เซมินารี
บทที่ 89: หลักคำสอนและพันธสัญญา 85–86


บทที่ 89

หลักคำสอนและพันธสัญญา 85–86

คำนำ

ปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1832 วิสุทธิชนบางคนย้ายไปไซอันแต่ไม่อุทิศถวายทรัพย์สินของพวกเขาตามที่พระเจ้าทรงบัญชา เพราะพวกเขาไม่อุทิศถวายทรัพย์สิน พวกเขาจึงไม่ได้รับมรดกตามระเบียบที่กำหนดไว้ในศาสนจักร ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธกล่าวถึงประเด็นนี้ในจดหมายที่เขียนด้วยการดลใจถึงวิลเลียม ดับเบิลยู. เฟลพ์ส ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1832 ส่วนหนึ่งของจดหมายบันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 85 ต่อมา วันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1832 โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 86 ขณะท่านกำลังแก้ไขพระคัมภีร์ไบเบิลด้วยการดลใจ การเปิดเผยนี้ให้คำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับอุปมาเรื่องข้าวสาลีกับข้าวละมาน และบทบาทของฐานะปุโรหิตในการช่วยพระเจ้ารวบรวมคนชอบธรรมในวันเวลาสุดท้าย

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 85

พนักงานของพระเจ้าพึงจดบันทึกผู้คนของพระผู้เป็นเจ้า

เชื้อเชิญให้นักเรียนสมมติว่าพวกเขาเพิ่งได้เป็นผู้เล่นใหม่ในทีมกีฬา (ท่านอาจจะบอกชื่อกีฬาที่นิยมเล่นเป็นทีมในวัฒนธรรมของท่านและทีมดังที่เล่นกีฬานั้น) หลังจากเล่นกับทีมนี้สองสามวันพวกเขาสังเกตว่าสมาชิกคนหนึ่งในทีมเป็นนักกีฬาที่เห็นแก่ตัว สมาชิกบางคนในทีมไม่ยอมเล่นตามตำแหน่งของตน และหลายคนไม่ฟังโค้ช

  • เหตุใดทีมนี้จึงชนะได้ยาก ทีมนี้จะต้องเปลี่ยนอะไรจึงจะเล่นได้ดีขึ้น

อธิบายว่าสถานการณ์คล้ายกันนี้เริ่มเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1832 เมื่อวิสุทธิชนมาถึงมิสซูรีมากขึ้น การเปิดเผยช่วงแรกกำหนดเงื่อนไขไว้ว่านครแห่งไซอันจะสร้างในเทศมณฑลแจ็คสัน มิสซูรีตามกฎของพระเจ้าและภายใต้การกำกับดูแลของฐานะปุโรหิต ตามกฎเหล่านี้สมาชิกศาสนจักรต้องไม่เดินทางไปไซอันเว้นแต่พวกเขาได้รับหนังสือรับรองจากผู้นำศาสนจักร ทันทีที่มาถึงพวกเขาต้องอุทิศถวายเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้ศาสนจักร และรับมรดกจากอธิการ นอกจากนี้พวกเขาต้องรักษาพระบัญญัติทั้งหมดของพระผู้เป็นเจ้าด้วย (ดู คพ. 64:34–35; 72:15–19, 24–26)

เพื่อ ช่วยให้นักเรียนเข้าใจบริบท ของการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 85ให้อธิบายว่าวิสุทธิชนจำนวนมากในมิสซูรีดำเนินชีวิตสอดคล้องกับกฎที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้สำหรับการสร้างไซอัน แต่สมาชิกศาสนจักรบางคนไม่เชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้าให้อุทิศถวายทรัพย์สินและเดินทางไปไซอันโดยไม่มีใบรับรองจากผู้นำของพวกเขา เพราะเหตุนี้พวกเขาจึงไม่ได้รับมรดกของตน

