เซมินารี
บทที่ 156: องค์การและโปรแกรมต่างๆ ของศาสนจักร


บทที่ 156

องค์การและโปรแกรมต่างๆ ของศาสนจักร

คำนำ

ขณะที่ศาสนจักรเติบโตต่อเนื่อง พระเจ้าทรงดลใจผู้นำและสมาชิกศาสนจักรให้ดำเนินองค์การและโปรแกรมต่างๆ ภายในศาสนจักรเพื่อเป็นพรแก่วิสุทธิชน เมื่อจัดตั้งองค์การและโปรแกรมเหล่านี้ครั้งแรก บางองค์การยังไม่จำเป็นนัก แต่เมื่อศาสนจักรเติบโตองค์การและโปรแกรมเหล่านี้สำคัญอย่างยิ่งในงานของพระเจ้าเพื่อความรอดของบุตรธิดาพระองค์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

องค์การและโปรแกรมต่างๆ ของศาสนจักรช่วยเราเตรียมพร้อมและก้าวหน้าสู่ชีวิตนิรันดร์

เริ่มชั้นเรียนโดยขอให้นักเรียนสมมติว่าเพื่อนคนหนึ่งไม่อยากไปการประชุมและกิจกรรมเยาวชนหญิงของเธอ เธอบอกว่าไม่สนุกพอและทำให้เธอเสียเวลา

หลังจากท่านนำเสนอตัวอย่างนี้ ขอให้นักเรียนพิจารณาในใจว่าพวกเขาจะพูดอะไรเพื่อช่วยให้เพื่อนเข้าใจจุดประสงค์ของการประชุมและกิจกรรมเยาวชนหญิง

  • ท่านจะบอกว่าอะไรคือจุดประสงค์ขององค์การเยาวชนชายและองค์การเยาวชนหญิง

  • การรู้จุดประสงค์ขององค์การจะช่วยคนที่เป็นสมาชิกขององค์การนั้นได้อย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน โมเสส 1:39 ในใจโดยมองหาจุดประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์ในทั้งหมดที่พระองค์ทรงทำ ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ ท่านอาจต้องเตือนความจำนักเรียนว่า ความเป็นอมตะ หมายถึงสภาพของการมีชีวิตตลอดไปในสภาพที่ฟื้นคืนชีวิตแล้ว ทุกคนจะฟื้นคืนชีวิตโดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์โดยไม่คำนึงถึงความชั่วร้ายหรือความชอบธรรมในชีวิตนี้ชีวิตนิรันดร์ หมายถึงการมีชีวิตตลอดไปเป็นครอบครัวในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าและเป็นเหมือนพระองค์ เฉกเช่นความเป็นอมตะ ชีวิตนิรันดร์เกิดขึ้นได้ผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้เรียกร้องให้เรา “เชื่อฟังกฎและศาสนพิธีทั้งหลายของพระกิตติคุณ” (หลักแห่งความเชื่อ 1:3) เช่นกัน

  • หากจุดประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์คือทำให้เกิดความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของบุตรธิดาพระองค์ อะไรคือจุดประสงค์ของศาสนจักร

หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนความจริงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายช่วยเหลือพระบิดาบนสวรรค์ในการทำให้บุตรธิดาของพระองค์ได้รับชีวิตนิรันดร์ จากนั้นให้ถามว่า

  • ศาสนจักรช่วยเหลือด้านใดบ้างในการทำให้เกิดความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของบุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์

อธิบายว่าศาสนจักรมีองค์การจำนวนหนึ่ง—เรียกว่าองค์การช่วยของฐานะปุโรหิต—และโปรแกรมอื่นๆ ที่ช่วยให้เราเจริญก้าวหน้าสู่ชีวิตนิรันดร์ เชื้อเชิญให้นักเรียนบอกชื่อบางองค์การ (คำตอบอาจได้แก่ สมาคมสงเคราะห์ เยาวชนชาย เยาวชนหญิง ปฐมวัย และสมาคมสงเคราะห์ รวมถึงโปรแกรมต่างๆ เช่นการสังสรรค์ในครอบครัว เซมินารีและสถาบันศาสนา)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าองค์การและโปรแกรมต่างๆ ของศาสนจักรช่วยให้เราเรียนรู้และเจริญก้าวหน้าในพระกิตติคุณจนเราได้รับชีวิตนิรันดร์อย่างไร ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง อธิบายว่าคำกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับโปรแกรมเซมินารีและสถาบัน แต่หลักธรรมที่สอนประยุกต์ใช้ได้กับองค์การช่วยและโปรแกรมอื่นของศาสนจักร

