เซมินารี
บทที่ 69: หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:1–19


บทที่ 69

หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:1–19

คำนำ

วันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1831 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและเอ็ลเดอร์จำนวนหนึ่งเพิ่งกลับมาโอไฮโอจากการเดินทางไปอุทิศแผ่นดินและที่ตั้งพระวิหารในไซอัน หรืออินดิเพนเดนซ์ มิสซูรี ระหว่างเดินทางไปกลับจากมิสซูรี เอ็ลเดอร์บางคนมีความไม่ลงรอยกันและประสบความรู้สึกขัดแย้ง แต่ส่วนใหญ่สามารถคืนดีกันได้ วันที่ 11 กันยายน ท่านศาสดาพยากรณ์ได้รับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 64 บทนี้ครอบคลุม หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:1–19 ซึ่งพระเจ้าตรัสถึงความเต็มพระทัยจะให้อภัยผู้รับใช้ของพระองค์ พระองค์ทรงบัญชาสมาชิกศาสนจักรให้อภัยกันด้วย

หมายเหตุ: บทที่ 70 จะให้โอกาสนักเรียนสองคนสอน หากท่านยังไม่ได้ทำเช่นนั้น ท่านอาจต้องการเลือกนักเรียนสองคนตอนนี้และให้สำเนาส่วนที่กำหนดไว้ในบทที่ 70 เพื่อพวกเขาจะได้เตรียมตัว

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:1–7

พระเจ้าทรงรับรองกับเหล่าเอ็ลเดอร์ว่าพระองค์เต็มพระทัยให้อภัย

ก่อนชั้นเรียนให้เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน

ท่านเคยรู้สึกเจ็บปวดเพราะคำพูดหรือการกระทำของผู้อื่นเมื่อใด

ท่านตอบสนองอย่างไรในสถานการณ์นั้น

เริ่มชั้นเรียนโดยเชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามบนกระดาน

อธิบายว่าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 64พระเจ้าทรงสอนวิธีตอบสนองเมื่อผู้อื่นทำร้ายเรา โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 64 เมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1831 ราวสองสัปดาห์หลังจากท่านและเอ็ลเดอร์กลุ่มหนึ่งกลับจากอินดิเพนเดนซ์ มิสซูรีมาที่เคิร์ทแลนด์ เอ็ลเดอร์เหล่านี้และสมาชิกศาสนจักรคนอื่นๆ ประสบความยุ่งยากเพราะความไม่ลงรอยกันและความรู้สึกขัดแย้งในหมู่สมาชิกบางคนของกลุ่ม ในการเปิดเผยนี้ พระเจ้าตรัสว่า “มีคนเหล่านั้นในบรรดาพวกเจ้าที่ทำบาป” (คพ. 64:3)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:1–4 และขอให้ชั้นเรียนมองหาประโยคที่บอกว่าพระเจ้าจะทรงตอบสนองอย่างไรต่อคนทำบาป ท่านอาจต้องการแนะนำให้นักเรียนทำเครื่องหมายประโยคที่พวกเขาค้นพบ

  • พระเจ้าตรัสว่าพระองค์จะทรงตอบสนองอย่างไรต่อสมาชิกศาสนจักรที่ทำบาป

  • การตอบสนองเหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับพระเจ้า (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: พระเจ้าทรงสงสาร ให้อภัย และเมตตา เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

  • เหตุใดความจริงนี้จึงสำคัญต่อสมาชิกศาสนจักรผู้ประสบความยุ่งยากเพราะความไม่ลงรอยและความรู้สึกไม่ดี เหตุใดความจริงนี้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจึงสำคัญต่อท่าน

อธิบายว่าเวลานี้สมาชิกบางคนของศาสนจักรรวมทั้งเอ็ลเดอร์บางคนที่เดินทางไปกับโจเซฟ สมิธได้วิพากษ์วิจารณ์โจเซฟ สมิธ เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:5–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าตรัสเกี่ยวกับโจเซฟ สมิธ ก่อนนักเรียนอ่านให้อธิบายว่าการหาโอกาสต่อต้านคนบางคนดังที่กล่าวไว้ใน ข้อ 6 คือการจับผิดคนเหล่านั้น

