เซมินารี
บทที่ 7: บทบาทของผู้เรียน


บทที่ 7

บทบาทของผู้เรียน

คำนำ

จุดประสงค์ของบทนี้คือเพื่อช่วยให้นักเรียนรู้วิธีทำบทบาทของตนในการเรียนพระกิตติคุณให้เกิดสัมฤทธิผล ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดสอนว่า “การเปลี่ยนใจเลื่อมใสที่แท้จริงขึ้นอยู่กับการที่นักเรียนแสวงหาอย่างเสรีในศรัทธา ด้วยความพยายามอย่างมาก” (“We Must Raise Our Sights” [address to CES religious educators], Aug. 14, 2001], 4, LDS.org) ขณะที่ท่านช่วยให้นักเรียนทำบทบาทในกระบวนการเรียนรู้เกิดสัมฤทธิผล พวกเขาจะเรียนรู้ถึงวิธีที่จะได้รับการเปิดเผยส่วนบุคคลและทำให้การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของพวกเขาต่อพระเจ้านั้นลึกซึ้งขึ้น ท่านอาจต้องทบทวนหลักธรรมที่สอนในบทนี้เป็นประจำเพื่อเตือนให้นักเรียนนึกถึงความรับผิดชอบของตนในการเรียนพระกิตติคุณ

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

บทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ผู้เรียน และครูในการเรียนพระกิตติคุณ

นำอาหารหรือเครื่องดื่มมาชั้นเรียน (เช่น ผลไม้หรือขนมปังหรือแก้วน้ำ) เชิญนักเรียนสองคนออกมาหน้าชั้น ขอให้นักเรียนคนหนึ่งรับประทานอาหารหนึ่งคำหรือดื่มน้ำหนึ่งจิบ ขอให้นักเรียนคนแรกอธิบายรสชาติของอาหาร (หรือเครื่องดื่ม) ให้นักเรียนคนที่สองฟัง กระตุ้นให้นักเรียนอธิบายจนสามารถสนองความต้องการหรือดับกระหายของนักเรียนคนที่สองได้ จากนั้นให้ถามนักเรียนคนที่สองดังนี้

  • ท่านได้ประโยชน์อะไรจากอาหาร (หรือเครื่องดื่ม) ที่นักเรียนคนแรกอธิบาย

  • คำอธิยายของนักเรียนคนนั้นสนองความหิว (หรือความกระหาย) ของท่านได้ดีเพียงใด

  • ท่านต้องทำอะไรจึงจะมีพละกำลังหรือได้ประโยชน์จากอาหาร (หรือเครื่องดื่ม) ดังกล่าว

ถามนักเรียนว่าตัวอย่างนี้ของการสนองความต้องการทางร่างกายจะเชื่อมโยงกับความรับผิดชอบของเราในการเรียนรู้และเติบโตทางวิญญาณได้อย่างไร

ชี้ให้เห็นว่าบางคนคิดว่าความรับผิดชอบในการเรียนพระกิตติคุณอยู่กับครูเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ดี คล้ายกับตัวอย่างเรื่องอาหารหรือเครื่องดื่มอย่างยิ่งก็คือบุคคลหนึ่งจะรับความจริงทางวิญญาณแทนอีกคนหนึ่งไม่ได้ เราแต่ละคนต้องเรียนรู้และประยุกต์ใช้ความจริงพระกิตติคุณด้วยตัวเราเองจึงจะได้รับความเข้มแข็งและการเติบโตทางวิญญาณ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:118 กระตุ้นชั้นเรียนให้ดูตาม โดยมองหาคำหรือวลีที่พูดถึงความรับผิดชอบของเราในการเรียนพระกิตติคุณ

  • ถ้อยคำหรือวลีใดพูดถึงความรับผิดชอบของเราในการเรียนพระกิตติคุณ (“เจ้าจงแสวงหาอย่างขยันหมั่นเพียร” “สอนกัน” “แสวงหาการเรียนรู้, แม้โดยการศึกษาและโดยศรัทธาด้วย” ท่านอาจต้องการเชิญนักเรียนคนหนึ่งเขียนวลีเหล่านี้ไว้บนกระดานขณะที่นักเรียนคนอื่นตอบ)

