เซมินารี
บทที่ 104: หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:1–16


บทที่ 104

หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:1–16

คำนำ

วันที่ 16 และ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1833 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยเกี่ยวกับความทุกข์ที่วิสุทธิชนกำลังประสบในมิสซูรี เราจะสนทนาการเปิดเผยนี้ที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 101ในสามบท บทแรกนี้จะมีคำอธิบายของพระเจ้าว่าเหตุใดพระองค์ทรงยอมให้วิสุทธิชนประสบความทุกข์ยาก อีกทั้งมีคำแนะนำและคำปลอบโยนของพระองค์สำหรับวิสุทธิชนที่ทนทุกข์ด้วย

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:1–8

พระเจ้าทรงอธิบายว่าเหตุใดพระองค์ทรงยอมให้ผู้คนของพระองค์ประสบการทดลอง

วาด แผนที่ที่ให้มา ไว้บนกระดานก่อนเริ่มชั้นเรียน ท่านอาจต้องการ ให้ดูแผนที่ตลอดบทเรียน เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ในบทเรียน

ภาพ
แผนที่, รัฐมิสซูรี

เริ่มบทเรียนด้วยการถามคำถามต่อไปนี้

  • ตัวอย่างการข่มเหงอะไรบ้างที่วิสุทธิชนทนทุกข์ในเทศมณฑลแจ็คสัน มิสซูรี (ท่านอาจต้องเตือนนักเรียนให้นึกถึงการทำลายสำนักพิมพ์ บ้านเรือน และพืชผลของวิสุทธิชน การป้ายน้ำมันดินและขนนกที่ตัวเอดเวิร์ด พาร์ทริจและ ชาร์ลส์ อัลเลน)

สรุปหรืออ่านย่อหน้าต่อไปนี้หรือขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่าน

เนื่องด้วยกลุ่มคนร้ายใช้ความรุนแรงในเทศมณฑลแจ็คสัน มิสซูรีในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1833 ผู้นำศาสนจักรในมิสซูรีจึงเห็นพ้องให้ออกจากเทศมณฑล อย่างไรก็ดี ในเดือนสิงหาคม ปี 1833 สภาผู้นำศาสนจักรระดับสามัญในเคิร์ทแลนด์ประชุมกันเพื่อสนทนาถึงปัญหายุ่งยากทั้งหลายในมิสซูรี พวกเขาส่งคำแนะนำไปให้วิสุทธิชนในมิสซูรีว่าไม่ควรขายที่ดินหรือย้ายจากเทศมณฑลเว้นแต่ได้เซ็นยินยอมไว้แล้วว่าจะทำเช่นนั้น ผู้นำศาสนจักรร้องเรียนฝ่ายปกครองและใช้ช่องทางกฎหมายที่มีเพื่อรักษาที่ดินของพวกเขาในมิสซูรีเอาไว้และร้องขอความยุติธรรมจากผู้รับผิดชอบต่อความรุนแรงครั้งนี้ หลังจากได้ยินข่าวเรื่องนี้ และเชื่อว่าวิสุทธิชนไม่มีแผนจะออกจากเมืองตามคาด ผู้ตั้งถิ่นฐานที่ไม่ใช่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายจึงรุกรานวิสุทธิชนอีกครั้ง ในคืนวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 1833 กลุ่มคนร้ายราว 50 คนขี่ม้าจู่โจมถิ่นฐานวิตเมอร์ทางภาคตะวันตกของอินดิเพนเดนซ์ พวกเขารื้อหลังคาบ้าน 13 หลังและเฆี่ยนชายหลายคนปางตาย การรุกรานเหล่านี้ดำเนินต่อเนื่องสองคืนติดต่อกันในอินดิเพนเดนซ์และอีกหลายแห่งที่วิสุทธิชนอยู่ ชายถูกตี หญิงและเด็กถูกข่มขู่

