เซมินารี
บทที่ 6: โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:1–20


บทที่ 6

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:1–20

คำนำ

คริสต์ศักราช 1838 โจเซฟ สมิธเริ่มทำประวัติอย่างเป็นทางการของท่าน ในนั้นท่านพูดถึงครอบครัวและสถานที่ซึ่งพวกท่านเคยอยู่ ท่านอธิบายรายละเอียดของความระส่ำระสายผิดธรรมดาที่แพร่ไปทั่วตะวันตกของนิวยอร์กในปี ค.ศ. 1820 เช่นกัน ความร้อนรนทางศาสนาทำให้ท่าน “ว้าวุ่นครุ่นคิดหนักและกังวลใจมาก” ว่าจะเข้าร่วมนิกายใด (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:8) หลังจากค้นคว้าพระคัมภีร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยากอบ 1:5 โจเซฟตัดสินใจทูลถามพระผู้เป็นเจ้าในการสวดอ้อนวอนขอคำตอบสำหรับคำถามนี้ เพื่อตอบคำสวดอ้อนวอนของท่าน พระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์ทรงปรากฏต่อท่าน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โจเซฟ สมิธ–ประวัติ 1:1–4

โจเซฟ สมิธเขียนประวัติของศาสนจักร

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงประสบการณ์ต่อไปนี้ของผู้สอนศาสนาสองคนในแคนาดา ตามที่ประธานโธมัส เอส. มอนสันรายงาน (เรื่องราวที่เหลือจะอยู่ท้ายบท)

ภาพ
ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“[ผู้สอนศาสนา] สองคนแวะที่บ้านของคุณเอลเมอร์ พอลลาร์ด … พวกเขานำเสนอข่าวสารและถามว่าเขาจะร่วมสวดอ้อนวอนด้วยไหม เขาตกลง และเสนอตัวว่าจะสวดอ้อนวอนให้

“คำสวดอ้อนวอนของเขาทำให้ผู้สอนศาสนาแปลกใจ เขาทูลว่า ‘พระบิดาบนสวรรค์ โปรดอวยพรผู้สอนศาสนาที่โชคร้ายและหลงผิดสองคนนี้ด้วยเถิด ขอให้พวกเขากลับบ้านและไม่ต้องเสียเวลาบอกชาวแคนาดาเกี่ยวกับข่าวสารซึ่งเป็นเรื่องเหลือเชื่อและซึ่งพวกเขารู้น้อยมาก’

“ขณะลุกจากคุกเข่า คุณพอลลาร์ดบอกผู้สอนศาสนาว่าอย่ากลับมาอีก ขณะออกจากบ้าน เขาพูดจาเย้ยหยันเอ็ลเดอร์ว่า ‘คุณบอกผมไม่ได้หรอกว่าคุณเชื่อจริงๆ ว่าโจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า’ แล้วเขาก็ปิดประตูดังปัง” (“ศาสดาโจเซฟ สมิธ: ผู้สอนด้วยการเป็นแบบอย่าง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2005, 82)

  • ถ้าท่านเป็นผู้สอนศาสนาหนึ่งในสองคนนั้น ท่านจะพูดอะไรกับคุณพอลลาร์ด

  • บางคนรู้ด้วยตนเองได้อย่างไรว่าโจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:1–2 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาเหตุผลที่โจเซฟ สมิธเขียนประวัติของท่านและประวัติของศาสนจักร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 1 อะไรกำลังแพร่สะพัดในหมู่คนยุคต้นของศาสนจักร (รายงานเท็จจำนวนมากที่มุ่งหมายจะทำให้ผู้คนต่อต้านศาสนจักร)

  • โจเซฟให้เหตุผลอะไรสำหรับการเขียนประวัติของท่าน (เพื่อให้เรื่องราวที่ถูกต้องและเชื่อถือได้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับเหตุการณ์เรื่องนิมิตแรกและการฟื้นฟู)

อธิบายว่าปัจจุบันยังคงมีบุคคลและกลุ่มคนแพร่ข้อมูลเท็จหรือชักนำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับศาสนจักรด้วยเจตนาจะทำลายศรัทธา

  • เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากเหตุผลของโจเซฟ สมิธสำหรับการเขียนประวัติของท่านที่จะช่วยเราหลีกเลี่ยงการถูกข้อมูลเท็จหลอกหรือชักนำให้เข้าใจผิด (ผู้ที่ต้องการความจริงอย่างจริงใจควรเสาะหาแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับศาสนจักรและประวัติศาสนจักรแทนที่จะยอมรับข้อมูลที่ได้ยิน รวมไปถึงข้อมูลที่มาจากการค้นหาทางอินเทอร์เน็ต)

  • เหตุใดจึงสำคัญต่อ “ผู้ค้นหาความจริง” เกี่ยวกับการฟื้นฟูที่ต้องไปหาเรื่องราวของโจเซฟ สมิธ (การอาศัยเรื่องราวของท่านศาสดาพยากรณ์สามารถช่วยให้แต่ละคนไม่ถูกข้อมูลเท็จหลอกหรือชักนำให้เข้าใจผิด)

  • การอ่านคำพูดของโจเซฟ สมิธเองจะช่วยให้คนบางคนรู้ความจริงเกี่ยวกับประสบการณ์ของโจเซฟได้อย่างไร

แบ่งปันคำเตือนต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น

ภาพ
เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น

“มีคนต้องการทำลายชื่อเสียงของศาสนจักรและทำลายศรัทธาเสมอ ทุกวันนี้พวกเขาใช้อินเทอร์เน็ต

“ข้อมูลบางอย่างเหล่านั้นเกี่ยวกับศาสนจักร ไม่ว่าจะน่าเชื่อถือเพียงใดก็ตามเป็นเรื่องไม่จริง” (“การทดลองศรัทธาของท่าน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 41)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนมองหาว่าเราควรประเมินสิ่งที่เราอ่านเกี่ยวกับศาสนจักรและประวัติศาสนจักรอย่างไร (ท่านอาจต้องการแจกสำเนาคำกล่าวนี้ให้นักเรียนทุกคนดูตาม)

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“นักอ่านวิสุทธิชนยุคสุดท้ายควร … ประเมินสิ่งที่พวกเขาอ่านด้วยความช่ำชอง …

“ประจักษ์พยานส่วนตัวของเราแต่ละคนมีพยานของพระวิญญาณเป็นรากฐาน ไม่ใช่การผสมผสานหรือการสั่งสมข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ถ้าเรามีฐานมั่น การเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ย่อมไม่สามารถสั่นคลอนประจักษ์พยานของเราได้ พระบิดาบนสวรรค์ประทานพลังแห่งเหตุผลให้เรา และคาดหวังให้เราใช้พลังเหล่านั้นอย่างเต็มที่ แต่พระองค์ประทานพระผู้ปลอบโยนให้เราด้วย ผู้ที่พระองค์ตรัสว่าจะนำเราเข้าสู่ความจริงและโดยอำนาจนั้นเราจะรู้ความจริงของทุกเรื่อง นั่นคือผู้นำทางสูงสุดสำหรับวิสุทธิชนยุคสุดท้ายผู้มีค่าควรและเต็มใจพึ่งพาพระองค์” (“Reading Church History” [address to CES religious educators, Aug. 16, 1985], 7, LDS.org).

เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันว่าคำแนะนำใดของเอ็ลเดอร์โอ๊คส์สะดุดใจพวกเขาและเหตุใดสิ่งนั้นจึงเป็นประโยชน์

ท่านอาจต้องการอธิบายว่าโจเซฟ สมิธเขียนนิมิตแรกเรื่องนี้ในปี ค.ศ. 1838 อันเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสนจักรอย่างเป็นทางการที่พิมพ์สู่สายตาชาวโลก มีนิมิตแรกที่รู้กันทั่วไปเก้าเรื่อง—สี่เรื่องเขียนหรือเขียนตามคำบอกของโจเซฟ สมิธ และห้าเรื่องเขียนโดยคนที่เล่าประสบการณ์ของท่านซ้ำ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิมิตแรกสี่เรื่องของโจเซฟ สมิธได้จาก Milton V. Backman Jr., “Joseph Smith’s Recitals of the First Vision,” Ensign, Jan. 1985, 8–17.)