  • พระเจ้าตรัสอะไรเกี่ยวกับโจเซฟ สมิธ (โจเซฟ สมิธถือกุญแจทั้งหลายของอาณาจักรแห่งพระเจ้าและเป็นผู้รับใช้ของพระองค์ บางคนจับผิดโจเซฟ)

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:7 ในใจโดยมองหาสิ่งอื่นที่พระเจ้าตรัสเกี่ยวกับโจเซฟ สมิธ

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากข้อนี้เกี่ยวกับโจเซฟ สมิธ (โจเซฟ สมิธทำบาป แต่พระเจ้าเต็มพระทัยให้อภัยท่าน เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจข้อนี้ ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าโจเซฟ สมิธเหมือนทุกคนคือมีความอ่อนแอและต้องแสวงหาการให้อภัยบาปจากพระเจ้า แต่ท่านไม่ได้ทำบาปร้ายแรง)

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากข้อนี้เกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องทำเพื่อรับการให้อภัยจากพระเจ้า

หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:8–19

พระเจ้าทรงบัญชาผู้รับใช้ของพระองค์ให้อภัยกัน

หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ให้ดูภาพงูพิษที่อยู่ในเขตของท่านหรือภาพแผลที่ถูกงูพิษกัด

  • นอกจากจะรู้สึกเจ็บปวดทางกายแล้ว ท่านคิดว่าท่านจะมีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไรถ้าท่านถูกงูพิษกัด

อธิบายว่าบางคนในสถานการณ์นี้อาจ (1) ไล่ตามไปฆ่างูด้วยความโกรธหรือความกลัว หรือ (2) รีบขับพิษออกจากร่างกายของตนทันที

  • ท่านคิดว่าการกระทำใดในสองข้อนี้ฉลาดกว่า เพราะเหตุใด

อธิบายว่าการเลือกของคนๆ หนึ่งหลังจากถูกงูพิษกัดเปรียบได้กับการเลือกของเราเมื่อเรารู้สึกเจ็บปวดเพราะคำพูดหรือการกระทำของผู้อื่น เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:8 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาผลที่สานุศิษย์บางคนของพระเจ้าประสบเพราะไม่ยอมให้อภัยกัน เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรบ้างจาก ข้อ 8 (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเราไม่ยอมให้อภัยผู้อื่น เรานำความทุกข์ทรมานมาให้ตัวเรา ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนหลักธรรมนี้ด้วยคำพูดของพวกเขาเองลงในพระคัมภีร์)

  • บุคคลจะทุกข์ทรมาน (หรือเจ็บปวด) เพราะไม่ให้อภัยผู้อื่นได้อย่างไร เปรียบเสมือนผลของคนไล่ตามงูหางกระดิ่งที่เพิ่งกัดเขาอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:9 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนระบุผลอีกประการหนึ่งของการไม่ให้อภัยผู้อื่น

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 9ผลอีกประการหนึ่งของการไม่ยอมให้อภัยผู้อื่นคืออะไร (หากเราไม่ให้อภัยผู้อื่น เราย่อมถูกกล่าวโทษต่อพระพักตร์พระเจ้า เขียนหลักคำสอนนี้ไว้บนกระดาน)

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนานี้ ท่านอาจต้องการขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เดวิด อี. โซเรนเซ็นแห่งสาวกเจ็ดสิบ

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด อี. โซเรนเซ็น

“การให้อภัยคนที่ทำร้ายเราทำได้ยากมาก แต่เมื่อเราให้อภัย เราเปิดตัวรับอนาคตที่ดีกว่า ความผิดของผู้อื่นไม่ควบคุมวิถีของเราอีกต่อไป เมื่อเราให้อภัย เราเลือกได้อย่างเสรีว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไร การให้อภัยหมายความว่าปัญหาในอดีตไม่ได้กำหนดจุดหมายของเราอีกต่อไปและเราสามารถจดจ่ออยู่กับอนาคตได้โดยมีความรักของพระผู้เป็นเจ้าในใจเรา” (“การให้อภัยเปลี่ยนความขมขื่นเป็นความรัก,” เลียโฮนา,พ.ค. 2003, 15)