  • ท่านคิดว่าวิสุทธิชนในมิสซูรีอาจจะมีคำถามใดในเวลาเช่นนี้ (หากนักเรียนต้องการให้ช่วยตอบคำถามนี้ ท่านอาจจะบอกว่าวิสุทธิชนอาจสงสัยว่าทำไมพระเจ้าทรงยอมให้พวกเขาถูกข่มเหง)

ถามนักเรียนว่าพวกเขาเคยสงสัยหรือไม่ว่าเหตุใดพระเจ้าทรงยอมให้พวกเขาหรือคนรู้จักประสบความทุกข์

อธิบายว่าเมื่อวิสุทธิชนในมิสซูรีทนทุกข์การทดลองเหล่านี้ พระเจ้าทรงเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับสาเหตุที่ทรงยอมให้ผู้คนประสบความทุกข์ เชื้อเชิญให้นักเรียนดูคำนำภาคของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 101 และระบุวันเดือนปีที่โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยนี้ จากนั้นให้พวกเขาอ่านคำนำภาคที่เหลือเพื่อหาความยากลำบากเพิ่มเติมที่วิสุทธิชนประสบระหว่างกลุ่มคนร้ายโจมตีเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมกับวันเดือนปีที่ประทานการเปิดเผยนี้ ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ (หลังจากรายงานแล้ว ท่านอาจต้องการอธิบายว่าวิสุทธิชน 1,000 กว่าคนถูกไล่ออกจากบ้านของพวกเขาในเทศมณฑลแจ็คสัน)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:1–2 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุเหตุผลว่าทำไมพระเจ้าทรงยอมให้วิสุทธิชนในเทศมณฑลแจ็คสันประสบการข่มเหงและความทุกข์ ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรจาก ข้อ 2 เกี่ยวกับผลของการละเมิดพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเราละเมิดพระบัญญัติ พระผู้เป็นเจ้าทรงยอมให้เราทนทุกข์)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องเข้าใจหลักธรรมนี้

ชี้ให้เห็นว่าถึงแม้วิสุทธิชนจำนวนมากในมิสซูรีซื่อสัตย์และเชื่อฟัง แต่พวกเขาก็ยังทนทุกข์เพราะการข่มเหง เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:3–5 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาเหตุผลว่าทำไมพระเจ้าทรงยอมให้วิสุทธิชนที่ชอบธรรมประสบความทุกข์ยาก ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ ท่านอาจต้องการอธิบายว่าคำว่า ตีสอน หมายถึงลงโทษหรือแก้ไข คำว่า ทดลอง หมายถึงทดสอบ และคำว่า ชำระให้บริสุทธิ์ หมายถึงทำให้บางคนหรือบางอย่างบริสุทธิ์

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ เหตุใดพระเจ้าทรงตีสอนและทดลองผู้คนของพระองค์ (นักเรียนควรกล่าวถึงหลักธรรมต่อไปนี้: หากเราไม่ยอมอดทนต่อการตีสอน เราจะรับการชำระให้บริสุทธิ์ไม่ได้ เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

  • การตีสอนจะช่วยให้เราได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ได้อย่างไร

  • ข่าวสารในข้อเหล่านี้อาจจะมีผลต่อวิสุทธิชนในมิสซูรีอย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าการตีสอนและการทดลองจะช่วยให้เราได้รับการชำระให้บริสุทธิ์อย่างไร ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“นอกเหนือจากกระตุ้นให้เรากลับใจแล้ว ประสบการณ์ที่เราอดทนต่อการตีสอนสามารถขัดเกลาและเตรียมเราให้พร้อมรับสิทธิพิเศษทางวิญญาณที่สำคัญยิ่งขึ้น” (ดู“เรารักผู้ใดเราก็ตักเตือนและตีสอนผู้นั้น,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 123)

