว่าเรารู้ได้อย่างไรว่าผลไม้นั้นสุกกินได้ (ผิวภายนอกหรือลักษณะอื่นที่บ่งบอกว่าผลไม้นั้นสุก)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:6 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าตรัสว่ากำลังสุกงอมในความชั่วช้าสามานย์

  • ท่านคิดว่า “โลกกำลังสุกงอมในความชั่วช้าสามานย์” หมายความว่าอย่างไร

  • ท่านเห็นหลักฐานอะไรยืนยันว่าสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้น

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10 (ส่วนหนึ่งของข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์) ในใจโดยมองหาว่าพระเจ้าทรงรู้สึกอย่างไรต่อทุกคนแม้แต่คนที่กำลังสุกงอมในความชั่วช้าสามานย์ ต่อจากนั้นขอให้นักเรียนอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10 พร้อมกันหลายๆ ครั้งจนกว่าสมาชิกทุกคนในชั้นจะท่องจากความทรงจำได้

  • พระเจ้าทรงรู้สึกอย่างไรต่อบุตรธิดาของพระองค์

  • การรู้เช่นนี้จะส่งผลอย่างไรต่อวิธีที่ท่านปฏิบัติต่อคนรอบข้าง

  • คนๆ หนึ่งจะรู้ได้อย่างไรว่าเขามีค่ายิ่งต่อพระผู้เป็นเจ้า

ชี้ให้เห็นว่าในหลายสถานการณ์ค่าของสิ่งหนึ่งวัดจากเงินมากน้อยที่คนเต็มใจจ่าย ท่านอาจต้องการให้ดูสิ่งของบางอย่างที่มีค่าต่างกันเพื่ออธิบายประเด็นนี้ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:11–12 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาราคาที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงจ่ายเป็นค่าจิตวิญญาณเรา

  • พระองค์ทรงจ่ายค่าจิตวิญญาณเราเท่าไร เหตุใดจึงจ่าย (ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ค่าของทุกคนยิ่งใหญ่มากจนพระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์และสิ้นพระชนม์เพื่อให้เรากลับใจและกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์)

  • การกลับใจเกี่ยวข้องอย่างไรกับการมาหาพระผู้ช่วยให้รอด

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจดีขึ้นว่าการกลับใจช่วยให้เรามาหาพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านข้อความต่อไปนี้จาก แน่วแน่ต่อศรัทธา

“การกลับใจเป็นมากกว่าการยอมรับผิด การกลับใจคือการเปลี่ยนความคิดและจิตใจทำให้ท่านมีวิสัยทัศน์ใหม่เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า เกี่ยวกับตัวท่าน และเกี่ยวกับโลก รวมถึงการหันหลังให้บาปและการหันไปหาพระผู้เป็นเจ้าเพื่อขออภัย ความรักที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าและความปรารถนาอย่างจริงจังที่จะปฏิบัติตามพระบัญญัติจะผลักดันให้เกิดการกลับใจ” (แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004], 3)

กระตุ้นให้นักเรียนคิดพิจารณาบาป พฤติกรรม และเจตคติใดก็ตามที่พวกเขาอาจจำเป็นต้องละทิ้งเพื่อกลับใจและมาหาพระคริสต์

เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:13–16

เชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงข้อเหล่านี้ขณะชั้นเรียนดูตาม ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายทุกรูปแบบของคำว่า กลับใจ ในข้อเหล่านี้ (กลับใจ และ การกลับใจ) หลังจากอ่านแต่ละข้อแล้ว ให้ถามนักเรียนว่าข้อนั้นสอนอะไรเกี่ยวกับการกลับใจ ท่านอาจจะชี้ให้เห็นว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:15–16 เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

เพิ่มความจริงที่นักเรียนระบุเข้าไปบนกระดาน นักเรียนอาจระบุหลักธรรมหลากหลาย แต่พึงชัดเจนว่า: หากเราช่วยให้ผู้อื่นกลับใจและมาหาพระเจ้า เราจะรู้สึกปีติกับพวกเขาในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า