  • เหตุใดจึงสถาปนานครแห่งไซอันได้ยากภายใต้สภาวการณ์เหล่านี้

อธิบายว่าเพื่อแก้ไขความยุ่งยากเหล่านี้ในมิสซูรี โจเซฟ สมิธจึงส่งจดหมายไปถึงวิลเลียม ดับเบิลยู. เฟลพ์สผู้นำศาสนจักรคนหนึ่งที่อยู่ในอินดิเพนเดนซ์เวลานั้น (ดูคำนำภาคของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 85)

อธิบายว่าจดหมายของท่านศาสดาพยากรณ์ให้คำแนะนำสำหรับจอห์น วิตเมอร์ พนักงานของพระเจ้าผู้อยู่ในมิสซูรี เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 85:1–2 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงแนะนำให้พนักงานของศาสนจักรในมิสซูรีทำ

  • พนักงานได้รับคำแนะนำให้บันทึกอะไร

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 85:3–5 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาคนที่พระเจ้าตรัสว่าไม่ควรเขียนชื่อของพวกเขาไว้ในบันทึกของศาสนจักร

  • ต้องไม่เขียนชื่อคนใดในบันทึกของศาสนจักร

อธิบายว่าเช่นเดียวกับการจดบันทึกในสมัยของโจเซฟ สมิธ มีการจดบันทึกในสมัยของเราด้วย จุดประสงค์หนึ่งสำหรับสิ่งนี้คือเพื่อเก็บรักษาบันทึกชื่อของคนซื่อสัตย์และเรื่องราวการทำงานของพวกเขา

  • เราต้องทำสิ่งใดบ้างจึงจะมีชื่อของเราบันทึกไว้ในฐานะสมาชิกที่ซื่อสัตย์ของศาสนจักร

หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนความจริงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: หากเราดำเนินชีวิตตามกฎของพระผู้เป็นเจ้า ชื่อของเราจะได้รับการบันทึกไว้ในศาสนจักรว่าเป็นสมาชิกที่ซื่อสัตย์ อธิบายว่าการกระทำของคนซื่อสัตย์ที่ถูกบันทึกไว้บนแผ่นดินโลกจะถูกบันทึกไว้ในสวรรค์เช่นกันในหนังสือที่เรียกว่าหนังสือแห่งชีวิต (ดู คพ. 128:6–7) เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 85:5, 9, 11 และระบุชื่ออื่นที่ใช้เรียกบันทึกที่เก็บรักษาไว้บนแผ่นดินโลกเกี่ยวกับคนซื่อสัตย์ ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ

เพื่อช่วยให้นักเรียนรู้สึกถึงความสำคัญของความจริงที่ท่านเขียนไว้บนกระดาน ให้พวกเขาจินตนาการว่าพวกเขามีแผนจะเข้าร่วมงานงานที่มีเกียรติ ถามว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรหากมาถึงงานแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปเพราะชื่อของพวกเขาไม่อยู่ในรายชื่อแขกรับเชิญ

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 85:9–11 ในใจและนึกภาพว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรถ้าพบว่าชื่อของพวกเขาหายไปจากหนังสือแห่งความทรงจำของพระเจ้า

  • ท่านคิดว่าคนที่ชื่อของพวกเขาไม่ถูกบันทึกไว้ “จะไม่พบมรดก” กับวิสุทธิชนหมายความว่าอย่างไร (พวกเขาจะไม่ได้รับพรที่จะประทานแก่คนซื่อสัตย์)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 11 อะไรสามารถเป็นเหตุให้สมาชิกศาสนจักรถูกลบชื่อออกจากหนังสือแห่งกฎของพระเจ้า

  • ท่านจะสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการมีชื่อท่านบันทึกไว้ในฐานะสมาชิกที่ซื่อสัตย์ของศาสนจักรว่าอย่างไร

