เซมินารี
บทที่ 110: หลักคำสอนและพันธสัญญา 105


บทที่ 110

หลักคำสอนและพันธสัญญา 105

คำนำ

ในการเชื่อฟังคำแนะนำของพระเจ้า ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธกับอาสาสมัครและทหารใหม่อีกราว 200 คนจัดตั้งกลุ่มที่รู้กันในชื่อว่าค่ายไซอันเพื่อไปช่วยวิสุทธิชนที่ถูกขับไล่ออกจากเทศมณฑลแจ็คสัน มิสซูรี วันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1834 ขณะตั้งค่ายอยู่ใกล้แม่น้ำฟิชชิงในมิสซูรี โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 105 ในการเปิดเผยนี้ พระเจ้าทรงแจ้งวิสุทธิชนว่าแผ่นดินแห่งไซอันจะไม่ได้รับการไถ่ ณ เวลานั้น พระเจ้าประทานคำแนะนำเช่นกันเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นเพื่อไถ่ไซอันในอนาคต

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 105:1–19

พระเจ้าทรงแนะนำวิสุทธิชนให้รอการไถ่ไซอัน

ก่อนชั้นเรียน ให้เตรียม ถ้วยกระดาษ หนังยาง และด้ายสามเส้น เส้นรอบวงของหนังยางต้องน้อยกว่าเส้นรอบวงของถ้วยกระดาษ ผูกเชือกกับยางรัดให้ระยะห่างเท่ากัน

ภาพ
ถ้วยกระดาษ ยางรัด เชือก

เริ่มบทเรียนโดยขออาสาสมัครสามคน วางถ้วยไว้บนพื้นราบ และแนะนำให้อาสาสมัครยกถ้วยโดยใช้ยางรัดกับเชือก บอกพวกเขาว่าพวกเขาจะแตะยางรัดไม่ได้ พวกเขาต้องจับเชือก (เพื่อทำงานนี้ให้สำเร็จ นักเรียนจะต้องดึงด้ายพร้อมกันด้วยแรงเท่ากันเพื่อให้หนังยางยืดออกจนกว้างพอจะคล้องและยกถ้วยขึ้นมาได้)

หลังจากนักเรียนทำกิจกรรมนี้แล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • ความสามัคคีมีบทบาทอะไรในการทำงานนี้ให้สำเร็จ

เตือนความจำนักเรียนว่าในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1834 พระเจ้าทรงแนะนำศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและคนอื่นๆ ให้รวบรวมทรัพย์สมบัติทางโลกและเกณฑ์อาสาสมัครไปช่วยเหลือวิสุทธิชนที่ถูกไล่ออกจากเทศมณฑลแจ็คสัน มิสซูรีในการทวงที่ดินคืน ขณะนักเรียนเริ่มการสนทนา หลักคำสอนและพันธสัญญา 105วันนี้ กระตุ้นให้พวกเขามองหาบทบาทของความสามัคคีขณะวิสุทธิชนพยายามทวงแผ่นดินแห่งไซอันคืน

ขอให้นักเรียนนึกถึงจำนวนอาสาสมัครที่พระเจ้าทรงประสงค์จะให้ร่วมค่ายไซอัน (500 คน) และจำนวนต่ำสุดที่พระองค์ทรงเรียกร้อง (100 คน) จากการศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 103 เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าต่อไปนี้ ขอให้ชั้นเรียนฟังจำนวนคนที่อาสาเข้าร่วมค่ายไซอันจริงๆ เมื่อกลุ่มนี้ออกเดินทางครั้งแรก

