เซมินารี
บทที่ 61: สถานที่ซึ่งเป็นศูนย์กลางของไซอัน


บทที่ 61

สถานที่ซึ่งเป็นศูนย์กลางของไซอัน

คำนำ

ในฤดูร้อน ปี 1831 วิสุทธิชนบางคนที่มารวมกันในโอไฮโอเริ่มเดินทางไปตั้งรกรากในเขตเทศมณฑลแจ็คสัน รัฐมิสซูรี ในการเปิดเผยต่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1831 พระเจ้าทรงกำหนดให้เมืองอินดิเพนเดนซ์ รัฐมิสซูรีเป็น “สถานที่ซึ่งเป็นศูนย์กลาง” ของไซอัน (คพ. 57:3) วิสุทธิชนต้องเริ่มซื้อที่ดินในเขตนั้น และพวกเขาต้องรักษาพระบัญญัติของพระเจ้าในการเตรียมสร้างไซอันเช่นกัน แต่ระหว่างนั้นเกิดความขัดแย้งระหว่างวิสุทธิชนกับชาวเมืองจำนวนมากของเทศมณฑลแจ็คสัน รัฐมิสซูรีซึ่งชักนำให้กลุ่มคนร้ายใช้กำลังกับวิสุทธิชน วิสุทธิชนถูกบังคับให้ออกจากเทศมณฑลแจ็คสันในเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม ค.ศ. 1833

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

พระเจ้าทรงกำหนดให้เมืองอินดิเพนเดนซ์ รัฐมิสซูรีเป็นสถานที่ซึ่งเป็นศูนย์กลางของไซอัน

ก่อนชั้นเรียนให้เขียนป้าย เคิร์ทแลนด์ โอไฮโอ วางไว้ด้านหนึ่งของห้อง อีกด้านหนึ่งของห้องให้ตั้งป้ายที่อ่านว่า อินดิเพนเดนซ์ มิสซูรี หรือท่านอาจจะอยากวาด แผนที่อย่างง่าย ของสหรัฐตะวันตกโดยทำเครื่องหมายเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอและ อินดิเพนเดนซ์ มิสซูรีให้ชัดเจน (ดูแผนที่ประวัติศาสนจักร แผนที่ 6, การเคลื่อนย้ายไปตะวันตกของศาสนจักร”) ให้ดูแผนที่ขณะสอนบทเรียน

ภาพ
แผนที่ สหรัฐด้านตะวันออกเฉียงเหนือ

เริ่มโดยขอให้นักเรียนสมมติว่าพวกเขากำลังเข้าค่ายและทราบว่าพายุกำลังมา

  • ท่านจะหาที่หลบพายุด้วยวิธีใดบ้าง เต็นท์จะเป็นประโยชน์ในสถานการณ์นี้ได้อย่างไร

อธิบายว่าศาสดาพยากรณ์อิสยาห์พรรณนาว่าไซอันเปรียบเสมือนเต็นท์ใหญ่มาก ท่านกล่าวว่า “จงขยายพื้นที่เต็นท์ของเจ้าให้ใหญ่ขึ้นและยืดม่านที่อาศัยของเจ้าออกไป อย่าหน่วงไว้ จงต่อเชือกของเจ้าให้ยาวขึ้นและเสริมหลักหมุดของเจ้าให้มั่นคง” (อิสยาห์ 54:2) ในสัมฤทธิผลของคำพยากรณ์นี้ พระเจ้ายังคงนำทางฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองในการสถาปนาสเตคแห่งไซอันทั่วโลก

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:41–43 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาพรที่พระเจ้าทรงสัญญากับคนชอบธรรมผู้รวมเข้ามายังไซอัน

  • พระเจ้าทรงสัญญาพรอะไรบ้างกับคนชอบธรรมผู้รวมเข้ามายังไซอัน

อธิบายว่าในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1831 พระเจ้าทรงประกาศว่าแผ่นดินมิสซูรีเป็นแผ่นดินที่สัญญาไว้ของไซอันและอินดิเพนเดนซ์ มิสซูรีเป็น “สถานที่ซึ่งเป็นศูนย์กลาง” ของนครแห่งไซอัน (ดู คพ. 57:1–3)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งยืนหรือนั่งข้างๆ ป้าย อินดิเพนเดนซ์ มิสซูรี เชิญนักเรียนคนหนึ่งวาดรูปเต็นท์บนกระดาน (หากชั้นเรียนใหญ่พอ ท่านอาจนำเต็นท์มาชั้นเรียนและขอให้นักเรียนหนึ่งหรือสองคนกางเต็นท์เพื่อให้เห็นภาพวิสุทธิชนเริ่มสร้างนครหลบภัย)