เป็นพยานว่ามีการจดบันทึกทั้งบนโลกนี้และในสวรรค์ เราทุกคนจะต้องรายงานการกระทำและความซื่อสัตย์ของเราในการดำเนินชีวิตตามกฎของพระผู้เป็นเจ้า เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองเจตคติของพวกเขาและการเชื่อฟังกฎของพระผู้เป็นเจ้า

หลักคำสอนและพันธสัญญา 86

พระเจ้าทรงอธิบายอุปมาเรื่องข้าวสาลีกับข้าวละมาน

ก่อนชั้นเรียนขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่าน มัทธิว 13:24–30 และเตรียมมาสรุปอุปมาเรื่องข้าวสาลีกับข้าวละมานให้ชั้นเรียนฟัง เขียนคำต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ข้าวสาลี ข้าวละมาน นา คนหว่านเมล็ดพืช ศัตรู

หลังจากนักเรียนคนนั้นสรุปอุปมาแล้ว ให้ถามชั้นเรียนว่า

  • ข้าวสาลีกับข้าวละมานเป็นสัญลักษณ์ของอะไร (ข้าวสาลีเป็นสัญลักษณ์ของคนชอบธรรมและข้าวละมานเป็นสัญลักษณ์ของคนชั่วร้าย [ดู มัทธิว 13:38])

  • เหตุใดคนในอุปมาจึงต้องการรอให้ถอนข้าวละมาน

ภาพ
ข้าวสาลีกับข้าวละมาน

ให้ดู ภาพที่ให้มา ของข้าวสาลีกับข้าวละมานหรือวาดบนกระดาน อธิบายว่าข้าวละมานเป็นวัชพืชมีพิษชนิดหนึ่ง ข้าวสาลีกับข้าวละมานละม้ายคล้ายกันมากเมื่องอกเป็นต้นอ่อน แต่จะต่างกันเมื่อมันโตเต็มที่ หากผู้เกี่ยวพยายามถอนข้าวละมานก่อนข้าวสาลีและข้าวละมานโตเต็มที่ เขาอาจทำลายข้าวสาลีไปด้วย

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 86:1–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาความหมายของนา ผู้หว่านเมล็ดพืช และศัตรู เชิญนักเรียนรายงานสิ่งที่เรียนรู้

  • จากคำอธิบายสัญลักษณ์ของพระเจ้า ท่านจะสรุปความหมายของอุปมาว่าอย่างไร

อธิบายว่าโจเซฟ สมิธกำลังทบทวนและแก้ไขพระคัมภีร์ไบเบิลด้วยการดลใจ (งานแปลของโจเซฟ สมิธ) เมื่อท่านได้รับการเปิดเผยนี้ การเปิดเผยใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 86 อธิบายความอุปมาที่บันทึกไว้ใน มัทธิว 13:24–30 ตัวอย่างเช่น ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 86 เราเรียนรู้ว่าผู้หว่านเมล็ดพืชในอุปมาหมายถึงอัครสาวกของพระผู้ช่วยให้รอด (ดู ข้อ 2) ข้าวละมาน “เบียดเบียนข้าวสาลีและขับไล่ศาสนจักรเข้าไปในแดนทุรกันดาร” (ข้อ 3) เราเรียนรู้เช่นกันว่า “ในวันเวลาสุดท้าย” ต้นข้าวสาลีจะเริ่ม “ผลิใบ” ใหม่ (ข้อ 4) การหว่านข้าวละมานหมายถึงการละทิ้งความเชื่อ และการผลิใบใหม่หมายถึงการฟื้นฟู

ชี้ให้เห็นว่าในอุปมา เจ้าบ้านแนะนำให้คนรับใช้ของเขาเก็บข้าวละมานก่อน แล้วจึงเก็บข้าวสาลีไว้ในยุ้งฉาง (ดู มัทธิว 13:27–30) เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 86:7 ในใจเพื่อหาข้อคิดที่การเปิดเผยนี้ให้ไว้ซึ่งทำให้เข้าใจลำดับการเก็บข้าวง่ายขึ้น