  • เราทราบดีว่าการแสวงหาการเรียนรู้ “โดยการศึกษา” หมายความว่าอย่างไร ท่านคิดว่าแสวงหาการเรียนรู้ “โดยศรัทธาด้วย” หมายความว่าอย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความหมายของวลีนี้ดีขึ้น ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ให้เตรียมสำเนาแจกนักเรียนหรือเขียนคำกล่าวนี้ไว้บนกระดานก่อนชั้นเรียนเริ่ม ขอให้นักเรียนมองหาคำหรือวลีที่ช่วยให้พวกเขาเข้าใจพระบัญชาของพระเจ้าให้แสวงหาการเรียนรู้โดยศรัทธา

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“การเรียนรู้ด้วยศรัทธาเรียกร้องการทุ่มเททางร่างกาย จิตใจ และวิญญาณ ไม่ใช่รับอย่างเดียว …

“… ผู้เรียนต้องใช้ศรัทธาและปฏิบัติเพื่อให้ได้ความรู้ด้วยตนเอง” (“แสวงหาการเรียนรู้ด้วยศรัทธา” [ปราศรัยกับนักการศึกษาศาสนาของซีอีเอส 3 ก.พ. 2006], 3, LDS.org)

เขียนข้อความต่อไปนี้บนกระดาน: การเรียนรู้ทางวิญญาณเรียกร้อง …

ขอให้นักเรียนใช้คำอธิบายของเอ็ลเดอร์เบดนาร์และสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับความรับผิดชอบของเราในฐานะผู้เรียนเติมข้อความให้ครบถ้วน ความรับผิดชอบที่เป็นไปได้อาจ ได้แก่ การเรียนรู้ทางวิญญาณเรียกร้องความพยายามในส่วนของเรา การเรียนรู้ทางวิญญาณเรียกร้องให้เราใช้ศรัทธาและปฏิบัติ

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจอิทธิพลของความพยายามส่วนตัวต่อการเรียนรู้ทางวิญญาณของพวกเขา ให้วาด แผนภาพประกอบ ไว้บนกระดาน อธิบายว่าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 50 พระเจ้าทรงช่วยให้เราเข้าใจบทบาทของเราดีขึ้นในการเรียนพระกิตติคุณ เพื่อทำเช่นนี้ พระองค์ทรงอธิบายบทบาทของครูและพระวิญญาณบริสุทธิ์ในการเรียนพระกิตติคุณ

ภาพ
สามเหลี่ยมพระวิญญาณบริสุทธิ์

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:13–14 ก่อนนักเรียนอ่าน อธิบายว่าข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ประทานให้วิสุทธิชนสมัยแรกผู้ได้รับแต่งตั้งให้สอนพระกิตติคุณแก่คนอื่นๆ เชิญนักเรียนครึ่งชั้นมองหาคำที่พูดถึงความรับผิดชอบของครู ขอให้นักเรียนที่เหลือมองหาคำที่พูดถึงความรับผิดชอบของพระวิญญาณ

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ ความรับผิดชอบของครูคืออะไร (สั่งสอนพระกิตติคุณโดยพระวิญญาณ เชิญนักเรียนคนหนึ่งเขียน สั่งสอนโดยพระวิญญาณ ใต้คำว่า ผู้สอน บนแผนภาพ)

  • ความรับผิดชอบของพระวิญญาณหรือพระผู้ปลอบโยนคืออะไร (สอนความจริง ขอให้นักเรียนคนหนึ่งเพิ่มคำว่า สอนความจริง ใต้คำว่า พระวิญญาณบริสุทธิ์ บนแผนภาพ)

เขียนความจริงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นครูตัวจริง อธิบายว่าขณะที่ครู ผู้สอนศาสนา หรือผู้นำในศาสนจักรมีความรับผิดชอบในการสั่งสอนพระกิตติคุณโดยพระวิญญาณ พระวิญญาณบริสุทธิ์คือผู้เปิดเผย ให้ความกระจ่าง และนำความจริงของพระกิตติคุณเข้ามาในใจเรา

  • ท่านเคยรู้สึกเมื่อใดว่าพระวิญญาณกำลังสอนท่าน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:19–21 ขอให้นักเรียนดูตามโดยมองหาคำที่พูดถึงความรับผิดชอบของผู้เรียน

