เซมินารี
บทที่ 96:หลักคำสอนและพันธสัญญา 90–92


บทที่ 96

หลักคำสอนและพันธสัญญา 90–92

คำนำ

วันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1833 พระเจ้าประทานการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 90 การเปิดเผยนี้มีคำแนะนำถึงฝ่ายประธานของฐานะปุโรหิตระดับสูงและเป็น “ความก้าวหน้าเพิ่มเติม” ในการสถาปนาฝ่ายประธานสูงสุด (ดูคำนำภาค) วันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1833 โจเซฟ สมิธทูลถามว่าท่านควรรวมอะพอครีฟาไว้ในการแปลพระคัมภีร์ไบเบิลหรือไม่ พระเจ้าทรงตอบคำทูลถามของโจเซฟ สมิธผ่านการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 91 และรับสั่งกับท่านว่าไม่จำเป็นต้องแปลอะพอครีฟา เพียงไม่กี่วันต่อมา วันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1833 ท่านศาสดาพยากรณ์ได้รับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 92โดยทรงแนะนำเฟรเดอริค จี. วิลเลียมส์ ที่ปรึกษาคนหนึ่งของโจเซฟ สมิธ ให้เป็นสมาชิกที่แข็งขันของห้างหุ้นส่วนเอกภาพ ซึ่งตั้งไว้เพื่อควบคุมดูแลเรื่องสวัสดิการและธุรกิจของศาสนจักร

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 90:1–18

พระเจ้าทรงแนะนำฝ่ายประธานของฐานะปุโรหิตระดับสูงเกี่ยวกับความรับผิดชอบของพวกเขา

เริ่มบทเรียนโดยถามคำถามต่อไปนี้

  • อะไรเป็นของขวัญล้ำค่าที่สุดที่ท่านเคยได้รับ เหตุใดจึงล้ำค่า

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 90:1–3 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งล้ำค่าที่พระเจ้าประทานแก่โจเซฟ สมิธ

  • โจเซฟ สมิธถืออะไร (กุญแจทั้งหลายของอาณาจักร ซึ่งหมายถึงสิทธิของฝ่ายประธานหรือพลังอำนาจที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้มนุษย์ปกครองและกำกับดูแลอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลก) เหตุใดจึงล้ำค่า

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 90:4–5 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุคำเตือนที่พระเจ้าประทานแก่วิสุทธิชน (ท่านอาจต้องอธิบายว่าตามที่ใช้ใน ข้อ 4–5คำว่า โองการ หมายถึงการเปิดเผยจากพระผู้เป็นเจ้าผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์)

  • พระเจ้าประทานคำเตือนอะไรแก่วิสุทธิชน เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากคำเตือนนี้ (คำตอบของนักเรียนควรสะท้อนหลักธรรมต่อไปนี้: หากเราปฏิบัติเล่นๆ กับการเปิดเผยที่พระผู้เป็นเจ้าประทานผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ เราจะสะดุดล้ม ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

  • ท่านคิดว่าการปฏิบัติต่อการเปิดเผยที่พระผู้เป็นเจ้าประทานผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์เหมือน “เป็นเรื่องเล็ก” หมายความว่าอย่างไร มีตัวอย่างอะไรบ้างของการเปิดเผยที่ผู้คนอาจถูกล่อลวงให้ปฏิบัตเล่นๆ

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 90:6 ในใจโดยมองหาว่าพระเจ้าตรัสว่าใครจะถือกุญแจทั้งหลายของอาณาจักรอีกบ้าง ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

อธิบายว่าวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1833 สิบวันหลังจากประทาน ภาค 90 โจเซฟ สมิธวางมือมอบหน้าที่ให้ซิดนีย์ ริกดันและเฟรเดอริค จี. วิลเลียมส์เป็นที่ปรึกษาในฝ่ายประธานของฐานะปุโรหิตระดับสูง ซึ่งต่อมาเรียกว่าฝ่ายประธานสูงสุดของศาสนจักร