  • ท่านเคยกางเต็นท์ไม่ถูกวิธีหรือพยายามกางเต็นท์โดยไม่ใช้ชิ้นส่วนทั้งหมดหรือไม่ เกิดอะไรขึ้น

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 105:5 ในใจโดยดูว่าต้องสร้าง “เต็นท์” แห่งไซอันอย่างไรให้พระเจ้าทรงยอมรับ ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

เขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ต้องสร้างไซอันบนหลักธรรมแห่งกฎของอาณาจักรซีเลสเชียล อธิบายว่าหลังจากพระเจ้าทรงเปิดเผยที่ตั้งของแผ่นดินแห่งไซอันในปี ค.ศ. 1831 พระองค์ประทานการเปิดเผยหลายครั้งตลอดสองปีติดต่อกันเพื่ออธิบายหลักธรรมซึ่งวิสุทธิชนควรสร้างไซอันบนนั้น

เขียน พระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ ไว้บนกระดาน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:14–19

หลักคำสอนและพันธสัญญา 97:10–16

หลักคำสอนและพันธสัญญา 97:21–22, 25–27

หลักคำสอนและพันธสัญญา 133:4–9

แบ่งนักเรียนออกเป็นสี่กลุ่ม และมอบหมายพระคัมภีร์อ้างอิงที่เขียนไว้บนกระดานให้กลุ่มละช่วง เชื้อเชิญให้อ่านข้อพระคัมภีร์ที่มอบหมายโดยมองหาหลักธรรมแห่งความชอบธรรมหรือพระบัญญัติที่วิสุทธิชนจะต้องทำตามจึงจะสร้างไซอันสำเร็จ

หลังจากนักเรียนศึกษาข้อที่ได้รับมอบหมายแล้ว ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งเขียนคำตอบของพวกเขาบนกระดาน (คำตอบของนักเรียนควรได้แก่: ดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการอุทิศถวายและหมายมั่นประโยชน์สุขของผู้อื่น [คพ. 82:17–19]; สร้างพระวิหารและรับการสอนที่นั่น [คพ. 97:10–14]; ใจบริสุทธิ์ [คพ. 97:16, 21]; รักษาพระบัญญัติ [คพ. 97:25–26]; และรับการชำระให้บริสุทธิ์และ “ออก … จากบาบิโลน” ซึ่งหมายถึงหันหลังให้ความฝักใฝ่ทางโลก [คพ. 133:4–5])

  • การดำเนินชีวิตตามหลักธรรมแห่งความชอบธรรมเหล่านี้ได้ช่วยวิสุทธิชนสร้างไซอันและได้รับความคุ้มครองจากพายุทางวิญญาณในด้านใด การดำเนินชีวิตตามหลักธรรมนี้จะช่วยคุ้มครองเราในปัจจุบันได้อย่างไร

ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้นักเรียนหลายๆ คนถือพระคัมภีร์ออกมายืนหรือนั่งข้างๆ ป้าย เคิร์ทแลนด์, โอไฮโอ และขอให้นักเรียนหนึ่งหรือสองคนในกลุ่มนี้ไปยืนหรือนั่งข้างๆ ป้าย อินดิเพนเดนซ์ มิสซูรี อธิบายว่าหลังจากพระเจ้าทรงเปิดเผยที่ตั้งของไซอันในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1831 วิสุทธิชนจำนวนมากเดินทางเกือบ 900 ไมล์ไปอินดิเพนเดนซ์ มิสซูรีเพื่อตั้งรกรากและสร้างไซอัน อีกหลายคนยังอยู่ในเคิร์ทแลนด์และในเขตอื่นทางตะวันออก สเตคจะจัดตั้งในเคิร์ทแลนด์วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1834

ชี้ให้ดูรูปเต็นท์ (หรือเต็นท์ที่ท่านนำมาชั้นเรียน) อธิบายว่าขณะวิสุทธิชนช่วยกันสร้างไซอัน พรเกี่ยวกับความคุ้มครองของไซอันขยายมาถึงพวกเขาทุกคน แม้คนที่ไม่ได้อยู่ในอินดิเพนเดนซ์ มิสซูรี วิสุทธิชนทำงานด้วยกันเพื่อบริจาคทุนทรัพย์วางรากฐานของนครแห่งไซอัน ขอให้นักเรียนนึกภาพการขยายเต็นท์ของไซอันให้ครอบคลุมวิสุทธิชนในเคิร์ทแลนด์