ภาพ
ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“ศาสนจักรเริ่มโปรแกรมเหล่านี้เมื่อเห็นว่าดี แต่ไม่จำเป็นมากนัก อีกทั้งยอมให้รุ่งเรืองและเติบโตเป็นป้อมปราการสำหรับศาสนจักร ปัจจุบันกลายเป็นสิ่งที่สวรรค์ประทานเพื่อความรอดของอิสราเอลยุคปัจจุบันในช่วงเวลาท้าที่สุด” (ทายมาก“Teach the Scriptures” [address to CES religious educators, Oct. 14, 1977], 3, LDS.org)

  • เซมินารีช่วยให้ท่านเตรียมรับความท้าทายบางอย่างของชีวิตอย่างไร

อธิบายว่าพระเจ้าทรงดลใจโปรแกรมและองค์การมากมายในศาสนจักรเพื่อเตรียมเราให้พร้อมรับความท้าทายของชีวิตและช่วยให้เราก้าวหน้าสู่ชีวิตนิรันดร์ เพื่อช่วยให้นักเรียนพูดถึงความช่วยเหลือที่พวกเขาได้รับจากองค์การและโปรแกรมบางอย่างของศาสนจักร ให้แบ่งชั้นเรียนออกเป็นหกกลุ่ม จัดเตรียม สำเนาคำถามต่อไปนี้ (หรือเขียนไว้บนกระดาน) และ ประวัติย่อต่อไปนี้แจกให้แต่ละกลุ่ม ขอให้นักเรียนศึกษาประวัติย่อในกลุ่มของตนและเตรียมตอบคำถาม

องค์การหรือโปรแกรมนี้เริ่มต้นอย่างไร

ท่านคิดว่านั่นเตรียมเราให้พร้อมเผชิญการทดสอบและความท้าทายในยุคสมัยของเราอย่างไร

ท่านคิดว่านั่นช่วยให้เราก้าวหน้าสู่ชีวิตนิรันดร์อย่างไร

โรงเรียนวันอาทิตย์

คริสต์ศักราช 1849 สมาชิกศาสนจักรคนหนึ่งชื่อริชาร์ด บัลแลนไทน์รู้สึกว่าเด็กๆ ต้องมีที่เรียนพระกิตติคุณในวันสะบาโต วิสุทธิชนในเกรตบริเตนจัดชั้นเรียนโรงเรียนวันอาทิตย์อยู่แล้ว และบราเดอร์บัลแลนไทน์เริ่มชั้นเรียนโรงเรียนวันอาทิตย์ครั้งแรกที่ยูทาห์ในวอร์ดซอลท์เลคซิตี้ของเขาเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1849 ไม่นานหลังจากนั้น วอร์ดอื่นจึงเริ่มปฏิบัติแบบเดียวกัน โดยแต่ละวอร์ดใช้หลักสูตรของตน คริสต์ศักราช 1867 ผู้นำศาสนจักรก่อตั้ง Deseret Sunday School Union ซึ่งส่งเสริมให้ใช้หลักสูตรแบบเดียวกัน ประมาณปี 1870 ศาสนจักรจัดชั้นเรียนโรงเรียนวันอาทิตย์มากกว่า 200 แห่ง ปัจจุบันวอร์ดและสาขาต่างๆ มีชั้นเรียนโรงเรียนวันอาทิตย์เพิ่มขึ้นหลายเท่า

