เซมินารี
บทที่ 30: หลักคำสอนและพันธสัญญา 22–23


บทที่ 30

หลักคำสอนและพันธสัญญา 22–23

คำนำ

ระหว่างการละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่ ศาสนพิธีของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ถูกเปลี่ยน ถูกยกเลิก หรือประกอบพิธีโดยปราศจากสิทธิอำนาจที่ถูกต้อง ในการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 22พระเจ้าทรงยืนยันว่าจะต้องประกอบศาสนพิธีแห่งบัพติศมาโดยผู้มีสิทธิอำนาจเพื่อรับแต่ละบุคคลเป็นสมาชิกศาสนจักรและเข้าในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า ภาค 23 ของหลักคำสอนและพันธสัญญามีการเปิดเผยที่โจเซฟ สมิธได้รับสำหรับชายห้าคนที่ปรารถนาอย่างจริงจังอยากรู้พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับพวกเขา ได้แก่ ออลิเวอร์ คาวเดอรี, ไฮรัม สมิธ, แซมิวเอล สมิธ, โจเซฟ สมิธ ซีเนียร์ และโจเซฟ ไนท์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 22

พิธีบัพติศมาจะต้องประกอบโดยผู้มีสิทธิอำนาจที่ถูกต้อง

เชิญนักเรียนสามคน แสดงบทบาทสมมติ เชิญนักเรียนคนหนึ่งแสดงเป็นผู้สนใจที่เชื่อว่าศาสนจักรแท้จริง ผู้สนใจเคยรับบัพติศมาแล้วโดยการลงไปในน้ำทั้งตัวในอีกศาสนจักรหนึ่งและไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงต้องรับบัพติศมาอีกครั้ง ขอให้นักเรียนอีกสองคนแสดงเป็นผู้สอนศาสนาที่พยายามตอบคำถามของผู้สนใจ เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนพิจารณาว่าพวกเขาจะตอบอย่างไรถ้าอยู่ในสถานการณ์นี้

หลังจากบทบาทสมมติ ให้อธิบายว่าการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 22 ได้รับการกระตุ้นเตือนจากสถานการณ์คล้ายกัน หลายคนที่ขอเป็นสมาชิกในศาสนจักรเคยรับบัพติศมาในศาสนาเดิมของพวกเขา พวกเขาสงสัยว่าเหตุใดจึงต้องรับบัพติศมาใหม่

โจเซฟ สมิธทูลถามพระเจ้าเกี่ยวกับคำถามของพวกเขา พระเจ้าทรงตอบโดยทรงสอนหลักคำสอนสำคัญเกี่ยวกับการฟื้นฟูพระกิตติคุณ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 22:1 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาวลีที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูพระกิตติคุณ

  • วลีใดในข้อนี้เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูพระกิตติคุณ (“พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ”)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจวลีนี้ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความต่อไปนี้

ภาพ
ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ คือความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณ [ดู คพ. 66:2] ประกอบด้วย ‘พันธสัญญา, สัญญา, พันธะ, ข้อผูกพัน, คำมั่น, คำปฏิญาณ, การปฏิบัติ, ความเกี่ยวดอง, สัมพันธภาพ, หรือความคาดหวังทั้งปวง’ ที่ผนึกไว้กับสมาชิกศาสนจักรโดยพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญา หรือพระวิญญาณบริสุทธิ์ โดยสิทธิอำนาจของประธานศาสนจักรผู้ถือกุญแจ [ดู คพ. 132:7] ประธานศาสนจักรถือกุญแจของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค ท่านมอบสิทธิอำนาจให้ผู้อื่นและมอบอำนาจให้พวกเขาประกอบศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์ของฐานะปุโรหิต

“การแต่งงานเพื่อนิรันดรคือพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ ประการหนึ่ง บัพติศมาคือพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ ประการหนึ่ง เช่นกัน [ดู คพ. 132:22] และการแต่งตั้งฐานะปุโรหิต และพันธสัญญาอื่นทั้งหมดอยู่เป็นนิจ และเป็นส่วนหนึ่งของ พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจซึ่งครอบคลุมสิ่งทั้งปวง” (Answers to Gospel Questions, comp. Joseph Fielding Smith Jr., 5 vols. [1957–66], 1:65)

