เซมินารี
บทที่ 74: หลักคำสอนและพันธสัญญา 68


บทที่ 74

หลักคำสอนและพันธสัญญา 68

คำนำ

วันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1831 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธมีการประชุมใหญ่พิเศษกับเอ็ลเดอร์กลุ่มหนึ่งในเมืองไฮรัม รัฐโอไฮโอ พวกท่านสนทนาเรื่องการตีพิมพ์หนังสือพระบัญญัติซึ่งเป็นการรวบรวมการเปิดเผยที่ศาสดาพยากรณ์ได้รับ เอ็ลเดอร์สี่คนที่การประชุมใหญ่ขอให้โจเซฟ สมิธทูลถามพระเจ้าเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระองค์สำหรับพวกเขา เพื่อตอบคำขอครั้งนี้ ท่านศาสดาพยากรณ์ได้รับการเปิดเผยที่เวลานี้บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 68 การเปิดเผยมีคำแนะนำถึงคนที่ได้รับเรียกให้สั่งสอนพระกิตติคุณ คำแนะนำเกี่ยวกับการเรียกอธิการ และพระบัญญัติให้บิดามารดาสอนหลักธรรมและศาสนพิธีแห่งพระกิตติคุณแก่บุตรธิดาของตน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:1–12

พระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำคนที่ได้รับเรียกให้สั่งสอนพระกิตติคุณ

หากท่านหรือคนใกล้ชิดเคยรับใช้งานเผยแผ่ให้ศาสนจักร ให้เริ่มชั้นเรียนโดยแบ่งปันความรู้สึกบางอย่างที่ผู้คนประสบเมื่อพวกเขาเตรียมออกจากบ้านไปเป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลา จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • บางคนอาจมีความวิตกหรือข้อกังวลอะไรเกี่ยวกับการรับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลา

  • มีเหตุผลอะไรบ้างที่บางครั้งบางคนรู้สึกกังวลใจเมื่อแบ่งปันพระกิตติคุณกับสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนๆ ของพวกเขา

อธิบายว่าระหว่างการประชุมใหญ่วันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1831 เอ็ลเดอร์สี่คนที่จะรับใช้เป็นผู้สอนศาสนามาหาโจเซฟ สมิธและขอรู้พระประสงค์ของพระเจ้าเกี่ยวกับพวกเขา เพื่อตอบพวกเขา พระเจ้าทรงเปิดเผยรูปแบบสำหรับการสั่งสอนพระกิตติคุณ เชิญนักเรียนห้าคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:1–5 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาองค์ประกอบของรูปแบบดังกล่าว ก่อนพวกเขาอ่าน จงชี้ให้เห็นว่า ข้อ 2 และ 3 มีคำว่า แบบอย่าง แบบอย่างคือรูปแบบหรือต้นแบบ

  • ท่านเห็นอะไรในข้อเหล่านี้เกี่ยวกับวิธีที่เราควรสั่งสอนพระกิตติคุณ

  • ใน ข้อ 3–5พระเจ้าประทานสัญญาอะไรกับผู้รับใช้ของพระองค์

  • ถ้อยคำที่ได้รับการดลใจของผู้สอนศาสนาจะทำสิ่งใดต่อผู้ที่รับถ้อยคำเหล่านั้น (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อผู้รับใช้ของพระเจ้าได้รับการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ถ้อยคำของพวกเขาจะนำผู้คนไปสู่ความรอด เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

  • เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเชื้อเชิญอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ขณะที่เราแบ่งปันพระกิตติคุณ

อธิบายว่าถึงแม้คนที่ได้รับแต่งตั้งให้สั่งสอนพระกิตติคุณสามารถช่วยให้ผู้คนมีประจักษ์พยานเกี่ยวกับความจริง แต่เฉพาะประธานศาสนจักรเท่านั้นมีสิทธิ์ได้รับและประกาศพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับทั้งศาสนจักร ภายใต้การกำกับดูแลของท่าน สมาชิกท่านอื่นในฝ่ายประธานสูงสุดและสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองมีสิทธิอำนาจในการประกาศพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับเราเช่นกัน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:6 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหากำลังใจเพิ่มเติมที่พระเจ้าประทานแก่ผู้รับใช้ของพระองค์