  • เราสามารถเรียนรู้หลักคำสอนอะไรจาก ข้อ 6 (คำตอบของนักเรียนควรสะท้อนหลักคำสอนต่อไปนี้: ฝ่ายประธานสูงสุดถือกุญแจทั้งหลายของอาณาจักร นักเรียนพึงเข้าใจว่าแม้สมาชิกแต่ละท่านในฝ่ายประธานสูงสุดถือกุญแจทั้งหลายของอาณาจักร แต่ประธานศาสนจักรเป็นเพียงบุคคลเดียวผู้ได้รับการเปิดเผยสำหรับทั้งศาสนจักร)

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 90:7–10 โดยอธิบายว่าฝ่ายประธานสูงสุดได้รับคำแนะนำให้เตรียมสมาชิกของโรงเรียนศาสดาพยากรณ์ให้พร้อมสั่งสอนพระกิตติคุณทั่วโลก เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 90:11 ในใจและพิจารณาว่าข้อนี้กำลังเกิดสัมฤทธิผลในทุกวันนี้อย่างไร ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่เรียนรู้

ท่านอาจต้องการ สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 90:12–18ด้วย ข้อเหล่านี้สอนว่าศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและที่ปรึกษาของท่านต้องจัดกิจจานุกิจของศาสนจักรให้อยู่ในระเบียบ

ท่านอาจต้องการเป็นพยานว่าฝ่ายประธานสูงสุดถือกุญแจทั้งหลายของอาณาจักรและแบ่งปันความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับความสำคัญของการเอาใจใส่ถ้อยคำของท่านเหล่านั้น

หลักคำสอนและพันธสัญญา 90:19–37

พระเจ้าทรงแนะนำสั่งสอนวิสุทธิชนในไซอัน

อธิบายว่าเมื่อโจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 90ท่านและผู้นำศาสนจักรคนอื่นๆ อยู่ในสภาพลำบากเพราะศาสนจักรขาดทุนทรัพย์

  • ท่านทำอะไรเมื่อสภาวการณ์ในชีวิตท่านลำบากมาก

อธิบายว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 90:19–37 มีคำแนะนำจากพระเจ้าถึงผู้นำศาสนจักรยุคแรกเกี่ยวกับวิธีแก้ไขสภาพลำบากที่พวกเขาประสบ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 90:24 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุคำแนะนำที่อาจปลอบขวัญผู้กำลังลำบาก

  • คำแนะนำอะไรใน ข้อ 24 อาจปลอบขวัญผู้กำลังลำบาก ท่านจะกล่าวข่าวสารของพระเจ้าในข้อนี้เป็นหลักธรรมว่าอย่างไร (คำตอบของนักเรียนควรสะท้อนหลักธรรมต่อไปนี้: หากเราจะค้นหาอย่างขยันหมั่นเพียร สวดอ้อนวอนเสมอ เชื่อ และรักษาพันธสัญญาของเรา สิ่งทั้งปวงจะร่วมกันส่งผลเพื่อความดีของเรา)

  • ท่านคิดว่าสิ่งทั้งปวงจะร่วมกันส่งผลเพื่อความดีของเราหมายความว่าอย่างไร

  • ท่านเคยพยายามเป็นคนซื่อสัตย์ในยามลำบากและรู้สึกได้รับพรด้วยเหตุนี้เมื่อใด

อธิบายว่าสมาชิกศาสนจักรคนหนึ่งที่แสดงความซื่อสัตย์อย่างมากในยามลำบากคือเวียนนา เจคส์ มอบหมายให้นักเรียนทำงานเป็นคู่ แจก ข้อมูลต่อไปนี้ เกี่ยวกับเวียนนา เจคส์ให้นักเรียนแต่ละคน เชื้อเชิญให้แต่ละคู่ศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 90:28–31 ด้วยกันและระบุคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่เวียนนาโดยเฉพาะ ต่อจากนั้น ขอให้พวกเขาศึกษาเอกสารแจกและมองหาด้านต่างๆ ที่เวียนนาซื่อสัตย์

