เซมินารี
บทที่ 48: หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:30–42


บทที่ 48

หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:30–42

คำนำ

ต้น ค.ศ. 1831 วิสุทธิชนส่วนใหญ่ที่อยู่ในนิวยอร์ก รวมทั้งโจเซฟ สมิธ อพยพไปโอไฮโอเพื่อสมทบกับผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสกลุ่มใหญ่ที่เพิ่งรับบัพติศมาที่นั่น ผู้นำศาสนจักรแสวงหาคำแนะนำจากพระเจ้าเกี่ยวกับศาสนจักรที่กำลังเติบโต ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้รับโดยการเปิดเผยซึ่งเวลานี้บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:1–73 ต่อหน้าเอ็ลเดอร์ 12 คน ในการเปิดเผยนี้ พระเจ้าทรงแนะนำให้รู้กฎทางโลก ทางเศรษฐกิจ และทางวิญญาณที่มุ่งให้สมาชิกศาสนจักรช่วยคนจน ให้เงินสนับสนุนภารกิจต่างๆ ของศาสนจักร และช่วยเหลือวิสุทธิชนคนอื่นๆ ที่มาโอไฮโอ

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:30–42

พระเจ้าทรงอธิบายกฎแห่งการอุทิศถวาย

ก่อนเริ่มชั้นเรียน ให้ใช้เทปติดเป็นเส้นบนแก้วใสหกแก้วหรือขีดเส้นบนแก้วใสหกแก้วด้วยปากกาเมจิก ขีดเส้นที่แก้วแต่ละใบให้สูงต่ำต่างกัน นำแก้วมาที่ชั้นเรียน นำเหยือกที่มีน้ำมากเกินพอมาด้วยเพื่อรินน้ำใส่แก้วทุกใบตามเส้นที่ขีดไว้ (ท่านอาจต้องการใส่สีลงในน้ำเพื่อให้นักเรียนมองเห็นชัดขึ้น)

ตอนเริ่มบทเรียน ให้ดูเหยือกน้ำ บอกนักเรียนว่าน้ำหมายถึงความมั่งคั่งและทรัพยากรทั้งหมดของชุมชน

อธิบายว่าในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1831 สมาชิกของศาสนจักรในเคิร์ทแลนด์ รัฐโอไฮโอต้องช่วยดูแลคนจน ช่วยเหลือผู้ตั้งถิ่นฐานคนใหม่ที่เสียสละมากเพื่อมารวมกันในโอไฮโอ และช่วยให้เงินสนับสนุนการดำเนินงานของศาสนจักร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:30 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงเปิดเผยเกี่ยวกับคนจน

  • ท่านคิดว่า “นึกถึงคนจน” หมายความว่าอย่างไร

ชี้ให้เห็นว่าพระเจ้าทรงบัญชาให้วิสุทธิชนอุทิศถวายทรัพย์สินของพวกเขาเพื่อจุนเจือคนจน เขียนคำ อุทิศถวาย ไว้บนกระดาน ขอให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้

  • ท่านคิดว่าอุทิศถวายหมายถึงอะไร

เขียนนิยามต่อไปนี้ของคำ อุทิศถวาย ที่เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้ไว้ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนนิยามนี้ไว้ตรงช่องว่างริมหน้าพระคัมภีร์ของพวกเขาข้างๆ ข้อ 30

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“การอุทิศถวายคือการสละให้หรืออุทิศบางอย่างที่ศักดิ์สิทธิ์ ทุ่มเทเพื่อจุดประสงค์ศักดิ์สิทธิ์” (“สะท้อนถึงชีวิตที่อุทิศถวาย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 19)

  • ท่านคิดว่านิยามนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับการให้บางสิ่งบางอย่างเพื่อช่วยคนตกทุกข์ได้ยาก

  • ท่านจะสรุปพระบัญชาของพระเจ้าใน ข้อ 30 เกี่ยวกับคนจนว่าอย่างไร (ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกัน แต่คำตอบของพวกเขาควรสะท้อนหลักคำสอนต่อไปนี้: พระเจ้าทรงบัญชาให้เราดูแลคนจนและคนตกทุกข์ได้ยาก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนาเรื่องนี้ ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวน หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:16, 34–36)