เมื่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและคนอื่นๆ พยายามเกณฑ์อาสาสมัครและทรัพย์สินเงินทองให้แก่ค่ายไซอัน พวกท่านไม่ประสบผลสำเร็จดังหวัง ขณะที่ค่ายหรือกองทหารเริ่มเดินทัพเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1834 มีคนอาสาไปเพียง 122 คนเท่านั้น ค่ายไซอันเกณฑ์อาสาสมัครเพิ่มระหว่างทางไปมิสซูรี เมื่อกลุ่มที่ไฮรัม สมิธกับไลมัน ไวท์เกณฑ์จากเขตมิชิแกนมาสมทบกับคณะของโจเซฟ สมิธเมื่อต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1834 ค่ายไซอันมีชายเพียง 200 กว่าคน หญิง 12 คน และเด็ก 9 คน (ดู Alexander L. Baugh, “Joseph Smith and Zion’s Camp,” Ensign, June 2005, 45)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 105:7–8 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาเหตุผลประการหนึ่งว่าทำไมสมาชิกบางคนของศาสนจักรจึงเลือกไม่ช่วยเพื่่อนวิสุทธิชนในมิสซูรี จากนั้นขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 105:1–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าการไม่เชื่อฟังและการขาดความสามัคคีมีผลต่อสมาชิกของศาสนจักรอย่างไร (เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความหมายของ ข้อ 5ดีขึ้น อาจเป็นประโยชน์ถ้าจะอธิบายว่า “กฎของอาณาจักรซีเลสเชียล” รวมถึงกฎและหลักธรรมทั้งหมดที่เราต้องเชื่อฟัง ศาสนพิธีที่เราต้องได้รับ และพันธสัญญาที่เราต้องรักษาเพื่อสืบทอดอาณาจักรซีเลสเชียลเป็นมรดก)

  • สมาชิกศาสนจักรไม่สามัคคีและไม่เชื่อฟังในด้านใด

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ เราต้องทำอะไรเพื่อช่วยเสริมสร้างไซอัน (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้ช่วยพวกเขาระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เพื่อช่วยเสริมสร้างไซอัน เราต้องสามัคคีกันและเชื่อฟังทั้งหมดที่พระผู้เป็นเจ้าทรงขอ)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงต้องมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและการเชื่อฟังจึงจะเสริมสร้างไซอันได้

  • ประสบการณ์ใดได้ ช่วยให้ท่านเข้าใจ ความสำคัญของการที่สมาชิกศาสนจักรต้องสามัคคีกัน

อธิบายว่าคนที่อาสาไปค่ายไซอันประสบความท้าทายและปาฏิหาริย์มากมายตลอดการเดินทางของพวกเขา เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าต่อไปนี้ ขอให้ชั้นเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาอาจจะตอบสนองความท้าทายบางอย่างอย่างไร

ค่ายไซอันเดินทัพราว 900 ไมล์ (1,450 กิโลเมตร) ผ่าน 4 รัฐ โดยเดินทางวันละประมาณ 20 ถึง 40 ไมล์ (ราว 30–60 กิโลเมตร) นาน 45 วัน สมาชิกค่ายประสบกับเท้าเป็นแผลพุพอง สภาพอากาศร้อนชื้น ความขาดแคลนอาหาร และอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ครั้งหนึ่ง ความกระหายอย่างรุนแรงทำให้สมาชิกค่ายบางคนจำใจดื่มน้ำในหนองซึ่งต้องกรองเอาลูกน้ำออกก่อน (บางครั้งก็ใช้ฟันเป็นตัวกรอง) หรือดื่มน้ำจากรอยเท้าม้าหลังเกิดพายุฝน ตลอดการเดินทาง ค่ายไซอันมักถูกผู้อื่นข่มขู่ด้วยการใช้กำลัง (ดู ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003], 145–147)

  • ท่านคิดว่าท่านจะตอบสนองความท้าทายเหล่านี้อย่างไร

อธิบายว่าหลังจากสมาชิกของค่ายไซอันมาถึงมิสซูรี พวกเขาทราบว่าดาเนียล ดังคลินผู้ว่าการรัฐมิสซูรีไม่ยอมรักษาสัญญาว่าจะช่วยให้วิสุทธิชนได้กลับไปแผ่นดินของพวกเขาในเทศมณฑลแจ็คสัน แม้ข่าวนี้จะทำให้ท้อใจ แต่ค่ายไซอันยังคงเดินหน้าไปเทศมณฑลแจ็คสันขณะรอคำแนะนำเพิ่มเติมจากพระเจ้า

