เซมินารี
บทที่ 19: โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:68–75; หลักคำสอนและพันธสัญญา 13


บทที่ 19

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:68–75; หลักคำสอนและพันธสัญญา 13

คำนำ

วันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1829 โจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดอรีเข้าไปในป่าใกล้ฟาร์มของโจเซฟในฮาร์โมนีย์ รัฐเพนซิลเวเนียเพื่อทูลถามพระเจ้าหลังจากแปลข้อหนึ่งในพระคัมภีร์มอรมอนที่เน้นความสำคัญของศาสนพิธีแห่งบัพติศมา ขณะสวดอ้อนวอนอยู่นั้น ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาปรากฏต่อพวกท่านในรูปกายที่ฟื้นคืนชีวิตแล้ว ยอห์นประสาทฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนให้พวกท่าน สั่งพวกท่านให้บัพติศมากันในแม่น้ำซัสเควฮันนาที่อยู่ใกล้ๆ และจากนั้นจึงสั่งให้พวกท่านแต่งตั้งฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนให้กัน ถ้อยคำที่ยอห์นพูดกับโจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดอรีบันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 13 หลังจากบัพติศมา โจเซฟและออลิเวอร์เปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และประสบพรใหญ่หลวง

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:68–72; หลักคำสอนและพันธสัญญา 13

ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาประสาทฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนให้โจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดอรี

เขียน คำถามต่อไปนี้ ไว้บนกระดานก่อนชั้นเรียนหรือทำเป็นเอกสารแจกนักเรียนทุกคน (ไม่ต้องเขียนคำตอบ) ขณะที่นักเรียนเข้ามาในห้องเรียน ให้พวกเขาตอบคำถามลงในแผ่นกระดาษหรือในเอกสารแจก หากจำเป็น ให้พวกเขาใช้ดัชนีของพระคัมภีร์สามเล่มรวม (ดู “Priesthood, Aaronic”) หรือคู่มือพระคัมภีร์ (ดู “ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน”) เพื่อหาคำตอบที่ถูกต้อง ท่านอาจต้องการรอให้นักเรียนบันทึกคำตอบก่อนจึงจะเริ่มการให้ข้อคิดทางวิญญาณ

  1. เราสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนในพระคัมภีร์ข้อใด

  2. ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนได้รับการฟื้นฟูวันที่เท่าใด

  3. เทพที่ฟื้นฟูฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนบนแผ่นดินโลกโดยประสาทฐานะปุโรหิตนั้นให้โจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดอรีชื่อว่าอะไร

  4. ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนประสาทบนพวกท่านอย่างไร

  5. เทพสัญญาว่าโจเซฟและออลิเวอร์จะได้รับอะไรอีก พวกท่านจะได้รับจากใคร

(เฉลย: (1) โจเซฟ สมิธ—ประวัติ หรือ หลักคำสอนและพันธสัญญา 13; (2) 15 พฤษภาคม ค.ศ.1829 [ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:72]; (3) ยอห์นผู้ถวายบัพติศมา [ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:72]; (4) โดยการวางมือ [ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:68, 71]; (5) ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาบอกพวกท่านว่าพวกท่านจะได้รับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคจากอัครสาวกเปโตร ยากอบ และยอห์นในภายหลัง [ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:72])

หลังจากการให้ข้อคิดทางวิญญาณ ขอให้นักเรียนแบ่งปันคำตอบของคำถามข้อแรก หลังจากตอบคำถามข้อนี้ถูกต้องแล้ว มอบหมายให้นักเรียนทำงานเป็นคู่และตรวจคำตอบของพวกเขาสำหรับคำถามที่เหลือ แนะนำให้พวกเขาใช้ โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:68–72 และคำบรรยายของออลิเวอร์ คาวเดอรีที่อยู่ต่อจากโจเซฟ สมิธ—ประวัติ ท่านอาจต้องการเดินไปรอบๆ ห้องเพื่อช่วยนักเรียนหาคำตอบที่ถูกต้อง