  • เราเรียนรู้อะไรจาก ข้อ 7 เกี่ยวกับลำดับการเก็บข้าว

  • ทั้งหมดนี้สอนอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนชอบธรรมและคนชั่วร้ายในวันเวลาสุดท้าย (นักเรียนควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้: พระเจ้าจะทรงรวบรวมคนชอบธรรมระหว่างวันเวลาสุดท้ายและจากนั้นจะทรงทำลายคนที่ชั่วร้ายในการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์)

ให้ดูภาพ ผู้สอนศาสนา: เอ็ลเดอรฺ์ และ ผู้สอนศาสนา: ซิสเตอร์ (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 109, 110; ดู LDS.orgด้วย)

ภาพ
ผู้สอนศาสนา เอ็ลเดอร์
ภาพ
ผู้สอนศาสนา ซิสเตอร์
  • ภาพเหล่านี้เกี่ยวข้องกับอุปมาเรื่องข้าวสาลีกับข้าวละมานอย่างไร (ช่วยให้นักเรียนเห็นว่าเราสามารถช่วยรวบรวมคนชอบธรรมได้โดยแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น)

อธิบายว่าการจดจำหลายๆ ด้านที่เราได้รับพรในฐานะสมาชิกศาสนจักรของพระเจ้าทำให้เราปรารถนาจะแบ่งปันพรเหล่านั้นกับผู้อื่นมากขึ้น เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 86:8–10 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาด้านที่เราได้รับพรในฐานะสมาชิกศาสนจักรของพระเจ้า

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 8–10เราได้รับพรด้านใดบ้างในฐานะสมาชิกศาสนจักรของพระเจ้า

หยิบยกวลี “เจ้าเป็นทายาทตามกฎ” ใน ข้อ 9 อธิบายว่านี่หมายความว่าสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเป็นส่วนหนึ่งของพันธสัญญาที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำกับอับราฮัม ซึ่งอับราฮัมได้รับสัญญาว่าลูกหลานของเขาจะได้รับพรของฐานะปุโรหิตและจะแบ่งปันพรเหล่านั้นกับผู้อื่น (ดู อับราฮัม 2:9–11)

  • ท่านได้รับพรผ่านฐานะปุโรหิตอย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 86:11 และขอให้ชั้นเรียนระบุวิธีที่เราจะช่วยผู้อื่น ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ เขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: เราสามารถนำความรอดไปให้ผู้อื่นได้โดยช่วยให้พวกเขาได้รับพรของฐานะปุโรหิต

เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยมีเมื่อพวกเขาสามารถเป็นแบบอย่างที่ชอบธรรมสำหรับบางคนหรือเมื่อพวกเขาช่วยให้ผู้อื่นได้รับพรของฐานะปุโรหิต

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 85:7–8 “บุคคลที่มีพละกำลังและแข็งแรงคนหนึ่ง” คือใคร

ผู้ละทิ้งความเชื่อหลายคนเคยกล่าวถึง “บุคคลที่มีพละกำลังและแข็งแรงคนหนึ่ง” (คพ. 85:7) ผู้ต้องวางระเบียบบ้านของพระผู้เป็นเจ้าและกล่าวถึงคนที่ “ยื่นมือเขาออกไปประคองหีบ” (คพ. 85:8) เพื่อแก้ต่างให้แก่การตกไปจากศาสนจักรของตน พวกเขาอ้างว่าประธานศาสนจักรหลายท่านสูญเสียความเป็นที่โปรดปรานของพระผู้เป็นเจ้าและถูกปฏิเสธ และว่า “บุคคลที่มีพละกำลังและแข็งแรง” อย่างพวกเขาคือคนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกมาแก้ไขเรื่องต่างๆ คำอ้างเช่นนั้นขัดแย้งกับความหมายของพระคัมภีร์ ในถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการที่ฝ่ายประธานสูงสุด (โจเซฟ เอฟ. สมิธ, จอห์น อาร์. วินเดอร์ และแอนทัน เอช. ลันด์) ออกในปี 1905 กล่าวถึงสภาวการณ์อันนำมาซึ่งการเปิดเผยใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 85:7–8 และคนที่ข้อความสองวลีนี้กล่าวถึง