ท่านอาจต้องการอธิบายด้วยว่านิมิตแรกหลายเรื่องเตรียมต่างเวลากันและสำหรับผู้ฟังต่างกลุ่ม ในเรื่องเหล่านี้ โจเซฟ สมิธเน้นประสบการณ์ด้านต่างๆ ของท่านเกี่ยวกับนิมิตแรก แต่ทุกเรื่องสอดคล้องกันในความจริงสำคัญที่ว่าโจเซฟ สมิธทำให้ฟ้าสวรรค์เปิดต่อท่านและเห็นผู้ส่งสารจากสวรรค์ รวมทั้งเห็นพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระเจ้าพระเยซูคริสต์ด้วย เพราะเรื่องราวปี 1838 เป็นส่วนหนึ่งของประวัติอย่างเป็นทางการและประจักษ์พยานของโจเซฟ สมิธต่อชาวโลก ศาสนจักรจึงรวมเรื่องนี้ไว้ในพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่า

  • โจเซฟ สมิธเน้นด้านต่างๆ ของนิมิตที่ท่านเห็นในเรื่องราวหลายเรื่องของท่านฉันใด อัครสาวกเปาโลเองก็เน้นด้านต่างๆ ของนิมิตที่่ท่านเห็นพระผู้ช่วยให้รอดต่อผู้ฟังต่างกลุ่มฉันนั้น (ดู กิจการของอัครทูต 9:1–9; กิจการของอัครทูต 22:5–11; กิจการของอัครทูต 26:12–20) ท่านคิดว่าเหตุใดโจเซฟ สมิธและเปาโลจึงเน้นเรื่องต่างกันทุกครั้งที่พวกท่านเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับนิมิตที่พวกท่านเห็น

สรุป โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:3–4 โดยอธิบายว่าโจเซฟเกิดในรัฐเวอร์มอนต์ แต่ย้ายไปเมืองพอลไมรา รัฐนิวยอร์กเมื่ออายุ 10 ขวบ

โจเซฟ สมิธ–ประวัติ 1:5–13

ท่ามกลางความยุ่งเหยิงทางศาสนา โจเซฟ สมิธตัดสินใจทูลถามพระผู้เป็นเจ้าว่านิกายใดถูกต้อง

อธิบายว่าโจเซฟ สมิธมีชีวิตอยู่ในช่วงของความระส่ำระสายครั้งใหญ่เกี่ยวกับศาสนา เชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:5–7 ขอให้ชั้นเรียนมองหาคำหรือวลีที่พูดถึงสถานการณ์ที่โจเซฟ สมิธเผชิญ เชิญนักเรียนคนหนึ่งเขียนคำและวลีที่พวกเขาพบไว้บนกระดาน จากนั้นให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:8, 10 ขอให้นักเรียนมองหาคำอธิบายของโจเซฟ สมิธว่าท่านรู้สึกอย่างไรในช่วงนี้

  • โจเซฟรู้สึกอย่างไรอันเป็นผลจากความระส่ำระสายทางศาสนารอบตัวท่าน

  • โจเซฟกำลังคิดหาคำตอบของคำถามอะไรบ้าง

  • ท่านเคยมีคำถามคล้ายกันนี้หรือไม่ ท่านทำอะไรเพื่อให้ได้คำตอบ

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:11 ในใจและมองหาสิ่งที่โจเซฟ สมิธทำเพื่อหาคำตอบสำหรับคำถามของท่าน

  • โจเซฟหันไปขอให้ใครช่วยตอบคำถามของท่าน

  • หลักธรรมอะไรใน ยากอบ 1:5 ช่วยให้โจเซฟ สมิธมีความเชื่อมั่นว่าท่านจะพบคำตอบสำหรับคำถามที่ท่านมี (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พึงแน่ใจว่าพวกเขาระบุหลักธรรมต่อไปนี้: หากเราทูลถามพระผู้เป็นเจ้าด้วยศรัทธา พระองค์จะทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของเรา ท่านอาจต้องการอธิบายว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของเราในเวลาและวิธีของพระองค์)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:12–13 ขอให้ชั้นเรียนระบุว่าหลักธรรมที่สอนใน ยากอบ 1:5 มีอิทธิพลต่อโจเซฟ สมิธอย่างไร

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:14–20

โจเซฟ สมิธเห็นพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:14–15

  • ท่านคิดว่าเหตุใดซาตานจึงพยายามยับยั้งโจเซฟ สมิธไม่ให้สวดอ้อนวอน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:16–17 ขอให้ชั้นเรียนระบุว่าโจเซฟ สมิธตอบสนองการต่อต้านที่ท่านประสบอย่างไร ขอให้พวกเขาสังเกตวลีจากประจักษ์พยานของโจเซฟที่มีความหมายต่อพวกเขาด้วยหรือพวกเขาอาจจะใช้ในการสอนคนอื่นๆ เกี่ยวกับนิมิตแรก