เพื่อช่วยให้นักเรียนค้นพบและประยุกต์ใช้พระบัญญัติของการให้อภัยทุกคน ให้อ่านตัวอย่างต่อไปนี้และถามคำถามที่อยู่ต่อจากนั้น

  1. เยาวชนหญิงคนหนึ่งเจ็บใจและอับอายหลังจากทราบว่าเพื่อนบางคนซุบซิบนินทาเธอ ต่อมา เพื่อนเหล่านี้บางคนขอโทษเธอ แต่บางคนไม่ขอโทษ เธอให้อภัยคนที่ขอโทษแต่ผูกพยาบาทคนที่เหลือ

    เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:10–11 ขอให้พวกเขาตรึกตรองว่าข้อเหล่านี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับตัวอย่างที่ท่านอ่าน

    • พระเจ้าประทานพระบัญชาอะไรใน ข้อ 10 (ช่วยนักเรียนระบุพระบัญชาต่อไปนี้: พระเจ้าทรงบัญชาเราให้อภัยทุกคน)

    • พระบัญชานี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับเยาวชนหญิงในตัวอย่าง ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องให้อภัยทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะขอโทษที่ทำผิดหรือไม่ก็ตาม

  2. เยาวชนชายคนหนึ่งไม่เชื่อฟังพระบัญญัติข้อหนึ่ง เขาสวดอ้อนวอนขอการให้อภัยและพูดปัญหานี้กับอธิการ อย่างไรก็ตาม แม้หลังจากอธิการยืนยันว่าเขากลับใจโดยสมบูรณ์แล้ว แต่เขาก็ยังรู้สึกไม่มีค่าควรเพราะบาปในอดีต

    • พระบัญญัติให้เราอภัยทุกคนเกี่ยวข้องอย่างไรกับเยาวชนชายในตัวอย่างนี้ เหตุใดเราจึงต้องให้อภัยตนเอง

  3. เยาวชนหญิงคนหนึ่งรู้สึกเสียใจและสับสนเพราะการกระทำของพ่อ เขาทอดทิ้งครอบครัว ก่อนไปเขาไม่แสดงความรักต่อครอบครัวเลยและใจร้ายบ่อยๆ เธอไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อทำแบบนี้ และเธอรู้สึกโกรธเขา เธอรู้ว่าเธอควรพยายามให้อภัยแต่ไม่คิดว่าจะทำได้

    • คำแนะนำของพระเจ้าใน ข้อ 11 จะช่วยให้เยาวชนหญิงคนนี้ให้อภัยพ่อได้อย่างไร ข้อความนั้นช่วยให้เราวางใจพระผู้เป็นเจ้าโดยให้พระองค์ทรงเป็นผู้ตัดสินคนทำร้ายเราอย่างไร

ขอให้นักเรียนพิจารณาว่ามีใครที่พวกเขาต้องให้อภัยหรือไม่ จงยอมรับว่าบางครั้งการให้อภัยกันทำได้ยากมาก เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ขอให้ชั้นเรียนฟังว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างหากให้อภัยบางคนไม่ได้

ภาพ
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“ข้าพเจ้าขอร้องให้ท่านทูลขอพระเจ้าเพื่อมีพลังในการให้อภัย … นั่นอาจไม่ง่าย และอาจไม่เกิดขึ้นทันที แต่หากท่านจะแสวงหาด้วยความจริงใจและปลูกฝังสิ่งนี้ สิ่งนี้ จะ เกิดขึ้น” (“Of You It Is Required to Forgive,” Ensign, June 1991, 5)

  • ประธานฮิงค์ลีย์แนะนำให้เราทำอะไรหากเราให้อภัยบางคนไม่ได้ ท่านคิดว่าการสวดอ้อนวอนขอพลังจะช่วยเราให้อภัยได้อย่างไร

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:12–14 โดยอธิบายว่าพระเจ้าทรงสอนว่าการที่เราเลือกให้อภัยผู้อื่นไม่ได้ทำให้พวกเขาพ้นความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน พวกเขายังต้องรับผิดชอบต่อพระเจ้าสำหรับความผิดที่พวกเขาทำ ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:15–17 เราเห็นว่าพระเจ้าทรงให้อภัยผู้รับใช้สองคนของพระองค์คือไอแซค มอร์ลีย์กับเอดเวิร์ด พาร์ทริจ เพราะพวกเขากลับใจจากบาปของตน

