เซมินารี
บทที่ 151: สงครามยูทาห์และการสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์


บทที่ 151

สงครามยูทาห์และการสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์

คำนำ

ในช่วงทศวรรษ 1850 ความตึงเครียดและการสื่อสารผิดระหว่างวิสุทธิชนยุคสุดท้ายกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐชักนำให้เกิดสงครามยูทาห์ใน ค.ศ. 1857–1858 ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1857 เกิดความขัดแย้งระหว่างวิสุทธิชนยุคสุดท้ายบางคนกับสมาชิกในขบวนเกวียนผู้ย้ายถิ่นที่กำลังผ่านยูทาห์เช่นกัน ความโกรธและความกลัวผลักดันให้วิสุทธิชนยุคสุดท้ายบางคนทางภาคใต้ของยูทาห์วางแผนดำเนินการสังหารผู้ย้ายถิ่นราว 120 คนที่กำลังเดินทางไปแคลิฟอร์เนีย การกระทำอันโหดร้ายครั้งนี้รู้กันในปัจจุบันว่าการสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

เกิดความตึงเครียดระหว่างวิสุทธิชนยุคสุดท้ายกับรัฐบาลสหรัฐ

อธิบายว่าวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1857 ประธานบริคัม ยังก์อยู่กับวิสุทธิชนกลุ่มหนึ่งซึ่งกำลังฉลองการมาถึงหุบเขาซอลท์เลคครบ 10 ปีเมื่อท่านได้รับการยืนยันข่าวก่อนหน้านี้ว่ากองทัพกำลังเดินทางมาที่ซอลท์เลคซิตี้ ในปีก่อนๆ ความไม่ลงรอยกันและการสื่อสารผิดส่งผลให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้นระหว่างวิสุทธิชนยุคสุดท้ายกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐ วิสุทธิชนต้องการเลือกผู้นำมาปกครองพวกตน และไม่ยอมรับคนที่รัฐบาลกลางแต่งตั้งซึ่งมีค่านิยมต่างจากพวกเขา จึงทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางบางคนคิดว่าพวกเขากบฏต่อรัฐบาลสหรัฐ ประธานาธิบดีเจมส์ บูคานันส่งทหารประมาณ 1,500 นายมาซอลท์เลคซิตี้โดยไม่ได้รับอนุมัติจากรัฐสภาเพื่อบีบบังคับชาวยูทาห์ให้ยอมรับเจ้าหน้าที่ชุดใหม่

  • ถ้าท่านเป็นวิสุทธิชนยุคสุดท้ายในปี ค.ศ. 1857 และได้ยินว่ากองทัพใหญ่กำลังประชิดเมือง ท่านอาจจะมีความกังวลเรื่องใด (นักเรียนอาจกล่าวว่าวิสุทธิชนถูกไล่ออกจากโอไฮโอ มิสซูรี และอิลลินอยส์อย่างเหี้ยมโหด หลายคนสูญเสียทรัพย์สินมีค่าและที่ดิน บางคนถูกฆ่าหรือไม่ก็เสียชีวิตระหว่างการข่มเหงเหล่านี้ ข่าวแจ้งว่ากองทัพกำลังประชิดทำให้เกิดความกังวลว่าเหตุการณ์เช่นนั้นอาจจะเกิดในยูทาห์เช่นกัน)

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าต่อไปนี้

ในโอวาทถึงวิสุทธิชน ประธานยังก์และผู้นำศาสนจักรท่านอื่นเรียกกองทหารที่กำลังมาว่าเป็นศัตรู ประธานยังก์ผู้ขอให้วิสุทธิชนสะสมธัญพืชมาหลายปีได้แนะนำเรื่องนี้อีกครั้งเพื่อพวกเขาจะมีอาหารยังชีพหากต้องหลบหนีกองทหาร ในฐานะผู้ว่าการเขตยูทาห์ ท่านจึงสั่งการให้ทหารบ้านของเขตนั้นเตรียมป้องกัน

ความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างวิสุทธิชนยุคสุดท้ายบางคนกับสมาชิกในขบวนเกวียนผู้ย้ายถิ่น

ให้ดูแผนที่ คล้ายกับแผนที่ด้านล่าง หรือวาดแผนที่บนกระดาน เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงสองย่อหน้าต่อไปนี้

