เซมินารี
บทที่ 63: หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:1–33


บทที่ 63

หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:1–33

คำนำ

วันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1831 ไม่ถึงสองสัปดาห์หลังจากพระเจ้าทรงกำหนดให้อินดิเพนเดนซ์ มิสซูรีเป็นสถานที่ซึ่งเป็นศูนย์กลางของไซอัน โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยที่อยู่ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 58 การเปิดเผยนี้ประทานให้เพื่อตอบคนที่ร้อนใจใคร่รู้พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าเกี่ยวกับพวกเขาในแผ่นดินใหม่นี้ ในการเปิดเผยนี้พระเจ้าทรงแนะนำให้วิสุทธิชนซื่อสัตย์ขณะเผชิญความยากลำบากและทรงอธิบายสาเหตุที่พระองค์ทรงส่งวิสุทธิชนไปไซอัน พระเจ้าทรงกระตุ้นให้วิสุทธิชนใช้สิทธิ์เสรีทำให้เกิดความชอบธรรมเช่นกัน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:1–5

พระเจ้าทรงแนะนำให้วิสุทธิชนซื่อสัตย์ขณะพวกเขาเผชิญความยากลำบาก

ก่อนชั้นเรียนเริ่ม ให้เขียนคำว่า ปัจจุบัน และ อนาคต ไว้บนกระดาน

เริ่มชั้นเรียนโดยขอให้นักเรียนนึกถึงความท้าทายใหญ่หลวงที่สุดที่พวกเขาเผชิญอยู่ในชีวิตปัจจุบัน

  • การนึกถึงอนาคตของท่านทั้งในชีวิตนี้และชีวิตหน้าจะช่วยท่านรับมือกับความท้าทายที่ท่านกำลังประสบเวลานี้ได้อย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าต่อไปนี้ ขอให้ชั้นเรียนฟังความท้าทายที่วิสุทธิชนในมิสซูรีประสบในปี ค.ศ. 1831 ที่อาจทำให้พวกเขาบางคนท้อแท้

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1831 ผู้สอนศาสนาพบชาวอินเดียนแดงเผ่าเดลาแวร์กลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ในเขตอินเดียนแดงเลยชายแดนตะวันตกของมิสซูรี ชาวอินเดียนแดงเผ่าเดลาแวร์สนใจจะเรียนพระกิตติคุณที่อยู่ในพระคัมภีร์มอรมอน แต่เพราะผู้สอนศาสนาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในเขตอินเดียนแดงและสั่งสอนพระกิตติคุณ และเพราะการต่อต้านจากตัวแทนชาวอินเดียนแดงและบาทหลวงในท้องที่ ผู้สอนศาสนาจากศาสนจักรจึงถูกบีบบังคับให้ออกจากเขตนั้น ต่อจากนั้นผู้สอนศาสนาพยายามสอนผู้ตั้งรกรากชาวผิวขาวในอินดิเพนเดนซ์ มิสซูรี และบริเวณโดยรอบ แต่มีผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสไม่ถึงสิบคนเข้าร่วมศาสนจักรราวเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1831 เมื่อเหล่าเอ็ลเดอร์ของศาสนจักรจากโอไฮโอเริ่มมาถึงมิสซูรีในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1831 บางคนผิดหวังกับสิ่งที่เห็น พวกเขาบางคนคาดว่าจะเห็นชุมชนผู้เชื่อที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และถิ่นฐานที่พร้อมรองรับสมาชิกศาสนจักรที่กำลังอพยพมา น้อยคนแสดงความสนใจเพราะที่ดินในมิสซูรียังไม่พัฒนา นอกจากนี้ พี่น้องชายบางคนยังได้รับการส่งเสริมให้อยู่ในมิสซูรีและซื้อที่ดินเพื่อเตรียมไซอันให้วิสุทธิชนที่จะมาภายหลังด้วย

  • ท่านคิดว่าเหตุใดสถานการณ์นี้จึงน่าท้อใจสำหรับสมาชิกบางคนของศาสนจักร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:1–2 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงบอกเหล่าเอ็ลเดอร์ที่อาจจะช่วยพวกเขารับมือกับความท้าทายที่เผชิญอยู่