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้ทบทวนคำตอบด้วยกันในชั้นเรียน ขณะตรวจคำตอบด้วยกัน ให้ช่วยนักเรียนระบุและเข้าใจหลักคำสอนต่อไปนี้ ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาฟื้นฟูฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนบนแผ่นดินโลก (ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:72) ฐานะปุโรหิตประสาทให้โดยการวางมือ (ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:68, 71) ขณะที่ท่านทบทวนคำตอบของนักเรียน ให้อธิบายด้วยว่าโจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดอรีได้รับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคจากเปโตร ยากอบ และยอห์นในเวลาต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1829 (ดู ลาร์รีย์ ซี. พอร์เตอร์, “The Restoration of the Aaronic and Melchizedek Priesthoods,” Ensign, Dec. 1996, 30–47)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:68 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่โจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ทำอยู่ซึ่งจูงใจพวกท่านให้ทูลถามพระเจ้าเรื่องบัพติศมาเพื่อการปลดบาป

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อนี้ อะไรจูงใจโจเซฟและออลิเวอร์ให้ทูลถามเรื่องบัพติศมาเพื่อการปลดบาป (พวกท่านกำลังแปลพระคัมภีร์มอรมอนและบังเอิญเจอคำสอนเกี่ยวกับบัพติศมาเพื่อการปลดบาป)

ชี้ให้เห็นว่าการฟื้นฟูฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนสำคัญมากถึงขนาดว่าต้องรวมคำพูดของยอห์นผู้ถวายบัพติศมาไว้ในหลักคำสอนและพันธสัญญา 13 เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 35:13 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุว่าการฟื้นฟูฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนตอบคำสวดอ้อนวอนของโจเซฟและออลิเวอร์เพื่อขอให้รู้มากขึ้นเกี่ยวกับบัพติศมาเพื่อการปลดบาปอย่างไร

  • การฟื้นฟูฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนตอบคำสวดอ้อนวอนของโจเซฟและออลิเวอร์เพื่อขอให้รู้มากขึ้นเกี่ยวกับบัพติศมาเพื่อการปลดบาปในด้านใด

วาด รูปประตูที่มีรูกุญแจไว้บนกระดาน

ภาพ
ภาพลายเส้นรูปประตู
ภาพ
ภาพกุญแจ
  • อะไรคือจุดประสงค์ของประตู (ขณะที่นักเรียนสนทนาคำถามนี้ จงช่วยให้พวกเขาเห็นว่าประตูคือช่องทางผ่านเข้าไปอีกที่หนึ่ง นอกจากนี้ประตูยังสามารถปิดให้เราอยู่ข้างในและเปิดให้เราออกข้างนอกได้ด้วย)

ให้นักเรียนดูพวงกุญแจ (หรือวาด รูปกุญแจ บนกระดาน) และถามคำถามดังต่อไปนี้

  • กุญแจเกี่ยวข้องอย่างไรกับการทำงานของประตู (กุญแจล็อคหรือไขประตู เมื่อเราใช้กุญแจไขประตู เราจะสามารถผ่านออกมาประสบสิ่งที่อยู่อีกด้านหนึ่งได้)

อธิบายว่าพระเจ้าทรงใช้กุญแจเป็นสัญลักษณ์แทนสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิต ซึ่งไขและเปิดทางให้เราได้รับโอกาสและพรนิรันดร์ เชื้อเชิญให้นักเรียนค้นคว้า หลักคำสอนและพันธสัญญา 13:1โดยมองหากุญแจเกี่ยวกับฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายกุญแจเหล่านี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาเมื่อหาเจอ