อธิบายว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 42 ประกอบด้วยหลักธรรมของกฎที่เรียกว่ากฎแห่งการอุทิศถวาย เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมพื้นฐานเหล่านี้ ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำอธิบายต่อไปนี้ของประธานมาเรียน จี. รอมนีย์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด

ภาพ
ประธานมาเรียน จี. รอมนีย์

“หลักธรรมพื้นฐานและความชอบด้วยเหตุผลของกฎแห่งการอุทิศถวาย ‘คือทุกสิ่งที่เรามีเป็นของพระเจ้า ด้วยเหตุนี้พระเจ้าจึงอาจจะทรงขอทรัพย์สินบางส่วนและทั้งหมดที่เรามี เพราะนั่นเป็นของพระองค์ … (คพ. 104:14–17, 54–57)’ (เจ. รูเบน คลาร์ก จูเนียร์, ใน Conference Report, Oct. 1942, p. 55)” (“Living the Principles of the Law of Consecration,” Ensign, Feb. 1979, 3)

หมายเหตุ: บทเรียนที่ใช้อุปกรณ์ต่อไปนี้ทำให้เข้าใจกฎแห่งการอุทิศถวายตามที่มีอยู่ในศาสนจักรจนถึงประมาณปี 1833 ง่ายขึ้น หลังจากเวลานี้ ศาสนจักรเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติ มีหลายช่วงของการปฏิบัติกฎแห่งการอุทิศถวายและการเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติในอีกหลายปีต่อมา

เชิญนักเรียนหกคนออกมาหน้าชั้น ให้แต่ละคนถือแก้วเปล่าคนละใบ รินน้ำจากเหยือกใส่แก้ว รินใส่แก้วหนึ่งจนถึงเส้นที่ท่านขีดไว้ รินใส่สามแก้วให้เลยเส้น และรินใส่สองแก้วให้ต่ำกว่าเส้นที่ท่านขีดไว้ อธิบายว่าแก้วแต่ละใบหมายถึงครอบครัวและเส้นบนแก้วแต่ละใบหมายถึงความจำเป็นและความปรารถนาอันชอบธรรมของครอบครัวนั้น แก้วที่มีน้ำต่ำกว่าขีดหมายถึงครอบครัวที่มีเงินไม่พอหรือมีสิ่งของไม่พอจุนเจือความจำเป็นของตน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:31 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาขั้นตอนแรกที่วิสุทธิชนเหล่านี้ต้องทำเพื่อดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการอุทิศถวาย

  • สำหรับวิสุทธิชนเหล่านี้ ขั้นตอนแรกในการดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการอุทิศถวายคืออะไร (ต้อง “มอบ [ทรัพย์สมบัติของพวกเขา] ไว้ให้อธิการของศาสนจักรและที่ปรึกษาของเขา” อีกนัยหนึ่งคือ พวกเขาต้องแสดงให้เห็นว่าเต็มใจอุทิศถวายเงินและทรัพย์สินให้ศาสนจักร)

  • อธิการเป็นตัวแทนของใคร (พระเจ้า)

เพื่อเป็นตัวแทนของสมาชิกศาสนจักรที่อุทิศถวายทรัพย์สินของตนให้ศาสนจักร ขอให้นักเรียนหกคนเทน้ำจากแก้วของตนลงในเหยือก เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:32 ขอให้ชั้นเรียนมองหาขั้นตอนที่สองที่วิสุทธิชนเหล่านี้ต้องทำเพื่อดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการอุทิศถวาย

อธิบายว่าทุกครอบครัวทำงานกับอธิการและได้รับสิ่งที่เรียกว่าสิ่งที่อยู่ใน “ความพิทักษ์” (คพ. 42:72) หมายความว่าแต่ละครอบครัวได้รับความไว้วางใจให้ดูแลทรัพย์สินและทรัพยากรจากพระเจ้า ครอบครัวเป็นเจ้าของทรัพย์สินและทรัพยากรที่พวกเขาได้รับ และต้องใช้สิทธิ์เสรีบริหารสิ่งที่อยู่ในความพิทักษ์ของตน ในฐานะผู้พิทักษ์ทรัพย์สินและทรัพยากรของพระเจ้า พวกเขาพึงรายงานต่อพระองค์และรับผิดชอบเต็มที่ต่อสิ่งที่พระองค์ทรงมอบให้ดูแล