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ ผู้เรียนมีความรับผิดชอบอะไรบ้าง (รับพระคำแห่งความจริงโดยพระวิญญาณ เชิญนักเรียนคนหนึ่งเขียน รับโดยพระวิญญาณ ใต้คำว่า ผู้เรียน บนแผนภาพ)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความหมายของการรับโดยพระวิญญาณดีขึ้น ให้พวกเขาไตร่ตรองสิ่งที่บุคคลนั้นต้องทำเพื่อรับบอลจากคนที่กำลังเตะบอลหรือโยนบอลให้พวกเขา

  • บุคคลนั้นต้องทำอะไรจึงจะรับบอลได้ (ยกมือขึ้นและจับลูกบอล) นี่เหมือนกับการที่ผู้เรียนพยายามรับพระคำแห่งความจริงโดยพระวิญญาณอย่างไร (เพื่อรับลูกบอล บุคคลนั้นต้องตั้งท่าจับลูกบอล ทำนองเดียวกัน เราต้องเตรียมใจและความคิดเราให้พร้อมรับความจริงโดยพระวิญญาณ)

เชื้อเชิญนักเรียนให้ค้นคว้า หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:22 ในใจโดยมองหาสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราพยายามรับพระกิตติคุณและเรียนรู้โดยพระวิญญาณ ก่อนนักเรียนอ่าน ให้อธิบายว่าคำว่า จรรโลงใจ หมายถึงหนุนใจหรือเสริมสร้างทางวิญญาณ

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อนี้ ผู้สอนและผู้เรียนได้รับพรอะไรบ้างจากพระวิญญาณถ้าพวกเขาจะทำความรับผิดชอบของตนให้เกิดสัมฤทธิผลในการสอนและการเรียนพระกิตติคุณ (ความเข้าใจ ความจรรโลงใจ และปีติ)

บอกนักเรียนว่าเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์เป็นพยานถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนทำบทบาทของตนให้เกิดสัมฤทธิผลกับโอกาสของพระวิญญาณในการสอนและเป็นพยาน หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ให้เตรียมสำเนาคำกล่าวต่อไปนี้แจกนักเรียน เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาวลีที่อธิบายอิทธิพลความพยายามของผู้เรียนต่อโอกาสการสอนของพระวิญญาณบริสุทธิ์

ภาพ
เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

“การตัดสินใจมีส่วนร่วม [ของผู้เรียน] เป็นการใช้สิทธิ์เสรีที่ยอมให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสื่อข่าวสารส่วนตัวที่เหมาะกับความต้องการของพวกเขาแต่ละคน การสร้างบรรยากาศของการมีส่วนร่วมเพิ่มโอกาสให้พระวิญญาณสอนบทเรียนซึ่งสำคัญเกินกว่า [ครู] จะสื่อสารได้” (“To Learn and to Teach More Effectively” [BYU Campus Education Week devotional, Aug. 21, 2007], 4–5, speeches.byu.edu)

  • ตามที่เอ็ลเดอร์สก็อตต์กล่าว เราจะอัญเชิญพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ให้สอนเราได้อย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนสรุปว่าความพยายามของพวกเขาในฐานะผู้เรียนมีอิทธิพลต่อโอกาสให้พระวิญญาณบริสุทธิ์สอนอย่างไร นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรพูดถึงหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเราใช้สิทธิ์เสรีมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ เท่ากับเราอัญเชิญพระวิญญาณให้สอนและเป็นพยานถึงความจริง เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดานใต้คำที่เขียนไว้ก่อนหน้านี้

เพื่อยกตัวอย่างของคนที่ใช้สิทธิ์เสรีเรียนรู้โดยการศึกษาและโดยศรัทธา ให้นักเรียนใคร่ครวญเรื่องราวเกี่ยวกับนิมิตแรกของโจเซฟ สมิธ จัดนักเรียนเป็นคู่ และมอบหมายข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ให้คู่ละหนึ่งข้อหรือมากกว่านั้น โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:8, 10, 11, 12, 13, 14, 15, 16, 18 (ท่านอาจต้องการเขียนข้อเหล่านี้ไว้บนกระดาน) เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านข้อที่ได้รับมอบหมายและสนทนาคำถามต่อไปนี้