  • วลีใดในข้อเหล่านี้มีความหมายต่อท่าน เพราะเหตุใด

เขียนความจริงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: โจเซฟ สมิธเห็นพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องมีประจักษ์พยานว่าโจเซฟ สมิธเห็นพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์

  • ท่านรู้ได้อย่างไร ว่าโจเซฟ สมิธเห็นพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์

หลังจากนักเรียนสองสามคนแบ่งปันประจักษ์พยานแล้ว ให้อธิบายว่านิมิตแรกเป็นเหตุการณ์หลักของการฟื้นฟู นิมิตแรกให้คำตอบแก่คำถามสำคัญเกี่ยวกับหลักคำสอนเช่นกัน เชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวน โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:15–17 ในใจโดยมองหาความจริงที่เราเรียนรู้ได้จากเรื่องนี้ ท่านอาจต้องการถามคำถามต่อไปนี้

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจาก โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:15–16 ที่สามารถช่วยเราเอาชนะการล่อลวง (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: หากเราแสวงหาความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้าอย่างตั้งใจจริงขณะที่ซาตานพยายามทำให้เราท้อถอย พระผู้เป็นเจ้าจะทรงปลดปล่อยเรา)

  • ข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับธรรมชาติของพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระเยซูคริสต์ (คำตอบอาจรวมถึง พระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ทรงพระชนม์ พระบิดาบนสวรรค์และพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์เป็นองค์สัตภาวะแยกจากกันชัดเจน)

  • คำแรกที่พระผู้เป็นเจัาตรัสกับโจเซฟ สมิธคืออะไร (โจเซฟ) เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องรู้เรื่องนี้ เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรบ้างจากเรื่องนี้ (คำตอบอาจรวมถึง: พระบิดาบนสวรรค์ทรงรู้จักชื่อของเรา พระผู้เป็นเจ้าทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของเรา)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจและรู้ถึงความสำคัญของหลักคำสอนและหลักธรรมที่พวกเขาค้นพบในบทนี้ ท่านอาจต้องการถามคำถามต่อไปนี้

  • เหตุใดจึงจำเป็นต้องรู้และเข้าใจความจริงเหล่านี้เกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์

  • ความจริงเหล่านี้หนึ่งข้อหรือมากกว่านั้นเป็นพรแก่ชีวิตท่านอย่างไร (เตือนนักเรียนว่าประสบการณ์บางอย่างศักดิ์สิทธิ์และเป็นส่วนตัวเกินกว่าจะแบ่งปัน)

อธิบายว่าโจเซฟ สมิธได้รับคำตอบสำหรับคำถามของท่านในระหว่างนิมิตแรกด้วย เชื้อเชิญให้นักเรียน อ่าน โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:18–20 ในใจ

  • โจเซฟเรียนรู้อะไรในคำตอบการสวดอ้อวอนของท่าน

เตือนนักเรียนให้นึกถึงเรื่องราวของผู้สอนศาสนาที่อ่านเมื่อช่วงต้นบทเรียน เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเรื่องราวที่เหลือ

ภาพ
ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“ทั้งสองคนกลับไปบ้านของคุณพอลลาร์ด คุณพอลลาร์ดตอบรับเสียงเคาะประตูและพูดอย่างฉุนเฉียวว่า ‘ผมคิดว่าผมบอกคุณแล้วนะว่าอย่ากลับมาอีก!’

“คู่รุ่นน้องรวบรวมความกล้าแล้วตอบกลับไปว่า ‘คุณพอลลาร์ดครับ ตอนที่เราออกจากบ้านของคุณ คุณบอกว่าเราไม่เชื่อจริงๆ หรอกว่าโจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า ผมอยากเป็นพยานต่อคุณ คุณพอลลาร์ดว่า ผม รู้ ว่าโจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า โดยการดลใจท่านแปลบันทึกศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่าพระคัมภีร์มอรมอน ท่านเห็นพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระเยซูพระบุตร’ จากนั้นผู้สอนศาสนาก็เดินลงบันได