ชี้ให้เห็นว่าพระเจ้าตรัสว่าอับราฮัมเป็นตัวอย่างของคนที่ถูกตีสอนและถูกทดลอง ท่านอาจต้องการเชิญนักเรียนคนหนึ่งสรุปเรื่องราวที่พระเจ้าทรงบัญชาให้อับราฮัมถวายอิสอัคบุตรชายเป็นเครื่องบูชา (ดู ปฐมกาล 22:1–14) อธิบายว่าความซื่อสัตย์ของอับราฮัมระหว่างการทดสอบครั้งนั้นและระหว่างการทดลองอื่นๆ เตรียมเขาให้พร้อมรับพรยิ่งใหญ่ทางวิญญาณ (ดู ปฐมกาล 22:15–18) ให้นักเรียนดูหลักธรรมที่ท่านเขียนไว้บนกระดาน

  • ความจริงนี้จะช่วยเราในยามยากลำบากได้อย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:6–8 ในใจโดยมองหาบาปที่วิสุทธิชนบางคนในมิสซูรีทำอันส่งผลให้ทุกคนประสบความทุกข์ ขอให้นักเรียนหลายคนรายงานสิ่งที่พบกับชั้นเรียน

  • ท่านเรียนรู้อะไรจาก ข้อ 7–8

  • จาก ข้อ 8บางคนมีแนวโน้มจะทำอะไรเมื่อชีวิตพวกเขาสงบสุข

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 8บางคนเริ่มทำอะไรในความทุกข์ของพวกเขา ท่านคิดว่า “คลำหา” พระเจ้าหมายความว่าอย่างไร

กระตุ้นให้นักเรียนไตร่ตรองประสบการณ์เมื่อการทดลองของพวกเขานำพวกเขาให้หันใจไปหาพระเจ้า

หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:9–16

พระเจ้าทรงแนะนำและทรงปลอบโยนวิสุทธิชน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:9 ขอให้ชั้นเรียนมองหาข่าวสารแห่งความหวังที่พระเจ้าประทานแก่วิสุทธิชนผู้กำลังทนทุกข์ในมิสซูรี

  • พระเจ้าประทานข่าวสารอะไรใน ข้อ 9 ที่ช่วยเราได้เมื่อเรารับผลจากบาปของเรา (คำตอบของนักเรียนอาจหลากหลาย แต่พวกเขาควรระบุความจริงต่อไปนี้: แม้เมื่อเราทำบาป พระเจ้าจะทรงสงสารเรา เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนลงในพระคัมภีร์ของพวกเขา)

  • ความจริงนี้ทำให้เราเกิดความหวังได้อย่างไร

ขอให้นักเรียนเขียนในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อหันใจไปหาพระเจ้าและประสบความสงสารของพระองค์

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:10–11 โดยอธิบายว่าถึงแม้พระเจ้าทรงยอมให้วิสุทธิชนถูกข่มเหง แต่พระองค์ตรัสว่าพระองค์จะทรงลงโทษคนที่ข่มเหงพวกเขา เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าต่อไปนี้ และขอให้ชั้นเรียนฟังการทดลองเพิ่มเติมที่วิสุทธิชนในมิสซูรีประสบ ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนสมมติว่าจะเป็นอย่างไรถ้าเห็นหรือประสบการทดลองเหล่านั้น

กลุ่มคนร้ายในเทศมณฑลแจ็คสันยังคงข่มเหงวิสุทธิชนจนสมาชิกทุกคนของศาสนจักรถูกขับไล่ออกจากเทศมณฑล ไลมัน ไวท์รายงานว่า “ข้าพเจ้าเห็นสตรีและเด็กหนึ่งร้อยเก้าสิบคนขับเกวียนข้ามทุ่งราบสามสิบไมล์ โดยมีชายชราสามคนเท่านั้นในกลุ่มพวกเธอ ในเดือนพฤศจิกายน มีแผ่นน้ำแข็งบางๆ ปกคลุมผิวดิน และข้าพเจ้าแกะรอยพวกเธอได้ง่ายโดยเดินไปตาม รอยเลือดที่ไหลจากเท้าเป็นแผลฉีกขาดของพวกเธอ บนตอหญ้าที่ไหม้เกรียม!” (ใน History of the Church, 3:439)