  • โจเซฟพยายามเรียนรู้ความจริงทางวิญญาณอย่างไร

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้แต่ละคู่ชี้วลีที่บ่งบอกความพยายามของโจเซฟจากข้อที่พวกเขาได้รับมอบหมาย

เป็นพยานว่าความเต็มใจของโจเซฟในการศึกษาพระคำของพระผู้เป็นเจ้าและปฏิบัติสิ่งที่ท่านเรียนรู้ด้วยศรัทธาส่งผลให้ท่านได้ความรู้มากขึ้น นั่นเป็นพรที่มีให้เราทุกคน เชื้อเชิญให้นักเรียนค้นคว้า โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:20 ในใจโดยมองหาสิ่งที่โจเซฟกล่าวแก่มารดาของท่านเมื่อท่านกลับบ้านหลังจากได้รับนิมิตแรก

  • วลีใดในคำกล่าวของโจเซฟต่อมารดาสะท้อนว่าท่านเรียนรู้ความจริงด้วยตนเอง (“ผมเรียนรู้ด้วยตนเอง”)

เชื้อเชิญให้นักเรียนระบุหลักธรรมที่เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของโจเซฟ กระตุ้นให้พวกเขาถ่ายทอดออกมาเป็นข้อความ “หาก-เมื่อนั้น” ต่อไปนี้เป็นวิธีหนึ่งที่นักเรียนจะพูดถึงหลักธรรมนี้ หากเราศึกษาพระคำของพระผู้เป็นเจ้าอย่างขยันหมั่นเพียรและปฏิบัติด้วยศรัทธาแล้ว เมื่อนั้นเราจะรู้ผลของพระกิตติคุณด้วยตัวเราเอง (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนหลักธรรมนี้ด้วยคำพูดของตนเองไว้ข้างๆ โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:20)

พูดถึงกิจกรรมอาหารหรือเครื่องดื่มที่ใช้เมื่อเริ่มชั้นเรียน เตือนนักเรียนว่าการรับอาหารบำรุงเลี้ยงร่างกายเรียกร้องให้เราพยายามทำส่วนของเราและเราจะได้ประโยชน์จากอาหารหรือเครื่องดื่มก็ต่อเมื่อเรากินหรือดื่มด้วยตนเอง เป็นพยานว่าความเข้มแข็งทางวิญญาณก็เช่นกัน พระกิตติคุณจะเข้ามาในใจเราและกลายเป็นส่วนหนึ่งของเราได้ก็ต่อเมื่อเราพยายามเรียนรู้ความจริงของพระกิตติคุณและประยุกต์ใช้ในชีวิตเรา

  • ท่านจะดำเนินการอะไรบ้างปีนี้เพื่ออัญเชิญพระวิญญาณให้สอนท่านและนำความจริงของพระกิตติคุณเข้ามาในใจท่าน (คำตอบอาจได้แก่ เข้าร่วมการประชุมและชั้นเรียนของศาสนจักร รวมไปถึงเซมินารี; มีส่วนร่วมในการประชุมและชั้นเรียนโดยร้องเพลงสวด ทำเครื่องหมายข้อพระคัมภีร์ บันทึกข้อคิด ตอบคำถาม แบ่งปันประสบการณ์ ประจักษ์พยาน และสอนคนอื่นๆ; มีส่วนร่วมในการสังสรรค์ในครอบครัวและการศึกษาพระคัมภีร์เป็นครอบครัว; ศึกษาพระคัมภีร์และสวดอ้อนวอนเป็นส่วนตัวทุกวัน; และประยุกต์ใช้หลักธรรมพระกิตติคุณในชีวิตพวกเขา เชื้อเชิญให้นักเรียนจดเป้าหมายหนึ่งหรือสองข้อ)

สรุปโดยขอให้นักเรียนใคร่ครวญประจักษ์พยานของตนเกี่ยวกับพระกิตติคุณและสิ่งที่พวกเขารู้ด้วยตนเองว่าเป็นความจริง เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันว่าการที่พวกเขาพยายามเรียนพระกิตติคุณมีอิทธิพลต่อประจักษ์พยานและความสัมพันธ์ของพวกเขากับพระเจ้าอย่างไร เพิ่มประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับความเข้มแข็งและการนำทางที่เราได้จากพระเจ้าตอบแทนความพยายามของเราในการเรียนรู้และดำเนินชีวิตตามหลักธรรมของพระกิตติคุณ