“[คุณพอลลาร์ดเป็นพยานในเวลาต่อมาว่า] ‘ค่ำวันนั้น ผมนอนไม่หลับ ผมกระสับกระส่าย ผมได้ยินคำพูดวนเวียนอยู่ในหัวว่า “โจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า ผมรู้เรื่องนี้ … ผมรู้เรื่องนี้ … ผมรู้เรื่องนี้” ผมแทบอดใจรอให้ถึงเช้าไม่ไหว ผมโทรศัพท์หาผู้สอนศาสนา … พวกเขากลับมา และคราวนี้ ภรรยาผม ครอบครัวผม และตัวผมฟังบทสนทนาเหมือนคนที่ตั้งใจแสวงหาความจริง ในที่สุด เราทุกคนก็น้อมรับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์’” (“ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ: ผู้สอนด้วยการเป็นแบบอย่าง,” 82)

กระตุ้นให้นักเรียนอ่านโจเซฟ สมิธ—ประวัติด้วยตนเองและทูลขอให้พระบิดาบนสวรรค์ทรงช่วยเสริมสร้างประจักษ์พยานของพวกเขาว่าเรื่องราวนิมิตแรกของโจเซฟ สมิธเป็นความจริง ท่านอาจต้องการกระตุ้นให้พวกเขาหาโอกาสแบ่งปันข่าวสารเรื่องนิมิตแรกกับคนอื่นๆ ด้วย สรุปโดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านถึงความจริงที่สนทนาวันนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ ประวัติอย่างเป็นทางการของโจเซฟ สมิธจัดพิมพ์เมื่อใด

คริสต์ศักราช 1838 โจเซฟ สมิธเริ่มทำประวัติอย่างเป็นทางการของท่าน ซึ่งจัดพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Times and Easons ในปี ค.ศ. 1842 ประวัติดังกล่าวต่อมาเป็นส่วนหนึ่งของ A Comprehensive History of the Church หกเล่มที่เขียนโดย บี. เอช. โรเบิร์ตส์ในปี ค.ศ. 1957 โจเซฟ สมิธ—ประวัติ ตามที่พบในงานมาตรฐาน คัดลอกมาจากประวัติอย่างเป็นทางการของโจเซฟ สมิธและจัดพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งของจุลสารผู้สอนศาสนาเรียกว่าไข่มุกอันล้ำค่าในปี ค.ศ. 1851 ไข่มุกอันล้ำค่าเป็นพระคัมภีร์ในปี ค.ศ.1880

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:3. ชีวิตช่วงแรกของโจเซฟ สมิธเป็นอย่างไร

“บิดามารดา [ของโจเซฟ สมิธ] คือลูซี แม็คและโจเซฟ สมิธ ซีเนียร์ แต่งงานกันเมื่อวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1796 และตั้งรกรากที่ฟาร์มครอบครัวในเมืองทุนบริดจ์ รัฐเวอร์มอนต์ โจเซฟกับลูซีเช่าฟาร์ม [ในเมืองชารอน รัฐเวอร์มอนต์] จากโซโลมอน แม็ค บิดาของลูซีในฤดูร้อน ค.ศ.1805 และโจเซฟสอนหนังสือในฤดูหนาวด้วย ที่นั่นโจเซฟ สมิธ จูเนียร์ลูกคนที่ห้าของพวกเขาเกิดเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1805 ลูซีกับโจเซฟสอนหลักศาสนาแก่ลูกๆ และลูซีกระตุ้นเป็นพิเศษให้ศึกษาพระคัมภีร์ไบเบิล โจเซฟ ซีเนียร์สงสัยเรื่องนิกายต่างๆ ที่มีอยู่เดิม แต่มีความเชื่อมั่นคงในพระผู้เป็นเจ้าเสมอ” (The Pearl of Great Price Student Manual [Church Educational System manual, 2000], 54)

“โจเซฟ สมิธเติบโตที่ฟาร์มครอบครัวและอยู่ใต้อิทธิพลของครอบครัวแทบจะทั้งหมด … ในช่วงวัยเรียนรู้ โจเซฟ สมิธเริ่มรับและแสดงให้เห็นคุณสมบัติที่จะช่วยให้ท่านบรรลุพันธกิจที่ได้รับแต่งตั้งล่วงหน้า

“… ท่านพัฒนาสายสัมพันธ์เหนียวแน่วกับครอบครัว ฝึกทำงานหนัก คิดด้วยตนเอง รับใช้ผู้อื่น และรักเสรีภาพ” (Church History in the Fulness of Times, 2nd ed. [Church Educational System manual, 2003], 15)