ขอให้ชั้นเรียนสรุปความหมายของวลี พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจด้วยคำพูดของพวกเขาเอง

  • การเรียนรู้เกี่ยวกับพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจจะเป็นประโยชน์อย่างไรต่อคนที่รับบัพติศมาโดยปราศจากสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต

  • เราประกอบศาสนพิธีภายใต้พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจโดยสิทธิอำนาจอะไร (สิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิต)

เขียนหลักคำสอนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: บัพติศมาต้องประกอบโดยผู้มีสิทธิอำนาจจากพระผู้เป็นเจ้า

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 22:2–4 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุวลีที่บ่งบอกว่าพระเจ้าไม่ทรงยอมรับบัพติศมาที่ประกอบโดยปราศจากสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต ในการเปิดเผยนี้ พระเจ้าตรัสถึงศาสนพิธีบัพติศมาว่าเป็นการเข้าไปใน “ประตูคับแคบ” (ดู คพ. 22:2) จากนั้นขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • บัพติศมาโดยไม่มีสิทธิอำนาจเป็น “งานที่ตายแล้ว” ในแง่ใด (ไม่ได้ให้ประโยชน์นิรันดร์ต่อคนที่มีส่วนในบัพติศมานั้น)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 22:3พระเจ้าทรงทำอะไรเพราะงานที่ตายแล้วซึ่งทำในเวลานั้น (พระองค์ทรงให้สถาปนาพันธสัญญาของพระองค์อีกครั้งและเสริมสร้างศาสนจักรของพระองค์)

  • ท่านเคยได้รับพรอย่างไรเพราะท่านเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย—ศาสนจักรเดียวที่มีสิทธิอำนาจประกอบศาสนพิธีที่จำเป็น

หลักคำสอนและพันธสัญญา 23

ชายห้าคนได้รับเรียกให้เสริมสร้างความมั่นคงแก่ศาสนจักร

ขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาได้รับคำพูดให้กำลังใจหรือคำแนะนำที่ต้องการอย่างมากจากอีกคนหนึ่ง ท่านอาจขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขา

เชื้อเชิญให้นักเรียนดูบทนำของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 23 และระบุชื่อชายห้าคนในภาคนี้ อธิบายว่าในการเปิดเผยนี้ ชายแต่ละคนได้รับคำแนะนำเฉพาะเจาะจงจากพระเจ้า กระตุ้นให้พวกเขามองหาบทเรียนที่สามารถเรียนรู้ได้ขณะพวกเขาศึกษาพระดำรัสของพระเจ้าถึงชายเหล่านี้ ชีวประวัติต่อไปนี้จะให้บริบทที่เป็นประโยชน์สำหรับ หลักคำสอนและพันธสัญญา 23

ไฮรัม สมิธ พี่ชายของท่านศาสดาพยากรณ์ ช่วยจัดพิมพ์พระคัมภีร์มอรมอนโดยทำงานกับผู้พิมพ์โดยตรง เขารับใช้เป็นประธานสาขาแรกของศาสนจักรในเมืองโคลสวิลล์ รัฐนิวยอร์ก ไฮรัมซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าและศาสนจักรตลอดชีวิต

แซมิวเอล สมิธ น้องชายของท่านศาสดาพยากรณ์ รับบัพติศมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1829 ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1830 เขาออกไปเป็นผู้สอนศาสนาและมอบพระคัมภีร์มอรมอนเล่มหนึ่งซึ่งสุดท้ายนำไปสู่การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของบริคัม ยังก์และสมาชิกอีกหลายคนในครอบครัวเขา แซมิวเอลภักดีต่อครอบครัวและศาสนจักรตลอดชีวิต แซมิวเอลไม่พร้อมจะสั่งสอนเมื่อประทานการเปิดเผยนี้ แต่สองเดือนต่อมาเขาอยากเริ่มรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา

โจเซฟ สมิธ ซีเนียร์ บิดาของท่านศาสดาพยากรณ์ เข้าร่วมศาสนจักรในวันจัดตั้ง ฤดูร้อนต่อมา เขากับดอน คาร์ลอสบุตรชายเริ่มทำงานเผยแผ่กับเครือญาติในนิวยอร์ก เขากลายเป็นมหาปุโรหิตและผู้ประสาทพรคนแรกของศาสนจักร โจเซฟ สมิธ จูเนียร์พูดถึงบิดาของท่านว่าเป็น “คนซื่อสัตย์ต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่อศาสนจักรในทุกสถานการณ์และภายใต้ทุกสภาวการณ์ที่เรียกเขาให้ประสบ” (History of the Church, 4:192)

โจเซฟ ไนท์ ซีเนียร์ เป็นเพื่อนสนิทของโจเซฟ สมิธ จูเนียร์ และมีน้ำใจต่อท่านมาก เขาจัดหาเสบียงให้ท่านศาสดาพยากรณ์ขณะทำงานแปลพระคัมภีร์มอรมอน เขารู้สึกปรารถนาจะรับบัพติศมาพร้อมคนอื่นๆ ในวันจัดตั้งศาสนจักร แต่เขาตัดสินใจรอเพราะต้องการศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนมากขึ้น เขาเขียนในเวลาต่อมาว่า “ผมคงจะรู้สึกดีขึ้นถ้าผม … เดินหน้า” รับบัพติศมา (ตามที่อ้างอิงในลาร์รีย์ พอร์เตอร์, “The Joseph Knight Family,” Ensign, Oct. 1978, 40; ปรับตัวสะกดและอักษรตัวใหญ่ตามมาตรฐานที่ใช้ในปัจจุบัน)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 23:1–2 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำเตือนที่พระเจ้าประทานแก่ออลิเวอร์ คาวเดอรี

  • พระเจ้าประทานคำเตือนอะไรแก่ออลิเวอร์ ความหยิ่งจองหองนำไปสู่การล่อลวงได้อย่างไร

  • มีวิธีใดบ้างที่เราสามารถหลีกเลี่ยงความรู้สึกหยิ่งจองหองที่จะนำเราไปสู่การล่อลวง

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 2ออลิเวอร์จะได้รับพรอะไร (ความสามารถในการ “สั่งสอนความจริง”)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 23:3–5 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาความคล้ายคลึงในคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่ไฮรัม สมิธ, แซมิวเอล สมิธ และโจเซฟ สมิธ ซีเนียร์

  • คำแนะนำของพระเจ้าสำหรับชายเหล่านี้คล้ายกันอย่างไร (แต่ละคนได้รับเรียกให้ตักเตือนและเสริมสร้างความมั่นคงแก่ศาสนจักร ท่านอาจต้องการอธิบายว่าการเรียกให้ตักเตือนหมายถึงความรับผิดชอบในการสอนพระกิตติคุณแก่ผู้อื่น)

เชิญนักเรียนสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงชีวประวัติย่อของไฮรัม สมิธ, แซมิวเอล สมิธ และโจเซฟ สมิธ ซีเนียร์ ก่อนอ่านขอให้ชั้นเรียนฟังวิธีที่ชายเหล่านี้ทำการเรียกให้ตักเตือนและเสริมสร้างศาสนจักรให้เกิดสัมฤทธิผล หลังจากอ่านชีวประวัติย่อของแต่ละคนแล้ว ขอให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้

  • อะไรคือความคล้ายคลึงและความแตกต่างระหว่างคำแนะนำที่ประทานแก่ไฮรัม สมิธและแซมิวเอล สมิธ

