เซมินารี
บทที่ 65: หลักคำสอนและพันธสัญญา 59


บทที่ 65

หลักคำสอนและพันธสัญญา 59

คำนำ

วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม ค.ศ. 1831 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 59 ขณะอยู่ในเทศมณฑลแจ็คสัน มิสซูรี ในการเปิดเผยนี้พระเจ้าทรงอธิบายความคาดหวังที่พระองค์ทรงมีต่อวิสุทธิชนซึ่งมาถึงไซอันได้ไม่นาน รวมถึงการถือปฏิบัติวันสะบาโตให้ถูกต้อง พระเจ้าทรงยืนยันเช่นกันว่าคนที่รักษาพระบัญญัติของพระองค์จะได้รับพรฝ่ายโลกและฝ่ายวิญญาณ

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:1–4

พระเจ้าทรงอธิบายพรที่พระองค์จะทรงมอบให้วิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์ในไซอัน

ก่อนชั้นเรียน ให้เขียน คำถามต่อไปนี้ ไว้บนกระดาน

ท่านคิดว่าการรักพระเจ้าด้วยสุดใจของท่านหมายความว่าอย่างไร ?

ท่านอาจจะเห็นการกระทำหรือเจตคติอะไรบ้างในคนที่รักพระเจ้าด้วยสุดใจของพวกเขา กับคนที่ไม่รักพระเจ้าเช่นนั้น

เมื่อเริ่มชั้นเรียน ให้เขียนชื่อ พอลลี ไนท์ บนกระดาน ถามนักเรียนว่าพวกเขาจำอะไรเกี่ยวกับเธอได้บ้างจากบทเรียนเกี่ยวกับ หลักคำสอนและพันธสัญญา 57 ถ้านักเรียนต้องการให้ช่วยนึก ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านเรื่องราวของพอลลี ไนท์ในบทที่ 62

  • ท่านชื่นชมอะไรเกี่ยวกับพอลลี ไนท์

บอกนักเรียนว่าโจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 59 ในวันที่พอลลีเสียชีวิต เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:1–2 ในใจและหาวลีที่อาจจะมีความหมายต่อเพื่อนของเธอและคนที่เธอรัก เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่ค้นพบ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 1การเปิดเผยนี้ประยุกต์ใช้กับใครนอกเหนือจากพอลลี ไนท์ (วิสุทธิชนที่เชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าด้วยเห็นแก่รัศมีภาพของพระองค์อย่างเดียว) ท่านคิดว่าการเห็นแก่รัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้าอย่างเดียวหมายความว่าอย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:3–4 ขอให้ชั้นเรียนมองหาพรฝ่ายโลกและฝ่ายวิญญาณที่สัญญาไว้กับผู้เชื่อฟังพระเจ้าด้วยเห็นแก่รัศมีภาพของพระองค์อย่างเดียว ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่ค้นพบ

  • ใน ข้อ 4 พระเจ้าทรงสัญญาพรอะไรที่บางคนอาจไม่คิดว่าเป็นพร (“บัญญัติไม่น้อย”) พระบัญญัติเป็นพรต่อเราในด้านใดบ้าง (ขณะที่นักเรียนตอบคำถามนี้ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:20–21)

เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน หากเรารักษาพระบัญญัติด้วยเห็นแก่รัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้าอย่างเดียว เมื่อนั้น …

เชิญนักเรียนเติมข้อความให้ครบถ้วนโดยใช้สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จาก ข้อ 1–4 ด้านหนึ่งที่นักเรียนอาจพูดถึงหลักธรรมนี้คือ หากเรารักษาพระบัญญัติด้วยเห็นแก่รัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้าอย่างเดียว เมื่อนั้นเราจะได้รับพรทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายวิญญาณ เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาตัวอย่างเพิ่มเติมของหลักธรรมนี้ขณะพวกเขาศึกษาการเปิดเผยนี้ต่อไป

หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:5–8

พระเจ้าประทานพระบัญญัติแก่วิสุทธิชน

อธิบายว่าพระเจ้ายังคงเปิดเผยเรื่องนี้โดยประทานพระบัญญัติหลายข้อแก่วิสุทธิชนในไซอัน เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:5 ขอให้ชั้นเรียนระบุพระบัญญัติที่พระเจ้าประทานแก่วิสุทธิชน

ตามที่กล่าวไว้ในข้อนี้ พระเจ้าทรงคาดหวังอะไรจากวิสุทธิชนของพระองค์ (นักเรียนควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้: เราต้องรักพระผู้เป็นเจ้าด้วยสุดใจ พลัง ความนึกคิด และพละกำลังของเรา)