  • ยอห์นผู้ถวายบัพติศมากล่าวว่าฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนถือกุญแจอะไร (ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนถือกุญแจทั้งหลายแห่งการปฏิบัติของเหล่าเทพ พระกิตติคุณแห่งการกลับใจ และบัพติศมาโดยลงไปในน้ำทั้งตัวเพื่อการปลดบาป ท่านอาจต้องการเชิญนักเรียนคนหนึ่งเขียนข้อความนี้ไว้ใต้รูปประตูบนกระดาน)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจดีขึ้นเกี่ยวกับกุญแจเหล่านี้ของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและพรที่ฐานะปุโรหิตนี้มีให้สมาชิกของศาสนจักร ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำอธิบายต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง (ท่านอาจทำสำเนาข้อความนี้แจกให้นักเรียนแต่ละคนเก็บไว้ในพระคัมภีร์ของเขา)

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“หมายความว่าอย่างไรที่ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนถือ กุญแจทั้งหลายแห่ง ‘การปฏิบัติของเหล่าเทพและของพระกิตติคุณแห่งการกลับใจ และของบัพติศมา และการลงไปในน้ำทั้งตัวเพื่อการปลดบาป’ ความหมายพบได้ในศาสนพิธีแห่งบัพติศมาและในศีลระลึก บัพติศมามีไว้เพื่อการปลดบาป ศีลระลึกเป็นการต่อพันธสัญญาและพรของบัพติศมา การกลับใจต้องมาก่อนทั้งสองสิ่งนี้ …

“ไม่มีสักคนใน [พวกเรา] ดำเนินชีวิตโดยปราศจากบาปตั้งแต่บัพติศมา [ของเรา] หากไม่เตรียมการบางอย่างเพื่อรับการชำระให้สะอาดมากยิ่งขึ้นหลังจากบัพติศมา เราแต่ละคนคงสูญเสียประสบการณ์ทางวิญญาณ …

“เราได้รับบัญชาให้กลับใจจากบาปและมาหาพระเจ้าด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด และรับส่วนศีลระลึกตามพันธสัญญาศีลระลึก เมื่อเราต่อพันธสัญญาบัพติศมาของเราในวิธีนี้ พระเจ้าทรงต่อผลการชำระให้สะอาดของบัพติศมา …

“เราไม่สามารถกล่าวเกินจริงถึงความสำคัญของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนในเรื่องนี้ เราทำตามขั้นตอนสำคัญทั้งหมดนี้เกี่ยวกับการปลดบาปผ่านศาสนพิธีแห่งการช่วยให้รอดของบัพติศมาและศาสนพิธีแห่งการต่อใหม่ของศีลระลึก ศาสนพิธีทั้งสองนี้ประกอบโดยผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายอธิการผู้ใช้กุญแจทั้งหลายของพระกิตติคุณแห่งการกลับใจและของบัพติศมาและการปลดบาป” (“ฐานะปุโรหิตแห่งแอรันและศีลระลึก,” เลียโฮนา, ม.ค.1999, 44)

  • กุญแจของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนช่วยให้เราได้รับพรแห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์อย่างไร

  • ตามคำกล่าวของเอ็ลเดอร์โอ๊คส์ ใครกำกับดูแลกุญแจทั้งหลายของพระกิตติคุณแห่งการกลับใจและบัพติศมาในแต่ละวอร์ด

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจกุญแจแห่งการปฏิบัติศาสนกิจของเหล่าเทพดีขึ้น ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำอธิบายต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์โอ๊คส์

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“สมัยเป็นผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนในวัยหนุ่ม ข้าพเจ้าไม่คิดว่าข้าพเจ้าจะเห็นเทพ และข้าพเจ้าสงสัยว่าการปรากฏเช่นนั้นเกี่ยวข้องอะไรกับฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน

“แต่เราไม่สามารถเห็นการปฏิบัติศาสนกิจของเหล่าเทพได้เช่นกัน ข่าวสารของเหล่าเทพส่งมาโดยเสียงหรือไม่ก็โดยความคิดหรือความรู้สึกที่สื่อสารกับจิตใจ” (“ฐานะปุโรหิตแห่งแอรันและศีลระลึก,” 44)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งมาหน้าชั้นและชูรูป เยาวชนชายรับบัพติศมา (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], หน้า 103; ดู LDS.org ด้วย) และ การให้พรศีลระลึก (หน้า 107) ถ้าหาได้