วิสุทธิชนส่วนใหญ่หนีขึ้นเหนือเพื่อข้ามแม่น้ำมิสซูรีที่นั่น ผู้ลี้ภัยเรียงรายอยู่ริมฝั่งน้ำใกล้ท่าเรือข้ามฟาก บางคนโชคดีหนีไปกับข้าวของเครื่องใช้บางส่วนแต่หลายคนสูญเสียทุกอย่าง พาร์ลีย์ พี. แพรทท์เขียนว่า “หลายร้อยคนกระจายอยู่ทั่วสารทิศ บางคนอยู่ในเต็นท์ บ้างอยู่กลางแจ้งรอบกองไฟ ขณะที่ฝนตกลงมาปานฟ้ารั่ว สามีถามหาภรรยา ภรรยาถามหาสามี พ่อแม่ถามหาลูกๆ และลูกๆ ถามหาพ่อแม่ … ภาพเหตุการณ์นั้นรันทดสุดพรรณนา และข้าพเจ้ามั่นใจว่าจะทำให้ใจคนบนแผ่นดินโลกหลอมละหลาย ยกเว้นผู้กดขี่ตาบอดของเรากับชุมชนตาบอดและเบาปัญญา” (Autobiography of Parley P. Pratt, ed. Parley P. Pratt Jr. [1938], 102)

  • แง่มุมใดในการทดลองเหล่านี้ทำให้ท่านประสบพบเห็นได้ยากเป็นพิเศษ

  • ท่านคิดว่าท่านจะตอบสนองอย่างไรหากท่านประสบความทุกข์เช่นนั้น (ท่านอาจต้องการให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามนี้โดยไม่ต้องตอบออกเสียง)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:12–16 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาสัญญาของพระเจ้าต่อวิสุทธิชนที่ชอบธรรม ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ อธิบายว่าใน ข้อ 12 วลี “อิสราเอลทั้งปวงของเรา” หมายถึงคนที่ซื่อตรงต่อพันธสัญญาพระกิตติคุณ

  • ท่านเรียนรู้หลักธรรมอะไรจาก ข้อ 12–16 (สรุปคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดานในหนึ่งประโยค คำตอบของพวกเขาควรสะท้อนหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเราดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม เราจะได้รับการปลอบโยนในความรู้ที่ว่าทุกคนอยู่ในพระหัตถ์ของพระเจ้า)

  • ใน ข้อ 16ท่านคิดว่าอะไรคือความหมายของพระบัญชาให้ “นิ่งเถิดและรู้ว่าเราคือพระผู้เป็นเจ้า”

  • การ “นิ่ง” จะช่วยให้เราได้รับการปลอบโยนจากพระเจ้าได้อย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขารู้สึกสงบและรู้ว่าพวกเขาอยู่ในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า ขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขา ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์เมื่อท่านได้รับพรให้มีความสงบสุขในช่วงความทุกข์

กระตุ้นให้นักเรียนหันไปหาพระเจ้าอย่างต่อเนื่องและวางใจว่าพระองค์จะทรงทำดีที่สุดเพื่อพวกเขา

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:2 “อันเป็นผลจากการล่วงละเมิดของพวกเขา”