แบ่งชั้นเรียนออกเป็นคู่ๆ มอบหมายคำที่บอกว่าเราควรรักพระเจ้าอย่างไรให้คู่ละคำ (ใจ พลัง ความนึกคิด พละกำลัง) แนะนำให้นักเรียน ใช้คำที่มอบหมายตอบคำถาม ที่ท่านเขียนไว้บนกระดานก่อนชั้นเรียน เชิญนักเรียนคนหนึ่งในแต่ละกลุ่มตอบคำถามข้อแรกและนักเรียนอีกคนตอบคำถามข้อสอง หลังจากนักเรียนมีเวลาสนทนาคำถามเหล่านี้กับคู่พอสมควรแล้ว ให้เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันคำตอบกับชั้นเรียน

เพื่อช่วยให้นักเรียนรู้สึกถึงความจริงและความสำคัญของพระบัญญัติให้รักพระเจ้าด้วยสุดใจ พลัง ความนึกคิด และพละกำลังของเรา ให้เชิญพวกเขาเขียนคำตอบของข้อความต่อไปนี้หนึ่งข้อลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

  • อธิบายเวลาที่ท่านรู้สึกรักพระเจ้ามาก

  • อธิบายเวลาที่ความรักต่อพระเจ้ามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของท่าน

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันคำตอบของพวกเขา (เตือนนักเรียนว่าพวกเขาไม่ควรแบ่งปันประสบการณ์ที่ศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นส่วนตัว)

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:6–8 ในใจและระบุพระบัญญัติเพิ่มเติมที่พระเจ้าประทานแก่วิสุทธิชนเวลานี้

  • พระบัญญัติเหล่านี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับพระบัญญัติให้รักพระเจ้าด้วยสุดใจ พลัง ความนึกคิด และพละกำลังของเรา

  • การรักเพื่อนบ้านแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเรารักพระเจ้า

หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:9–19

พระเจ้าทรงสอนวิสุทธิชนเกี่ยวกับวันสะบาโต

จัดเตรียมสำเนาคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์มาร์ค อี. พีเตอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้นักเรียน หรือเขียนไว้บนกระดานก่อนเริ่มชั้นเรียน (ข้อความนี้อยู่ใน “The Sabbath Day,” Ensign, May 1975, 49.)

“การถือปฏิบัติหรือไม่ถือปฏิบัติ เป็นวิธีที่แม่นยำในการวัดเจตคติของตัวเราต่อพระเจ้าและต่อความทุกข์เวทนาของพระองค์ในเกทสมนี การสิ้นพระชนม์บนกางเขน และการฟื้นคืนพระชนม์จากบรรดาคนตาย” (เอ็ลเดอร์มาร์ค อี. พีเตอร์เซ็น)

เชื้อเชิญให้นักเรียนทายคำที่หายไปจากข้อความนี้ (“วันสะบาโต”) หลังจากพวกเขาแบ่งปันความคิดแล้ว ให้อธิบายว่าในการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 59 พระเจ้าตรัสย้ำพระบัญญัติข้อหนึ่งที่จะช่วยให้วิสุทธิชนนึกถึงพระผู้เป็นเจ้าเป็นอันดับแรกในชีวิตพวกเขาและทำให้ความสัมพันธ์กับพระองค์ลึกซึ้งขึ้น นี่เป็นพระบัญญัติที่เอ็ลเดอร์พีเตอร์เซ็นกล่าวถึง เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:9–10 และขอให้นักเรียนระบุพระบัญญัติที่พระเจ้าประทานแก่วิสุทธิชน

  • พระเจ้าประทานพระบัญญัติอะไรในข้อเหล่านี้ (รักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์)

เชื้อเชิญให้นักเรียนเติมคำกล่าวของเอ็ลเดอร์พีเตอร์เซ็นด้วยคำว่า วันสะบาโต

  • ตามคำกล่าวของเอ็ลเดอร์พีเตอร์เซ็น การถือปฏิบัติวันสะบาโตของเราเกี่ยวข้องอย่างไรกับความรักที่เรามีต่อพระเจ้าและการชดใช้ของพระองค์

ชี้ให้เห็นว่าใน ข้อ 9 พระเจ้าทรงสัญญาพรอันสำคัญยิ่งกับคนที่เคารพวันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน หากเรารักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์ พระบัญญัติข้อนี้จะช่วยให้เรา …

ขอให้นักเรียนทบทวน ข้อ 9 และระบุคำสัญญาที่พระเจ้าประทานพร้อมพระบัญญัติข้อนี้

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 9 เราจะได้รับพรอย่างไรจากการรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์ ท่านคิดว่าการรักษาตัวเราให้ “หมดจดจากโลก” หมายความว่าอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนเติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วนโดยใช้คำของพวกเขาเอง ต่อไปนี้เป็นด้านหนึ่งที่นักเรียนจะพูดถึงหลักธรรมนี้: หากเรารักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์ พระบัญญัติข้อนี้จะช่วยให้เราต่อต้านการล่อลวงและเอาชนะบาป ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายหลักธรรมนี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา

อธิบายว่า ข้อ 9–14 ช่วยให้เราเข้าใจความหมายของการรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์ มอบหมาย หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:9, 10, 12 และ 13ให้นักเรียนคนละข้อ เชื้อเชิญให้นักเรียนศึกษาข้อที่ได้รับมอบหมายในใจโดยมองหาข้อคิดที่ว่าเราจะรักษาวันสะโตให้ศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร บอกนักเรียนว่าพวกเขาจะมีโอกาสแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาค้นพบกับชั้นเรียน ก่อนนักเรียนเริ่มอ่านข้อที่ได้รับมอบหมาย อาจจะเป็นประโยชน์หากอธิบายว่าประโยค “แสดงความจงรักของเจ้า” ใน ข้อ 10 หมายถึงนมัสการหรือแสดงความรักและความภักดีของเรา นอกจากนี้ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นเชิงอรรถสำหรับคำ เครื่องสักการะ ใน ข้อ 12

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนคนหนึ่งที่ศึกษา ข้อ 9 อ่านออกเสียงข้อนั้น เชื้อเชิญให้นักเรียนที่ศึกษาข้อนี้แบ่งปันข้อคิดที่พวกเขาค้นพบเกี่ยวกับวิธีที่เราสามารถรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์ กำหนดให้นักเรียนคนหนึ่งเป็นผู้จดและเขียนข้อคิดเหล่านี้ไว้ใต้หลักธรรมบนกระดาน (ตัวอย่างเช่น ใน ข้อ 9 นักเรียนอาจจะระบุว่า การไปโบสถ์ การสวดอ้อนวอน และการรับส่วนศีลระลึกเป็นส่วนสำคัญของการรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์) เชื้อเชิญให้นักเรียนทำซ้ำขั้นตอนนี้กับแต่ละข้อที่เหลือ

  • การพยายามรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์ช่วยให้ท่านต่อต้านการล่อลวงและทำให้ท่านเข้มแข็งทางวิญญาณอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:15 ในใจโดยมองหาวลีที่พูดถึงเจตคติที่เราควรมีเกี่ยวกับวันสะบาโต ขอให้นักเรียนแบ่งปันวลีที่พวกเขาค้นพบและอธิบายว่าเหตุใดการรักษาวันสะบาโตด้วยเจตคติเช่นนี้จึงสามารถช่วยเรารักษาวันดังกล่าวให้ศักดิ์สิทธิ์

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:16–19 พอสังเขปโดยอธิบายว่าพระเจ้าทรงสัญญาพรฝ่ายโลกและฝ่ายวิญญาณกับคนที่ยกย่องวันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ แบ่งปันว่าการรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์มีผลต่อความสัมพันธ์ของท่านกับพระเจ้าอย่างไร เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อช่วยพวกเขารักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:20–24

พระเจ้าทรงประกาศิตพรฝ่ายโลกและฝ่ายวิญญาณไว้บนคนซื่อสัตย์

ขอให้นักเรียนสมมติว่าพวกเขาเป็นพ่อแม่ที่ให้ของขวัญลูกๆ ลูกบางคนแสดงความสำนึกคุณอย่างจริงใจทุกครั้งที่ได้ของขวัญ

  • การกระทำนั้นทำให้พ่อแม่อย่างท่านรู้สึกอย่างไร จะมีผลต่อการตัดสินใจให้ของขวัญพวกเขามากขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:20–21 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรู้สึกอย่างไรกับการประทานพรเราและเราควรสนองคุณพระองค์อย่างไรเมื่อเราได้รับพร

  • พระผู้เป็นเจ้าทรงรู้สึกอย่างไรกับการให้พรเรา (พระองค์พอพระทัย) ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 21 เราอาจทำให้พระผู้เป็นเจ้าทรงขุ่นเคืองอย่างไร (นักเรียนควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เราทำให้พระผู้เป็นเจ้าทรงขุ่นเคืองเมื่อเราไม่แสดงความสำนึกคุณต่อพระองค์และรักษาพระบัญญัติของพระองค์)

ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าความขุ่นเคืองและความกริ้วของพระผู้เป็นเจ้าที่กล่าวไว้ใน ข้อ 21 เป็นหลักฐานยืนยันความรักที่ทรงมีต่อเรา พระองค์ไม่พอพระทัยเมื่อเราไม่สำนึกคุณหรือไม่เชื่อฟังเพราะเจตคติเหล่านี้ทำให้เราเหินห่างจากพระองค์

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงทำลายความสัมพันธ์ของเรากับพระผู้เป็นเจ้าเมื่อเราไม่ขอบพระทัยสำหรับพรที่เราได้รับจากพระองค์

  • ความจริงนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับหลักธรรมที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:23–24 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาพรที่พระเจ้าทรงสัญญากับคนที่รักษาพระบัญญัติของพระองค์

  • การดำเนินชีวิตตามความจริงที่เราค้นพบในการเปิดเผยนี้นำสันติสุขมาสู่ชีวิตท่านในด้านใด

สรุปโดยเชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองหลายๆ ด้านที่พระผู้เป็นเจ้าประทานพรพวกเขาสำหรับการรักษาพระบัญญัติและด้านที่พวกเขาสามารถแสดงความสำนึกคุณต่อพระองค์

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:9 “วันศักดิ์สิทธิ์ของเรา”

การเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 59 เป็นการเปิดเผยแรกที่บันทึกไว้ในสมัยการประทานนี้ซึ่งพระเจ้าประทานคำแนะนำเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการถือปฏิบัติวันสะบาโต พระเจ้าประทานการเปิดเผยโดยตรงต่อวิสุทธิชนผู้จะเสริมสร้างนครแห่งไซอัน วิสุทธิชนเหล่านี้อาศัยอยู่ใกล้ประชาชนคนอื่นๆ ของเทศมณฑลแจ็คสัน หลายคนไปตามกระแสโลกและไม่รักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์ โดยเลือกเสาะหาความบันเทิงรูปแบบต่างๆ แทน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:9 “รักษาตัวให้หมดจดจากโลก”

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าการรับส่วนศีลระลึกจะช่วยให้เรายังคงหมดจดจากโลกได้อย่างไร

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“เรามีชีวิตอยู่ในเวลาน่ากลัวที่อัครสาวกเปาโลพยากรณ์ไว้ (ดู 2 ทิโมธี 3:1) คนที่พยายามเดินในทางคับแคบและแคบมองเห็นทางเบี่ยงดึงดูดใจอยู่รอบด้าน เราสามารถวอกแวก รู้สึกด้อยค่า หดหู่ หรือท้อแท้ เราจะมีพระวิญญาณของพระเจ้านำทางเราในการเลือกและทำให้เรายังอยู่บนเส้นทางได้อย่างไร

“ในการเปิดเผยยุคปัจจุบันพระเจ้าประทานคำตอบไว้ในพระบัญญัติข้อนี้

“‘และเพื่อเจ้าจะรักษาตัวให้หมดจดจากโลกได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น, เจ้าจงไปยังบ้านแห่งการสวดอ้อนวอนและถวายศีลระลึกของเจ้าในวันศักดิ์สิทธิ์ของเรา;

‘“เพราะตามจริงแล้ว นี่คือวันที่กำหนดไว้ให้เจ้าเพื่อพักผ่อนจากการทำงานของเจ้า, และเพื่อแสดงความจงรักของเจ้าแด่พระผู้สูงสุด’ (คพ. 59:9–10)

“นี่เป็นพระบัญญัติพร้อมคำสัญญา การมีส่วนร่วมทุกสัปดาห์และอย่างเหมาะสมในศาสนพิธีศีลระลึกทำให้เรามีคุณสมบัติคู่ควรกับสัญญาที่ว่าเราจะ ‘มีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับ [เรา] ตลอดเวลา’ (คพ. 20:77) พระวิญญาณองค์นั้นทรงเป็นรากฐานประจักษ์พยานของเรา ทรงเป็นพยานถึงพระบิดาและพระบุตร ทรงนำทุกสิ่งมาสู่ความทรงจำของเรา และทรงนำเราเข้ามาหาความจริง พระองค์เป็นเข็มทิศชี้นำเราบนเส้นทางของเรา ประธานวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์สอนว่า ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์นี้ ‘เป็นของประทานประเสริฐสุดที่สามารถมอบให้มนุษย์ได้’ (Deseret Weekly, Apr. 6, 1889, 451) …

“เราจะมีพระวิญญาณของพระเจ้าชี้นำการเลือกของเราได้อย่างไรเพื่อให้เรายังคง ‘หมดจดจากโลก’ (คพ. 59:9) และอยู่บนเส้นทางปลอดภัยตลอดความเป็นมรรตัย เราต้องมีคุณสมบัติคู่ควรรับพลังการชำระให้สะอาดอันเนื่องจากการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เราทำสิ่งนี้โดยทำตามพระบัญชาให้มาหาพระองค์ด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด รับส่วนเครื่องหมายของศีลระลึกและทำพันธสัญญาทุกสัปดาห์ในการประชุมที่ยอดเยี่ยมนั้นเพื่อทำให้เรามีคุณสมบัติคู่ควรกับสัญญาอันล้ำค่าที่ว่าเราจะมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับเราตลอดเวลา (ดู คพ. 20:77)” (“การประชุมศีลระลึกและพิธีศีลระลึก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 21, 25)