ภาพ
แผนที่ สหรัฐตะวันตก

ขบวนเกวียนผู้ย้ายถิ่นที่เดินทางจากอาร์คันซอไปแคลิฟอร์เนียเข้ามายูทาห์ขณะวิสุทธิชนยุคสุดท้ายกำลังเตรียมป้องกันอาณาเขตให้พ้นจากกองทหารสหรัฐที่กำลังมา สมาชิกบางคนในขบวนเกวียนเกิดความคับข้องใจเพราะพวกเขาไม่สามารถซื้อธัญพืชที่ต้องการอย่างมากจากวิสุทธิชนผู้ได้รับคำแนะนำให้เก็บธัญพืชไว้ ผู้ย้ายถิ่นเกิดความขัดแย้งกับวิสุทธิชนผู้ไม่ต้องการให้ม้าและปศุสัตว์จำนวนมากของขบวนเกวียนใช้แหล่งอาหารและน้ำที่วิสุทธิชนต้องใช้สำหรับสัตว์ของตน

ความตึงเครียดปะทุในซีดาร์ซิตี้ ถิ่นฐานสุดท้ายในยูทาห์ระหว่างเส้นทางไปแคลิฟอร์เนีย การปะทะกันเกิดขึ้นระหว่างสมาชิกบางคนของขบวนเกวียนกับวิสุทธิชนยุคสุดท้ายบางคน สมาชิกบางคนของขบวนเกวียนขู่จะสมทบกับกองทหารสหรัฐที่กำลังมาจัดการกับวิสุทธิชน ถึงแม้หัวหน้าขบวนเกวียนจะตำหนิคนของตนที่ทำการข่มขู่เช่นนั้น แต่ผู้นำและผู้ตั้งถิ่นฐานบางคนของซีดาร์ซิตี้กลับมองผู้ย้ายถิ่นเป็นศัตรู ขบวนเกวียนออกนอกเมืองหลังจากมาถึงเพียงหนึ่งชั่วโมง แต่ผู้ตั้งถิ่นฐานบางคนและผู้นำในซีดาร์ซิตี้ต้องการตามไปลงโทษคนที่ยั่วโทสะพวกเขา

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาประสบความขัดแย้งกับอีกคนหนึ่งหรือคนกลุ่มหนึ่ง เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 12:25 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาหลักธรรมที่พระเยซูคริสต์ทรงสอนซึ่งสามารถนำทางเราได้เมื่อเราประสบความตึงเครียดกับผู้อื่น

  • ท่านคิดว่าการ “ปรองดองกับปฏิปักษ์ของเจ้าโดยเร็ว” หมายความว่าอย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจวลีนี้ ท่านอาจต้องการขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความต่อไปนี้

เอ็ลเดอร์เดวิด อี. โซเรนเซ็นแห่งสาวกเจ็ดสิบสอนว่าวลี “จงปรองดองกับปฏิปักษ์ของเจ้าโดยเร็ว” หมายถึง “ให้เราแก้ไขปัญหาแต่เนิ่นๆ เกลือกอารมณ์ชั่ววูบจะทวีขึ้นจนกลายเป็นความโหดร้ายทางร่างกายหรือทางอารมณ์ และเราจะตกเป็นทาสความโกรธ” (“การให้อภัยจะเปลี่ยนความขมขื่นเป็นความรัก,” เลียโฮนา, พ.ค. 2003, 13)

  • ท่านจะสรุปคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดใน 3 นีไฟ 12:25 ด้วยคำพูดของท่านเองว่าอย่างไร (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียนหลักธรรมคล้ายกันนี้บนกระดาน ถ้าเราแก้ไขความขัดแย้งกับผู้อื่นในวิธีของพระเจ้า เราสามารถหลีกเลี่ยงผลเสียของความขัดแย้งได้)

  • การเชื่อฟังหลักธรรมใน 3 นีไฟ 12:25 ได้ช่วยวิสุทธิชนยุคสุดท้ายผู้ไม่พอใจสมาชิกของขบวนเกวียนอย่างไร