ก่อนวิสุทธิชนถูกขับไล่ออกจากเทศมณฑลแจ็คสัน มิสซูรี พวกเขาได้รับคำเตือนหลายครั้งว่าพวกเขาจะประสบความทุกข์หากไม่กลับใจ ตัวอย่างเช่น ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1833 โจเซฟ สมิธตำหนิวิลเลียม ดับเบิลยู. เฟลพ์สและซิดนีย์ กิลเบิร์ตเพราะ “ใส่อารมณ์” ในจดหมายที่พวกเขาเขียน โดยกล่าวว่าอารมณ์เหล่านั้นกำลัง “ทำลายความเข้มแข็งของไซอัน” และจะ “ทำให้ไซอันสุกงอมสำหรับการพิพากษาที่พระผู้เป็นเจ้าทรงขู่ไว้” ออร์สัน ไฮด์และไฮรัม สมิธเขียนถึงอธิการเอดเวิร์ด พาร์ทริจ ที่ปรึกษาของเขา และการประชุมใหญ่ของมหาปุโรหิตให้ส่งจดหมายเตือนผู้นำศาสนจักรในมิสซูรี พวกเขากล่าวถึงจดหมายจากซิดนีย์ กิลเบิร์ตว่ามี “คำพูดส่อไปทางชั่วร้าย หยาบคาย และไร้เหตุผล” พวกเขาประณามจดหมายอีกฉบับหนึ่งด้วยที่บอกเป็นนัยว่าท่านศาสดาพยากรณ์กำลัง “แสวงหาพลังอำนาจและสิทธิอำนาจในการเป็นกษัตริย์” เพราะการล่วงละเมิดเหล่านี้และอื่นๆ ออร์สัน ไฮด์กับไฮรัม สมิธจึงเตือนว่าวิสุทธิชนในมิสซูรีจะประสบ “หายนะและการพิพากษา” (ดู Documents, Volume 2: July 1831–January 1833, volume 2 of the Documents series of The Joseph Smith Papers [2013], 367, 373–74)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:5 จุดประสงค์ของ “การตีสอนจากเบื้องบน”

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“การตีสอนจากเบื้องบนมีจุดประสงค์อย่างน้อยสามประการ คือ (1) ชักชวนให้เรากลับใจ (2) ขัดเกลาและชำระเราให้บริสุทธิ์ และ (3) บางครั้งเพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิตเราไปในทางที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทราบว่าดีกว่า” (“เรารักผู้ใดเราก็ตักเตือนและตีสอนผู้นั้น,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 122)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:6 “มีความไม่ลงรอยกัน, และการขัดแย้ง”

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าขณะที่เราหมายมั่นจะสถาปนาไซอัน เราสามารถเรียนรู้ได้จากความผิดพลาดของวิสุทธิชนยุคแรกในมิสซูรี

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“ภายใต้การกำกับดูแลของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ สมาชิกยุคแรกของศาสนจักรพยายามสถาปนาสถานที่ศูนย์กลางของไซอันในมิสซูรี แต่พวกเขาไม่มีคุณสมบัติเหมาะจะสร้างนครศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้าทรงอธิบายเหตุผลประการหนึ่งของความล้มเหลวครั้งนี้ว่า

“‘พวกเขามิได้เรียนรู้ที่จะเชื่อฟังสิ่งซึ่งเราเรียกร้องจากมือพวกเขา, แต่เต็มไปด้วยความชั่วนานัปการ, และไม่แบ่งทรัพย์สมบัติของพวกเขา, ให้คนจนและคนเป็นทุกข์ในบรรดาพวกเขา, ดังวิสุทธิชนพึงกระทำ;

“‘และไม่พร้อมใจกันตามเอกภาพซึ่งกฎของอาณาจักรซีเลสเชียลเรียกร้อง’ (คพ. 105:3–4)

“‘มีความไม่ลงรอยกัน, และการขัดแย้ง, และความริษยา, และการวิวาท, และความปรารถนาอันเป็นตัณหาราคะและความโลภในบรรดาพวกเขา; ฉะนั้น โดยสิ่งเหล่านี้พวกเขาทำให้มรดกของพวกเขาแปดเปื้อน’ (คพ. 101:6)

“อย่างไรก็ดี แทนที่จะตัดสินวิสุทธิชนยุคแรกเหล่านี้รุนแรงเกินเหตุ เราควรมองตัวเราเพื่อดูว่าเราทำดีกว่านั้นหรือไม่