บอกนักเรียนว่าคำแนะนำนั้นมาในการเปิดเผยจากพระเจ้าเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1834 หลังจากค่ายไซอันเดินทางราวเจ็ดสัปดาห์และอยู่ห่างจากเทศมณฑลแจ็คสันเพียง 10–20 ไมล์เท่านั้น (ราว 15–30 กิโลเมตร) เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 105:9–14 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าตรัสว่าพวกเขาต้องทำเกี่ยวกับการไถ่ไซอัน

  • พระเจ้าทรงแนะนำให้ค่ายทำอะไรเกี่ยวกับการไถ่ไซอัน

  • หากท่านเป็นสมาชิกของค่ายไซอัน ท่านจะรู้สึกอย่างไรเมื่อได้ยินการเปิดเผยนี้ก่อนถึงจุดหมาย

  • พระเจ้าประทานเหตุผลอะไรบ้างที่จะไม่ทรงไถ่ไซอันเวลานั้น

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 105:18–19 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสาเหตุที่พระเจ้ารับสั่งให้ค่ายไซอันเดินทางไปมิสซูรีและจากนั้นทรงเปิดเผยว่าพวกเขาไม่ต้องให้วิสุทธิชนกลับไปแผ่นดินแห่งไซอันเวลานั้น

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ เหตุใดพระเจ้าทรงบัญชาให้ค่ายไซอันเดินทางไปถึงมิสซูรีและจากนั้นทรงเปิดเผยว่าจะยังไม่ไถ่ไซอัน (นี่เป็นการทดลองศรัทธา อาจจะเป็นประโยชน์ถ้าอธิบายว่าการทดลองศรัทธาสามารถหมายถึงการทดสอบว่าเราจะเลือกวางใจและเชื่อฟังพระเจ้าไม่ว่าสภาวการณ์เป็นเช่นไรหรือไม่)

  • สมาชิกค่ายไซอันถูกทดสอบศรัทธาในด้านใดระหว่างประสบการณ์ของพวกเขา

  • เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากข้อเหล่านี้ (หลักธรรมหนึ่งที่นักเรียนอาจระบุคือ พระผู้เป็นเจ้าทรงเตรียมพรอันสำคัญยิ่งให้คนที่ซื่อสัตย์ตลอดการทดลองของพวกเขา)

  • ท่านหรือคนรู้จักเคยประสบการทดลองศรัทธาเมื่อใด การทดลองศรัทธาของท่านเตรียมท่านให้พร้อมรับพรมากมายยิ่งขึ้นอย่างไร

บอกนักเรียนว่าชายหลายคนที่รับใช้กับค่ายไซอันได้รับพรให้มีโอกาสรับใช้ในอาณาจักรของพระเจ้า ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1835 ศาสนจักรจัดตั้งโควรัมอัครสาวกสิบสองและโควรัมที่หนึ่งแห่งสาวกเจ็ดสิบ อัครสาวกเก้าคนแรกและสมาชิกโควรัมสาวกเจ็ดสิบทุกคนเคยรับใช้ในค่ายไซอัน (ดู ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา, 152)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ ขอให้ชั้นเรียนฟังบทบาทของค่ายไซอันในการเตรียมชายเหล่านั้นให้พร้อมรับตำแหน่งผู้นำ

ภาพ
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงต้องการให้ท่านต่อสู้ พระองค์ไม่ทรงจัดตั้งอาณาจักรโดยให้ชายสิบสองคนเปิดประตูพระกิตติคุณให้ประชาชาติต่างๆ ของแผ่นดินโลกและให้ชายเจ็ดสิบคนภายใต้การกำกับดูแลของพวกเขาเดินตามรอยพวกเขา เว้นเสียแต่พระองค์ทรงนำพวกเขาออกจากกลุ่มคนที่เคยมอบชีวิตตนและเคยทำการเสียสละมากเท่าอับราฮัม” (ใน History of the Church, 2:182; ดู ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา, 152)