อธิบายว่าเพราะวิสุทธิชนเหล่านี้ไม่แก้ไขความขัดแย้งกับผู้ย้ายถิ่นในวิธีของพระเจ้า สถานการณ์จึงร้ายแรงยิ่งกว่าเดิม ไอแซค เฮจท์ผู้เป็นทั้งนายกเทศมนตรีซีดาร์ซิตี้ หัวหน้าทหารบ้าน และประธานสเตคขออนุญาตจากผู้บัญชาการทหารบ้านซึ่งอยู่ในปาโรวันถิ่นฐานใกล้เคียง เรียกทหารบ้านออกมาเผชิญหน้ากับผู้รุกรานจากขบวนเกวียน วิลเลียม เดมผู้บัญชาการทหารบ้านซึ่งเป็นสมาชิกศาสนจักรแนะนำไอแซค เฮจท์ว่าอย่าสนใจคำขู่ของผู้ย้ายถิ่น แทนที่จะทำตามคำแนะนำ ไอแซค เฮจท์และผู้นำคนอื่นๆ ของซีดาร์ซิตี้กลับตัดสินใจชักชวนชาวอินเดียนแดงในท้องที่ให้โจมตีขบวนเกวียนและขโมยปศุสัตว์ของพวกเขาเพื่อเป็นการลงโทษผู้ย้ายถิ่น ไอแซค เฮจท์ขอให้จอห์น ดี. ลีสมาชิกศาสนจักรและหัวหน้าทหารบ้านนำการโจมตีครั้งนี้ และทั้งสองวางแผนจะโยนความผิดให้ชาวอินเดียนแดง

  • ผู้นำซีดาร์ซิตี้ควรทำอะไรเมื่อวิลเลียม เดมแนะนำไม่ให้พวกเขาใช้ทหารบ้าน การไม่ยอมรับคำแนะนำครั้งนั้นชักนำพวกเขาให้ทำอะไร (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน ถ้าเราไม่สนใจคำแนะนำให้ทำสิ่งถูกต้อง เราจะเลือกทำไม่ดีได้ง่ายขึ้น)

ชี้ให้เห็นว่าชายเหล่านี้ทำตรงข้ามกับความรับผิดชอบฐานะปุโรหิตของพวกเขา เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:36–37 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำเตือนของพระเจ้าถึงผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่ปฏิบัติอย่างไม่ชอบธรรม

  • พระเจ้าประทานคำเตือนอะไรแก่ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่พยายามปกปิดบาปของตนหรือปฏิบัติอย่างไม่ชอบธรรม

อ่านหรือสรุปย่อหน้าต่อไปนี้ และเชื้อเชิญให้นักเรียนฟังว่าผู้นำซีดาร์ซิตี้ยังขืนเลือกทำไม่ดีอะไรหลังจากไม่ใส่ใจคำแนะนำที่พวกเขาได้รับ

ไอแซค เฮจท์เสนอแผนโจมตีขบวนเกวียนต่อสภาผู้นำท้องที่ในศาสนจักร ชุมชน และทหารบ้าน สมาชิกสภาบางคนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับแผนนั้นและถามเฮจท์ว่าเขาหารือกับประธานบริคัม ยังก์เกี่ยวกับเรื่องนี้หรือยัง เฮจท์บอกว่ายัง และตกลงจะส่งเจมส์ แฮสแลมนำจดหมายอธิบายสถานการณ์ไปซอลท์เลคซิตี้และถามว่าควรทำอย่างไร อย่างไรก็ตาม เพราะซอลท์เลคซิตี้ห่างจากซีดาร์ซิตี้ประมาณ 250 ไมล์ จึงต้องใช้เวลาขี่ม้าราวหนึ่งสัปดาห์กว่าจะถึงซอลท์เลคซิตี้และกลับมาซีดาร์ซิตี้พร้อมคำแนะนำของประธานยังก์

ไม่นานก่อนไอแซค เฮจท์จะส่งจดหมายของตนไปกับผู้ส่งสาร จอห์น ดี. ลีและชาวอินเดียนแดงกลุ่มหนึ่งได้โจมตีค่ายผู้ย้ายถิ่นตรงที่เรียกว่าเมาน์เทนเมโดวส์ ลีนำการโจมตีและปกปิดตัวตนเพื่อให้ดูเหมือนว่าคนที่เกี่ยวข้องมีเพียงชาวอินเดียนแดงเท่านั้น ผู้ย้ายถิ่นบางคนเสียชีวิตหรือไม่ก็บาดเจ็บ และคนที่เหลือต่อสู้กับผู้โจมตีจนลีและชาวอินเดียนแดงต้องล่าถอย ผู้ย้ายถิ่นขับเกวียนมาล้อมเป็นวงอย่างรวดเร็วเพื่อทำเป็นแนวป้องกัน เกิดการโจมตีอีกสองครั้งในช่วงโอบล้อมขบวนเกวียนห้าวัน