เกิดความขัดแย้งระหว่างวิสุทธิชนกับชาวมิสซูรีคนอื่นๆ

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโอไฮโอและมิสซูรีระหว่าง ค.ศ. 1831 กับ ค.ศ. 1833 ขอให้นักเรียนคนหนึ่งที่อยู่ใกล้ป้ายเคิร์ทแลนด์อ่านออกเสียงคำอธิบายต่อไปนี้ว่าวิสุทธิชนในสเตคเคิร์ทแลนด์แห่งไซอันสนับสนุนการสร้างสถานที่ซึ่งเป็นศูนย์กลางของไซอันในมิสซูรีอย่างไร เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนฟังว่าวิสุทธิชนบางคนในเคิร์ทแลนด์ทำอะไรเพื่อช่วยสถาปนาไซอัน

เคิร์ทแลนด์, โอไฮโอ: ระหว่างการประชุมใหญ่ที่จัดขึ้นต่อเนื่องในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1831 โจเซฟ สมิธและผู้นำศาสนจักรคนอื่นๆ รวบรวมการเปิดเผยที่ได้รับจนถึงเวลานั้นและวางแผนพิมพ์เป็นรูปเล่ม ออลิเวอร์ คาวเดอรีและจอห์น วิตเมอร์รับหน้าที่นำการเปิดเผยไปมิสซูรีเพื่อให้วิลเลียม ดับเบิลยู. เฟลพ์สพิมพ์เป็นหนังสือพระบัญญัติ ช่วง ค.ศ. 1831 ถึง 1832 โจเซฟยังคงได้รับการเปิดเผยและแปลพระคัมภีร์ไบเบิล ในฤดูใบไม้ผลิ ปี 1832 โจเซฟเดินทางไปมิสซูรีเพื่อเยี่ยมวิสุทธิชนในไซอัน ท่านเตือนพวกเขาว่าซาตานหมายมั่นจะ “ทำให้ใจพวกเขาหันหลังให้ความจริง” (คพ. 78:10) และประสานงานเรื่องคลังของอธิการในเคิร์ทแลนด์และอินดิเพนเดนซ์ สมาชิกศาสนจักรบางคนในโอไฮโอบริจาคเงินช่วยซื้อที่ดินและวัสดุต่างๆ ในมิสซูรี วิสุทธิชนจำนวนมากยังคงย้ายไปไซอัน และราวปลายปี 1832 สมาชิกศาสนจักรประมาณหนึ่งในสามอาศัยอยู่ในเทศมณฑลแจ็คสัน

  • โจเซฟ สมิธและวิสุทธิชนคนอื่นๆ ในเคิร์ทแลนด์ช่วยวิสุทธิชนในมิสซูรีเริ่มสถาปนาไซอันอย่างไร

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อมูลเกี่ยวกับการพยายามสร้างนครแห่งไซอันของวิสุทธิชน เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่วิสุทธิชนทำถูกต้องและไม่ถูกต้องขณะพวกเขาเริ่มสร้างไซอัน

อินดิเพนเดนซ์ มิสซูรี: พาร์ลีย์ พี. แพรทท์บรรยายการตั้งรกรากของวิสุทธิชนในไซอันโดยประกาศว่า “ความสงบสุขและความอุดมสมบูรณ์เป็นผลจากการทำงานหนัก ถิ่นทุรกันดารกลับกลายเป็นทุ่งอันอุดม” (Autobiography of Parley P. Pratt, ed. Parley P. Pratt Jr. [1938], 93) ผู้นำศาสนจักรในมิสซูรีทำงานเพื่อจัดหาให้ตามความจำเป็นของวิสุทธิชนที่กำลังเข้ามา รวมถึงการซื้อที่ดิน การตั้งร้านและแท่นพิมพ์ ราวเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1833 ประชากรวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเพิ่มขึ้นจนเกือบถึง 1,200 คน แต่ผู้นำและวิสุทธิชนใช่ว่าจะไม่มีปัญหาของพวกเขา สมาชิกบางคนยอมให้ความเห็นแก่ตัวและความละโมบกีดกันไม่ให้พวกเขาดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการอุทิศถวาย

นอกจากปัญหาของวิสุทธิชนอันเกิดจากการไม่เชื่อฟังของพวกเขาแล้ว พวกเขายังประสบความขัดแย้งกับผู้อาศัยเดิมในเขตนั้นด้วย ชาวมิสซูรีกังวลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กับการเติบโตอย่างรวดเร็วของ “พวกมอรมอน” ตลอดจนอิทธิพลของคนเหล่านั้นต่อเศรษฐกิจและการเมืองในท้องที่ ผู้นำศาสนาในท้องที่ไม่เห็นด้วยกับความเชื่อของวิสุทธิชน ผู้นำศาสนาคนหนึ่งแพร่คำเท็จเกี่ยวกับสมาชิกของศาสนจักรและส่งเสริมให้ชาวเมืองใช้กำลังกับพวกเขา ในเดือนกรกฎาคม ปี 1833 ดับเบิลยู. ดับเบิลยู. เฟลพ์สตีพิมพ์บทความเรื่อง “Free People of Color (คนผิวสีที่เป็นอิสระ)” ซึ่งเตือนผู้สอนศาสนาให้ระวังขณะเผยแผ่ศาสนาในหมู่ทาส ชาวเมืองมิสซูรีผู้สนับสนุนการเป็นทาสลงความเห็นอย่างผิดๆ ว่าวิสุทธิชนกำลังชักชวนทาสที่ได้รับการปลดปล่อยให้ไปมิสซูรี เหตุการณ์นี้ยิ่งทำให้สถานการณ์ที่รุนแรงอยู่แล้วในรัฐกลับรุนแรงยิ่งขึ้น วันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1833 คนร้ายกลุ่มหนึ่งโยนแท่นพิมพ์ไปที่ถนน พังสำนักพิมพ์ ทำลายแผ่นกระดาษส่วนใหญ่ของหนังสือพระบัญญัติที่ยังไม่ได้เข้าเล่ม เอาน้ำมันดินและขนนกทาตัวอธิการพาร์ทริจและชาร์ลส์ อัลเลนผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใส และข่มขวัญเมืองนั้น ความไม่เป็นมิตรดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง วิสุทธิชนถูกบีบบังคับให้ออกจากเทศมณฑลแจ็คสันในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมของปีนั้น

  • ท่านคิดว่าท่านจะรู้สึกอย่างไรกับการเป็นวิสุทธิชนที่ชอบธรรมคนหนึ่งโดยหวังความคุ้มครองจากพระเจ้าแต่กลับถูกบีบบังคับให้ออกจากเทศมณฑลแจ็คสัน

  • ถ้ามีคนถามท่านว่าเหตุใดวิสุทธิชนยุคแรกจึงไม่สามารถสร้างนครแห่งไซอันได้ ท่านจะตอบว่าอย่างไร (เพื่อช่วยนักเรียนตอบคำถามนี้ ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้พวกเขาอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:6–7; 103:2–4; 105:3–4, 9)

หากท่านยังไม่ได้ขอให้นักเรียนกลับไปนั่งที่ ให้เชิญพวกเขากลับไปนั่งที่ตอนนี้

อนาคตของไซอันคืออะไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 97:21 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าพระเจ้าตรัสถึงไซอันว่าอย่างไร ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำที่สอนความจริงต่อไปนี้: ไซอันคือผู้มีใจบริสุทธิ์ พูดถึงหลักธรรมและพฤติกรรมที่เขียนไว้บนกระดานและถามคำถามต่อไปนี้

  • หลักแห่งความชอบธรรมเหล่านี้ช่วยให้ผู้คนมีใจบริสุทธิ์ด้วยวิธีใดบ้าง

  • อะไรคือบทบาทของเราในการสร้างไซอันวันนี้ (เราสามารถดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมและส่งเสริมให้ผู้อื่นดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม ขณะที่เราดำเนินชีวิตและแบ่งปันพระกิตติคุณ เขตแดนของไซอันจะขยาย สเตคแห่งไซอันจะเข้มแข็ง และพระผู้เป็นเจ้าจะประทานความคุ้มครองแก่วิสุทธิชน)

เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาหลักแห่งความชอบธรรมที่เขียนไว้บนกระดาน กระตุ้นให้พวกเขาเขียนเป้าหมายหนึ่งลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาเพื่อดำเนินชีวิตตามหลักธรรมหนึ่งในนั้นอย่างซื่อสัตย์มากขึ้น

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ต้องสร้างไซอันบนหลักแห่งความชอบธรรม

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดถึงข้อกำหนดให้สร้างไซอันบนหลักธรรมแห่งกฎของอาณาจักรซีเลสเชียลดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“งานส่วนใหญ่ที่ต้องทำในการสถาปนาไซอันประกอบด้วยความพยายามในส่วนของเราเพื่อเป็น ‘ผู้มีใจบริสุทธิ์’ (คพ. 97:21) ‘จะเสริมสร้างไซอันไม่ได้เว้นแต่โดยหลักธรรมแห่งกฎของอาณาจักรซีเลสเชียล,’ พระเจ้าตรัส; ‘มิฉะนั้นเรารับนางไว้กับตัวเราไม่ได้’ (คพ. 105:5) แน่นอนว่ากฎของอาณาจักรซีเลสเชียลคือกฎและพันธสัญญาพระกิตติคุณ ซึ่งรวมถึงการระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดตลอดเวลาและการปฏิญาณตนว่จะเชื่อฟัง เสียสละ อุทิศถวาย และภักดี