  • ท่านเห็นความจริงอะไรบ้างในข้อนี้ที่อาจทำให้ผู้สอนศาสนาอบอุ่นใจ

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ท่านต้องรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงยืนเคียงข้างผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์

ชี้ให้เห็นว่า ข้อ 6 สรุปความรับผิดชอบเบื้องต้นของผู้รับใช้พระเจ้า นั่นคือ เป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์และพระพันธกิจของพระองค์ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จากนั้นให้สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:7–12 โดยอธิบายว่าพระเจ้าทรงเรียกเอ็ลเดอร์ที่ซื่อสัตย์ของศาสนจักรให้สั่งสอนพระกิตติคุณและให้บัพติศมาคนเหล่านั้นที่เชื่อ

ท่านอาจแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งท่านได้รับการนำทางจากพระวิญญาณให้รู้วิธีแบ่งปันพระกิตติคุณกับบางคน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:13–24

พระเจ้าทรงเปิดเผยว่าฝ่ายประธานสูงสุดต้องควบคุมดูแลการเรียกอธิการ

ขอให้นักเรียนสมมติว่าเพื่อนอีกศาสนาหนึ่งถามว่า “คุณเลือกอธิการของคุณอย่างไร”

  • ท่านจะตอบว่าอย่างไร

อธิบายว่าเอดเวิร์ด พาร์ทริจเป็นอธิการคนแรกที่ได้รับเรียกในศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ (เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1831; ดู คพ. 41:9) ก่อนโจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 68 (ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1831) อธิการพาร์ทริจเป็นอธิการคนเดียวในศาสนจักร อธิการคนอื่นๆ ได้รับเรียกหลังจากท่านศาสดาพยากรณ์ได้รับการเปิดเผยนี้ไม่นาน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:14–15 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าศาสนจักรคัดเลือกอธิการอย่างไร

หมายเหตุ: ข้อ 15–20 ประกอบด้วยคำแนะนำเกี่ยวกับสายเลือดแท้ของอาโรนผู้จะได้รับเรียกเป็นอธิการควบคุม วลี “สายเลือดแท้ของอาโรน” หมายถึงผู้สืบตระกูลของอาโรนพี่ชายของโมเสสในพันธสัญญาเดิม ผู้สืบตระกูลดังกล่าวจะมีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งอธิการควบคุมถ้าเขาได้รับเรียกและได้รับอนุมัติจากฝ่ายประธานสูงสุดข้อ 16–20 เกี่ยวข้องเฉพาะกับอธิการควบคุม ไม่ใช่อธิการของวอร์ด (ดู Joseph Fielding Smith, Doctrines of Salvation, comp. Bruce R. McConkie, 3 vols. [1954–56], 3:92–93) งานเขียนยุคแรกของศาสนจักรมักจะกล่าวถึงอธิการพาร์ทริจในฐานะอธิการควบคุม ความรับผิดชอบของอธิการควบคุมพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงหลายปีติดต่อกัน ภายใต้การกำกับดูแลของประธานบริคัม ยังก์ ความรับผิดชอบของอธิการควบคุมกระจ่างชัดมากขึ้นในปี 1847 ที่วินเทอร์ควอร์เตอร์ส โดยมีอธิการนูเวล เค. วิทนีย์ได้รับการเรียกนี้

ท่านอาจต้องการอธิบายว่าในยุคแรกของศาสนจักร สมาชิกในฝ่ายประธานสูงสุดวางมือแต่งตั้งและมอบหน้าที่ให้อธิการทุกคน ในศาสนจักรปัจจุบัน ยังคงเป็นเช่นนั้นกับอธิการควบคุม แต่การเรียก การวางมือแต่งตั้งและการวางมือมอบหน้าที่ให้อธิการดำเนินการโดยประธานสเตคภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายประธานสูงสุด ประธานสเตคแสวงหาการเปิดเผยด้วยการสนับสนุนจากที่ปรึกษาของเขาในฝ่ายประธานสเตคเพื่อให้รู้ว่าเรียกอธิการคนใหม่เมื่อใดและเรียกใคร เขาส่งใบเสนอชื่อให้ฝ่ายประธานสูงสุดอนุมัติ เมื่อฝ่ายประธานสูงสุดอนุมัติการเรียก พวกท่านมอบอำนาจให้ประธานสเตควางมือแต่งตั้งและมอบหน้าที่ให้อธิการคนใหม่ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คู่มือเล่ม 2: การบริหารงานศาสนจักร [2010], 19.6)