  • พระเจ้าทรงบอกเหล่าเอ็ลเดอร์ว่าอย่างไร

  • ท่านจะสรุปความจริงใน ข้อ 2ว่าอย่างไร (นักเรียนควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เราจะได้รับพรหากเรารักษาพระบัญญัติของพระเจ้า รางวัลนิรันดร์ของเราจะยิ่งใหญ่กว่าหากเรายังคงซื่อสัตย์ในความยากลำบาก ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลีที่สอนหลักธรรมเหล่านี้ใน ข้อ 2)

พูดถึงคำว่า ปัจจุบัน และ อนาคต บนกระดาน เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:3–5 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้ารับสั่งกับเหล่าเอ็ลเดอร์เกี่ยวกับปัจจุบันและอนาคตของผู้คนของพระองค์ ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 3เรามักไม่เห็นหรือไม่เข้าใจอะไรเมื่อเรากำลังประสบความยากลำบาก

ชี้ให้เห็นว่าข้อเหล่านี้ดูเหมือนจะบอกเป็นนัยว่าพระเจ้าทรงต้องการให้เหล่าเอ็ลเดอร์มองข้ามการทดลองที่พวกเขากำลังอดทนและมุ่งไปที่อนาคตอันรุ่งโรจน์ที่พวกเขาจะประสบหากพวกเขาซื่อสัตย์ ข่าวสารที่พระเจ้าประทานแก่วิสุทธิชนในมิสซูรีสามารถช่วยให้เราอดทนต่อความท้าทายโดยยังคงจดจ่อกับพรซึ่งสัญญาไว้กับคนเหล่านั้นผู้อดทนต่อความยากลำบากอย่างซื่อสัตย์

  • การวางใจว่าพระเจ้าจะประทานพรท่านจะช่วยให้ท่านอดทนต่อความยากลำบากอย่างซื่อสัตย์ได้อย่างไร

  • ท่านเคยรู้สึกเมื่อใดว่าท่านได้รับพรเพราะซื่อสัตย์ระหว่างประสบความยากลำบาก

เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาความท้าทายใหญ่หลวงที่สุดที่พวกเขากำลังประสบในปัจจุบันอีกครั้ง กระตุ้นให้พวกเขายังคงซื่อสัตย์ต่อพระกิตติคุณแม้มีความท้าทาย ทั้งนี้เพื่อพวกเขาจะได้รับรางวัลที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้ให้พวกเขาทั้งเวลานี้และในนิรันดร

หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:6–13

พระผู้ช่วยให้รอดทรงอธิบายสาเหตุที่ทรงส่งวิสุทธิชนไปไซอัน

ถามนักเรียนดังนี้

  • เคยมีคนขอให้ท่านทำบางอย่างแต่ท่านไม่เข้าใจสาเหตุที่เขาขอให้ทำหรือไม่ คำขอนั้นทำให้ท่านรู้สึกอย่างไร

  • ในทางกลับกัน เคยมีคนขอให้ท่านทำบางอย่างและช่วยให้ท่านเข้าใจเหตุผลที่ขอให้ทำหรือไม่ การรู้เหตุผลทำให้เกิดความแตกต่างอย่างไร

อธิบายว่าพระเจ้าทรงเปิดเผยเหตุผลบางประการที่พระองค์ทรงส่งผู้คนไปวางรากฐานของไซอัน เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:6–8 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาเหตุผลที่พระเจ้าทรงส่งผู้คนไปวางรากฐานของไซอัน เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:9–13 โดยอธิบายว่าเหตุผลประการหนึ่งที่พระเจ้าทรงส่งผู้คนไปวางรากฐานของไซอันคือเพื่อเตรียมแผ่นดินโลกให้พร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์ ในข้อเหล่านี้พระเจ้าตรัสถึงอุปมาพันธสัญญาใหม่ที่สอนว่าผู้คนในประชาชาติทั้งปวงจะได้รับเชิญให้มารับส่วนพรของพระกิตติคุณ

