เซมินารี
บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน: หลักคำสอนและพันธสัญญา 45–48 (หน่วย 11)


บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 45–48 (หน่วย 11)

เนื้อหาเตรียมสอนสำหรับครูภาคการศึกษาที่บ้าน

บทสรุปของบทเรียนภาคการศึกษาที่บ้านประจำวัน

บทสรุปต่อไปนี้ของเหตุการณ์ หลักคำสอน และหลักธรรมที่นักเรียนเรียนรู้ขณะศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 45–48 (หน่วย 11) ไม่ได้มีเจตนาให้ใช้สอนในบทเรียนของท่าน บทเรียนที่ท่านสอนเน้นเฉพาะหลักคำสอนและหลักธรรมเหล่านี้เพียงไม่กี่ข้อ จงทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขณะพิจารณาความต้องการของนักเรียน

วันที่ 1 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:1–15)

ในข้อต้นๆ ของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 45นักเรียนอ่านว่าพระเยซูคริสต์ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกและพระองค์ทรงเป็นพระผู้วิงวอนพระบิดาบนสวรรค์แทนเรา เมื่อเราเรียนเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อเรา เราปรารถนาจะสดับฟังสุรเสียงของพระองค์มากขึ้น

วันที่ 2 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:16–75)

จากการศึกษาเครื่องหมายการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์ นักเรียนเรียนรู้ว่าหากเรายืนอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และมองหาเครื่องหมาย เราจะพร้อมสำหรับเหตุการณ์ยิ่งใหญ่นั้น จากอุปมาเรื่องหญิงพรหมจารีสิบคน พวกเขาเรียนรู้ว่าหากเราได้รับความจริงและยอมรับพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์เป็นผู้นำทางเรา เราจะทนอยู่ได้ ณ การเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด บทนี้แนะนำให้นักเรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเยรูซาเล็มใหม่ด้วย

วันที่ 3 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 46)

นักเรียนใช้เวลาในบทนี้ตรึกตรองว่าควรดำเนินการประชุมของศาสนจักรอย่างไร พวกเขาเรียนรู้ว่าผู้นำศาสนจักรพึงได้รับการนำทางจากพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขณะดำเนินการประชุมและพระเจ้าทรงบัญชาให้เราต้อนรับทุกคนเข้าสู่การประชุมทั่วไปของเรา นักเรียนระบุวิธีหลีกเลี่ยงการถูกหลอกเช่นกัน คือ (1) ทำตามพระวิญญาณในความบริสุทธิ์อย่างหมดจด และ (2) เรียกหาพระผู้เป็นเจ้าและดำเนินชีวิตด้วยการน้อมขอบพระทัยพระองค์ จากนั้นนักเรียนศึกษาเกี่ยวกับจุดประสงค์ของของประทานฝ่ายวิญญาณ

วันที่ 4 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 47–48)

ขณะที่นักเรียนเรียนเรื่องความสำคัญของการจัดเก็บบันทึกศาสนจักร พวกเขาค้นพบความจริงว่าหากเราซื่อสัตย์ในการพยายามจัดเก็บประวัติส่วนตัว พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยเรา เมื่อนักเรียนศึกษาบริบทด้านประวัติศาสตร์ของวิสุทธิชนที่ย้ายถิ่นจากนิวยอร์กมาถึงโอไฮโอ พวกเขาใคร่ครวญพระบัญชาของพระเจ้าให้แบ่งปันสิ่งที่เรามีกับคนตกทุกข์ได้ยาก

คำนำ

บทนี้เกี่ยวข้องกับพระเยซูคริสต์ผู้ทรงห่วงใยเราทุกคน นักเรียนจะมีโอกาสเชื่อมโยงหลักคำสอนและหลักธรรมที่เรียนรู้ตลอดสัปดาห์กับวิธีที่พระเจ้าทรงแสดงความรักต่อเรา

หมายเหตุ: ในการศึกษาส่วนตัวนักเรียนพยายามท่องจำและประยุกต์ใช้ข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:33 ท่านอาจต้องการขอให้นักเรียนท่องข้อนี้และแบ่งปันว่าพวกเขาคิดว่าเยาวชนจะ “บ่มเพาะคุณธรรมและความบริสุทธิ์ต่อหน้า [พระเจ้า] เสมอไป” ได้อย่างไร

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 45–46

พระเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญและของประทานในวันเวลาสุดท้าย

เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ตอนนี้ใครกำลังคิดถึงท่าน

ท่านอาจต้องการกระตุ้นให้นักเรียนใช้เวลาสักครู่ทบทวน หลักคำสอนและพันธสัญญา 45–46โดยมองหาข้อที่พวกเขาทำเครื่องหมายไว้และความจริงที่พวกเขาระบุซึ่งสนับสนุนแนวคิดที่ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงกำลังคิดถึงพวกเขาและสนพระทัยพวกเขาเป็นส่วนตัว ขอให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามบนกระดาน และเชื้อเชิญให้พวกเขาตอบ

  • ท่านเรียนรู้อะไรในการศึกษาสัปดาห์นี้ที่ช่วยให้ท่านเข้าใจว่าพระเจ้าทรงเป็นห่วงท่าน (คำตอบของนักเรียนอาจสะท้อนแนวคิดต่อไปนี้: พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นพระผู้วิงวอนพระบิดาแทนเรา พระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงความรักต่อเราโดยทรงเปิดเผยเหตุการณ์ก่อนการเสด็จมาครั้งที่สอง และพระผู้เป็นเจ้าประทานของประทานแห่งพระวิญญาณเมื่อเราแสวงหาและดำเนินชีวิตคู่ควรกับของประทานเหล่านั้น)

เตือนความจำนักเรียนว่า ณ เวลานี้ในประวัติศาสนจักร ศัตรูกำลังแพร่คำเท็จและรายงานเท็จเกี่ยวกับศาสนจักรและศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ การเปิดเผยใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 45 เตือนนักเรียนว่าพระเจ้าทรงนึกถึงพวกเขาโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ยากนี้

เชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:1–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและพิจารณาว่าการเปิดเผยนี้อาจปลอบโยนวิสุทธิชนในช่วงเวลาของการข่มเหงได้อย่างไร ท่านอาจจะให้นักเรียนหยุดครู่หนึ่งขณะอ่านเพื่อให้ท่านได้ถามคำถามบางข้อหลังจากอ่านข้อที่สอดคล้อง

  • หลักคำสอนที่ว่า พระเยซูคริสต์ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก (คพ.45:1) แสดงให้เห็นความสนพระทัยของพระผู้ช่วยให้รอดในตัวท่านอย่างไร

  • พระดำรัสของพระเจ้าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:2 แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงห่วงใยท่านอย่างไร

  • จาก ข้อ 3ท่านเข้าใจว่าวลี “วิงวอนแก้ต่างให้เจ้า” หมายถึงอะไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 4พระผู้ช่วยให้รอดทรงประสบอะไรที่ทำให้พระองค์ทรงสามารถเป็นผู้วิงวอนพระบิดาบนสวรรค์แทนเรา (พระองค์ทรงประสบความทุกขเวทนาและความตาย อีกทั้งทรงดำเนินพระชนม์ชีพปราศจากบาป ท่านอาจต้องการเชิญนักเรียนคนหนึ่งอธิบายบทบาทของผู้วิงวอนจากสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในการศึกษาส่วนตัว)

  • การรู้ว่า พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้วิงวอนพระบิดาบนสวรรค์แทนเรา ส่งผลต่อการเลือกและการกระทำของท่านเวลานี้อย่างไร

เพื่อเน้นความเป็นห่วงของพระผู้ช่วยให้รอด ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ ขอให้ชั้นเรียนฟังเพื่อหาข้อคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทบาทของพระผู้ช่วยให้รอดในฐานะพระผู้วิงวอนแทนเรา

ภาพ
ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

“[พระเยซูคริสต์] ทรงยืนระหว่างพระบิดากับมนุษย์ พระองค์ทรงอ้อนวอนแทนเรา ท่านรู้ว่าเมื่อพระองค์ประทับบนแผ่นดินโลกพระองค์ทรงสวดอ้อนวอนบ่อยครั้งและพระองค์ทรงสวดอ้อนวอนให้เหล่าสาวกของพระองค์ โดยทรงอ้อนวอนพระบิดาแทนพวกเขา และพระองค์ทรงอ้อนวอนนับแต่นั้น และทรงยืนระหว่างเรากับพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาของเรา” (ใน Conference Report, Oct. 1953, 58)

  • ท่านคิดว่าคนๆ หนึ่งจะขอบพระทัยพระผู้ช่วยให้รอดที่ทรงวิงวอนแทนเขาได้อย่างไร (เพื่อช่วยให้นักเรียนแบ่งปันคำตอบของคำถามนี้ ท่านอาจต้องการให้พวกเขาดูสิ่งที่เขียนไว้ในงานมอบหมายให้เขียนครั้งที่สองในบทเรียนสำหรับวันที่ 1 ของหน่วยนี้ [คพ. 45:1–15])

ขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขารู้สึกว่าไม่มีใครนึกถึงพวกเขาหรือรู้สึกว่าพวกเขาสำคัญน้อยกว่าคนอื่น

อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้นักเรียนฟังว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงรู้สึกอย่างไรต่อพวกเขาแต่ละคน

ภาพ
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“พี่น้องที่รัก ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าไม่มีสักคนเดียวในพวกเราที่พระผู้เป็นเจ้าทรงรักและหวงแหนน้อยกว่าอีกคนหนึ่ง ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพระองค์ทรงรักเราทุกคนไม่ว่าเราจะขาดความมั่นใจ มีความกังวล มีภาพลักษณ์เฉพาะตน และทุกรูปแบบ พระองค์ไม่ได้วัดที่พรสวรรค์หรือรูปร่างหน้าตา หน้าที่การงาน หรือทรัพย์สมบัติ พระองค์ทรงให้กำลังใจผู้เข้าแข่งขัน ทุกคน โดยทรงขอให้แข่งกับบาป ไม่ใช่ แข่งกันเอง ข้าพเจ้าทราบว่าถ้าเราซื่อสัตย์ เสื้อคลุมแห่งความชอบธรรมที่สวมได้พอดีตัวมีเตรียมไว้ให้ ทุกคน” (“บุตรหายไปอีกคนหนึ่ง,” เลียโฮนา, ก.ค. 2002, 79)

เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขาเมื่อรู้สึกว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นห่วงพวกเขาหรือเมื่อรู้สึกว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงให้กำลังใจพวกเขา

อธิบายว่าวิธีหนึ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงปลอบโยนวิสุทธิชนยุคแรกในการข่มเหงช่วงนี้คือบอกพวกเขาว่าพระองค์จะเสด็จมาแผ่นดินโลกอีกครั้งเพื่ออวยพรพวกเขา เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:55–59

ขอให้นักเรียนอ่านข้อเหล่านี้ในใจโดยมองหาว่าวิสุทธิชนจะได้รับพรอย่างไรเมื่อพระองค์เสด็จมา

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 57เราต้องทำอะไรจึงจะพร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด (เขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: หากเราได้รับความจริงและยอมรับพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์เป็นผู้นำทางเรา เราจะทนอยู่ได้ ณ การเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด)

  • ท่านคิดว่าการรับความจริงและยอมรับพระวิญญาณเป็นผู้นำทางเราเตรียมเราให้พร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์อย่างไร

  • ท่านได้ทำอะไรเพื่อรับและยอมรับความจริงในชีวิตท่าน ท่านได้รับการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เมื่อใด (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ท่านอาจจะแบ่งปันประสบการณ์จากชีวิตท่านเอง)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 47–48

วิสุทธิชนพึงจัดเก็บประวัติเป็นประจำและแบ่งปันแหล่งข้อมูลให้กัน

เตือนความจำนักเรียนว่าการศึกษาส่วนหนึ่งของพวกเขาสัปดาห์นี้เน้นความสำคัญของการจัดเก็บประวัติหรือบันทึกส่วนตัว เพื่อกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนพยายามจัดเก็บประวัติส่วนตัวต่อไปหรือเริ่มทำ ท่านอาจจะต้องการถามพวกเขาว่าเหตุใดการจัดเก็บประวัติส่วนตัวจึงสำคัญ

เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันว่าพวกเขาเคยประสบพรอะไรบ้างจากการจัดเก็บประวัติส่วนตัวหรือจากการอ่านประวัติของพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือบรรพชนของพวกเขา

หน่วยถัดไป (หลักคำสอนและพันธสัญญา 49–56)

เพื่อเตรียมนักเรียนให้พร้อมศึกษาระหว่างสัปดาห์ที่จะมาถึง ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้พวกเขาพิจารณาดังนี้: เราพึงสั่งสอนพระกิตติคุณให้ผู้อื่นอย่างไร ท่านจะบอกได้อย่างไรว่าท่านกำลังสอนหรือเรียนรู้โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ เคยไหมที่ท่านมองไม่ออกว่าสิ่งนั้นมาจากพระผู้เป็นเจ้าหรือจากแหล่งอื่น อธิบายว่าในหน่วยถัดไปพวกเขาจะเรียนรู้ว่าพระเจ้าทรงสอนอะไรเกี่ยวกับวิธีรับรู้ความจริงและหลีกเลี่ยงคำสอนเท็จ