เยาวชนหญิง

ประธานบริคัม ยังก์พบปะพูดคุยกับลูกสาวของท่านในบ้านเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1869 ท่านขอให้พวกเธอเป็นผู้นำในการช่วยให้เพื่อนวัยเดียวกันมีประจักษ์พยานในพระกิตติคุณ แต่งกายสุภาพเรียบร้อยและวางตัวเหมาะสม หลีกเลี่ยงแนวโน้มและพฤติกรรมของชาวโลก คริสต์ศักราช 1870 ศาสนจักรจัดตั้งองค์การเยาวชนหญิงอย่างเป็นทางการเพื่อส่งเสริมวัตถุประสงค์เหล่านี้ ในที่สุดองค์การนี้กลายเป็น Young Women’s Mutual Improvement Association (YWMIA) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นองค์การเยาวชนหญิง ต้นทศวรรษ 1970 ผู้นำแนะนำให้ใช้โปรแกรมความก้าวหน้าส่วนบุคคล คริสต์ศักราช 1985 พวกเขาแนะนำให้ใช้คุณค่าและสาระสำคัญเยาวชนหญิง

เยาวชนชาย

ศาสนจักรจัดตั้ง Young Men’s Mutual Improvement Association (YMMIA) เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1875 ภายใต้การกำกับดูแลของประธานบริคัม ยังก์ องค์การนี้มุ่งหมายจะช่วยเยาวชนชายพัฒนาทางวิญญาณและสติปัญญาอีกทั้งจัดเตรียมกิจกรรมนันทนาการให้พวกเขา คริสต์ศักราช 1913 ศาสนจักรร่วมมือกับลูกเสือของอเมริกาในสหรัฐ และร่วมมือกับโปรแกรมลูกเสืออื่นๆ ระหว่างประเทศเท่าที่จะทำได้ ชื่อขององค์กรพัฒนาไปเช่นกัน ตอนแรกเปลี่ยนเป็นฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน—เอ็มไอเอ จากนั้นเป็นฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน และสุดท้ายเป็นองค์การเยาวชนชาย คริสต์ศักราช 2001 ผู้นำศาสนจักรแนะนำให้ใช้โปรแกรมหน้าที่ต่อพระผู้เป็นเจ้า

ปฐมวัย

คริสต์ศักราช 1877 ออเรเลีย สเป็นเซอร์ โรเจอร์ส “รู้สึกแรงกล้าว่าควรทำอะไรบางอย่างกับพฤติกรรมของเด็กผู้ชายแถวบ้านที่วิ่งไปมาทั่วเมืองทั้งกลางวันและกลางคืน เธอรู้สึกว่าเด็กมากมายเหล่านี้ไม่ได้รับการสอนหลักธรรมและคุณค่าพื้นฐาน [เพื่อเตรียมพวกเขา] ไม่ว่าจะในความรู้หรือพฤติกรรมเพื่อนำพระกิตติคุณออกไป หรือแม้แต่จะเป็นพ่อแม่ที่ดีหรือพลเมืองดี”( “History of Primary,” lds.org/callings/primary/getting-started/history-of-primary) เธอจึงประชุมกับเอไลซา อาร์. สโนว์ผู้กำลังรับใช้เป็นประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญเวลานั้น และพวกเธอได้รับอนุญาตจากประธานจอห์น เทย์เลอร์ให้จัดตั้งปฐมวัยในเมืองฟาร์มิงตัน ยูทาห์ภายใต้การกำกับดูแลของอธิการจอห์น เฮสส์ การประชุมปฐมวัยครั้งแรกจัดขึ้นวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1878 มีเด็กชายและเด็กหญิงเข้าร่วม 224 คน คริสต์ศักราช 1880 ศาสนจักรเรียกประธานปฐมวัยสามัญ และเริ่มจัดชั้นเรียนปฐมวัยในหลายๆ วอร์ด