  • การรู้ว่าพวกเขากำลังเตรียมแผ่นดินโลกให้พร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์ช่วยให้เหล่าเอ็ลเดอร์ซื่อสัตย์ขณะเผชิญความยากลำบากอย่างไร

หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:14–23

พระเจ้าทรงอธิบายความรับผิดชอบของอธิการและทรงบัญชาวิสุทธิชนให้รักษากฎของแผ่นดิน

ภาพ
เอดเวิร์ด พาร์ทริจ

เตือนความจำนักเรียนว่าพระเจ้าทรงเรียกอธิการเอดเวิร์ด พาร์ทริจให้กำกับดูแลงานสร้างนครแห่งไซอัน พระเจ้าทรงบัญชาให้อธิการพาร์ทริจและซิดนีย์ กิลเบิร์ตอยู่ในมิสซูรีเพื่อจัดการทรัพย์สินของศาสนจักรและซื้อที่ดินในอินดิเพนเดนซ์ มิสซูรีและบริเวณโดยรอบ (ดู คพ. 57:7–8) อธิบายว่าขณะวิสุทธิชนเตรียมซื้อที่ดิน อธิการพาร์ทริจโต้เถียงกับโจเซฟ สมิธเกี่ยวกับคุณภาพของที่ดินที่เลือกไว้ เขารู้สึกว่าน่าจะซื้อที่ดินผืนอื่นแทน ความไม่เห็นด้วยครั้งนี้ทำให้พระเจ้าทรงตำหนิ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:14–15 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้ารับสั่งกับอธิการพาร์ทริจ ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • ให้นักเรียนกลับไปดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:3 ความจริงที่เปิดเผยไว้ในข้อนี้ช่วยให้อธิการพาร์ทริจเลือกกลับใจเพราะโต้เถียงกับท่านศาสดาพยากรณ์ว่าควรซื้อที่ดินผืนใดอย่างไร

อธิบายให้ชั้นเรียนฟังว่าอธิการพาร์ทริจยอมรับคำตำหนิของพระเจ้าด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนและได้รับการให้อภัยบาป

  • ความจริงที่เปิดเผยไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:3 จะช่วยเราตอบรับพระบัญญัติของพระเจ้าด้วยศรัทธาแทนความไม่เชื่อและความมืดบอดของใจได้อย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:16–20 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้ารับสั่งกับอธิการพาร์ทริจเกี่ยวกับบทบาทอธิการและความรับผิดชอบของเขาในการช่วยสร้างไซอัน

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ อะไรคือความรับผิดชอบของอธิการ

  • ทุกวันนี้อธิการต้องพิพากษาผู้คนของพระเจ้าด้วยวิธีใดบ้าง

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:21–23 โดยอธิบายว่าพระเจ้าทรงคาดหวังให้เรารักษากฎของแผ่นดินจนกว่าพระองค์จะเสด็จมาปกครองในช่วงมิลเลเนียม

หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:24–33

พระเจ้าทรงแนะนำให้วิสุทธิชนใช้สิทธิ์เสรีทำความดี

นำเสนอสถานการณ์ต่อไปนี้กับชั้นเรียน:

สมมติว่าขณะท่านเดินไปตามถนนท่านเห็นคนสูงอายุสะดุดล้ม ท่านควรทำตามข้อใดในข้อต่อไปนี้

  1. รอให้พระวิญญาณกระตุ้นเตือนให้ท่านช่วย

  2. รอให้คนอื่นบอกท่านว่าต้องทำอะไร

  3. รอดูว่าจะมีคนช่วยหรือไม่

  4. ช่วยคนหกล้มทันที

หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ขอให้ถามดังนี้

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องช่วยโดยไม่รอคำสั่งจากใคร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:26-28 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาหลักธรรมที่พระเจ้าทรงสอนวิสุทธิชนขณะพวกเขาประสบความท้าทายของการสร้างนครแห่งไซอัน (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าวลี “คนที่ถูกบีบบังคับในทุกเรื่อง” [คพ. 58:26] หมายถึงคนที่จะไม่ทำหากไม่มีใครขอให้เขาทำ)