“ช่วงปีแรกๆ ของโจเซฟ สมิธ ครอบครัวย้ายบ่อยมากเพื่อหาที่ดินอุดมสมบูรณ์หรือหาวิธีเลี้ยงชีพ … คริสต์ศักราช 1811 ครอบครัวสมิธย้ายไปอยู่ชุมชนเล็กๆ ขอเมืองเวสต์เลบานอน รัฐนิวแฮมป์เชียร์ … ไข้ไทฟอยด์เข้ามาในเวสต์เลบานอน … เด็กๆ ตระกูลสมิธล้มป่วยทีละคน …

“โจเซฟ จูเนียร์วัยเจ็ดขวบฟื้นตัวจาก [ไข้ไทฟอยด์] หลังป่วยมาสองสัปดาห์แต่เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ลงเอยด้วยการผ่าตัดสี่ครั้ง ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่สุดคือกระดูกหน้าแข้งข้างซ้ายบวมและติดเชื้อ … โจเซฟเจ็บปวดทรมานนานกว่าสองสัปดาห์” โจเซฟทนรับการผ่าตัดเพื่อขจัดการติดเชื้อที่ขา “โดยไม่ต้องมัดหรือดื่มบรั่นดีระงับความรู้สึก” (Church History in the Fulness of Times, 22–23)

“ในปี 1816 โจเซฟ ซีเนียร์ไปพอลไมรา รัฐนิวยอร์กเพื่อตรวจสอบคำเล่าลือเรื่องที่ดินดีราคาต่ำ โจเซฟ จูเนียร์เวลานั้นอายุสิบขวบจำได้ว่า ถึงแม้ท่านจะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากการผ่าตัดขา แต่คนขับรถลากที่ช่วยครอบครัวสมิธในการเดินทางบังคับให้ท่านเดินฝ่าหิมะวันละสี่สิบไมล์หลายวัน ซึ่งระหว่างนั้นท่านเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าและเจ็บปวดมากที่สุด” (The Pearl of Great Price Student Manual, 54)

“โจเซฟ สมิธ ซีเนียร์บิดาของครอบครัวสิบคน—สิบเอ็ดคนใน ค.ศ. 1821—ทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงชีพ หลังจากอยู่ในพอลไมราสองปี เขาสะสมเงินได้มากพอจะวางมัดจำค่าที่ป่าหนึ่งร้อยเอเคอร์ในเขตเมืองฟาร์มิงตันที่อยู่ใกล้ๆ ในช่วงปีแรกเขากับลูกชายแผ้วถางไม้ใหญ่สามสิบเอเคอร์ เตรียมดินสำหรับเพาะปลูก และปลูกข้าวสาลี … ต่อมาเด็กหนุ่มโจเซฟเล่าว่า ‘ต้องใช้แรงกายแรงใจทั้งหมดจึงจะสามารถให้ความช่วยเหลือจุนเจือครอบครัวได้’ [“History of Joseph Smith By Himself,” 1832 (เขียนในเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอ ระหว่าง 20 ก.ค. ถึง 27 พ.ย. 1832), แผนกประวัติศาสตร์แอลดีเอส ซอลท์เลคซิตี้ หน้า. 1] …

“เวลานั้นโอกาสในการศึกษาของโจเซฟมีจำกัด ท่านถือว่าท่านเติบโตมาใน ‘สภาพแร้นแค้น’ ‘เราสูญเสียประโยชน์ด้านการศึกษา กล่าวได้ว่า ข้าพเจ้ามีความรู้เพียงอ่าน เขียน และหลักคณิตศาสตร์ขั้นพื้นฐานเท่านั้นซึ่งคือทั้งหมดที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้มา’ [“History of Joseph Smith By Himself,” pp. 1–2]” (Church History in the Fulness of Times, 29–30

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:15–17 เรื่องราวของนิมิตแรก

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิมิตแรกสี่เรื่องของโจเซฟ สมิธได้จาก มิลตัน วี. แบ็คแมน จูเนียร์, “Joseph Smith’s Recitals of the First Vision,” Ensign, Jan. 1985, 8–17 อีกบทความที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับนิมิตแรกเรื่องอื่นๆ คือ ริชาร์ด แอล. แอนเดอร์สัน, “Joseph Smith’s Testimony of the First Vision,” Ensign, April 1996, 10–21.