รินน้ำจากเหยือกเติมใส่แก้วแต่ละใบจนถึงขีด

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าอธิการจัดสรรทรัพยากรให้ครอบครัวอย่างไร ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 51:3 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าอธิการ (ในกรณีนี้คือเอดเวิร์ด พาร์ทริจ) กำหนดส่วนของแต่ละครอบครัวอย่างไร ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียน คพ. 51:3 ไว้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาข้างๆ หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:33

  • อธิการกำหนดส่วนของทุกครอบครัวอย่างไร (การจัดสรรปันส่วนขึ้นอยู่กับสภาวการณ์ ความต้องการ และความจำเป็นของแต่ละครอบครัว)

เชิญนักเรียนอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:17 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าพระเจ้าทรงทำให้ตรงกับความต้องการและความจำเป็นของบุคคลอย่างไร ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียน คพ. 82:17 ไว้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาข้างๆ หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:33

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อนี้ พระเจ้าทรงเรียกร้องอะไรจากคนที่ประกาศความต้องการและความจำเป็นของตนต่อธิการ (พวกเขาต้องชอบด้วยเหตุผล หรืออีกนัยหนึ่งคือยุติธรรมและซื่อสัตย์)

ให้นักเรียนดูน้ำที่เหลือในเหยือก เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:33–36 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าพระเจ้าทรงแนะนำให้วิสุทธิชนทำอะไรกับทรัพย์สินที่อุทิศถวายซึ่งเหลือหลังจากจัดสรรให้พิทักษ์ดูแล

  • พระเจ้าทรงแนะนำให้วิสุทธิชนทำอะไรกับทรัพย์สินที่เหลือ หรือ “ส่วนที่เหลือ” (พวกเขาต้องใช้ช่วยคนจน ให้เงินสนับสนุนอาคารศาสนจักร และช่วยสมาชิกที่ตกทุกข์ได้ยาก) ท่านคิดว่าเหยือกเป็นตัวแทนของอะไรในข้อเหล่านี้ (คลัง)

  • การอุทิศถวายจะช่วยดูแลคนจนและคนตกทุกข์ได้ยากอย่างไร

  • กฎแห่งการอุทิศถวายจะเป็นพรแก่ศาสนจักรอย่างไร

  • การดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการอุทิศถวายอาจจะยากอย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:38 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาหลักธรรมที่พระเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับการทำดีต่อผู้อื่น

  • พระเจ้าทรงสอนหลักธรรมอะไรเกี่ยวกับการทำดีต่อผู้อื่น (นักเรียนควรแสดงให้เห็นว่า เมื่อเราทำดีต่อผู้อื่น เราทำดีต่อพระเจ้า เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

  • ความจริงนี้ช่วยให้วิสุทธิชนเต็มใจอุทิศถวายทรัพย์สินของพวกเขาอย่างไร การจดจำความจริงนี้จะช่วยท่านได้อย่างไร

  • ท่านเคยรู้สึกเมื่อใดว่าท่านกำลังรับใช้พระเจ้าขณะทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อช่วยผู้อื่น

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:40–42 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคุณสมบัติที่บุคคลต้องมีเพื่อดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการอุทิศถวาย (เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าจะประยุกต์ใช้ ข้อ 40 ในชีวิตพวกเขาอย่างไร ท่านอาจต้องอธิบายว่าพระเจ้าไม่ทรงคาดหวังให้เราทำเสื้อผ้าอาภรณ์ของเราเอง แต่พระองค์ทรงต้องการให้รูปลักษณ์ภายนอกของเราสะอาดเรียบร้อย)

  • ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:42คำว่า เกียจคร้าน หมายถึงหลีกเลี่ยงไม่ทำงาน เหตุใดคนเกียจคร้านจึงดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการอุทิศถวายได้ยาก

แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละสองหรือสามคน อธิบายว่าถึงแม้เราไม่ได้รับบัญชาให้ดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการอุทิศถวายแบบเดียวกับวิสุทธิชนสมัยแรก แต่กฎนี้ยังมีผลในปัจจุบัน เชื้อเชิญให้แต่ละกลุ่มอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ โดยฟังว่าการดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการอุทิศถวายสำหรับเราในปัจจุบันหมายถึงอะไร จากนั้นให้สมาชิกของแต่ละกลุ่มสนทนาคำตอบของคำถามที่อยู่ต่อจากคำกล่าวนี้ (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนข้อความนี้ไว้ตรงช่องว่างริมหน้าพระคัมภีร์ของพวกเขาข้างๆ ข้อ 30)