เซมินารีและสถาบันศาสนา

คริสต์ศักราช 1888 ศาสนจักรตั้งคณะกรรมการสามัญด้านการศึกษาและสถาบันการศึกษาของศาสนจักร และจัดชั้นเรียนศาสนาเพื่อจัดเตรียมรากฐานทางวิญญาณสำหรับการเรียนรู้ทางโลกให้คนที่ไม่ได้เข้าเรียนสถาบันการศึกษาของศาสนจักร คริสต์ศักราช 1912 โจเซฟ เอฟ. เมอร์ริลล์ศาสตราจารย์และสมาชิกศาสนจักรเสนอแผนให้นักเรียนในโรงเรียนรัฐบาลเข้าชั้นเรียนศาสนาในวันที่พวกเขาไปโรงเรียน ชั้นเรียนนั้นเรียกว่าเซมินารี และชั้นเรียนแรกจัดใกล้โรงเรียนมัธยมแกรนิตในซอลท์เลคซิตี้ ยูทาห์ มีนักเรียนลงทะเบียน 70 คน ขณะที่โปรแกรมเซมินารีขยายตัว ศาสนจักรจัดโปรแกรมคล้ายกันให้แก่เยาวชนวัยนักศึกษา โปรแกรมนี้ชื่อสถาบันศาสนาวิสุทธิชนยุคสุดท้าย และชั้นเรียนสถาบันเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1926 ที่เมืองมอสโกว รัฐไอดาโฮ ต้นทศวรรษ 1950 โปรแกรมเซมินารีภาคเช้าตรู่เริ่มในแคลิฟอร์เนีย โปรแกรมเซมินารีภาคการศึกษาที่บ้านเริ่มในทศวรรษ 1960 และเซมินารีกับสถาบันศาสนจักรขยายต่อเนื่องไปทั่วโลก

การสังสรรค์ในครอบครัว

ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธสอนว่าโปรแกรมศาสนจักร “ควรเสริมการสอนและการอบรมของเราในบ้าน จะไม่มีเด็กคนใดออกนอกลู่นอกทางหากสภาพแวดล้อม แบบอย่าง และการอบรมที่บ้านสอดคล้องกับความจริงในพระกิตติคุณของพระคริสต์” (“Worship in the Home,” Improvement Era, Dec. 1903, 138) คริสต์ศักราช 1909 สเตคแกรนิตในซอลท์เลคซิตี้ ยูทาห์เริ่มโปรแกรมสังสรรค์ครอบครัวประจำสัปดาห์ซึ่งประธานสมิธกล่าวว่าได้รับการดลใจ คริสต์ศักราช 1915 ฝ่ายประธานสูงสุดแนะนำให้ใช้การสังสรรค์ในครอบครัวประจำเดือนทั่วทั้งศาสนจักร ฝ่ายประธานสูงสุดสัญญาว่า “หากวิสุทธิชนเชื่อฟังคำแนะนำดังกล่าว [จัดสังสรรค์ในครอบครัว] เราสัญญาว่าพรมากมายจะเกิดขึ้น ความรักที่บ้านและการเชื่อฟังบิดามารดาจะเพิ่มพูน ศรัทธาจะเติบโตในใจเยาวชนแห่งอิสราเอล พวกเขาจะมีพลังต่อสู้อิทธิพลชั่วร้ายและการล่อลวงซึ่งรุมเร้าพวกเขา” (ใน James R. Clark, comp., Messages of the First Presidency of The Church of Jesus Christ of Latter-day Saints, 6 vols. [1965–75], 4:339) ห้าสิบปีต่อมา ศาสนจักรจัดพิมพ์คู่มือให้ครอบครัวใช้ในการสอนพระกิตติคุณประจำสัปดาห์ คริสต์ศักราช 1970 ผู้นำศาสนจักรกำหนดให้เย็นวันจันทร์เป็นการสังสรรค์ในครอบครัวและประกาศว่าศาสนจักรต้องไม่จัดกิจกรรมใดในคืนนั้น

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนแต่ละกลุ่มสรุปประวัติขององค์การหรือโปรแกรมที่พวกเขาได้รับมอบหมายและอธิบายคำตอบของพวกเขาสำหรับคำถามที่สนทนา