เวียนนา เจคส์เป็นแบบอย่างของความซื่อสัตย์ในบรรดาวิสุทธิชนยุคสุดท้ายยุคแรกจำนวนมาก เธอเกิดวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1787 หลังจากพบผู้สอนศาสนาในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เธอเดินทางไปเมืองเคิร์ทแลนด์ รัฐโอไฮโอในปี ค.ศ. 1831 เธออยู่ที่นั่นหกสัปดาห์และรับบัพติศมา เมื่อกลับไปบอสตัน เวียนนาช่วยนำสมาชิกครอบครัวหลายคนเข้ามาในศาสนจักร จากนั้นเธอ “จัดการธุรกิจของเธอ และกลับไปเคิร์ทแลนด์เพื่อทุ่มเทแรงกายแรงใจให้ศาสนจักรตลอดไป” (“Home Affairs,” Woman’s Exponent, July 1, 1878, 21) ปี 1833 เวียนนาอุทิศถวายทรัพย์สมบัติทั้งหมดของเธอ รวมทั้งเงิน 1,400 ดอลลาร์ให้ศาสนจักรในช่วงที่ศาสนจักรจำเป็นต้องใช้เงิน จากนั้นเธอเดินทางไปมิสซูรีเพื่อรับมรดกของเธอในไซอัน แต่หลังจากมาถึงได้ไม่นาน เธอประสบการข่มเหงพร้อมกับวิสุทธิชน หลังถูกขับไล่ออกจากบ้านในมิสซูรี เธอไปดูแลผู้ป่วยในค่ายไซอัน ฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์เขียนว่า “ข้าพเจ้าได้รับความกรุณามาก … จากซิสเตอร์เวียนนา เจคส์ผู้ช่วยดูแลสิ่งที่ข้าพเจ้าขาดและดูแลพี่น้องชายของข้าพเจ้าด้วย—ขอพระเจ้าประทานรางวัลสำหรับความกรุณา [ของเธอ]” (“Extracts from H. C. Kimball’s Journal,” Times and Seasons, Mar. 15, 1845, 839–40)

ขณะอยู่ในมิสซูรี เวียนนาแต่งงานกับดาเนียล เชียเรอร์ เธอเดินทางไปตะวันตกถึงยูทาห์ในปี ค.ศ. 1847 และขับเกวียนข้ามทุ่งราบขณะอายุ 60 ปี เธอตั้งรกรากในซอลท์เลคซิตี้และใช้ชีวิตที่เหลือทำงานหาเลี้ยงตนเองและศึกษาพระคัมภีร์อย่างขยันหมั่นเพียร เวียนนาสิ้นชีวิตวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1884 สิริอายุ 96 ปี ข่าวมรณกรรมของเธอกล่าวว่า “เธอซื่อตรงต่อพันธสัญญาและถือว่าการฟื้นฟูพระกิตติคุณเป็นสมบัติล้ำค่า” (“In Memoriam,” Woman’s Exponent, Mar. 1, 1884, 152) (ดู Susan Easton Black, “Happiness in Womanhood,” Ensign, Mar. 2002, 12–14 ด้วย)

เมื่อแต่ละคู่อ่านจบแล้ว ให้สนทนาคำถามต่อไปนี้กับชั้นเรียน

  • เวียนนา เจคส์ทำตามคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่เธออย่างไร ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับเวียนนา เจคส์

  • ท่านเรียนรู้อะไรจากสิ่งที่อ่านเกี่ยวกับเวียนนา เจคส์

หลักคำสอนและพันธสัญญา 91

พระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำโจเซฟ สมิธไม่ให้แปลอะพอครีฟา

หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ให้ดูแหล่งข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษรสักสองสามแหล่ง เช่น หนังสือ หนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร หรืออุปกรณ์พกพา

  • ท่านจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่ท่านอ่านในแหล่งข้อมูลเหล่านี้ถูกต้องหรือไม่

อธิบายว่าการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 91 สอนโจเซฟ สมิธให้รู้วิธีแยกแยะว่าสิ่งที่ท่านอ่านอยู่นั้นถูกต้องหรือไม่ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำนำภาค ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาสิ่งที่โจเซฟทำขณะที่ท่านได้รับการเปิดเผยนี้ เชื้อเชิญให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ

อธิบายว่าอะพอครีฟาเป็นการรวบรวมหนังสือศักดิ์สิทธิ์ของชาวยิวซึ่งเดิมทีไม่ได้รวมไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิลภาษาฮีบรู (พันธสัญญาเดิม) แต่รวมไว้ในงานแปลพระคัมภีร์ไบเบิลภาษากรีกก่อนสมัยของพระคริสต์ไม่นาน หนังสือบางเล่มเชื่อมช่วงเวลาระหว่างพันธสัญญาเดิมกับพันธสัญญาใหม่ เมื่อชาวคริสต์ยุคแรกรวบรวมหนังสือพระคัมภีร์ไบเบิลในอีกหลายศตวรรษต่อมา พวกเขารวมหนังสืออะพอครีฟาไว้ด้วย แต่มีคำถามว่าหนังสือเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์หรือไม่ พระคัมภีร์ไบเบิลฉบับที่โจเซฟ สมิธใช้สร้างงานแปลที่ท่านได้รับการดลใจมีอะพอครีฟาอยู่ด้วย แต่เพราะยังกังขากับความถูกต้องของอะพอครีฟา โจเซฟจึงทูลถามพระเจ้าว่าการแปลพระคัมภีร์ไบเบิลของท่านควรรวมหนังสือเหล่านี้ไว้ด้วยหรือไม่

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 91:1–3 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่โจเซฟ สมิธเรียนรู้เกี่ยวกับอะพอครีฟา (ท่านอาจต้องอธิบายว่า คำสอดแทรก คือเนื้อหาที่แทรกเข้ามาในต้นฉบับ บางครั้งเกิดจากต้นฉบับเดิมใช้คำผิด)

หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่พบแล้ว ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 91:4–6 ขอให้นักเรียนระบุว่าโจเซฟ สมิธจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรจริงในอะพอครีฟา

  • โจเซฟจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรจริงในอะพอครีฟา

  • คำแนะนำใน ข้อ 4–6 จะช่วยเราได้อย่างไรกับสิ่งที่เราอ่าน (นักเรียนควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยให้เรารู้ได้ว่าสิ่งที่เราอ่านเป็นความจริงหรือไม่)

ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันประสบการณ์ที่พวกเขาเคยมีเมื่อรู้สึกว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงยืนยันว่าสิ่งที่พวกเขาอ่านเป็นความจริง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 92

รับเฟรเดอริค จี. วิลเลียมส์ไว้ในห้างหุ้นส่วนเอกภาพ

อธิบายว่าการเปิดเผยที่อยู่ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 92 แนะนำผู้นำศาสนจักรผู้มีส่วนในห้างหุ้นส่วนเอกภาพ (เรียกว่าระเบียบเอกภาพด้วย) ให้ยอมรับเฟรเดอริค จี. วิลเลียมส์เข้ามาในห้างหุ้นส่วน เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 92:1–2 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุว่าพระเจ้าทรงต้องการให้เฟรเดอริค จี. วิลเลียมส์ทำหน้าที่สมาชิกของห้างหุ้นส่วนอย่างไร ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • ท่านคิดว่าเฟรเดอริค จี. วิลเลียมส์ต้องเป็น “สมาชิกที่ขันแข็ง” หมายความว่าอย่างไร

  • ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเป็นสมาชิกที่ขันแข็งของศาสนจักรในปัจจุบัน

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจาก ข้อ 2 เกี่ยวกับพรที่สัญญาไว้กับคนซื่อสัตย์ (คำตอบของนักเรียนควรสะท้อนหลักธรรมต่อไปนี้: หากเราซื่อสัตย์ในการรักษาพระบัญญัติของพระเจ้า เมื่อนั้นเราจะได้รับพรตลอดไป)

สรุปด้วยประจักษ์พยานของท่านถึงความสำคัญของหลักคำสอนและหลักธรรมที่ระบุไว้ในบทนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 90:24 “ค้นหาอย่างขยันหมั่นเพียร”