“พระผู้ช่วยให้รอดทรงตำหนิวิสุทธิชนยุคแรกบางคนเพราะ ‘ความปรารถนาอันเป็นตัณหาราคะ’ ของพวกเขา (คพ. 101:6; ดู คพ. 88:121ด้วย) คนเหล่านี้อยู่ในโลกที่ไม่มีโทรทัศน์ ภาพยนตร์ อินเทอร์เน็ต และไอพ็อด ในโลกทุกวันนี้จมจ่อมอยู่ใต้ภาพและดนตรีที่ส่อไปในทางเพศ เราเป็นอิสระจากความปรารถนาอันเป็นตัณหาราคะและความชั่วร้ายที่ติดมาหรือไม่ แทนที่จะรุกล้ำขีดจำกัดของความสุภาพเรียบร้อยหรือหลงระเริงอยู่กับการผิดศีลธรรมของภาพอนาจาร เราต้องหิวกระหายความชอบธรรม เพื่อมาสู่ไซอัน การที่ท่านหรือข้าพเจ้าทำชั่วน้อยกว่าคนอื่นเท่านั้นไม่พอ เราต้องไม่เพียงเป็นคนดีเท่านั้น แต่ต้องเป็นชายหญิงที่บริสุทธิ์ด้วย ขอให้เรานึกถึงคำพูดของเอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ที่ว่าขอให้เราสร้างที่พำนักถาวรของเราในไซอันอีกครั้งและทิ้งกระท่อมฤดูร้อนในบาบิโลน (ดู นีล เอ. แม็กซ์เวลล์, A Wonderful Flood of Light [1990], 47)” (“มาสู่ไซอัน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 49)

อธิการคีธ บี. แมคมุลลินแห่งฝ่ายอธิการควบคุมระบุหลักธรรมบางประการต่อไปนี้ที่ต้องสร้างไซอันบนนั้น

ภาพ
อธิการคีธ บี. แมคมุลลิน

“พันธสัญญาของการอุทิศถวายครอบคลุมถึงการเสียสละ หมายรวมถึง ความรัก การทำงาน และ การพึ่งพาตนเองและเป็นรากฐานของการสถาปนาอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า ‘จะเสริมสร้างไซอันไม่ได้’ พระเจ้าตรัส ‘เว้นแต่โดยหลักธรรมแห่งกฎของอาณาจักรซีเลสเชียล’ [คพ. 105:5] พันธสัญญาของการอุทิศถวายเป็นศูนย์รวมของกฎนี้ วันหนึ่งเราจะนำมาใช้อย่างครบถ้วน พันธสัญญานี้ประกอบด้วย ‘การสละเวลา พรสวรรค์ และทรัพย์สินเงินทองของเราเพื่อดูแลคนตกทุกข์ได้ยาก—ไม่ว่าฝ่ายวิญญาณหรือฝ่ายโลก—และในการสร้างอาณาจักรของพระเจ้า’ [ดู Ensign, Aug. 1984, 4; Tambuli, Dec. 1984, 7.]

“หลักธรรมเหล่านี้ของ ความรัก การทำงาน การพึ่งพาตนเอง และ การอุทิศถวาย เป็นหลักธรรมที่พระผู้เป็นเจ้าประทาน คนที่ยึดมั่นหลักธรรมเหล่านี้และปกครองตนเองตามนั้นจะมีใจบริสุทธิ์ ความเป็นหนึ่งเดียวที่ชอบธรรมเป็นตราสัญลักษณ์ของสังคมพวกเขา สันติสุขและความปรองดองของพวกเขากลายเป็นธงสัญญาณให้ประชาชาติ ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธกล่าวว่า