อธิบายว่าเดิมทีแต่ละองค์การและโปรแกรมของศาสนจักรดำเนินงานโดยอิสระ เมื่อศาสนจักรขยายตัวอย่างรวดเร็วในทศวรรษ 1950 ผู้นำศาสนจักรเห็นความจำเป็นของการประเมินว่าองค์การต่างๆ กำลังทำตามวัตถุประสงค์ของศาสนจักรอย่างไร พวกท่านตัดสินใจรวมองค์การและโปรแกรมทั้งหมดของศาสนจักรให้สอดคล้องกันเป็นหนึ่งเดียวทั้งในการบริหารงานและในการเลือกหลักสูตร การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ช่วยให้องค์การและโปรแกรมต่างๆ สนองความต้องการที่ซับซ้อนของศาสนจักรที่กำลังเติบโตและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวได้ดีขึ้น ภายใต้ความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องดังกล่าว องค์การทั้งหมดของศาสนจักรดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของผู้นำฐานะปุโรหิตที่ถือกุญแจการเป็นประธาน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี

“ความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องคือระบบการบริหารงานศาสนจักรซึ่งเราใช้กับโปรแกรมทั้งหมดของศาสนจักร นำทั้งหมดมาที่จุดโฟกัสจุดเดียว ห่อไว้ในบรรจุภัณฑ์เดียว ดำเนินงานเป็นโปรแกรมเดียว ให้สมาชิกทุกคนของศาสนจักรมีส่วนดำเนินงาน—และทำทั้งหมดภายใต้การกำกับดูแลของฐานะปุโรหิต” (Let Every Man Learn His Duty [booklet, 1976], 2)

เขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: เมื่อเรามีส่วนร่วมในองค์การและโปรแกรมต่างๆ ของศาสนจักร เราได้รับพรที่มีให้ผ่านองค์การและโปรแกรมเหล่านั้น จากนั้นให้เขียน คำถามต่อไปนี้ ไว้บนกระดาน และเชื้อเชิญให้นักเรียนตอบคำถามเหล่านี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

องค์การและโปรแกรมต่างๆ ของศาสนจักรเป็นพรแก่ชีวิตท่านอย่างไร หน้าที่ต่อพระผู้เป็นเจ้าหรือความก้าวหน้าส่วนบุคคลเป็นพรแก่ชีวิตท่านอย่างไร

ท่านจะมีส่วนร่วมเต็มที่มากขึ้นในองค์การเยาวชนชายหรือเยาวชนหญิงอย่างไร ในโรงเรียนวันอาทิตย์อย่างไร ที่การสังสรรค์ในครอบครัวอย่างไร และในเซมินารีอย่างไร

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่เขียนไว้ ท่านอาจจะแบ่งปันความคิดของท่านเช่นกันว่าองค์การต่างๆ ของศาสนจักรเป็นพรแก่ชีวิตท่าน ช่วยท่านและครอบครัวท่านให้ก้าวหน้าสู่ชีวิตนิรันดร์อย่างไร

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ความสำคัญของเซมินารี

ประธานโธมัส เอส. มอนสันอธิบายความสำคัญของเซมินารีดังนี้

ภาพ
ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“นอกจากจะเข้าร่วมการประชุมวันอาทิตย์และกิจกรรมในคืนวันธรรมดาของท่านแล้ว เมื่อท่านมีโอกาสเข้าชั้นเรียนเซมินารี ไม่ว่าในชั้นเรียนเช้าตรู่หรือช่วงพัก จงใช้โอกาสนั้นให้เป็นประโยชน์ เวลานี้หลายท่านกำลังเรียนเซมินารี เช่นเดียวกับทุกเรื่องในชีวิต ส่วนมากสิ่งที่ท่านได้จากประสบการณ์เซมินารีขึ้นอยู่กับเจตคติของท่านและความเต็มใจให้สอนท่าน ขอให้เจตคติของท่านเป็นเรื่องของความอ่อนน้อมถ่อมตนและความปรารถนาจะเรียนรู้ ข้าพเจ้าซาบซึ้งยิ่งกับโอกาสที่มีสมัยเป็นวัยรุ่นเมื่อได้เรียนเซมินารีเช้าตรู่ เพราะนั่นมีบทบาทสำคัญยิ่งในพัฒนาการและการพัฒนาประจักษ์พยานของข้าพเจ้า เซมินารีเปลี่ยนชีวิตได้” (“เชื่อ เชื่อฟัง และอดทน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 128)