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านถึงความสำคัญของการวางใจและการเชื่อฟังพระเจ้าเมื่อศรัทธาของเรากำลังถูกทดสอบ

หลักคำสอนและพันธสัญญา 105:20–41

พระเจ้าทรงสอนวิสุทธิชนว่าต้องทำอะไรก่อนไถ่ไซอัน

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 105:20–37 โดยอธิบายว่าพระเจ้ารับสั่งกับวิสุทธิชนในมิสซูรีว่าพวกเขาต้องตอบสนองการข่มเหงที่กำลังประสบอย่างไรขณะรอการไถ่ไซอันในอนาคต พระองค์ทรงแนะนำให้พวกเขานอบน้อมถ่อมตนและไม่จุดชนวนความขัดแย้ง พระองค์ทรงอธิบายว่าพวกเขาต้องได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ขณะเตรียมรับการไถ่ไซอันในท้ายที่สุด ดังที่พระองค์ตรัสไว้ก่อนหน้านี้ในการเปิดเผยเดียวกัน พวกเขาต้อง “ได้รับการสอนอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น, และมีประสบการณ์, และรู้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้นเกี่ยวกับหน้าที่ของพวกเขา, และสิ่งซึ่ง [พระองค์ทรง] เรียกร้องจากมือพวกเขา” (คพ. 105:10)

  • เราควรตอบสนองการข่มเหงด้วยวิธีใดบ้าง

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 105:38–41 ในใจและเลือกวลีหนึ่งจากข้อเหล่านี้ที่สรุปสิ่งที่พระเจ้ารับสั่งให้วิสุทธิชนทำในการตอบโต้ผู้ข่มเหงพวกเขา

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 40พรอะไรจะมาถึงวิสุทธิชนในมิสซูรีหากพวกเขามุ่งหมายจะสร้างสันติกับผู้อื่น (คำตอบของนักเรียนควรสะท้อนหลักธรรมต่อไปนี้: หากเรามุ่งหมายจะสร้างสันติกับผู้อื่น เมื่อนั้นสิ่งทั้งปวงจะร่วมกันส่งผลเพื่อความดีของเรา)

  • เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยสร้างสันติกับผู้อื่น

  • ท่านเคยได้รับพรอย่างไรเมื่อท่านมุ่งหมายจะสร้างสันติ รวมทั้งกับคนที่อาจจะข่มเหงท่าน

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองสิ่งหนึ่งที่พวกเขาทำได้เพื่อมุ่งหมายจะสร้างสันติกับผู้อื่นมากขึ้นในชีวิตพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และเขียนเป้าหมายลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาว่าจะทำตามหลักธรรมนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 105 การออกเดินทางของค่ายไซอัน

ก่อนออกจากเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอ โจเซฟ สมิธ “สัญญากับพี่น้องชายว่าหากพวกเขาทุกคนจะดำเนินชีวิตตามที่ควรต่อพระพักตร์พระเจ้าโดยรักษาพระบัญญัติของพระองค์ … พวกเขาทุกคนจะกลับมาอย่างปลอดภัย” (ใน ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003], 145) หาไม่แล้ว ท่านศาสดาพยากรณ์เตือน พวกเขาจะประสบพระพิโรธของพระผู้เป็นเจ้า

ด้วยความเชื่อมั่นเช่นนั้น สมาชิกค่ายไซอันจึงออกเดินทางโดยรู้ว่าการร่วมเดินทางครั้งนี้ทำให้ชีวิตพวกเขาตกอยู่ในอันตราย ฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์พูดถึงความรู้สึกของหลายคนเวลานั้นว่า