  • มีวิธีใดบ้างที่เราสามารถตักเตือนและเสริมสร้างความมั่นคงแก่ศาสนจักร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงชีวประวัติคร่าวๆ ของโจเซฟ ไนท์ ซีเนียร์ จากนั้นขอให้นักเรียนอีกคนหนึ่งอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 23:6–7 ซึ่งประกอบด้วยคำแนะนำของพระเจ้าต่อโจเซฟ ไนท์ ซีเนียร์ ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงบัญชาให้เขาทำ

  • โจเซฟ ไนท์ได้รับบัญชาให้ทำอะไร (สวดอ้อนวอนโดยออกเสียงในที่ลับตา กับครอบครัวและเพื่อนๆ และต่อโลก เข้าร่วมศาสนจักรที่แท้จริง และตักเตือนคนอื่นๆ)

  • ท่านเห็นหลักฐานอะไรบ้างใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 23:7 ที่ยืนยันว่าพระเจ้าทรงปรารถนาจะประทานพรแก่โจเซฟ ไนท์ ซีเนียร์

อธิบายว่าไม่นานหลังจากพระเจ้าประทานการเปิดเผยนี้ โจเซฟ ไนท์ ซีเนียร์เลือกรับบัพติศมา เขายังคงทุ่มเทให้ศาสนจักรตลอดชีวิต โดยปกป้องศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธทั้งในที่ส่วนตัวและสาธารณะ ต่อมาท่านศาสดาพยากรณ์พูดถึงโจเซฟ ไนท์ ซีเนียร์ว่าเป็นคน “ซื่อสัตย์และแน่วแน่ ยุติธรรมและเป็นแบบอย่าง มีคุณธรรมและอ่อนโยน ไม่หันขวาหรือซ้าย” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], หน้า 497)

เชิญนักเรียนบอกหลักธรรมที่พวกเขาเรียนรู้จากการศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 23 พวกเขาอาจพูดถึงหลักธรรมดังต่อไปนี้

เมื่อเราปรารถนาจะรับใช้พระเจ้า เราสามารถรับการนำทางส่วนตัวจากพระองค์

พระเจ้าจะทรงอวยพรเราเมื่อเราทำตามการนำทางที่พระองค์ประทาน

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองการนำทางที่พวกเขาได้รับจากพระเจ้าผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ ถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิต หรือพระคัมภีร์ ให้เวลาพวกเขาสองสามนาทีใคร่ครวญว่าพวกเขาจะเชื่อฟังคำแนะนำที่ได้รับอย่างไร ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนความประทับใจที่ได้รับลงในสมุดจดหรือในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา รับรองกับนักเรียนว่าพวกเขาจะได้รับพรด้วยความช่วยเหลือและการนำทางจากพระเจ้าเมื่อพวกเขาทำสิ่งที่พระองค์ทรงขอ

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 22:1 “แม้สิ่งนั้นที่มีจากกาลเริ่มต้น”

ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 22:1 วลี “แม้สิ่งนั้นที่มีจากกาลเริ่มต้น” เป็นความจริง: อาดัมและเอวาได้รับการสอนพระกิตติคุณ และพวกท่านรับบัพติศมา (ดู โมเสส 5:58–59; 6:52–68) เอโนคได้รับบัญชาให้บัพติศมาผู้ติดตามพระเจ้า (ดู โมเสส 7:11); และโนอาห์สอนผู้คนว่าพวกเขาควรรับบัพติศมาในพระนามของพระเยซูคริสต์ แม้ดังบรรพบุรุษของพวกเขา (ดู โมเสส 8:24) บัพติศมาสอนไว้ในพระคัมภีร์มอรมอนก่อนการเสด็จมาของพระคริสต์เช่นกัน บทความใน Ensign เดือนกันยายน ค.ศ. 1974 ชี้ให้เห็นว่ามีการประกอบพิธีบัพติศมาในหมู่ชาวยิวสมัยโบราณด้วย

“แม้ประวัติศาสตร์ทางโลกหรือพระคัมภีร์ไม่ได้บอกชัดเจนว่าชาวยิวให้บัพติศมากันใน [สมัยของพระเยซูคริสต์] แต่การให้บัพติศมาผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสชาวต่างชาติสู่ศาสนายิวเป็นการปฏิบัติประจำในบรรดาพวกเขา …