ให้ดูภาพพระเยซูคริสต์ ชี้ให้ดูความจริงข้อแรกที่ท่านเขียนไว้บนกระดานเมื่อเริ่มบทเรียน: พระเจ้าทรงสงสาร ให้อภัย และเมตตา เป็นพยานว่าเมื่อเราให้อภัย เราจะเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะประยุกต์ใช้หลักธรรมของการให้อภัยที่เรียนรู้วันนี้อย่างไร ให้เวลาพวกเขาเขียนสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อประยุกต์ใช้ความจริงเหล่านี้และบันทึกความประทับใจที่พวกเขาได้รับ

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:8 เราทำให้ตนเองทุกข์ทรมานเมื่อเราไม่ให้อภัยผู้อื่น

เอ็ลเดอร์เดวิด อี. โซเรนเซ็นแห่งสาวกเจ็ดสิบเล่าเรื่องชายสองคนที่ทำร้ายพวกเขาเองและอีกหลายคนเพราะไม่ยอมให้อภัยกัน

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด อี. โซเรนเซ็น

“ข้าพเจ้าเติบโตในเมืองเกษตรเล็กๆ ที่น้ำเป็นเสมือนโลหิตหล่อเลี้ยงชีวิตชุมชน ข้าพเจ้าจำได้ว่าคนในชุมชนเฝ้ารอ วิตก และสวดอ้อนวอนขอฝน ขอสิทธิ์ใช้คูทดน้ำ และขอน้ำ …

“ภายใต้ภาวะบีบคั้นของสภาพอากาศ บางครั้งผู้คนจึงไม่ได้ทำอย่างที่ควรทำ บางครั้งเพื่อนบ้านจะทะเลาะกับเกษตรคนหนึ่งที่ใช้น้ำจากคูทดน้ำมากเกินไป อย่างเช่นเรื่องนี้ซึ่งเริ่มจากชายสองคนผู้อาศัยอยู่ใกล้ทุ่งเลี้ยงสัตว์บนเขาของเรา ข้าพเจ้าจะเรียกว่าเชทกับวอลท์ เพื่อนบ้านสองคนนี้เริ่มทะเลาะกันเรื่องน้ำจากคูทดน้ำที่ใช้ร่วมกัน ตอนแรกก็ยังไม่มีอะไร แต่นานปีเข้าชายทั้งสองกลับปล่อยให้ความไม่ลงรอยกันกลายเป็นความบาดหมาง ตามด้วยการถกเถียง—แม้ถึงขั้นข่มขู่

“เช้าวันหนึ่งในเดือนกรกฎาคม ชายทั้งสองรู้สึกว่าน้ำไม่พอใช้อีกตามเคย ต่างคนต่างไปที่คูทดน้ำเพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้น ต่างก็คิดว่าอีกฝ่ายขโมยน้ำของตน ทั้งสองไปถึงประตูน้ำพร้อมกัน โต้เถียงกันด้วยความโกรธจนถึงขั้นลงไม้ลงมือ วอลท์เป็นชายร่างใหญ่มีกำลังมาก ส่วนเชทเป็นชายร่างเล็กผอม แต่ไม่ยอมคน ระหว่างต่อสู้กันอย่างดุเดือด ชายทั้งสองใช้พลั่วที่ถืออยู่เป็นอาวุธ บังเอิญพลั่วของวอลท์ถูกเข้าที่ตาข้างหนึ่งของเชท ทำให้ตาข้างนั้นบอด

“หลายเดือนหลายปีผ่านไป เชทยังไม่ลืมและไม่ให้อภัย ความโกรธเพราะสูญเสียดวงตาเดือดพล่านในตัวเขา และความเกลียดชังรุนแรงขึ้น วันหนึ่งเชทไปที่โรงนา หยิบปืนจากหิ้ง ขึ้นหลังม้าและขี่ไปถึงประตูคูทดน้ำ เขาเปิดทำนบกั้นน้ำและปล่อยให้น้ำไหลออกจากฟาร์มของวอลท์โดยรู้ว่าอีกไม่นานวอลท์จะต้องมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น จากนั้นเชทก็หลบเข้าไปอยู่ในพุ่มไม้ เมื่อวอลท์ปรากฏตัว เชทยิงวอลท์เสียชีวิต จากนั้นก็ขี่ม้ากลับไปบ้านและโทรศัพท์แจ้งนายอำเภอว่าเขาเพิ่งยิงวอลท์