ภาพ
เยาวชนชายรับบัพติศมา
ภาพ
การให้พรศีลระลึก
  • การเข้าใจกุญแจทั้งหลายของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนจะมีอิทธิพลต่อความคิดและการกระทำของท่านขณะที่ท่านเตรียม ให้พร หรือรับส่วนศีลระลึกแต่ละสัปดาห์ได้อย่างไร

เชิญเยาวชนหญิงในชั้นแบ่งปันความรู้สึกเกี่ยวกับฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและพรที่ฐานะปุโรหิตนั้นนำเข้ามาในชีวิตพวกเธอ ท่านอาจต้องการแบ่งปันว่าเหตุใดท่านจึงเห็นคุณค่าของการฟื้นฟูฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน

โจเซฟ สมิธ–ประวัติ 1:73–75

โจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดอรีประสบพรใหญ่หลวงหลังจากรับบัพติศมา

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:73 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม ระบุคำและวลีบอกสิ่งที่โจเซฟและออลิเวอร์ประสบหลังจากพวกท่านรับบัพติศมา ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำและวลีเหล่านี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา

  • อะไรเกิดขึ้นกับโจเซฟและออลิเวอร์หลังจากพวกท่านรับบัพติศมา

เนื่องจากโจเซฟและออลิเวอร์ยังไม่ได้รับ ของประทาน แห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ สิ่งที่พวกท่านประสบในครั้งนี้จึงเป็น อำนาจ ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ โจเซฟและออลิเวอร์จะได้รับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคเพื่อมอบของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ในภายหลัง (ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:70; ดู Bible Dictionary หรือคู่มือพระคัมภีร์, “พระวิญญาณบริสุทธิ์,” scriptures.lds.org ด้วย)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:74 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาพรเฉพาะเจาะจงที่โจเซฟและออลิเวอร์ได้รับผ่านอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่พบแล้ว ให้เขียนหลักคำสอนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยให้เราเข้าใจความหมายและเจตนาของพระคัมภีร์

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเราจึงต้องให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยให้เราเข้าใจพระคัมภีร์

  • พระวิญญาณบริสุทธิ์เคยช่วยให้ท่านเข้าใจ “ความหมายแท้จริงและเจตนา” ของพระคัมภีร์เมื่อใด

เชื้อเชิญให้นักเรียนใช้เวลาสองสามนาทีเขียนลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อเชื้อเชิญความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ขณะพวกเขาศึกษาพระคัมภีร์

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:74 การมีพระวิญญาณบริสุทธิ์เมื่อศึกษาพระคัมภีร์

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแสดงความเห็นเกี่ยวกับความจำเป็นของการมีพระวิญญาณสถิตกับเราขณะที่เราศึกษาพระคัมภีร์ ดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“ถ้าเราแสวงหาและยอมรับการเปิดเผยและการดลใจให้ขยายความเข้าใจของเราในพระคัมภีร์ เราจะเห็นสัมฤทธิผลของคำสัญญาที่ได้รับการดลใจของนีไฟว่าคนที่แสวงหาอย่างขยันหมั่นเพียรจะมี ‘ความลี้ลับของพระผู้เป็นเจ้า … สำแดงแก่พวกเขา, โดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์’ (1 นีไฟ 10:19)

“… อีกมากมายหลายเรื่องที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์จะเข้าใจได้โดยการดลใจของพระวิญญาณบริสุทธิ์เท่านั้น ในถ้อยคำของอัครสาวกเปาโล ‘พระดำริของพระเจ้าก็ไม่มีใครหยั่งรู้ได้เว้นแต่พระวิญญาณของพระเจ้าเช่นกัน’ (JST, 1 Cor. 2:11) …