“สังเกตได้ว่าเมื่อยอห์นมาในหมู่คน พวกเขาไม่ได้ถามท่านว่า ‘สิ่งใหม่ที่ท่านทำคืออะไร’ แต่ถามว่า ‘ท่านเป็นใคร’ พวกเขาไม่สงสัยเรื่องศาสนพิธี” (Robert J. Matthews, “I Have a Question,” Ensign, Sept. 1974, 16.)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 22:2 “เจ้าไม่สามารถเข้าไปในประตูคับแคบโดยกฎของโมเสส”

กฎของโมเสส พร้อมกับระบบของพระบัญญัติ พิธีการ พิธีกรรม และสัญลักษณ์ทางโลกให้ไว้เพื่อช่วยให้ชาวอิสราเอลระลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าและตั้งตารอการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำให้กฎนี้เกิดสัมฤทธิผลผ่านการชดใช้ (ดู แอลมา 34:13–14) ระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัย พระเยซูคริสต์และอัครสาวกของพระองค์ทำงานเพื่อสอนชาวยิวว่าความรอดไม่ได้มาโดยการเชื่อฟังกฎอย่างเดียว แต่มาผ่านอำนาจการช่วยให้รอดของการชดใช้ ดังที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 22:2พระเจ้าทรงเปรียบบุคคลที่รับบัพติศมาโดยปราศจากสิทธิอำนาจกับคนที่พึ่งกฎของโมเสสโดยไม่มีศรัทธาในพระเยซูคริสต์ การเปรียบเทียบนี้เน้นว่าต้องปล่อยการปฏิบัติศาสนา “ที่ตายแล้ว” ซึ่งไม่สามารถช่วยให้เรารอดได้ และน้อมรับพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจของพระกิตติคุณ เฉกเช่นชาวยิวรุ่นแรกที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสคริสต์ศาสนาน้อมรับ

หลักคำสอนและพันธสัญญา 22:1–4 ความสำคัญของการฟื้นฟูสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต

เอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทาลเมจแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทาลเมจ

“เมื่อพระเจ้าทรงสถาปนาศาสนจักรในหมู่ชาวนีไฟบนทวีปนี้ พระองค์ทรงบอกวิธีปฏิบัติศาสนาพิธีบัพติศมาให้คนที่พระองค์ทรงเลือกและแต่งตั้ง แก่คนที่พระองค์ประทานสิทธิอำนาจให้ พวกเขาต้องกล่าวว่า ‘โดยสิทธิอำนาจที่ข้าพเจ้าได้รับจากพระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าให้บัพติศมาท่านในพระนามของพระบิดา และของพระบุตร และของพระวิญญาณบริสุทธิ์’ สิทธิอำนาจดังกล่าวไม่ได้ประทานแก่เราในยุคนี้ พระดำรัสที่พระคริสต์ตรัสกับเหล่าอัครสาวกในสมัยโบราณจะไม่ให้สิทธิอำนาจใดๆ แก่อัครสาวกปัจจุบัน ทั้งไม่ให้แก่เอ็ลเดอร์คนใดของศาสนจักร ข้าพเจ้าขอย้ำ ถ้อยคำที่พระองค์พระเจ้าตรัสกับเหล่าสาวกผู้ได้รับเลือกจากหมู่ชาวนีไฟจะไม่ให้สิทธิอำนาจแก่เรา แต่ในยุคสมัยนี้พระองค์ตรัสอีกครั้ง และประทานพลังและสิทธิอำนาจเดียวกันนั้นให้พูดในพระนามของพระองค์ และให้ปฏิบัติศาสนพิธีแห่งพระกิตติคุณตามแบบที่พระองค์ทรงกำหนด ด้วยเหตุนี้เหล่าเอ็ลเดอร์และปุโรหิตที่รับผู้ปรารถนาจะรับบัพติศมา ผู้ประกาศศรัทธาของตน และผู้กลับใจจากบาปเข้าสู่น้ำแห่งบัพติศมาวันนี้ จึงประกาศว่าพวกเขามีสิทธิอำนาจที่พระองค์ประทาน และโดยได้รับมอบหมายจากพระเยซูคริสต์ พวกเขาให้บัพติศมาในพระนามของพระบิดา และของพระบุตร และของพระวิญญาณบริสุทธิ์” (ใน Conference Report, Apr. 1924, 68; ดู Doctrine and Covenants Student Manual, 2nd ed. [Church Educational System manual, 2001] , 46 ด้วย)

ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสยุคแรกบางคนของศาสนจักรไม่เข้าใจที่พระเจ้าไม่ทรงยอมรับบัพติศมาหากไม่ประกอบพิธีโดยผู้ดำรงสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธอธิบายดังนี้

ภาพ
ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

“มีผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสทันทีหลังจากจัดตั้งศาสนจักร บางคนเป็นสมาชิกของนิกายที่เชื่อเรื่องบัพติศมาโดยลงไปในน้ำทั้งตัว ในความเป็นจริงผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสยุคแรกหลายคนของศาสนจักรยอมรับวิธีนี้มาก่อนแล้ว โดยเชื่อว่าถูกต้อง แต่คำถามเรื่องสิทธิอำนาจจากพระเจ้าไม่ได้ตรึงแน่นในความคิดของพวกเขา เมื่อพวกเขาปรารถนาจะเข้ามาในศาสนจักร โดยได้รับประจักษ์พยานว่าโจเซฟ สมิธ [เป็นศาสดาพยากรณ์ที่แท้จริง] พวกเขาสงสัยว่าเหตุใดพวกเขาจึงจำเป็นต้องรับบัพติศมาอีกครั้งในเมื่อพวกเขารับศาสนพิธีบัพติศมาโดยการลงไปในน้ำทั้งตัวแล้ว” (Church History and Modern Revelation [1953], 1:109)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 22:4 “เจ้าจงเข้าทางประตู”

บัพติศมาเป็นประตู หรือข้อกำหนด สำหรับการเข้าสู่อาณาจักรซีเลสเชียลสำหรับทุกคนที่ถึงวัยรับผิดชอบได้ (ดู 2 นีไฟ 31:15–21) ศาสนพิธีบัพติศมาแม้จะจำเป็นอย่างยิ่งแต่จะมีผลก็ต่อเมื่อควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงใจให้สอดคล้องอันจะนำไปสู่ชีวิตใหม่

เอ็ลเดอร์จอห์น เอ. วิดท์โซแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดถึงชีวิตที่เปลี่ยนดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์จอห์น เอ. วิดท์โซ

“ข้าพเจ้านึกถึงชายที่ให้บัพติศมาข้าพเจ้าเข้ามาในศาสนจักร ชายที่ธรรมดามาก … ดื่มเบียร์วันละสองสามเหยือก ตามด้วยวิสกี้อีกหนึ่งแก้ว … สูบบุหรี่เกือบทั้งวัน ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยไร้จุดหมาย แต่กินอาหารวันละสามมื้อและสนองความอยากบางอย่างที่เป็นตัณหา เขาได้ยินพระกิตติคุณและยอมรับ พระกิตติคุณนั้นดี เป็นสิ่งที่เขาปรารถนาอย่างมาก เขามีพลังกายพลังใจเพิ่มขึ้นในศาสนจักร เท่าที่ข้าพเจ้าจำได้ เขาทำงานเผยแผ่ห้าถึงหกครั้งและเป็นประธานคณะเผยแผ่แห่งหนึ่งของศาสนจักร เขาเป็นคนเดิม มือเดิม เท้าเดิม ร่างกายเดิม ความคิดเดิม แต่เปลี่ยนไปเพราะพระวิญญาณที่มากับการยอมรับความจริงนิรันดร์” (ใน Conference Report, Apr. 1952, 34; ดู Doctrine and Covenants Student Manual, 2nd ed. [Church Educational System manual, 2001] , 46–47 ด้วย)