ภาพ
ฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์

“เราเริ่มเดินทางวันที่ 5 พฤษภาคม (ค.ศ. 1834) และนี่เป็นเช้าที่เคร่งขรึมสำหรับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าร่ำลาภรรยา ลูกๆ และเพื่อนๆ ไม่รู้ว่าข้าพเจ้าจะได้พบพวกเขาอีกครั้งในเนื้อหนังหรือไม่ เนื่องจากศัตรูข่มขู่ข้าพเจ้ากับพี่น้องชายทั้งในประเทศและในมิสซูรีว่าพวกเขาจะทำลายเราและกำจัดเราให้สิ้นจากแผ่นดิน” (ใน ออร์สัน เอฟ. วิทนีย์, The Life of Heber C. Kimball [1945], 40)

ผู้ชายหลายคนในค่ายไซอันทิ้งเงินไว้ให้ครอบครัวเล็กน้อยหรือไม่ทิ้งเงินไว้เลยและไม่มีแหล่งรายได้ เพื่อไม่ให้ลำบากเกินไป สมาชิกของศาสนจักรจึงปลูกผักสวนครัวให้สตรีและเด็กได้เก็บเกี่ยวข้าวโพดและพืชผลอื่นๆ ระหว่างกองทหารไม่อยู่ อายุเฉลี่ยของผู้ชายในค่ายคือ 29 ปี จอร์จ อัลเบิร์ต สมิธลูกพี่ลูกน้องของท่านศาสดาพยากรณ์อายุ 16 ปี และแอดดิสัน กรีนีอายุ 14 ปี อายุมากสุดคือ 79 ปี โจเซฟ สมิธผู้ได้รับเลือกเป็น “ผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพอิสราเอล” อายุเพียง 28 ปีเท่านั้น (ดู ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา, 143–153)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 105 พระเจ้าทรงคุ้มครองค่ายไซอัน

ตลอดการเดินทาง ค่ายไซอันมักถูกผู้อื่นข่มขู่ด้วยการใช้กำลังอยู่บ่อยครั้ง แต่พระเจ้าทรงทำตามสัญญาที่อยู่ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 103:20 โจเซฟ สมิธกล่าวว่า “ทั้งที่ศัตรูของเราพูดข่มขู่ตลอดเวลาว่าจะทำร้ายเรา แต่เราไม่กลัวและไม่ลังเลที่จะเดินทางต่อ เพราะพระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่กับเรา เทพของพระองค์อยู่ข้างหน้าเรา ศรัทธาของกลุ่มเล็กๆ ของเราไม่หวั่นไหว เรารู้ว่าเหล่าเทพเป็นเพื่อนร่วมทางของเรา เพราะเราเห็นพวกท่าน” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 312)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 105:5 กฎของอาณาจักรซีเลสเชียล

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“กฎของอาณาจักรซีเลสเชียลคือ … กฎและพันธสัญญาพระกิตติคุณ ซึ่งรวมถึงการระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดตลอดเวลาและการปฏิญาณตนว่าจะเชื่อฟัง เสียสละ อุทิศถวาย และภักดี” (“มาสู่ไซอัน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 49)

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน กล่าวว่า:

ภาพ
ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

“กฎของพระกิตติคุณครอบคลุมกฎ หลักธรรม และศาสนพิธีทั้งหมดจำเป็นต่อความสูงส่งของเรา” (The Teachings of Ezra Taft Benson [1988], 337)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 105:19 “การทดลองศรัทธาของพวกเขา”