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ท่านต้องรู้ว่าฝ่ายประธานสูงสุดอนุมัติการเรียกอธิการของท่าน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:25–35

พระเจ้าทรงบัญชาให้บิดามารดาสอนพระกิตติคุณแก่บุตรธิดาของตน

ขอให้นักเรียนนึกถึงข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขาจะได้เป็นบิดามารดาในอีกไม่กี่ปี ชี้ให้เห็นว่าพระเจ้าทรงมอบความรับผิดชอบใหญ่หลวงให้มารดาและบิดา—พวกเขาต้องสอนพระกิตติคุณแก่บุตรธิดาด้วยวาจาและแบบอย่าง (ดู คพ. 29:46–50 และ “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” ซึ่งอยู่ในภาคผนวกท้ายคู่มือเล่มนี้) เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนหลักธรรมสามข้อที่พวกเขาต้องการจะสอนลูกๆ ของตนลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ ขอให้พวกเขาอ่านสิ่งที่เขียนให้กันฟัง จากนั้นให้เชิญพวกเขาอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:25–27 ด้วยกันโดยมองหาสิ่งที่พวกเขาสามารถเพิ่มเข้าไปในรายการที่เขียนไว้

  • พระเจ้าทรงบัญชาให้บิดามารดาสอนอะไรบุตรธิดาของตน (นักเรียนควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้: พระเจ้าทรงบัญชาให้บิดามารดาสอนบุตรธิดาของตนให้เข้าใจหลักคำสอนเรื่องการการกลับใจ ศรัทธาในพระคริสต์ บัพติศมา และของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลีใน ข้อ 25 ที่สอนหลักคำสอนนี้)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่เด็กเล็กต้องเข้าใจเรื่องการกลับใจ ศรัทธาในพระคริสต์ บัพติศมา และของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนเกี่ยวกับเวลาที่พวกเขาเคยเห็นบิดามารดาสอนหลักธรรมและหลักคำสอนตามที่กล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:25 หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียน

ขอให้นักเรียนยังคงทำกิจกรรมถัดไปเป็นคู่ๆ อธิบายว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:28–31 พระเจ้าประทานคำแนะนำเพิ่มเติมแก่บิดามารดา แจกสำเนา ข้อมูลต่อไปนี้ ให้แต่ละคู่ กระตุ้นให้พวกเขาอ่านพระคัมภีร์แต่ละข้อและสนทนาคำถามกับคู่ อธิบายว่าเมื่อสนทนาจบแล้ว พวกเขาจะรายงานสิ่งที่พบต่อชั้นเรียน

  1. อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:28 และมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงบัญชาให้บิดามารดาสอนบุตรธิดาของตน

    • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ท่านต้องสอนลูกๆ ให้สวดอ้อนวอน

    • ท่านได้รับการสอนให้สวดอ้อนวอนอย่างไร การสวดอ้อนวอนเป็นพรแก่ท่านและครอบครัวท่านอย่างไร

    • ท่านคิดว่า “ดำเนินชีวิตอย่างซื่อตรงต่อพระพักตร์พระเจ้า” หมายความว่าอย่างไร

  2. อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:29 และมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงบัญชาให้เราทำ

    • ท่านได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการรักษาวันสะบาโตให้บริสุทธิ์

    • ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อรักษาวันสะบาโตเป็นวันบริสุทธิ์

  3. อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:30 และมองหาพระดำรัสเตือนของพระเจ้า สังเกตว่าคำว่า คนเกียจคร้าน หมายถึงคนขี้เกียจ