“ทางการขอให้คุณพ่อข้าพเจ้าอยู่ในคณะลูกขุนที่สอบสวนเชทข้อหาฆาตกรรม แต่ท่านไม่รับงานนี้เพราะท่านเป็นเพื่อนกับชายทั้งสองและครอบครัวของเขามานาน เชทถูกสอบสวนและพบว่าทำผิดจริง เขาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต

“หลายปีหลังจากนั้น ภรรยาเชทมาหาคุณพ่อของข้าพเจ้าและถามว่าท่านจะลงนามในหนังสือร้องทุกข์ถึงผู้ว่าเพื่อขออภัยโทษให้สามีเธอได้ไหมเพราะตอนนี้สุขภาพของเขาทรุดโทรมมากหลังจากอยู่ในสถานกักกันมานานหลายปี คุณพ่อลงนามในหนังสือฉบับนั้น ไม่กี่คืนต่อมา ลูกชายสองคนของวอลท์มาที่บ้านเรา พวกเขาโกรธและโมโหมาก พวกเขาบอกว่าเพราะคุณพ่อลงนามในหนังสือร้องทุกข์ อีกหลายคนจึงร่วมลงนามด้วย พวกเขาขอให้คุณพ่อถอนชื่อออกจากหนังสือร้องทุกข์ ผมบอกว่าไม่ดื่ม ท่านบอกว่าไม่ ท่านรู้สึกว่าเชทอ่อนแอมากและเป็นผู้ป่วย เขาได้รับโทษอย่างสาสมในคุกมาหลายปีแล้วจากคดีที่ก่อขึ้นเพราะอารมณ์ร้อน ท่านต้องการให้เชทมีพิธีศพที่เหมาะสมและฝังอยู่ข้างๆ ครอบครัวเขา

“ลูกชายของวอลท์ฉุนกึกและพูดว่า ‘ถ้าเขาถูกปล่อยออกจากคุก เราจะต้องหาทางให้เขาและครอบครัวได้รับผลที่ทำไว้’

“ในที่สุดเชทก็ถูกปล่อยตัวให้กลับมาเสียชีวิตที่บ้าน โชคดีที่ไม่มีความรุนแรงระหว่างครอบครัวอีก คุณพ่อข้าพเจ้ามักจะโอดครวญว่าเรื่องเศร้าเช่นนี้เกิดขึ้นเพราะเชทกับวอลท์ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านกันและเป็นเพื่อนกันมาแต่เด็กต่างตกเป็นทาสของความโกรธและปล่อยให้ความโกรธทำลายชีวิตของเขาทั้งสอง น่าเศร้าที่ปล่อยให้อารมณ์ชั่ววูบทวีความรุนแรงจนควบคุมไม่อยู่ สุดท้ายก็คร่าชีวิตของคนทั้งสอง—เพียงเพราะทั้งสองให้อภัยกันไม่ได้ในเรื่องส่วนแบ่งน้ำเล็กๆ น้อยๆ …

“…เมื่อมีใครบางคนทำร้ายเราหรือคนที่เราห่วงใย ความเจ็บปวดนั้นแทบจะต้านไม่ไหว อาจรู้สึกประหนึ่งว่าความเจ็บปวดหรือความอยุติธรรมเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในโลก และเราไม่มีทางเลือกใดนอกจากหาทางแก้แค้น แต่พระคริสต์ เจ้าชายแห่งสันติ ทรงสอนวิธีที่ดีกว่านั้น การให้อภัยคนที่ทำร้ายเราทำได้ยากมาก แต่เมื่อเราให้อภัย เราย่อมเปิดตัวรับอนาคตที่ดีกว่า ความผิดของผู้อื่นไม่ควบคุมวิถีของเราอีกต่อไป เมื่อเราให้อภัย เราเลือกได้อย่างเสรีว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไร การให้อภัยหมายความว่าปัญหาในอดีตไม่กำหนดจุดหมายของเราอีกต่อไปและเราสามารถจดจ่อกับอนาคตได้โดยมีความรักของพระผู้เป็นเจ้าในใจเรา” (“การให้อภัยเปลี่ยนความขมขื่นเป็นความรัก,” เลียโฮนา, พ.ค. 2003, 13, 15)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:12–14 “เจ้าพึงนำ [เขา] มาอยู่ต่อหน้าศาสนจักร”