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

นักเรียนสามารถอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้ยืนยันสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์เป็นพยานถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนทำบทบาทของตนให้เกิดสัมฤทธิผลกับโอกาสของพระวิญญาณในการสอนและเป็นพยาน

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“ผู้เรียนที่กำลังใช้สิทธิ์เสรีโดยปฏิบัติตามหลักธรรมที่ถูกต้องจะเปิดใจรับพระวิญญาณบริสุทธิ์—และเชื้อเชิญอำนาจการสอน การเป็นพยาน และพยานยืนยันของพระองค์ … ในความจริงใจและความเสมอต้นเสมอปลายของการกระทำอันเกิดจากศรัทธาของเรานั่นเองที่เราบอกพระบิดาบนสวรรค์ของเราและพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ให้ทรงทราบว่าเราเต็มใจเรียนรู้และรับคำแนะนำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์” (“Seek Learning by Faith” [ปราศรัยกับนักการศึกษาศาสนาของซีอีเอส, 3 ก.พ. 2006], 3, LDS.org)

ความสำคัญของการศึกษาพระคัมภีร์ทุกวัน

แน่วแน่ต่อศรัทธา กล่าวเกี่ยวกับความสำคัญของการศึกษาพระคัมภีร์ทุกวันดังนี้

“ศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายแนะนำให้เราศึกษาพระคัมภีร์ทุกวัน ทั้งเป็นส่วนตัวและกับครอบครัว พวกท่านกระตุ้นเรา ดังที่นีไฟกระตุ้นพี่น้องของท่านให้เปรียบพระคัมภีร์กับตัวเรา โดยหาวิธีประยุกต์ใช้เรื่องราวศักดิ์สิทธิ์ในสมัยก่อนกับชีวิตปัจจุบันของเรา (ดู 1 นีไฟ 19:23–24) พวกท่านชักชวนให้เรา ‘ค้นดูในพระคัมภีร์’ (ยอห์น 5:39) และ ‘ดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์’ (2 นีไฟ 32:3)

“ท่านจะได้ประโยชน์มากมายจากการทำตามคำแนะนำนี้ การศึกษาพระคัมภีร์อย่างมีความหมายทุกวันจะช่วยให้ท่านไวต่อสุรเสียงกระซิบของพระวิญญาณบริสุทธิ์ สร้างศรัทธาของท่าน เสริมกำลังท่านต้านทานการล่อลวง และช่วยให้ท่านเข้าใกล้พระบิดาบนสวรรค์และพระบุตรที่รักของพระองค์

“จงปรับปรุงแผนการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว แบ่งเวลาในช่วงใดช่วงหนึ่งของแต่ละวันไว้ศึกษาพระคัมภีร์ ระหว่างนั้นให้ตั้งใจอ่านโดยเอาใจใส่การกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณ ทูลขอพระบิดาบนสวรรค์ช่วยให้ท่านรู้ว่าพระองค์ประสงค์ให้ท่านเรียนรู้และทำอะไร

“อ่านพระคัมภีร์ต่อเนื่องไปตลอดชีวิตท่าน โดยเฉพาะพระคัมภีร์มอรมอน ท่านจะค้นพบขุมทรัพย์ของพระคัมภีร์ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยจะพบความหมายและการประยุกต์ใช้ใหม่ๆ ขณะศึกษาพระคัมภีร์ในชีวิตแต่ละช่วง” (แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ 2004, “พระคัมภีร์,” 177–178)

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวดังนี้

ภาพ
ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์

“ถ้าเราไม่ตั้งใจศึกษาพระคัมภีร์ เราจะไม่ตั้งใจสวดอ้อนวอนเช่นกัน

“เราอาจไม่เลิกสวดอ้อนวอน แต่คำสวดอ้อนวอนของเราจะซ้ำไปซ้ำมามากขึ้น เป็นเหมือนเครื่องจักรมากขึ้น ขาดเจตนาที่แท้จริง ใจเราจะไม่สามารถถูกดึงไปหาพระผู้เป็นเจ้าที่เราไม่รู้จัก พระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตช่วยให้เรารู้จักพระองค์” (“การสวดอ้อนวอน,” เลียโฮนา, ม.ค. 2002, 21)