“‘การเสริมสร้างไซอันเป็นอุดมการณ์ที่ผู้คนของพระผู้เป็นเจ้าในทุกยุคทุกสมัยให้ความสนใจ เป็นหัวข้อที่บรรดาศาสดาพยากรณ์ ปุโรหิต และกษัตริย์ทั้งหลายพูดถึงด้วยความเบิกบานใจเป็นพิเศษ … เพื่อให้เราได้เห็น ได้มีส่วนร่วม และช่วยให้รัศมีภาพยุคสุดท้าย [ของไซอัน] เคลื่อนไปข้างหน้า … งานที่มุ่งหมายจะทำลายอำนาจมืด เปลี่ยนโฉมแผ่นดินโลก ทำให้เกิดรัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้า และความรอดของครอบครัวมนุษย์’ [Teachings of the Prophet Joseph Smith, sel. Joseph Fielding Smith (1976), 231–32; เน้นตัวเอน]” (“มาสู่ไซอัน! มาสู่ไซอัน!” เลียโฮนา, พ.ย. 2002, 120)

เหตุใดวิสุทธิชนยุคแรกจึงสร้างนครบริสุทธิ์ไม่ได้

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“ภายใต้การกำกับดูแลของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ สมาชิกยุคแรกของศาสนจักรพยายามสถาปนาสถานที่ศูนย์กลางของไซอันในมิสซูรี แต่พวกเขาไม่มีคุณสมบัติเหมาะจะสร้างนครศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้าทรงอธิบายเหตุผลประการหนึ่งของความล้มเหลวนี้ว่า

“‘พวกเขามิได้เรียนรู้ที่จะเชื่อฟังสิ่งซึ่งเราเรียกร้องจากมือพวกเขา, แต่เต็มไปด้วยความชั่วนานัปการ, และไม่แบ่งทรัพย์สมบัติของพวกเขา, ให้คนจนและคนเป็นทุกข์ในบรรดาพวกเขา, ดังวิสุทธิชนพึงกระทำ;’

“‘และไม่พร้อมใจกันตามเอกภาพซึ่งกฎของอาณาจักรซีเลสเชียลเรียกร้อง’ (คพ. 105:3–4)

“‘มีความไม่ลงรอยกัน, และการขัดแย้ง, และความริษยา, และการวิวาท, และความปรารถนาอันเป็นตัณหาราคะและความโลภในบรรดาพวกเขา; ฉะนั้น โดยสิ่งเหล่านี้พวกเขาทำให้มรดกของพวกเขาแปดเปื้อน’ (คพ. 101:6)

“อย่างไรก็ดี แทนที่จะตัดสินวิสุทธิชนยุคแรกเหล่านี้รุนแรงเกินเหตุ เราควรมองตัวเราเพื่อดูว่าเราทำดีกว่านั้นหรือไม่

“ไซอันเป็นไซอันเพราะอุปนิสัย คุณลักษณะ และความซื่อสัตย์ของพลเมืองในนั้น พึงระลึกว่า ‘พระเจ้าทรงเรียกผู้คนของพระองค์ว่าไซอัน, เพราะพวกเขามีจิตใจเดียวและความคิดเดียว, และดำรงอยู่ในความชอบธรรม; และไม่มีคนจนในบรรดาพวกเขา’ (โมเสส 7:18) หากเราจะสถาปนาไซอันในบ้าน สาขา วอร์ด และสเตค เราต้องลุกขึ้นมารับมาตรฐานนี้ ซึ่งจำเป็นต่อการ (1) เป็นเอกภาพในใจเดียวและความคิดเดียว (2) เป็นคนบริสุทธิ์ทั้งโดยส่วนตัวและโดยรวม และ (3) ดูแลคนจนและคนขัดสนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อขจัดความยากไร้ไปจากบรรดาพวกเรา เราไม่สามารถรอจนกว่าไซอันมาแล้วค่อยทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น—ไซอันจะมาก็ต่อเมื่อทั้งหมดนี้เกิดขึ้น” (“มาสู่ไซอัน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 47–48)

การสร้างสเตคเปรียบเสมือนการก่อตั้งนครแห่งไซอัน

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีอธิบายว่าสเตคเป็นสถานที่รวมวิสุทธิชนที่อยู่ทั่วโลกดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี

“สเตคมีแนวแบ่งเขตทางภูมิศาสตร์ การสร้างสเตคเปรียบเสมือนการตั้งนครแห่งความบริสุทธิ์ ทุกสเตคบนแผ่นดินโลกคือสถานที่รวมแกะที่หายไปของอิสราเอลผู้อาศัยอยู่ในเขตนั้น …

“เราแต่ละคนสามารถเสริมสร้างไซอันในชีวิตเราเองได้โดยเป็นผู้มีใจบริสุทธิ์ และคำสัญญาคือ ‘คนที่มีใจบริสุทธิ์ก็เป็นสุข เพราะว่าเขาทั้งหลายจะได้เห็นพระเจ้า’ (มัทธิว 5:8) เราแต่ละคนสามารถขยายเขตแดนของไซอันโดยรวมมิตรสหายและเพื่อนบ้านของเราเข้ามาในคอกของอิสราเอล” (“Come: Let Israel Build Zion,” Ensign, May 1977, 118)