“ก่อนอื่น พึงสังเกตว่าประเด็นของจดหมายฉบับนี้ทั้งฉบับ [จดหมายของท่านศาสดาพยากรณ์ถึงวิลเลียม ดับเบิลยู. เฟลพ์ส] ซึ่งส่วนหนึ่งยอมรับกันในเวลาต่อมาว่าเป็นการเปิดเผย เกี่ยวข้องกับกิจธุระของศาสนจักรในมิสซูรี การรวมวิสุทธิชนมาแผ่นดินนั้นและการได้รับมรดกภายใต้กฎแห่งการอุทิศถวายและความพิทักษ์ และท่านศาสดพยากรณ์รับมือเป็นพิเศษกับเรื่องที่จะเกิดขึ้นกับคนที่ไม่ได้รับมรดกของพวกเขาตามคำสั่งหรือข้อตกลงจากอธิการ …

“อธิการพาร์ทริดจ์เป็นคนหนึ่งที่—แม้จะเป็นชายที่มีค่าควรมากที่สุด คนที่พระเจ้าทรงรัก และท่านศาสดาพยากรณ์เรียกเขาว่าเป็น ‘แบบฉบับของความเคร่งครัดทางศาสนา’ และ ‘มหาบุรุษคนหนึ่งของพระเจ้า’—บางครั้งลุกขึ้นมาต่อต้านท่านศาสดาพยากรณ์ในยุคแรกๆ นั้น และพยายามติติงท่านในการบริหารกิจจานุกิจของศาสนจักร หรืออีกนัยหนึ่งคือ ‘ยื่นมือเขาออกไปประคองหีบ’ …

“ขณะที่สภาพของการกบฏ ความริษยา ความจองหอง ความไม่เชื่อ และความแข็งกระด้างของใจมีอยู่ในหมู่พี่น้องชายในไซอัน—เทศมณฑลแจ๊คสัน มิสซูรี—ซึ่งอธิการพาร์ทริดจ์มีส่วนในนั้นทั้งหมด ขณะนั้นเองที่พระเจ้าทรงให้เขียนถ้อยคำของการเปิดเผยซึ่งนำมาจากจดหมายที่เขียนถึง วิลเลียม ดับเบิลยู. เฟลพ์สเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1832 ‘ชายผู้ได้รับเรียกจากพระผู้เป็นเจ้าและกำหนดไว้’ ให้ ‘แบ่งมรดกให้แก่วิสุทธิชน’—เอดเวิร์ด พาร์ทริดจ์—เวลานั้นกำลังทำไม่ถูกต้อง ละเลยหน้าที่ของตน และ ยื่น ‘มือเขาออกไปประคองหีบ’ ด้วยเหตุนี้เขาจึงถูกเตือนเรื่องการพิพากษาของพระผู้เป็นเจ้าที่จะเกิดในไม่ช้า และมีคำทำนายว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงส่ง ‘บุคคลที่มีพละกำลังและแข็งแรงคนหนึ่ง’ มาแทนเขา รับตำแหน่งฝ่ายอธิการแทนเขา—บุคคลที่มีวิญญาณและพลังอำนาจของตำแหน่งสูงนั้นอยู่กับเขา ซึ่งจะทำให้เขามีอำนาจ ‘วางระเบียบครัวเรือนของพระผู้เป็นเจ้า, และจัดการมรดกทั้งหลายโดยจัดสรรเป็นแปลงๆ ให้วิสุทธิชน’ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ บุคคลผู้จะทำงานที่อธิการเอดเวิร์ด พาร์ทริจเคยได้รับแต่งตั้งให้ทำแต่ไม่ทำให้สำเร็จ …