“โจเซฟ สมิธ และออลิเวอร์ คาวเดอรีวางแบบอย่างสำหรับสมัยประทานนี้ หลังจากบัพติศมา พวกท่านเปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์. ต่อจากนั้น ตามที่โจเซฟอธิบายไว้ในประวัติส่วนตัวของท่าน ‘ความนึกคิดของเราบัดนี้โดยที่สว่างแล้ว, เราเริ่มเห็นพระคัมภีร์เปิดออกสู่ความเข้าใจของเรา, และความตั้งใจและเจตจำนงที่แท้จริงของข้อความที่ลี้ลับมากของพระคัมภีร์เปิดเผยแก่เราในวิธีซึ่งเราไม่เคยบรรลุถึงก่อนหน้านี้, หรือไม่เคยนึกถึงมาก่อน.(จส—ป 1:74) …

“ตามที่เปาโลบอกทิโมธี ‘พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้า’ (2 ทิโมธี 3:16; ดู 2 เปโตร 1:21ด้วย) นี่หมายความว่าเพื่อให้เข้าใจพระคัมภีร์ ความนึกคิดของเราต้องสว่างโดยพระวิญญาณของพระเจ้า” (“Scripture Reading and Revelation,” Ensign, Jan. 1995, 7, 9)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 13:1 บรรดาบุตรของเลวีถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้าหมายความว่าอย่างไร

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธให้คำอธิบายเกี่ยวกับเครื่องบูชาที่บรรดาบุตรของเลวีจะถวายดังนี้

ภาพ
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“โดยปกติเชื่อกันว่าการถวายเครื่องบูชาถูกยกเลิกไปแล้วเมื่อมีการพลีพระชนม์ชีพอันสำคัญยิ่ง [นั่นคือ การพลีพระชนม์ชีพของพระเจ้าพระเยซู] และไม่จำเป็นต้องมีศาสนพิธีแห่งการถวายเครื่องบูชาในอนาคต แต่คนที่ยืนยันเรื่องนี้ไม่คุ้นเป็นแน่กับหน้าที่ สิทธิพิเศษ และสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิต หรือศาสดาพยากรณ์

“การถวายเครื่องบูชาเชื่อมโยงกันเสมอมาและประกอบเป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งของฐานะปุโรหิต เริ่มด้วยฐานะปุโรหิต และจะดำเนินต่อเนื่องจนหลังจากการเสด็จมาของพระคริสต์ จากรุ่นสู่รุ่น …

“เครื่องถวายบูชาเหล่านี้ เช่นเดียวกับศาสนพิธีทุกอย่างที่เป็นของฐานะปุโรหิต จะได้รับการฟื้นฟูและปฏิบัติอย่างสมบูรณ์ในอำนาจ ข้อปลีกย่อย และพรทั้งหมดเมื่อจะสร้างพระวิหารของพระเจ้า และทำให้บรรดาบุตรของเลวีบริสุทธิ์ สิ่งนี้ดำรงอยู่ตลอดกาลและจะดำรงอยู่ตลอดไปเมื่ออำนาจของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคประจักษ์ชัดเพียงพอ การนำสิ่งทั้งปวงกลับคืนตามที่ศาสดาพยากรณ์ผู้บริสุทธิ์พูดไว้จะบังเกิดขึ้นได้อย่างไร ท่านต้องเข้าใจว่ากฎของโมเสสจะไม่ได้รับการสถาปนาอีกครั้งพร้อมพิธีกรรมทั้งหมดและพิธีการหลายอย่าง ศาสดาพยากรณ์ไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ แต่สิ่งเหล่านั้นซึ่งดำรงอยู่ก่อนสมัยของโมเสส อย่างเช่น เครื่องถวายบูชา จะดำเนินต่อไป” (History of the Church, 4:211–12)