การเดินทางของโจเซฟ สมิธจากมิสซูรีกลับไปเคิร์ทแลนด์

โจเซฟ สมิธเขียนเกี่ยวกับการเดินทางกลับไปเคิร์ทแลนด์ของท่านหลังจากเยี่ยมวิสุทธิชนในมิสซูรีดังนี้

ภาพ
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“วันที่ 6 พฤษภาคม [ค.ศ. 1832] ข้าพเจ้าจับมือลาพี่น้องในอินดิเพนเดนซ์และเริ่มเดินทางพร้อมบราเดอร์ริกดันและบราเดอร์วิทนีย์กลับไปเคิร์ทแลนด์ โดยนั่งรถม้าโดยสารไปเซนต์หลุยส์ จากที่นั่นไปวินเซนเนส รัฐอินเดียนา และจากที่นั่นไปนิวอัลบานี ใกล้น้ำตกของแม่น้ำโอไฮโอ ก่อนเรามาถึงสถานที่หลังสุด ม้าตื่นตกใจ และขณะรถวิ่งเต็มพิกัดอธิการวิทนีย์พยายามกระโดดลงจากรถม้า แต่เสื้อคลุมของเขาพันเข้าไปในล้อ เท้าจึงติดล้อ ทำให้ขาและเท้าของเขาหักหลายที่ ข้าพเจ้ากระโดดลงมาพร้อมกันแต่ไม่ได้รับบาดเจ็บ เราพักที่ภัตตาคารเล็กๆ ของคุณพอร์เตอร์ในเมืองกรีนวิลล์สี่สัปดาห์ ส่วนเอ็ลเดอร์ริกดันเดินทางต่อไปเคิร์ทแลนด์ ระหว่างนี้ บราเดอร์วิทนีย์กินไม่ได้นอนไม่หลับ และดร. พอร์เตอร์น้องชายเจ้าของบ้านที่ช่วยดูแลเขาพูดว่าน่าสงสารที่เราไม่ได้ ‘มอรมอน’ สักคนมาช่วยที่นั่น เพราะพวกเขาน่าจะจัดกระดูกที่หักหรือทำอะไรก็ได้ ข้าพเจ้าอยู่กับบราเดอร์วิทนีย์และดูแลช่วยเหลือจนเขาสามารถเคลื่อนไหวได้ ขณะอยู่ที่นี่ข้าพเจ้าเดินเข้าไปในป่าบ่อยครั้ง ที่นั่นข้าพเจ้าเห็นหลุมศพใหม่ๆ หลายหลุม และวันหนึ่งเมื่อข้าพเจ้าลุกจากโต๊ะอาหาร ข้าพเจ้าเดินไปถึงประตูพอดีตอนอาเจียนพุ่ง ข้าพเจ้าอาเจียนออกมาเป็นเลือดและสารพิษจำนวนมาก และระบบกล้ามเนื้อบิดเบี้ยวมากจนขากรรไกรเคลื่อนไปชั่วขณะ ข้าพเจ้าใช้มือดันให้เข้าที่แล้วรีบไปหาบราเดอร์วิทนีย์ (ผู้อยู่บนเตียง) เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ เขาวางมือบนข้าพเจ้าและให้พรข้าพเจ้าในพระนามของพระเจ้า และข้าพเจ้าหายทันทีแม้ผลของพิษจะรุนแรงมากจนทำให้ผมของข้าพเจ้าร่วงไปมาก ขอบพระทัยพระบิดาบนสวรรค์สำหรับการแทรกแซงของพระองค์เพื่อประโยชน์ของข้าพเจ้าในช่วงวิกฤตินี้ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