คำแนะนำจากพระเจ้าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:12–14 แสดงให้เห็นว่าการให้อภัยผู้อื่นไม่ได้ทำให้พวกเขาพ้นจากผลการกระทำของตน เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

“ในฐานะเหยื่อที่บริสุทธิ์ หากมีคนทำผิดต่อท่านอย่างรุนแรง อย่าเก็บความรู้สึกเกลียดชังไว้ในใจ อย่าโกรธในสิ่งที่เห็นว่าไม่ยุติธรรม จงให้อภัยผู้ทำผิดแม้เมื่อท่านบริสุทธิ์ การทำเช่นนั้นอาจต้องใช้ความพยายามอย่างมากในส่วนของท่าน การให้อภัยเช่นนั้นยากที่สุด แต่เป็นเส้นทางที่นำไปสู่สันติสุขและการเยียวยา หากต้องมีการลงโทษเพราะเขาล่วงละเมิดร้ายแรงต่อท่าน จงปล่อยให้ศาสนจักรและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจัดการ อย่าทำให้ชีวิตท่านต้องแบกรับความคิดจะล้างแค้น เครื่องโม่ความยุติธรรมของพระเจ้าบดได้ช้าๆ แต่บดได้ดีมาก ในระบบของพระเจ้า จะไม่มีใครหนีพ้นผลจากการละเมิดกฎของพระองค์ที่ยังไม่ได้แก้ไข ในเวลาและวิธีของพระองค์คนนั้นจะต้องชดใช้การกระทำชั่วที่ไม่กลับใจจนครบ” (“สันติสุขในจิตสำนึกและสันติสุขในใจ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2004, 20)

เอ็ลเดอร์เดวิด อี. โซเรนเซ็นแห่งสาวกเจ็ดสิบอธิบายคล้ายกันดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด อี. โซเรนเซ็น

“ข้าพเจ้าประสงค์จะชี้แจงว่าเราต้องไม่นำการอภัยบาปมาปนกับการยอมให้ความชั่วเกิดขึ้น ในงานแปลของโจเซฟ สมิธ พระเจ้าตรัสว่า ‘จงตัดสินด้วยการตัดสินที่ชอบธรรม’ [งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 7:1 (ใน มัทธิว 7:1, footnote a] พระผู้ช่วยให้รอดทรงขอให้เราละทิ้งและต่อต้านความชั่วทุกรูปแบบ แม้จะต้องให้อภัยเพื่อนบ้านที่ทำร้ายเรา แต่เรายังต้องพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดการทำร้ายอีก สตรีที่ถูกกระทำทารุณกรรมไม่ควรหาทางแก้แค้น ทั้งไม่ควรรู้สึกว่าเธอหมดหนทางป้องกันการกระทำทารุณกรรมมากขึ้น นักธุรกิจที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในการติดต่อทางธุรกิจไม่ควรเกลียดคนไม่ซื่อสัตย์แต่จะใช้มาตรการที่เหมาะสมแก้ไขสิ่งผิด การให้อภัยไม่ได้เรียกร้องให้เรายอมรับหรือยอมให้ความชั่วเกิดขึ้น ไม่ได้เรียกร้องให้เราเพิกเฉยสิ่งผิดที่เราเห็นในโลกรอบตัวเราหรือในชีวิตเราเอง แต่ขณะต่อสู้กับบาป เราต้องไม่ยอมให้ความเกลียดชังหรือความโกรธควบคุมความคิดและการกระทำของเรา” (“การให้อภัยเปลี่ยนความขมขื่นเป็นความรัก,” เลียโฮนา, พ.ค. 2003, 15)