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธอธิบายเพิ่มเติมว่า

ภาพ
ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

“เรามีชีวิตอยู่ในสมัยการประทานความสมบูรณ์แห่งเวลาซึ่งจะมีการรวบรวมสิ่งทั้งปวง และ จะฟื้นฟู สิ่งทั้งปวง ตั้งแต่ต้น แม้แต่แผ่นดินโลกก็จะกลับคืนสู่สภาพซึ่งเป็นอยู่ทั่วไปก่อนการล่วงละเมิดของอาดัม เวลานี้ในธรรมชาติของสรรพสิ่ง กฎแห่งการถวายเครื่องบูชาจะได้รับการฟื้นฟู หาไม่แล้ว สิ่งทั้งปวง ซึ่งพระเจ้าประกาศิตไว้จะไม่ได้รับการฟื้นฟู ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่พวกบุตรของเลวีผู้ถวายเครื่องบูชาด้วยเลือดในอิสราเอลสมัยโบราณ จะถวายเครื่องบูชาเช่นนั้นอีกครั้งเพื่อทำให้ศาสนพิธีในสมัยการประทานนี้สมบูรณ์ การถวายเครื่องบูชาโดยการหลั่งเลือดตั้งขึ้นในสมัยของอาดัมและจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู

“การถวายสัตวบูชาจะทำให้การฟื้นฟูสมบูรณ์เมื่อสร้างพระวิหารที่พูดถึง ขณะเริ่มต้นมิลเลเนียมหรือในการฟื้นฟูจะมีการถวายเครื่องบูชาด้วยเลือดนานพอจะทำให้การฟื้นฟูในสมัยการประทานนี้ครบถ้วนสมบูรณ์ หลังจากนั้นการถวายเครื่องบูชาก็จะมีบทบาทอื่น” (Doctrines of Salvation, ed. Bruce R. McConkie [1956], 3:94)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 13:1 คำอธิบายเรื่องกุญแจ

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีอธิบายว่าการเปิดเผยของพระผู้เป็นเจ้ากล่าวถึง กุญแจ สองด้าน

ภาพ
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี

“ในการเปิดเผยใช้คำว่า กุญแจ ต่างกันสองด้าน ด้านหนึ่งมีการอิงถึงอำนาจที่ใช้ปกครองศาสนจักรหรืออาณาจักรและองค์การทั้งหมดในนั้น กุญแจของอาณาจักร คืออำนาจของฝ่ายประธานสูงสุด อีกด้านหนึ่งหมายถึงวิธีที่ใช้เปิดเผย ค้นพบ หรือทำให้บางสิ่งประจักษ์” (Mormon Doctrine, 2nd ed. [1966], 409–410)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 13:1 กุญแจของบัพติศมาโดยการลงไปในน้ำทั้งตัวเพื่อการปลดบาป

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้ข้อคิดเกี่ยวกับกุญแจแห่งการปฏิบัติของเหล่าเทพดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“ศาสนพิธีเหล่านี้ของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนสำคัญยิ่งต่อการปฏิบัติของเหล่าเทพในลักษณะที่สัมพันธ์กันเหนียวแน่น

“พระคัมภีร์ใช้คำว่า “เทพ” สำหรับสัตภาวะจากสวรรค์ที่มีข่าวสารของพระผู้เป็นเจ้า’ (จอร์จ คิว. แคนนอน, Gospel Truth, sel. Jerreld L. Newquist [1987], 54) พระคัมภีร์มีหลายตัวอย่างที่เทพมาปรากฏเป็นส่วนตัว …

“แต่เราไม่สามารถเห็นการปฏิบัติศาสนกิจของเหล่าเทพได้เช่นกัน ข่าวสารของเหล่าเทพมอบให้โดยเสียงหรือไม่ก็โดยความคิดหรือความรู้สึกที่สื่อสารกับจิตใจ …

“… การสื่อสารส่วนใหญ่ของเหล่าเทพจะรู้สึกหรือได้ยินไม่ใช่มองเห็น

“ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนถือกุญแจทั้งหลายแห่งการปฏิบัติของเหล่าเทพอย่างไร คำตอบคือเหมือนกันกับพระวิญญาณของพระเจ้า