ภาพ
ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์

“การอุทิศถวายคือการสละเวลา พรสวรรค์ และทุนทรัพย์เพื่อดูแลคนตกทุกข์ได้ยาก—ไม่ว่าทางวิญญาณหรือทางโลก—และในการสร้างอาณาจักรของพระเจ้า” (“Welfare Services: The Gospel in Action,” Ensign, Nov. 1977, 78)

  • คนรอบข้างท่านอาจตกทุกข์ได้ยากในด้านใดบ้าง (นอกจากเรื่องเงิน)

  • ท่านจะใช้เวลา พรสวรรค์ และเงินทองช่วยคนตกทุกข์ได้ยากเหล่านี้อย่างไรบ้าง

  • ท่านเคยได้รับพรเมื่อใดจากคนที่สละเวลา พรสวรรค์ หรือเงินทองเพื่อช่วยท่าน

สรุปโดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านถึงหลักธรรมที่สนทนาในบทนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:30–34 กฎแห่งการอุทิศถวาย

ภาพ
ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธอธิบายว่า “ระเบียบเอกภาพ หรือกฎแห่งการอุทิศถวายไม่ได้บอกว่าคนเกียจคร้านจะกินขนมปังของคนทำงาน ถึงแม้ทุกคนจะแบ่งปันกันและไม่มีใครมีมากกว่าใคร แต่ทุกคนต้องให้การรับใช้และทำงานเพื่อประโยชน์ของทุกคน” (Church History and Modern Revelation, 2 vols. [1953], 1:205)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:30–34 กฎแห่งการอุทิศถวายของพระเจ้าเทียบกับระบบสังคมนิยม

บางคนบอกว่าการปฏิบัติกฎแห่งอุทิศถวายและระบบของระเบียบเอกภาพเป็นเพียงรูปแบบทางศาสนาของระบอบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ คนอื่นอ้างว่านี่เป็นพัฒนาการจากปรัชญาเศรษฐกิจในสมัยของโจเซฟ สมิธหรือจากการทดลองกับชุมชนในศาสนาใหม่ สมมติฐานเช่นนั้นไม่ถูกต้อง เมื่อเร็วๆ นี้ประธานมาเรียน จี. รอมนีย์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดสรุประบบที่ได้รับการเปิดเผยของระเบียบเอกภาพดังนี้

ภาพ
ประธานมาเรียน จี. รอมนีย์

“(1) พื้นฐานของระเบียบเอกภาพคือความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าและการยอมรับพระองค์เป็นพระเจ้าของแผ่นดินโลกและพระผู้ลิขิตระเบียบเอกภาพ …

“(2) ระเบียบเอกภาพนำมาปฏิบัติด้วยความสมัครใจของมนุษย์ เห็นได้จากการอุทิศถวายทรัพย์สินทั้งหมดของพวกเขาเพื่อศาสนจักรของพระผู้เป็นเจ้า …

“(3) … ระเบียบเอกภาพดำเนินการตามหลักกรรมสิทธิ์ส่วนตัวและการบริหารจัดการส่วนบุคคล …

“(4) ระเบียบเอกภาพไม่เกี่ยวกับการเมือง …

“(5) คนชอบธรรมเป็นเงื่อนไขอันดับแรกของระเบียบเอกภาพ …

“ระเบียบเอกภาพปรับปรุงคุณภาพชีวิตคนจนและทำให้คนมั่งมีอ่อนน้อมถ่อมตน ระหว่างนี้ทั้งสองคนได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ คนจนที่ได้รับการปลดปล่อยจากพันธนาการและขีดจำกัดอันน่าอดสูของความยากไร้จะบรรลุศักยภาพอันสมบูรณ์ของพวกเขาจนเป็นอิสรชนทั้งทางโลกและทางวิญญาณ คนมั่งมีแสดงให้เห็นจิตกุศลต่อเพื่อนมนุษย์อันเป็นลักษณะพิเศษที่มอรมอนเรียกว่า ‘ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์’ โดยอุทิศถวายและแบ่งส่วนเกินเพื่อประโยชน์ของคนจน (มัทธิว 7:47)” (ใน Conference Report, Apr. 1966, 97)