    • ท่านเคยเห็นพรที่มาจากการทำงานขยันขันแข็งเมื่อใด

    อ่านข้อความต่อไปนี้ที่เลือกมาจาก เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน:

    “พระเจ้าทรงบัญชาเราไม่ให้เกียจคร้าน ความเกียจคร้านนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ความสัมพันธ์ที่เป็นภัย และบาป ความเกียจคร้านรูปแบบหนึ่งคือการใช้เวลามากเกินไปกับกิจกรรมที่ยับยั้งไม่ให้ท่านทำงานอันก่อให้เกิดประโยชน์ อาทิ การใช้อินเทอร์เน็ต เล่นวิดีโอเกม และดูโทรทัศน์” (เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน [จุลสาร, 2011], 40)

    • ความเกียจคร้านจะนำไปสู่ความชั่วร้ายได้อย่างไร

    • สิ่งใดบ้างที่สามารถช่วยเราเอาชนะนิสัยเกียจคร้าน

  4. อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:31–32 มองหาคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่วิสุทธิชนในไซอัน

    • ท่านคิดว่าความละโมบจะมีผลต่อครอบครัวได้อย่างไร

    • เราจะทำอะไรได้บ้างในชีวิตเราเพื่อเอาชนะความเห็นแก่ตัวและความละโมบ

หลังจากนักเรียนทำกิจกรรมนี้แล้ว ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่ได้เรียนรู้ (ท่านอาจจะขอให้นักเรียนคนหนึ่งเขียนคำตอบของนักเรียนคนอื่นๆ ไว้บนกระดาน) หลักธรรมหนึ่งที่ท่านอาจต้องการเน้นจาก ข้อ 31 และ ข้อ 32 คือ เราต้องขจัดความเกียจคร้านและความละโมบออกจากชีวิตเรา (ขณะที่นักเรียนสนทนาหลักธรรมนี้ ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องได้ทุกอย่างที่เพื่อนเรามีจึงจะมีความสุข)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่บิดามารดาจะสอนและดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของพระกิตติคุณ

  • เยาวชนชายและเยาวชนหญิงจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้ครอบครัวของพวกเขา “ดำเนินชีวิตอย่างซื่อตรงต่อพระพักตร์พระเจ้า”

หากท่านเป็นพ่อแม่ ท่านอาจแสดงความซาบซึ้งใจในวิธีที่ลูกๆ ช่วยท่านทำตามพระบัญญัติของพระเจ้าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 68 จากนั้นให้นักเรียนเขียนเป้าหมายที่จะช่วยพวกเขาเตรียมเป็นบิดามารดาที่ดี หรือเชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนเป้าหมายเพื่อช่วยบิดามารดาทำความรับผิดชอบเหล่านั้น หากเวลาเอื้ออำนวย ท่านอาจต้องการขอให้นักเรียนสองสามคนบอกเป้าหมายของพวกเขากับชั้นเรียน

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:3–4 “สิ่งใดก็ตามที่พวกเขาจะกล่าวเมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงดลใจ”

ประธานเจ. รูเบน คลาร์กอธิบายว่าเฉพาะสมาชิกในฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองเท่านั้นมีสิทธิ์ พลังอำนาจ และสิทธิอำนาจในการประกาศพระดำริและพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าต่อผู้คนของพระองค์