พระบัญชาให้กลับไปเคิร์ทแลนด์โดยไม่ต้องต่อสู้เพื่อปกป้องวิสุทธิชนในมิสซูรีเป็นการทดลองศรัทธาของสมาชิกหลายคนในค่ายไซอัน บางคนกบฏอย่างเปิดเผยและละทิ้งความเชื่อในเวลาต่อมา ช่วงแรกของการเดินทาง ท่านศาสดาพยากรณ์เตือนสมาชิกของค่ายไซอันว่าความไม่สามัคคี ความขัดแย้ง และการไม่เชื่อฟังของพวกเขาจะนำหายนะ (ความทุกข์ใหญ่หลวงหรือความเจ็บป่วย) มาสู่พวกเขา เนื่องด้วยความโกรธและการพร่ำบ่นอย่างไม่สมควรจากการที่พระเจ้ารับสั่งไม่ให้ต่อสู้ ท่านศาสดาพยากรณ์จึงย้ำคำเตือนนี้ วันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1834 สมาชิกหลายคนของค่ายไซอันป่วยเป็นอหิวาตกโรค โรคดังกล่าวระบาดไปทั่ว ส่งผลให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง อาเจียน และขาเป็นตะคริว ก่อนโรคนี้หยุดระบาด มีผู้ป่วยราว 68 คนรวมทั้งโจเซฟ สมิธด้วย และสมาชิกค่าย 13 คนกับสมาชิกในท้องที่ 2 คนเสียชีวิต โจเซฟ สมิธกล่าวว่าวันที่ 2 กรกฎาคม ท่าน “บอกพวกเขาว่าหากพวกเขาจะนอบน้อมถ่อมตนต่อพระพัตกร์พระเจ้าและทำพันธสัญญาว่าจะรักษาพระบัญญัติ และเชื่อฟังคำแนะนำของข้าพเจ้า โรคจะหยุดระบาดนับแต่โมงนั้นและจะไม่มีใครในพวกเขาเป็นอหิวาตกโรคอีกเลย พี่น้องชายทำพันธสัญญาตามนั้นด้วยการยกมือ และโรคหยุดระบาด” (ใน History of the Church, 2:120)

พระเจ้าทรงยอมรับการเสียสละของสมาชิกค่ายและประทานพรพวกเขาสำหรับสิ่งที่พวกเขาเต็มใจทำ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1834 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธยุบค่ายไซอัน แม้บางคนไม่ผ่านการทดสอบศรัทธาและออกจากศาสนจักร แต่ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้คนซื่อสัตย์เข้มแข็งขึ้น

เอ็ลเดอร์แฟรงคลิน ดี. ริชาร์ดส์แห่งฝ่ายประธานสาวกเจ็ดสิบอธิบายว่า

ภาพ
ประธานแฟรงคลิน ดี. ริชาร์ดส์

“หลายคนถือว่า ‘การเดินทางของค่ายไซอัน’ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้ประโยชน์และไม่ประสบผลสำเร็จ พี่น้องชายคนหนึ่งในเคิร์ทแลนด์ที่ไม่ได้ไปกับค่ายพูดกับบริคัม ยังก์เมื่อพบท่านขณะท่านกลับมาว่า ‘คุณได้อะไรจากการเดินทางไปมิสซูรีกับโจเซฟ สมิธโดยเปล่าประโยชน์’ ‘ได้ทุกอย่างครับ’ บริคัม ยังก์ตอบ ‘ผมจะไม่ยอมแลกประสบการณ์ที่ได้จากการเดินทางครั้งนี้กับความมั่งคั่งทั้งหมดของเทศมณฑลกูกา’ เทศมณฑลซึ่งอยู่ในเคิร์ทแลนด์เวลานั้น (B. H. Roberts, “Brigham Young, A Character Sketch,” Improvement Era, vol. 6 [June 1903], p. 567.)” (“The Purpose of Life: To Be Proved,” Ensign, Dec. 1971, 50)

ค่ายไซอันเป็นโอกาสให้สมาชิกค่ายได้แสดงให้พระเจ้าและตนเองเห็นความซื่อสัตย์และการอุทิศตนเต็มที่ของพวกเขาเพื่องานของพระเจ้า เฉกเช่นอับราฮัม ผู้นำยุคแรกหลายคนของศาสนจักรประสบการทดสอบที่ออกแบบไว้ให้บรรลุจุดประสงค์จากเบื้องบน เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “คนที่เดินทัพในค่ายไซอันไม่ได้สำรวจชนบทของมิสซูรีแต่สำรวจความเป็นไปได้ของพวกเขาเอง” (“Notwithstanding My Weakness,” Ensign, Nov. 1976, 14)