ภาพ
ประธาน เจ. รูเบน คลาร์ก จูเนียร์

ประธานเจ. รูเบ็น คลาร์ก จูเนียร์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า “คนทั่วไปไม่เข้าใจระเบียบเอกภาพ … [ระเบียบนี้] ไม่ใช่ระบบสหคามประชาชน … ระเบียบเอกภาพและระบอบคอมมิวนิสต์ไม่เหมือนกัน” (ใน Conference Report, Oct. 1943, 11)

ประธานรอมนีย์อธิบายว่าเราต้องมีความรับผิดชอบส่วนตัวในการดูแลผู้ยากไร้และคนขัดสน “ในโลกปัจจุบันนี้การปลอมแผนของพระเจ้าระบาดไปทั่ว เราต้องไม่ถูกชักนำให้คิดว่าเราสามารถทิ้งภาระหน้าที่ต่อผู้ยากไร้และคนขัดสนโดยผลักความรับผิดชอบให้หน่วยงานรัฐบาลหรือหน่วยงานเอกชนบางหน่วย โดยการสมัครใจแสดงความรักอย่างมากต่อเพื่อนบ้านเท่านั้นเราจึงจะพัฒนาจิตกุศลอันเป็นลักษณะพิเศษที่มอรมอนเรียกว่า ‘ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์’ (โมโรไน 7:47)” (“Caring for the Poor and Needy,” Ensign, Jan. 1973, 98)

ประธานคลาร์กกล่าวเกี่ยวกับเงินสงเคราะห์จากรัฐบาลว่า

ภาพ
ประธาน เจ. รูเบน คลาร์ก จูเนียร์

“การแจกจ่ายเงินสงเคราะห์จำนวนมากทำให้ประชาชนหลายแสนคน—หรือไม่ก็หลายล้านคน—นิยมชมชอบ … ความเกียจคร้าน รู้สึกว่าโลกเป็นหนี้ตนในเรื่องการดำรงชีพ การทำเช่นนั้นทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์หลักคำสอนทางการเมืองที่บ่อนทำลายมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน … และข้าพเจ้าคิดว่าสิ่งนี้อาจชักนำเราเข้าสู่ปัญหารุนแรงทางการเมือง” (อ้างอิงในมาเรียน จี. รอมนีย์, “Church Welfare Services’ Basic Principles,” Ensign, May 1976, 121)

ภาพ
ประธาน เจ. รูเบน คลาร์ก จูเนียร์

“สังคมไม่ได้เป็นหนี้ผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่กับความเกียจคร้าน ไม่ว่าเขาจะอายุเท่าใด ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นบรรทัดใดในงานเขียนศักดิ์สิทธิ์ขอร้องหรือแม้กระทั่งสนับสนุนให้เกียจคร้าน ในอดีตสังคมเสรีไม่สามารถสนับสนุนกลุ่มคนมากมายที่ดำเนินชีวิตด้วยความเกียจคร้านและมีชีวิตอิสระได้” (ใน Conference Report, Apr. 1938, 107)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:30–34, 54–55 ระบบสหคามประชาชนยุคแรกที่มาก่อนการเปิดเผยเรื่องกฎแห่งการอุทิศถวาย

ในสมัยของโจเซฟ สมิธ คนบางกลุ่มพยายามตั้งระบบสหคามประชาชนซึ่งกลุ่มถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในความมั่งคั่งและทรัพย์สมบัติทั้งหมด ก่อนการเปิดเผยเรื่องกฎแห่งการอุทิศถวาย สมาชิกศาสนจักรบางคนในโอไฮโอตั้งกลุ่มเช่นนั้น การปฏิบัติบางอย่างของพวกเขาเป็นปัญหาดังนี้