เชื้อเชิญให้นักเรียนคิดว่าจะเป็นอย่างไรเมื่อพวกเขากลับไปที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อรับการพิพากษา ถามพวกเขาว่าพวกเขาวางแผนเตรียมรับเหตุการณ์สำคัญยิ่งนั้นอย่างไร เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:4 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าสิ่งที่เราควรทำเพื่อเตรียมรับวันนั้น

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อนี้ เกิดอะไรขึ้นหากเราเลือกไม่กลับใจ

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:13–19ในใจ ขอให้พวกเขามองหาผลที่เกิดขึ้นกับคนเหล่านั้นผู้เลือกไม่กลับใจ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:16–19พระผู้ช่วยให้รอดประทานเหตุผลอะไรที่พระองค์ทรงทนทุกข์เพราะบาปของเรา (นักเรียนอาจต้องการเพิ่มหลักคำสอนต่อไปนี้เข้าไปบนกระดาน: พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์เพราะบาปของเราเพื่อเราจะได้กลับใจและไม่ต้องทนทุกข์เช่นพระองค์)

ท่านอาจจะให้นักเรียนดูภาพพระผู้ช่วยให้รอดในสวนเกทเสมนี เช่น พระเยซูทรงสวดอ้อนวอนในสวนเกทเสมนี (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพ 56; ดู LDS.orgด้วย) อธิบายว่าเรื่องราวส่วนใหญ่เกี่ยวกับความทุกขเวทนาของพระเยซูคริสต์มีคนให้ไว้ (ดู มัทธิว 26:36–39; ลูกา 22:39–44) แต่ หลักคำสอนและพันธสัญญา 19 เป็นเรื่องราวที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานให้ด้วยพระองค์เองเกี่ยวกับความทุกขเวทนาของพระองค์

เชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวน หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:18–19 ในใจโดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดตรัสถึงความทุกขเวทนาที่พระองค์ทรงประสบระหว่างการชดใช้ว่าอย่างไร

เขียน คำถามสองข้อต่อไปนี้ ไว้บนกระดาน

พระดำรัสส่วนใดของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับความทุกขเวทนาของพระองค์มีความหมายต่อท่าน เพราะเหตุใด

พระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดมีสิ่งใดที่ช่วยเพิ่มความปรารถนาให้ท่านกลับใจและกลับไปหาพระองค์

เชื้อเชิญให้นักเรียนเลือกคำถามหนึ่งข้อและสนทนาคำตอบกับคู่

เชื้อเชิญให้นักเรียนร้องหรือฟังเนื้อร้องของเพลงสวด “ฉันเฝ้าพิศวง” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 89) ขอให้พวกเขาไตร่ตรองเนื้อร้องของเพลงนี้และนึกถึงสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำเพื่อพวกเขา

หากเวลาเอื้ออำนวย ให้เชิญนักเรียนแบ่งปันประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและพรของการกลับใจ กระตุ้นให้พวกเขาทำตามความรู้สึกหรือการกระตุ้นเตือนให้พวกเขากลับใจและมาหาพระผู้ช่วยให้รอด

เพื่อสรุปบทนี้ ให้เชิญนักเรียนท่อง หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:23 จากความทรงจำหรืออ่านจากพระคัมภีร์พร้อมกัน ถามว่าพวกเขาคิดว่าผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ข้อนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับการกลับใจและความหวังเรื่องการให้อภัย

หน่วยถัดไป (หลักคำสอนและพันธสัญญา 20–23)

เราทำอะไรในศาสนจักรทุกวันนี้เหมือนเมื่อครั้งจัดตั้งศาสนจักรวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1830 อะไรเป็นข้อกำหนดสำหรับบัพติศมา ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตได้รับคำแนะนำว่าต้องให้พรศีลระลึกอย่างไร ผู้สอนหรือปุโรหิตมีหน้าที่อะไรบ้าง นักเรียนจะเรียนรู้คำตอบของคำถามเหล่านี้เมื่อพวกเขาศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 20–23