  • ท่านค้นพบความจริงอะไรบ้างใน ข้อ 26–28 (นักเรียนอาจตอบด้วยความจริงดังต่อไปนี้: เรามีพลังความสามารถจะเลือกกระทำด้วยตนเอง หากเรารอให้พระเจ้าทรงบอกทุกสิ่งที่เราควรทำ เราจะสูญเสียรางวัลของเรา หากเราใช้สิทธิ์เสรีทำสิ่งที่ทำให้เกิดความชอบธรรม เราจะได้รับรางวัล ใช้คำพูดของนักเรียนเขียนความจริงเหล่านี้ไว้บนกระดาน)

  • ข้อเหล่านี้กล่าวถึง “รางวัล” อะไร การทำสิ่งดีมากมายด้วยเจตจำนงอิสระของเราจะส่งผลให้เราได้รับชีวิตนิรันดร์หรือไม่อย่างไร

  • ท่านสามารถทำงานอย่างทุ่มเทในการทำดีที่บ้าน ที่โรงเรียน ในวอร์ดหรือสาขาของท่านด้วยวิธีใดบ้าง

เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยมีเมื่อพวกเขาได้รับพรเพราะใช้สิทธิ์เสรีทำดี

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:29–33 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ไม่ใช้สิทธิ์เสรีทำดีหรือผู้สงสัยพระบัญญัติของพระเจ้า

  • เกิดอะไรขึ้นกับผู้ไม่ใช้สิทธิ์เสรีทำดีหรือผู้สงสัยพระบัญญัติของพระเจ้า

  • บางคนตอบสนองอย่างไรเมื่อพวกเขาไม่ได้รับพรเพราะความเกียจคร้านหรือการไม่เชื่อฟังของพวกเขา พระเจ้าประทานคำเตือนอะไรแก่คนเช่นนั้นใน ข้อ 33

เป็นพยานถึงความสำคัญของการใช้สิทธิ์เสรีของเราทำดี เชื้อเชิญให้นักเรียนใช้สิทธิ์เสรีทำดีบางอย่างก่อนชั้นเรียนมาพบกันอีกครั้ง บอกนักเรียนว่าพวกเขาจะมีโอกาสแบ่งปันสิ่งที่ทำอันเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนครั้งต่อไป

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:2–4 “รัศมีภาพซึ่งจะตามมาหลังจากความยากลำบากยิ่ง”

ประธานบริคัม ยังก์สอนเรื่องการมองไกลถึงนิรันดรและเกี่ยวกับรัศมีภาพที่จะมาถึงผู้ซื่อสัตย์ดังนี้

ภาพ
ประธานบริคัม ยังก์

“เราพูดถึงการทดลองและความทุกข์ยากเดือดร้อนของเราที่นี่ในชีวิตนี้ แต่สมมติว่าท่านเห็นตนเองหลายพันหลายล้านปีหลังจากท่านพิสูจน์ตนว่าซื่อสัตย์ต่อศาสนาของท่านระหว่างช่วงสั้นๆ ไม่กี่ปีในเวลานี้ และได้รับความรอดนิรันดร์และมงกุฎแห่งรัศมีภาพในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า จากนั้นให้ย้อนกลับมาดูชีวิตท่านที่นี่ และเห็นความสูญเสีย ความทุกข์ยากลำบาก และความผิดหวัง … ท่านคงต้องร้องออกมาว่า ‘นี่มันอะไรกัน สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงชั่วประเดี๋ยว และเราอยู่ที่นี่ตอนนี้ เราซื่อสัตย์มาแล้วระหว่างช่วงสั้นๆ ในความเป็นมรรตัยของเรา และเวลานี้เราได้รับชีวิตนิรันดร์และรัศมีภาพ’” (“Remarks,” Deseret News, Nov. 9, 1859, 1) (ดู คำสอนและพันธสัญญา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2001], 161–162)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:3 “เจ้าจะมองเห็นแผนของพระผู้เป็นเจ้าของเจ้าด้วยดวงตาฝ่ายธรรมชาติของเจ้าไม่ได้”

เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์แบ่งปันคำกล่าวของซี. เอส. ลูอิสผู้อธิบายว่าเราไม่เข้าใจเสมอไปว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเตรียมอะไรไว้ให้เรา

ภาพ
เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์

“ซี.เอส.ลูอิสอธิบายไว้ในหนังสือของเขาชื่อ Mere Christianity ว่าความสัมพันธ์ของเรากับพระผู้เป็นเจ้าในวิธีพิเศษที่สามารถช่วยให้เราเห็นคุณค่าของการยอมให้ตัวเราทำตามพระประสงค์ของพระองค์เป็นวิธีเดียวที่การเติบโตทางวิญญาณจะเกิดขึ้นได้

“‘สมมติว่าตัวท่านเป็นบ้านที่มีชีวิต พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมาซ่อมแซมบ้านหลังนั้น ตอนแรกท่านอาจจะเข้าใจสิ่งที่พระองค์ทรงทำ พระองค์ทรงวางท่อระบายน้ำให้ถูกที่ อุดรอยรั่วบนหลังคาและอื่นๆ ท่านรู้ว่าต้องทำงานเหล่านั้นและท่านไม่แปลกใจ แต่อีกสักครู่พระองค์ทรงเริ่มทุบบ้านในลักษณะที่ทำให้บ้านเสียหายอย่างหนักและดูเหมือนไม่สมเหตุสมผล พระองค์ทรงทำเช่นนี้เพื่ออะไรกัน คำอธิบายคือพระองค์ทรงกำลังสร้างบ้านต่างจากที่ท่านคิด—สร้างต่อเติมใหม่ตรงนี้ ปูพื้นเพิ่มตรงโน้น ตั้งหอคอย และทำสนามรอบบ้าน ท่านคิดว่าท่านกำลังจะถูกสร้างให้เป็นกระท่อมหลังเล็กๆ เหมือนที่เคย แต่พระองค์กำลังทรงสร้างพระราชวัง (New York: The Macmillan Company, 1952, p. 160.)”…’ “The Value of Home Life,” Ensign, Feb. 1972, 5)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:8–11 “อาหารค่ำของพระเจ้า”

“สัญลักษณ์สองอย่างของการเลี้ยงฉลองจากพันธสัญญาเดิมที่นำมาใช้กับอาหารค่ำของพระเจ้าคือ ‘การเลี้ยงฉลองด้วยสิ่งที่อิ่มหนำ’ และ ‘เหล้าองุ่นจากกากที่กลั่นกรองอย่างดี’ ทั้งสองเป็นเครื่องหมายของความร่ำรวย บ่งบอกว่าการเลี้ยงฉลองที่กล่าวไว้ในข้อนี้มีความสำคัญมาก (ดู คพ. 57:5–14; 65:3; มัทธิว 22:1–14; วิวรณ์ 19:7–9)” (คำสอนและพันธสัญญา คู่มือนักเรียน [Church Education System manual, 2001], 120)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:14–15 อธิการพาร์ทริจกลับใจจากบาปของเขา

อธิการพาร์ทริจโต้เถียงกับโจเซฟ สมิธเรื่องคุณภาพของที่ดินที่เลือกไว้ในมิสซูรี เขารู้สึกว่าน่าจะซื้อที่ดินผืนอื่นแทน พระเจ้าทรงตีสอนอธิการพาร์ทริจสำหรับพฤติกรรมของเขา