“ไซอันเป็นไซอันเพราะอุปนิสัย คุณลักษณะ และความซื่อสัตย์ของพลเมืองในนั้น พึงระลึกว่า ‘พระเจ้าทรงเรียกผู้คนของพระองค์ว่าไซอัน, เพราะพวกเขามีจิตใจเดียวและความคิดเดียว, และดำรงอยู่ในความชอบธรรม; และไม่มีคนจนในบรรดาพวกเขา’ (โมเสส 7:18) หากเราจะสถาปนาไซอันในบ้าน สาขา วอร์ด และสเตค เราต้องลุกขึ้นมารับมาตรฐานนี้ ซึ่งจำเป็นต่อการ (1) เป็นเอกภาพในใจเดียวและความคิดเดียว (2) เป็นคนบริสุทธิ์ทั้งโดยส่วนตัวและโดยรวม และ (3) ดูแลคนจนและคนขัดสนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อขจัดความยากไร้ไปจากบรรดาพวกเรา เราจะรอให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจนกว่าไซอันจะมาไม่ได้—ไซอันจะมาต่อเมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเท่านั้น” (“มาสู่ไซอัน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 47–48)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:16 “เนื้อหนังทั้งปวงอยู่ในมือเรา; จงนิ่งเถิดและรู้ว่าเราคือพระผู้เป็นเจ้า”

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์เล่าถึงคราวที่ท่านได้รับการปลอบโยนจากหลักธรรมใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:16 ดังนี้

ภาพ
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“เมื่อเร็วๆ นี้ขณะพินิจพิเคราะห์ปัญหาที่ข้าพเจ้าคิดว่าส่งผลร้ายแรง ข้าพเจ้าคุกเข่าสวดอ้อนวอน มีความรู้สึกสงบและพระดำรัสของพระเจ้าเข้ามาในความคิดข้าพเจ้าว่า ‘จงนิ่งเถิดและรู้ว่าเราคือพระผู้เป็นเจ้า.’ ข้าพเจ้าเปิดพระคัมภีร์และอ่านพระดำรัสปลอบใจนี้ที่ตรัสกับศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเมื่อ 150 ปีก่อน ‘ให้ใจของเจ้าสบายเกี่ยวกับไซอัน; เพราะเนื้อหนังทั้งปวงอยู่ในมือเรา; จงนิ่งเถิดและรู้ว่าเราคือพระผู้เป็นเจ้า.’ (คพ. 101:16)

“พระผู้เป็นเจ้าทรงทอผ้าม่านลายดอกตามแบบที่งดงามของพระองค์เอง เนื้อหนังทั้งปวงอยู่ในพระหัตถ์พระองค์ เราไม่มีสิทธิ์แนะนำพระองค์ ความรับผิดชอบและโอกาสของเราคือมีความสงบในความคิดและในใจเรา และรู้ว่าพระองค์คือพระผู้เป็นเจ้า นี่คืองานของพระองค์ และพระองค์จะไม่ทรงยอมให้ล้มเหลว

“เราไม่มีอะไรต้องกลัว เราไม่มีอะไรต้องกังวล เราไม่มีอะไรต้องคาดเดา สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำคือทำหน้าที่ของเราแต่ละคนในการเรียกที่มาถึงเรา และเพราะส่วนใหญ่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายกำลังดำเนินในศรัทธาและทำงานด้วยความเชื่อมั่น ศาสนจักรจึงเข้มแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง” (“He Slumbers Not, nor Sleeps,” Ensign, May 1983, 6)

เอ็ลเดอร์ดับเบิลยู. เครก ซวิคแห่งสาวกเจ็ดสิบอธิบายความหมายของการอยู่ในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดับเบิลยู. เครก ซวิค

“การอยู่ในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าบ่งบอกว่าเราไม่เพียงอยู่ภายใต้การเฝ้าดูของพระองค์เท่านั้นแต่เราได้รับการคุ้มครองป้องกันโดยเดชานุภาพอันน่าอัศจรรย์ของพระองค์ด้วย

“ทั่วพระคัมภีร์อ้างถึงพระหัตถ์ของพระเจ้า ความช่วยเหลืออันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ประจักษ์ครั้งแล้วครั้งเล่า พระหัตถ์อันทรงฤทธานุภาพของพระองค์สร้างโลก แต่กระนั้นก็อ่อนโยนพอจะประทานพรเด็กเล็กๆ ” (ดู “พระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าของเจ้าจะจับมือเจ้าไว้,” เลียโฮนา, พ.ย. 2003, 41)