“เมื่อ [โจเซฟ สมิธ] มาถึงโอไฮโอ [ท่าน] พบกลุ่มคนประมาณห้าสิบคนตั้งธุรกิจร่วมกันตามการตีความของพวกเขาในหนังสือกิจการของอัครทูตที่บอกว่าวิสุทธิชนสมัยแรกมีสิ่งของทั้งหมดร่วมกัน (ดู กิจการของอัครทูต 2:44–45; 4:32) กลุ่มนี้ที่เรียกว่า ‘ครอบครัว’ … เป็นสมาชิกศาสนจักรที่อยู่บริเวณฟาร์มของไอแซค มอร์ลีย์ใกล้หมู่บ้านเคิร์ทแลนด์ จอห์น วิตเมอร์มาถึงที่นั่นเมื่อกลางเดือนมกราคม เขาสังเกตว่าสิ่งที่คนเหล่านั้นทำก่อเกิดปัญหามากมาย ตัวอย่างเช่น เฮแมน แบสเสตต์นำนาฬิกาพกที่เป็นของลีไว แฮนค็อคไปขาย เมื่อถามเหตุผล เฮแมนตอบว่า ‘โถ ผมก็คิดว่ามันอยู่ในครอบครัว’ ลีไวตอบว่าเขาไม่ชอบ ‘การกระทำแบบครอบครัว’ เช่นนั้นและจะไม่ทนอีกต่อไป [ลีไว ดับเบิลยู. แฮนค็อค, “Levi Hancock Journal,” LDS Historical Department, Salt Lake City, p. 81.]”

“ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ … ทราบดีว่าต้องวางระบบที่สมบูรณ์กว่านั้นเพื่อสนองความจำเป็นด้านเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของศาสนจักร ศาสนจักรต้องมีเงินสนับสนุนการทำภารกิจต่างๆ อาทิ การจัดพิมพ์การเปิดเผยและจุลสารผู้สอนศาสนา … ศาสนจักรต้องใช้เงิน สิ่งของ และที่ดินช่วยคนจนและช่วยเหลือผู้อพยพที่เสียสละมากเพื่อมารวมกันที่โอไฮโอ ด้วยเหตุนี้โจเซฟจึงทูลถามพระเจ้า” (ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003], 100)

การเปิดเผยที่บันทึกไว้ในหลักคำสอนและพันธสัญญา 42 ซึ่งเปิดเผยกฎแห่งการอุทิศถวายของพระเจ้า เป็นหนึ่งในการเปิดเผยหลายๆ เรื่องที่ตอบการทูลถามของโจเซฟ

หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:34, 55 คลังของอธิการ

“คริสต์ศักราช 1831 พระเจ้าทรงเปิดเผยต่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธว่าสมาชิกศาสนจักรควร ‘แบ่งทรัพย์สมบัติ [ของพวกเขา] ให้คนจน … และจงมอบสิ่งเหล่านั้นไว้ให้อธิการ … [และ] เก็บไว้ในคลังของเรา, เพื่อสงเคราะห์คนจนและคนขัดสน’ (คพ. 42:31, 34)

“180 กว่าปีต่อมา คลังของอธิการทั่วโลกยังคงสนับสนุนอธิการในการเรียกให้ ‘ซื่อสัตย์; จงยืนอยู่ในหน้าที่ซึ่งเรากำหนดให้เจ้า; ช่วยเหลือคนอ่อนแอ, ยกมือที่อ่อนแรง, และให้กำลังเข่าที่อ่อนล้า’ (คพ. 81:5)

“ไม่ว่าจะเป็นอาคารที่มีอาหารและเสบียงอื่น หรือเป็นแหล่งทรัพยากรในวอร์ดที่อธิการสามารถดึงมาใช้ได้ ศาสนจักรจะใช้คลังของอธิการดูแลคนตกทุกข์ได้ยาก

“คู่มือศาสนจักรชื่อ Basic Principles of Welfare and Self-Reliance (2009) กล่าวว่า ‘คลังของพระเจ้ามีให้อธิการทุกคนใช้และมีอยู่ในทุกวอร์ด ตรงข้ามกับความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ คลังของพระเจ้าไม่จำกัดเฉพาะอาคารหรือโกดังเก็บเครื่องอุปโภคบริโภคที่รอการแจกจ่าย’

“ที่ใดไม่มีคลังเป็นอิฐและปูน อธิการสามารถซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นได้จากผู้จำหน่ายในท้องที่โดยใช้เงินบริจาคอดอาหาร” (“Bishops’ Storehouse Opens the Windows of Heaven,” Church News and Events, May 20, 2011, LDS.org)