“… และเพราะการกลับใจ การเสียสละ และความทุกข์ของเขา อธิการเอดเวิร์ด พาร์ทริจจึงได้รับลดหย่อนการพิพากษาที่ถูกคาดโทษไว้ว่าเขาจะล้ม ‘โดยลูกศรแห่งความตาย, ดังต้นไม้ที่ถูกบั่นด้วยลูกศรแห่งสายฟ้าฟาดอันเจิดจ้า’ ด้วยเหตุนี้จึงอาจพิจารณาให้ยุติการส่งอีกคนมารับตำแหน่งของเขา—‘บุคคลที่มีพละกำลังและแข็งแรงคนหนึ่งให้วางระเบียบครัวเรือนของพระผู้เป็นเจ้า และจัดการมรดกทั้งหลายโดยจัดสรรเป็นแปลงๆ ให้วิสุทธิชน’—และปิดเหตุการณ์ทั้งหมดของคำพยากรณ์นั้นเช่นกัน” (ใน James R. Clark, comp., Messages of the First Presidency of The Church of Jesus Christ of Latter-day Saints, 6 vols. [1965–75], 4:112, 113, 115, 117; ดู คำสอนและพันธสัญญา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2001], 249)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 85:8 “ประคองหีบของพระผู้เป็นเจ้ามิให้ตก” หมายความว่าอย่างไร

วลี “ประคองหีบของพระผู้เป็นเจ้ามิให้ตก” อ้างถึง “เหตุการณ์ในช่วงสมัยของกษัตริย์ดาวิดในอิสราเอลโบราณ ชาวฟิลิสเตียยึดหีบแห่งพันธสัญญาในการสู้รบแต่คืนให้เมื่อเกิดโรคระบาด (ดู 1 ซามูเอล 4–6) ต่อมาเดวิดกับประชาชนขนหีบใส่เกวียนเทียมวัวกลับมาเยรูซาเล็มโดยให้อุสซาห์กับอาหิโยขับเกวียน ‘และเมื่อมาถึงลานนวดข้าวของนาโคน อุสซาห์ก็เหยียดมือออกจับหีบของพระเจ้าไว้เพราะโคสะดุด และพระพิโรธของพระยาเวห์ก็พลุ่งขึ้นต่ออุสซาห์ และพระเจ้าทรงประหารเขาที่นั่นเพราะความผิดของเขา’ (2 ซามูเอล 6:6–7; ดู ข้อ 1–11) หีบเป็นสัญลักษณ์ของการประทับอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า รัศมีภาพและพระบารมีของพระองค์ เมื่อประทานแก่อิสราเอลครั้งแรก หีบวางอยู่ในอภิสุทธิสถานในพลับพลา และแม้แต่ปุโรหิตก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในนั้น เฉพาะมหาปุโรหิต รูปแบบหนึ่งของพระคริสต์ จึงจะเข้าได้ และเข้าได้หลังจากผ่านพิธีกรรมของการชำระให้สะอาดและการบูชาลบบาปของเขาแล้วเท่านั้น …

“ไม่ว่าอุสซาห์จะมีเจตนาดีเพียงใด แต่เขาก็ทำเล่นๆ กับสิ่งซึ่งจะทำได้ภายใต้เงื่อนไขเคร่งครัดที่สุดเท่านั้น เขาไม่มีศรัทธาในเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า เขาคิดเองว่าหีบอยู่ในอันตราย โดยลืมไปว่านั่นเป็นสัญลักษณ์ทางกายของพระผู้เป็นเจ้าผู้มีเดชานุภาพทั้งมวล เราจะช่วยพระผู้เป็นเจ้าและกอบกู้อาณาจักรของพระองค์ผ่านความพยายามของเราโดยพลการไม่ได้