“บราเดอร์วิทนีย์ไม่ได้ลุกจากเตียงราวสี่สัปดาห์ ขณะที่ข้าพเจ้าเข้าไปในห้องของเขาหลังจากเดินเข้าไปในป่า ข้าพเจ้าถามว่าเขาเห็นด้วยหรือไม่ถ้าจะกลับบ้านพรุ่งนี้เช้า เราจะนั่งเกวียนราวสี่ไมล์ไปถึงแม่น้ำ และจะมีเรือข้ามฟากรออยู่ที่นั่นซึ่งจะพาเราข้ามน้ำอย่างรวดเร็ว แล้วเราจะพบม้าตัวหนึ่งซึ่งจะพาเราไปท่าเรือทันที ที่ท่าเรือเราจะพบเรือรออยู่ พาเราล่องแม่น้ำก่อนสิบโมง และเดินทางกลับบ้านอย่างราบรื่น เขารวบรวมความกล้าและบอกข้าพเจ้าว่าเขาจะไป เราเริ่มเดินทางเช้าวันรุ่งขึ้น และพบทุกอย่างตามที่ข้าพเจ้าบอกเขาเพราะเราเดินทางอย่างรวดเร็วจนมาถึงแม่น้ำก่อนสิบโมง และขึ้นบกที่เวลส์วิลล์ นั่งรถม้าโดยสารไปชาร์ดอน แล้วนั่งเกวียนต่อไปเคิร์ทแลนด์ เราถึงที่นั่นในเดือนมิถุนายน” (ใน History of the Church, 1:271–272) (ดู ประวัติศาสนจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003], 122)

ความไม่เป็นมิตรในเทศมลฑลแจ๊คสัน

“ก่อนสิ้นเดือนเมษายน [ค.ศ. 1833] วิญญาณของการข่มเหงปรากฏให้เห็น ช่วงระยะแรก ชาวเมืองในท้องที่เตือนสมาชิกศาสนจักรว่าพวกเขาไม่พอใจที่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายมากันเป็นจำนวนมาก พวกเขาเกรงว่าอีกไม่นานคนเหล่านี้จะชนะคะแนนเสียงเลือกตั้ง วิสุทธิชนส่วนใหญ่มาจากรัฐทางเหนือและโดยทั่วไปต่อต้านการนำคนผิวดำมาเป็นทาสซึ่งสมัยนั้นถูกกฎหมายในรัฐมิสซูรี …

“ฝ่ายตรงข้ามส่งจดหมายเวียนไปทั่ว ซึ่งบางครั้งเรียกว่าธรรมนูญลับ เพื่อขอลายเซ็นจากผู้เต็มใจกำจัด ‘ภัยร้ายมอรมอน’ ความรู้สึกจงเกลียดจงชังเหล่านี้ถึงจุดสูงสุดวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1833 เมื่อคนร้ายราว 400 คนมาประชุมที่ศาลในอินดิเพนเดนซ์เพื่อประสานงานเรื่องนี้ พวกเขาวางคำขอเป็นลายลักษณ์อักษรต่อหน้าผู้นำของศาสนจักรโดยขอให้วิสุทธิชนออกจากเทศมณฑลแจ็คสัน หยุดพิมพ์หนังสือพิมพ์ Evening and the Morning Star และอย่าให้สมาชิกศาสนจักรคนใดเข้ามาในเทศมณฑลแจ็คสันอีก เมื่อกลุ่มคนร้ายพบว่าผู้นำของศาสนจักรไม่ยอมทำตามคำขอร้องแบบผิดกฎหมายเหล่านี้ พวกเขาจึงบุกที่ทำการหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นบ้านของบรรณาธิการวิลเลียม ดับเบิลยู. เฟลพ์สด้วย คนเหล่านั้นขโมยแท่นพิมพ์และรื้อถอนอาคาร …

“กลุ่มคนร้ายมาอีกครั้งวันที่ 23 กรกฎาคม [ค.ศ. 1833] ผู้นำศาสนาจักรเสนอตัวเป็นค่าไถ่หากพวกเขาจะไม่ทำอันตรายผู้คน แต่กลุ่มคนร้ายขู่จะทำให้ทั้งศาสนจักรเสียหายและบังคับให้ผู้นำเห็นชอบให้วิสุทธิชนยุคสุดท้ายทุกคนออกจากเทศมณฑล เนื่องด้วยกลุ่มคนร้ายกระทำการผิดกฎหมายอันขัดต่อธรรมนูญของสหรัฐและรัฐมิสซูรี ผู้นำศาสนจักรจึงขอความช่วยเหลือจากดาเนียล ดังคลินผู้ว่าการรัฐ เขาให้ข้อมูลผู้นำเรื่องสิทธิพลเมืองและแนะนำให้วิสุทธิชนไปขอคำปรึกษาตามกฎหมาย …

“ปลายปี ค.ศ. 1833 วิสุทธิชนส่วนใหญ่ข้ามแม่น้ำมิสซูรีขึ้นเหนือเข้าไปในเทศมณฑลเคลย์และพบที่หลบภัยชั่วคราวที่นั่น” (มรดกของเรา: ประวัติย่อของศาสนาจักรของพระเยซูคริสต์แห่งสุทธิชนยุคสุดท้าย [1996], 46, 49, 50)