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:15–17 ความสำคัญของนิมิตแรก

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์เป็นพยานถึงความสำคัญพื้นฐานของนิมิตแรกต่อศาสนจักรดังนี้

ภาพ
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“เรื่องราวทั้งหมดของเราในฐานะสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายขึ้นอยู่กับความถูกต้องแท้จริงของนิมิตแรกอันรุ่งโรจน์นี้ นี่คือการแหวกม่านเพื่อเปิดสมัยการประทานความสมบูรณ์แห่งเวลา ไม่มีสิ่งใดที่เราตั้งหลักคำสอนไว้บนนั้น ไม่มีสิ่งใดที่เราสอน ไม่มีสิ่งใดที่เราดำเนินตามจะมีความสำคัญมากไปกว่าคำประกาศเริ่มแรกนี้ ข้าพเจ้ายอมรับว่าถ้าโจเซฟ สมิธพูดคุยกับพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตรที่รักของพระองค์ เรื่องอื่นทั้งหมดที่ท่านพูดถึงย่อมเป็นความจริง นี่คือบานพับซึ่งเปิดประตูสู่เส้นทางแห่งความรอดและชีวิตนิรันดร์” (“ผู้คนทั่วไปถามอะไรเกี่ยวกับพวกเราบ้าง” เลียโฮนา, ม.ค. 1999, 83)

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:15–17 ความสำคัญของนิมิตแรกและประจักษ์พยานของโจเซฟ สมิธ

ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธประกาศความสำคัญของนิมิตแรกเมื่อเทียบกับเหตุการณ์อื่นที่เกิดขึ้นตั้งแต่การฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ดังนี้

ภาพ
ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ

“เหตุการณ์สำคัญที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในโลกตั้งแต่การฟื้นคืนพระชนม์ของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าจากอุโมงค์และการเสด็จขึ้นเบื้องบนคือการเสด็จมาของพระบิดาและพระบุตรต่อเด็กหนุ่มโจเซฟ สมิธเพื่อเตรียมทางสำหรับการวางรากฐานอาณาจักรของพระองค์—ไม่ใช่อาณาจักรของมนุษย์—ซึ่งไม่มีวันยุติหรือไม่มีล้มอีก เมื่อยอมรับความจริงนี้แล้วข้าพเจ้าพบว่าข้าพเจ้ายอมรับความจริงอื่นทั้งหมดโจเซฟแถลงและประกาศชัดในช่วงพันธกิจสิบสี่ปีของท่านในโลกได้โดยง่าย ท่านไม่เคยสอนหลักคำสอนที่ไม่เป็นความจริง ท่านไม่เคยปฏิบัติหลักคำสอนที่ท่านไม่ได้รับบัญชาให้ปฏิบัติ ท่านไม่เคยสนับสนุนความเชื่อผิดๆ ท่านไม่ถูกหลอก ท่านเห็น ท่านได้ยิน ท่านทำดังที่ท่านได้รับบัญชาให้ทำ และด้วยเหตุนี้พระผู้เป็นเจ้าจึงทรงรับผิดชอบงานที่โจเซฟ สมิธทำสำเร็จ—ไม่ใช่โจเซฟ สมิธรับผิดชอบ พระเจ้าทรงรับผิดชอบ ไม่ใช่มนุษย์รับผิดชอบ” (Gospel Doctrine, 5th ed. [1939], 495–96).

เอ็ลเดอร์ เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองยืนยันความจริงของนิมิตแรกดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

“ไม่ว่าพระกิตติคุณได้รับการฟื้นฟูหรือไม่ได้รับ ไม่ว่าศาสนจักรดั้งเดิมของพระผู้ช่วยให้รอดและหลักคำสอนในนั้นสูญหายหรือไม่สูญหาย ไม่ว่าโจเซฟ สมิธเห็นนิมิตอันน่าอัศจรรย์นั้นหรือไม่เห็น พระคัมภีร์มอรมอนเป็นพยานหลักฐานอีกเล่มหนึ่งของพระเยซูคริสต์หรือไม่เป็น ไม่ว่าความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ได้รับหรือไม่ได้รับการฟื้นฟูบนแผ่นดินโลกผ่านศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือก

“โดยแท้แล้วความจริงไม่ได้ซับซ้อนไปกว่านั้น ไม่ว่าเรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นตามที่ข้าพเจ้าเป็นพยานหรือไม่เกิดขึ้น ในฐานะอัครสาวกยุคสุดท้ายของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ ประจักษ์พยานของข้าพเจ้า และประจักษ์พยานของสมาชิกที่ซื่อสัตย์หลายล้านคนของศาสนจักรทั่วโลกคือ สิ่งที่ข้าพเจ้าบอกท่านเช้านี้เป็นความจริง ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายได้รับการฟื้นฟูบนแผ่นดินโลกผ่านโจเซฟ สมิธและปัจจุบันบริหารโดยศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ ข้าพเจ้ารู้เรื่องเหล่านี้!” (“Restored Truth,” Ensign, Nov. 1994, 67–68)

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:15–17 การทดลองที่เกิดขึ้นก่อนหรือหลังประสบการณ์ทางวิญญาณ

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดถึงความยากลำบาก การต่อต้าน หรือความมืดที่สามารถเกิดขึ้นก่อนหรือหลังประสบการณ์ทางวิญญาณดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“ความจริงที่ชัดแจ้งและจริงจังมากคือก่อนช่วงเวลาสำคัญ ที่แน่ๆ คือก่อนช่วงเวลาสำคัญทางวิญญาณ จะเกิดความยากลำบาก การต่อต้าน และความมืด ชีวิตมีช่วงเวลาเหล่านั้นสำหรับเราบางช่วง และเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวขณะที่เรากำลังทำการตัดสินใจเรื่องสำคัญหรือเดินก้าวสำคัญในชีวิตเรา

“… [มี] การต่อต้านเช่นกันที่มักเกิดขึ้น หลังจาก ได้ทำการตัดสินใจอย่างฉลาดหลักแหลม หลังจาก ช่วงเวลาของการเปิดเผยและความเชื่อมั่นได้ให้สันติและความมั่นใจที่เราคิดว่าเราจะไม่มีวันสูญเสีย …

“… ข้าพเจ้าเชื่อว่าในวิธีของเราแต่ละคน พระผู้เป็นเจ้าทรงพาเราเข้าไปในป่าหรือขึ้นเขาหรือเข้าไปในพระวิหารและทรงแสดงการอันน่าพิศวงแก่เราที่นั่นเพื่อให้รู้ว่าพระองค์ทรงมีแผนอะไรสำหรับเรา เราอาจเห็นไม่ชัดเท่าโมเสสหรือนีไฟหรือพี่ชายของเจเร็ดเห็น แต่เราเห็นมากเท่าที่เราจำเป็นต้องเห็นเพื่อให้รู้พระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับเราและเพื่อให้รู้ว่าพระองค์ทรงรักเราเกินความเข้าใจของมนุษย์ ข้าพเจ้าเชื่อเช่นกันว่าปฏิปักษ์และบริวารที่วางแผนร้ายและน่าสังเวชของเขาพยายามต่อต้านประสบการณ์เช่นนั้นและจากนั้นก็พยายามทำให้ประสบการณ์ดังกล่าวคลุมเครือ

“การฟันฝ่าความมืดและความสิ้นหวัง และการทูลขอความสว่างคือสิ่งที่เปิดสมัยการประทานนี้ นั่นคือสิ่งที่กำลังดำเนินอยู่ และคือสิ่งที่จะทำให้ท่านดำเนินต่อไป …

“ข้าพเจ้ายอมรับความเป็นจริงของการต่อต้านและความยากลำบาก แต่ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงพระผู้เป็นเจ้าแห่งรัศมีภาพ ถึงพระบุตรที่ทรงไถ่ของพระผู้เป็นเจ้า ถึงความสว่าง ความหวัง และอนาคตที่สดใส ข้าพเจ้าสัญญากับท่านว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงพระชนม์และทรงรักท่านแต่ละคน พระองค์ทรงกำหนดขอบเขตและขีดจำกัดให้แก่พลังต่อต้านของความมืด ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพระเยซูคือพระคริสต์ ผู้มีชัยเหนือความตาย นรก และคนที่ตกไปนั้นผู้วางแผนร้ายในนรก” (“Cast Not Away Therefore Your Confidence” [Brigham Young University devotional, Mar. 2, 1999], 1, 2, 6–7, speeches.byu.edu)