“‘การทำผิดกฎของอุสซาห์อยู่ในข้อเท็จจริงที่ว่าเขาแตะหีบด้วยความรู้สึกดูหมิ่นแม้เขาจะมีเจตนาดีก็ตาม เพื่อกันไม่ให้หีบกลิ้งตกจากเกวียน การแตะหีบ บัลลังก์แห่งรัศมีภาพอันสูงส่งและหลักประกันที่มองเห็นได้ของการประทับที่มองไม่เห็นของพระเจ้า เป็นการหมิ่นพระบารมีของพระผู้เป็นเจ้าศักดิ์สิทธิ์ “ด้วยเหตุนี้อุสซาห์จึงเป็นรูปแบบของทุกคนที่มีเจตนาดี ถ้าพูดตามประสามนุษย์ คือ เจตนาดีแต่จิตใจไม่บริสุทธิ์ ก้าวก่ายกิจจานุกิจของอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าเพราะคิดว่าอยู่ในอันตราย และหวังว่าจะกอบกู้ได้” (O. V. Gerlach).’ (Keil and Delitzsch, Commentary, bk. 2: Joshua, Judges, Ruth, 1 and 2 Samuel, ‘Second Book of Samuel,’ p. 333.)” (คำสอนและพันธสัญญา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2001], 250–251)

พระเจ้าตรัสถึงเหตุการณ์นี้ในการเปิดเผยยุคปัจจุบันเพื่อสอนหลักธรรมว่าเราไม่ควรรับหน้าที่ให้คำแนะนำ (“ประคองหีบ”) แก่ผู้นำฐานะปุโรหิตหรือคนอื่นที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกและทรงกำหนดไว้ (ดู คพ. 85:8) แต่มีคนที่กลัวหีบง่อนแง่นและคิดจะประคองไว้ สมาชิกศาสนจักรบางคนอาจมองเห็นปัญหาและผิดหวังกับวิธีที่พวกเขารู้สึกว่าผู้นำหรือคนอื่นๆ กำลังใช้แก้ปัญหาเหล่านั้น พวกเขาอาจรู้สึกว่าถึงแม้พวกเขาไม่มีสิทธิอำนาจจะทำเช่นนั้น แต่พวกเขาต้องแก้ไขแนวทางของวอร์ดหรือแม้แต่ของศาสนจักร อย่างไรก็ตาม เจตนาดีที่สุดก็ใช่จะเป็นเหตุสมควรให้ก้าวก่ายศาสนจักรของพระเจ้าเช่นนั้น

ประธานเดวิด โอ. แมคเคย์สอนว่า

ภาพ
ประธานเดวิด โอ. แมคเคย์

“อันตรายอยู่บ้างที่เราจะออกจากขอบเขตของเราและพยายามชี้นำการทำงานของพี่น้องคนหนึ่งทั้งที่เราไม่มีสิทธิอำนาจ ท่านคงจำกรณีของอุสซาห์ผู้เหยียดมือออกไปประคองหีบได้ [ดู 1 พงศาวดาร 13:7–10] ดูเหมือนเขามีเหตุสมควรให้ยื่นมือออกไปประคองหีบแห่งพันธสัญญาณเมื่อวัวสะดุด ปัจจุบันเราคิดว่าบทลงโทษของเขารุนแรงมาก นั่นอาจจะรุนแรง แต่เหตุการณ์นี้สอนบทเรียนแห่งชีวิต ขอให้เราเหลียวมองไปรอบๆ และดูว่าคนที่พยายามประคองหีบทั้งที่ไม่มีสิทธิอำนาจจะตายทางวิญญาณรวดเร็วเพียงใด จิตวิญญาณของพวกเขาขมขื่น ความคิดของพวกเขาผิดเพี้ยน วิจารณญาณของพวกเขาผิดพลาด และวิญญาณของพวกเขาหดหู่ นั่นคือสภาพอันน่าเวทนาของคนที่ละเลยความรับผิดชอบของตนแต่ใช้เวลาจับผิดผู้อื่น” (ใน Conference Report, April 1936, 60)