อธิการพาร์ทริจยอมรับคำติเตียนของพระเจ้าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 58 ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน เพียงไม่กี่วันหลังจากได้รับการเปิดเผยนี้ เขาเขียนถึงภรรยาว่า “คุณรู้ว่าผมอยู่ในตำแหน่งสำคัญและเมื่อผมถูกตีสอนเป็นครั้งคราวบางทีผมรู้สึกประหนึ่งผมจะต้องล้มเหลว ไม่ใช่ทิ้งอุดมการณ์ แต่ผมกลัวว่าผมจะเห็นแก่ตำแหน่งมากกว่าจะทำสิ่งที่ผมทำได้เพื่อให้พระบิดาสวรรค์ทรงยอมรับ” (จดหมายถึงลีเดีย พาร์ทริจ, 5–7 ส.ค., 1831, หอสมุดประวัติศาสตร์ศาสนจักร, ซอลท์เลคซิตี้) บันทึกการประชุมครั้งหนึ่งในไซอันที่ถือเป็นการโต้เถียงระหว่างศาสดาพยากรณ์โจเซฟกับอธิการพาร์ทริจเขียนว่าพาร์ทริจพูดว่า “เขาเสียใจมาตลอด” ที่เขาไม่เห็นด้วย (Minute Book 2, Mar. 10, 1832, 23, Church History Library, Salt Lake City; see also josephsmithpapers.org) การเปิดเผยที่ประทานเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1831 บ่งบอกว่าพระเจ้าทรงให้อภัยความประพฤติของพาร์ทริจ (Documents, Volume 2: July 1831–June 1833, vol. 2 of the Documents series of The Joseph Smith Papers (2013), 62.)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:27–28 “ทำสิ่งสารพันด้วยเจตจำนงอิสระ”

แบบอย่างที่ดีของการทำตามคำแนะนำให้ “ทำงานอย่างทุ่มเทในอุดมการณ์ดี” (คพ. 58:27) พบในประสบการณ์ที่เอ็ลเดอร์วอห์น เจ. เฟเธอร์สโตนแห่งสาวกเจ็ดสิบแบ่งปัน

ภาพ
วอห์น เจ. เฟเธอร์สโตน

“เมื่อข้าพเจ้าอายุประมาณสิบหรือสิบเอ็ดขวบ ญาติๆ หลายคนมาเยี่ยมเรา น่าจะมีประมาณ 35 ถึง 40 คน คุณแม่เชิญทุกคนมารับประทานอาหารเย็น หลังอาหารทุกคนเข้าไปนั่งคุยกันอีกห้องหนึ่ง มีจานชามและช้อนส้อมสกปรกกองอยู่ทุกที่ อาหารยังไม่ได้เก็บ มีหม้อและกระทะสกปรกจากการเตรียมอาหาร

“ข้าพเจ้าจำได้ขณะคิดว่าเมื่อทุกคนไปแล้ว คุณแม่จะต้องทำความสะอาดทั้งหมดคนเดียว ข้าพเจ้าจึงคิดอย่างหนึ่งขึ้นมาได้ ข้าพเจ้าเริ่มทำความสะอาด สมัยนั้นไม่มีเครื่องล้างจาน คุณแม่สะอาดมากเสมอ ท่านสอนให้เรารู้วิธีล้างจานและเช็ดทำความสะอาดอย่างถูกต้อง ข้าพเจ้าเริ่มทำงานนี้ที่กองเท่าภูเขา ในที่สุด ราวสามชั่วโมงต่อมา ข้าพเจ้าก็เช็ดจานใบสุดท้ายเสร็จ ข้าพเจ้าเก็บอาหารทุกอย่างเรียบร้อย ทำความสะอาดเคาน์เตอร์ อ่างล้างจาน และพื้นทั้งหมด ห้องครัวสะอาดไร้ที่ติ

“ข้าพเจ้าจะไม่มีวันลืมสีหน้าของคุณแม่กลางดึกคืนนั้นเมื่อแขกกลับไปหมดแล้วและท่านเข้ามาในครัวเพื่อทำความสะอาด ข้าพเจ้าตัวเปียกตั้งแต่หน้าอกถึงเข่า แค่ได้เห็นสีหน้าของคุณแม่ก็คุ้มกับความพยายามเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหมดนั้น สีหน้าของท่านบ่งบอกทั้งความรู้สึก ความสบายใจ และความภาคภูมิใจระคนกัน ข้าพเจ้าตัดสินใจนับแต่นั้นว่าจะพยายามทำให้ท่านมีสีหน้าเช่นนั้นอีกหลายๆ ครั้ง” (“We Love Those We Serve,” New Era, Mar. 1988, 19)