“โดยทั่วไป พรของความเป็นเพื่อนและการสื่อสารทางวิญญาณมีให้เฉพาะคนที่สะอาดเท่านั้น ดังอธิบายไว้ข้างต้น โดยผ่านศาสนพิธีแห่งบัพติศมาและศีลระลึกของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน เราได้รับการชำระให้สะอาดจากบาปและได้รับสัญญาว่าถ้าเรารักษาพันธสัญญาของเรา เราจะมีพระวิญญาณอยู่กับเราตลอดเวลา ข้าพเจ้าเชื่อว่าสัญญาดังกล่าวไม่เพียงหมายถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์เท่านั้น แต่หมายถึงการปฏิบัติของเหล่าเทพด้วย เพราะ ‘เทพพูดโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์; ดังนั้น, เทพจึงพูดพระวจนะของพระคริสต์’ (2 นีไฟ 32:3) ดังนั้นคนที่ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนจึงเป็นผู้เปิดประตูให้สมาชิกศาสนจักรทั้งหมดผู้รับส่วนศีลระลึกอย่างมีค่าควรได้รับความเป็นเพื่อนจากพระวิญญาณของพระเจ้าและการปฏิบัติของเหล่าเทพ …

“ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนถือกุญแจทั้งหลายของ ‘พระกิตติคุณแห่งการกลับใจ, และของบัพติศมา, และการปลดบาป’ (คพ. 84:27) อำนาจการชำระให้สะอาดของการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดมีพลังอีกครั้งเมื่อเรารับส่วนศีลระลึก คำสัญญาที่ว่าเรา ‘จะมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับ [เรา] ตลอดเวลา’ (คพ. 20:77) จำเป็นต่อความเข้มแข็งทางวิญญาณของเรา ศาสนพิธีของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนสำคัญยิ่งต่อทั้งหมดนี้” (“ฐานะปุโรหิตแห่งแอรันและศีลระลึก,” เลียโฮนา, ม.ค. 1999, 44)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 13:1 การปฏิบัติของเหล่าเทพ

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์อธิบายเรื่องการปฏิบัติของเหล่าเทพดังนี้

ภาพ
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“เมื่อวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์บุรุษผู้มีชีวิตยืนยาวและมีประสบการณ์มากมายเป็นประธานศาสนจักร ท่านกล่าวแก่เด็กหนุ่มฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนว่า ‘ข้าพเจ้าปรารถนาจะเน้นย้ำข้อเท็จจริงกับท่านว่าไม่ว่าชายคนนั้นเป็นปุโรหิตหรืออัครสาวกย่อมไม่เกิดความแตกต่างประการใดหากเขาไม่ขยายการเรียกของเขา ปุโรหิตถือกุญแจทั้งหลายแห่งการปฏิบัติของเหล่าเทพ’ ท่านกล่าว ‘เมื่อครั้งเป็นอัครสาวก สาวกเจ็ดสิบ หรือเอ็ลเดอร์ ไม่เคยมีสักครั้งในชีวิตที่ข้าพเจ้าได้รับความคุ้มครองจากพระเจ้ามากกว่าขณะดำรงตำแหน่งปุโรหิต’ (Millennial Star, 53:629)

“ลองคิดดูพี่น้องวัยเยาว์ที่รักทั้งหลาย ฐานะปุโรหิตนี้ที่ท่านดำรงอยู่ถือกุญแจทั้งหลายแห่งการปฏิบัติของเหล่าเทพ นั่นหมายความตามที่ข้าพเจ้าตีความว่า ถ้าท่านดำเนินชีวิตคู่ควรกับฐานะปุโรหิต ท่านย่อมมีสิทธิ์ได้รับและมีอำนาจสูงสุดของสัตภาวะจากสวรรค์นำทางท่าน ปกป้องท่าน และเป็นพรแก่ท่าน ถ้าเด็กหนุ่มคิดถ้วนถี่ พวกเขาจะไม่อยากได้รับพรอันน่าทึ่งนี้หรอกหรือ” (“The Priesthood of Aaron,” Ensign, Nov. 1982, 45)