พระเจ้าทรงเตือนวิสุทธิชนให้ “ค้นหาอย่างขยันหมั่นเพียร, สวดอ้อนวอนเสมอ, และจงเชื่อ, และสิ่งทั้งปวงจะร่วมกันส่งผลเพื่อความดีของเจ้า” (คพ. 90:24) ประธานฮาโรลด์ บี. ลีอธิบายว่าคำแนะนำนี้น่าจะมีความหมายเป็นพิเศษต่อผู้นำศาสนจักรยุคแรกผู้มี “ประสบการณ์เล็กน้อยหรือไม่มีเลยในการบริหารงานศาสนจักร” และผู้เผชิญความท้าทายยุ่งยากสารพัด ณ เวลาที่ประทานการเปิดเผยนี้ (Stand Ye in Holy Places: Selected Sermons and Writings of President Harold B. Lee [1974], 197) ประธานลีอธิบายเพิ่มเติมว่า “ค้นหาอย่างขยันหมั่นเพียร” หมายความว่าอย่างไร

ภาพ
ประธานฮาโรลด์ บี. ลี

“ความขยันหมั่นเพียรหมายถึงมีความวิริยะอุตสาหะ ตรงข้ามกับความเกียจคร้านหรือไม่สนใจหรือเมินเฉย อีกนัยหนึ่งคือ พวกเขาต้องค้นหาให้รู้หลักคำสอนของศาสนจักร และพวกเขาต้องค้นหาให้รู้คำแนะนำที่ให้ไว้เกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติของศาสนจักร” (Stand Ye In Holy Places, 198)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 90:25–27 วิสุทธิชนต้องทำให้ครอบครัวของพวกเขา “เล็ก” หรือไม่

ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 90:25–27“พระเจ้าทรงเตือนผู้รับใช้ของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบิดาของท่านศาสดาพยากรณ์ ให้ครอบครัวของพวกเขาเล็กทั้งนี้เพื่อคนที่ไม่คู่ควร (ข้อ 25) ผู้ชอบฉวยโอกาสจะไม่ใช้ทรัพย์สินที่ศาสนจักรจัดหาให้พวกเขาจนหมด เมื่อพระเจ้าทรงแนะนำให้ครอบครัวของพวกเขาเล็ก พระองค์มิได้ทรงหมายถึงลูกๆ ของพวกเขา แต่หมายถึงผู้มาเยือนและคนติดสอยห้อยตามซึ่งอาจจะเอาเปรียบบ้านที่พี่น้องชายเปิดต้อนรับและความโอบอ้อมอารีของพวกเขา พี่น้องชายจะไม่ถูกขัดขวางในการทำงานของพระเจ้าให้สำเร็จหากพวกเขาระวังเรื่องนี้” (Sidney B. Sperry, Doctrine and Covenants Compendium [1960], 462; ดู คำสอนและพันธสัญญา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2, [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2001], 284)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 91:4–6 พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยให้เรารู้ได้ว่าสิ่งที่เราอ่านเป็นความจริงหรือไม่

ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุดสอนดังนี้

ภาพ
ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

“เวลานี้เราเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์ของโลก --- บ้างก็จริง บ้างก็เท็จ และส่วนใหญ่แล้วจริงเพียงบางส่วน

“ด้วยเหตุนี้ การรู้วิธีแยกแยะระหว่างความจริงกับความเท็จอย่างถูกต้องจึงสำคัญกว่าที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์ของโลก …

“พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นผู้เปิดเผย พระองค์ทรงเป็นพระผู้ปลอบโยน ผู้ทรงสอนเราให้รู้ ‘ความจริงของสิ่งทั้งปวง, [ผู้] ทรงรู้สิ่งทั้งปวง, และมีเดชานุภาพทั้งปวงตามปัญญา, ความเมตตา, ความจริง, ความยุติธรรม, และความเที่ยงธรรม[โมเสส 6:61] …

พยาน ของความจริงจากพระวิญญาณบริสุทธิ์มีให้ทุกคน ทุกแห่ง ทั่วโลก ทุกคนที่มุ่งหมายจะรู้ความจริง ผู้ศึกษาไตร่ตรองในความคิดของพวกเขา [ดู คพ. 9:8] และผู้ ‘ทูลถามด้วยใจจริง, ด้วยเจตนาแท้จริง, โดยมีศรัทธาในพระคริสต์, [จะรู้] ความจริง … โดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์’ [โมโรไน 10:4]” (“ความจริงคืออะไร?” [คำปราศรัยการให้ข้อคิดทางวิญญาณระบบการศึกษาของศาสนจักร, 13 ม.ค. 2013), 3, 6; speeches.byu.edu)