ภาพ
ประธาน เจ. รูเบน คลาร์ก จูเนียร์

“[เรา] พึง [ระลึกเสมอ] ว่าเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่บางท่านได้รับมอบหมายการเรียกพิเศษ ท่านเหล่านั้นมีของประทานพิเศษ ท่านเหล่านั้นได้รับการสนับสนุนเป็นศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผย ซึ่งทำให้พวกท่านได้รับการประสาทพรพิเศษทางวิญญาณเกี่ยวกับการสอนผู้คนของท่าน พวกท่านมีสิทธิ์ พลังอำนาจ และสิทธิอำนาจในการประกาศพระดำริและพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าต่อผู้คนของพระองค์ภายใต้พลังอำนาจและสิทธิอำนาจทั้งหมดของประธานศาสนจักร เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ท่านอื่นไม่ได้รับการประสาทพรพิเศษทางวิญญาณและไม่มีสิทธิอำนาจครอบคลุมการสอนของพวกท่าน ท่านเหล่านั้นจึงมีข้อจำกัด และข้อจำกัดในเรื่องพลังอำนาจและสิทธิอำนาจของท่านเหล่านั้นในการสอนปรับใช้ได้กับเจ้าหน้าท่านอื่นและสมาชิกทุกคนของศาสนจักร เพราะในบรรดาคนเหล่านั้นไม่มีใครได้รับการประสาทพรทางวิญญาณให้เป็นศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผย นอกจากนี้ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ประธานศาสนจักรมีการประสาทพรพิเศษเพิ่มเติมทางวิญญาณในเรื่องนี้ เพราะท่านเป็นศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยสำหรับทั้งศาสนจักร” (“When Are Church Leaders’ Words Entitled to Claim of Scripture?” Church News, July 31, 1954, 9–10)

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าศาสดาพยากรณ์พูดในฐานะศาสดาพยากรณ์เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงดลใจเท่านั้น

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“พึงระลึกว่าถ้อยแถลงทุกครั้งจากผู้นำศาสนจักร ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องประกอบเป็นหลักคำสอน เป็นที่เข้าใจทั่วกันในศาสนจักรว่าถ้อยแถลงที่ผู้นำคนหนึ่งพูดในวาระเดียวมักเป็นความคิดเห็นส่วนตัว แม้จะพิจารณามาดีแล้วก็ตาม มิได้มุ่งหมายให้เป็นทางการหรือผูกมัดทั้งศาสนจักรแต่อย่างใด ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนว่า ‘ศาสดาพยากรณ์ [เป็น] ศาสดาพยากรณ์ก็ต่อเมื่อเขา [กำลัง] ทำหน้าที่ศาสดาพยากรณ์’ [ใน History of the Church, 5:265] ประธาน [เจ. รูเบน] คลาร์ก … ตั้งข้อสังเกตว่า …

“‘… ศาสนจักรจะรู้ในกลุ่มสมาชิกโดยประจักษ์พยานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ว่าเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ที่กำลังประกาศทัศนะของตน ‘ได้รับการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์’ หรือไม่ และความรู้นั้นจะเป็นที่ประจักษ์ในเวลาอันสมควร’ [J. Reuben Clark Jr., “When Are Church Leaders’ Words Entitled to Claim of Scripture?” Church News, July 31, 1954, 10.]” (“หลักคำสอนของพระคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 88, 89)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:15–21 “สายเลือดแท้ของอาโรน”

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธสอนว่าคำแนะนำของพระเจ้าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:15–21 ประยุกต์ใช้เฉพาะกับตำแหน่งอธิการควบคุมของศาสนจักร

ภาพ
ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

“บุคคลที่พูดถึงในการเปิดเผยว่ามีสิทธิ์เป็นฝ่ายอธิการตามเชื้อสายคือบุคคลที่เป็นบุตรคนแรก เนื่องจากการเกิดของเขา เขาจึงมีสิทธิ์ถือ ‘กุญแจทั้งหลายหรือสิทธิอำนาจของฝ่ายอธิการ’ ทั้งหมดนี้มีการอ้างถึงเฉพาะคนที่ เป็นประธานฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนเท่านั้น แต่ไม่ได้กล่าวถึงอธิการของวอร์ดแต่อย่างใด นอกจากนี้ ฝ่ายประธานสูงสุดต้องเป็นผู้กำหนดบุคคลนั้นและได้รับการแต่งตั้งภายใต้มือพวกท่าน การเปิดเผยให้เรียกร้องสิทธิ์การเป็นประธานในตำแหน่งนี้มาจากฝ่ายประธานสูงสุด ไม่ใช่จากผู้ประสาทพร โดยที่ขาดความรู้เกี่ยวกับการสืบสายโลหิตเช่นนั้น ฝ่ายประธานสูงสุดจะเลือกมหาปุโรหิตคนใดคนหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งอธิการควบคุมและรับใช้กับที่ปรึกษา” (Doctrines of Salvation, ed. Bruce R. McConkie, 3 vols. [1954–56], 3:92–93; italics in original)