ครั้งหนึ่ง ทหารบ้านของซีดาร์ซิตี้รู้ว่ามีผู้ย้ายถิ่นสองคนอยู่นอกวงล้อมของเกวียน พวกเขาจึงยิงสองคนนั้น และคนหนึ่งเสียชีวิต อีกคนหนีรอดและแจ้งข่าวกับค่ายขบวนเกวียนว่าคนผิวขาวเกี่ยวข้องกับการโจมตีพวกเขา คนที่วางแผนการโจมตีตอนนี้ถูกจับได้แล้วว่าหลอกลวง ถ้ายอมให้ผู้ย้ายถิ่นเดินทางต่อไปถึงแคลิฟอร์เนีย ข่าวจะแพร่สะพัดไปทั่วว่าวิสุทธิชนยุคสุดท้ายต้องรับผิดชอบเรื่องการโจมตีขบวนเกวียน ผู้สมคบคิดเกรงว่าข่าวนี้จะส่งผลเสียต่อตนเองและคนของตน

  • อะไรเป็นผลจากการตัดสินใจไม่เชื่อฟังคำแนะนำของผู้บัญชาการทหารบ้าน

  • ณ จุดนี้ คนที่รับผิดชอบการโจมตีเลือกทำอะไรได้บ้าง (พวกเขาอาจจะเลือกสารภาพว่าได้ทำอะไรลงไปและรับผลของการกระทำนั้น หรือพวกเขาอาจจะพยายามปกปิดความผิดและบาปของตน) ดู คพ. 121:37)

  • พวกเขาควรทำอะไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้

  • ท่านทำอะไรเมื่อท่านทำผิดบางอย่าง ท่านสารภาพสิ่งที่ท่านทำและรับผลของการกระทำนั้น หรือท่านพยายามปกปิดบาปผ่านการหลอกลวง

วิสุทธิชนยุคสุดท้ายบางคนวางแผนดำเนินการสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์

อธิบายว่าสมาชิกศาสนจักรที่เกี่ยวข้องกับการโจมตีผู้ย้ายถิ่นได้เลือกปกปิดบาปของตน เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนฟังสิ่งที่เกิดขึ้นเนื่องจากการตัดสินใจครั้งนี้ขณะที่ท่านอ่านหรือสรุปย่อหน้าต่อไปนี้

เพื่อพยายามป้องกันไม่ให้ข่าวรั่วไหลว่าวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเกี่ยวข้องกับการโจมตีขบวนเกวียน ไอแซค เฮจท์, จอห์น ดี. ลี และผู้นำในท้องที่ของศาสนจักรกับหัวหน้าทหารบ้านคนอื่นๆ จึงวางแผนฆ่าผู้ย้ายถิ่นที่เหลือทั้งหมดยกเว้นเด็กเล็ก เพื่อดำเนินการตามแผน จอห์น ดี. ลีเข้าไปหาผู้ย้ายถิ่นและบอกว่าทหารบ้านจะคุ้มครองไม่ให้พวกเขาถูกโจมตีอีกโดยจะนำพวกเขากลับไปซีดาร์ซิตี้อย่างปลอดภัย ขณะผู้ย้ายถิ่นกำลังเดินไปซีดาร์ซิตี้ ทหารบ้านก็หันมายิงคนเหล่านั้น ชาวอินเดียนแดงบางคนรีบออกจากที่ซ่อนมาร่วมโจมตี ในจำนวนผู้ย้ายถิ่นประมาณ 140 คนที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนเกวียนมีเด็กเล็กเพียง 17 คนรอดชีวิต

สองวันหลังจากการสังหารหมู่ เจมส์ แฮสแลมมาถึงซีดาร์ซิตี้พร้อมสารตอบของประธานยังก์โดยสั่งผู้นำในท้องที่ให้ปล่อยขบวนเกวียนผ่านไปอย่างสงบ “เมื่อเฮจท์อ่านคำตอบของประธานยังก์ เขาสะอื้นไห้ราวกับเด็ก และพูดได้แต่เพียงว่า ‘สายเกินไปแล้ว สายเกินไปแล้ว’” (ริชาร์ด อี. เทอร์ลีย์ จูเนียร์, “The Mountain Meadows Massacre,” Ensign, Sept. 2007, 20)

อธิบายว่าการเลือกของผู้นำวิสุทธิชนยุคสุดท้ายบางคนและผู้ตั้งถิ่นฐานทางภาคใต้ของอาณาเขตยูทาห์ชักนำให้เกิดการสังหารหมู่อันน่าสลดใจที่เมาน์เทนเมโดวส์ ในทางตรงกันข้าม ผู้นำศาสนจักรและผู้นำเขตในซอลท์เลคซิตี้แก้ไขความขัดแย้งกับรัฐบาลสหรัฐผ่านการเจรจาสงบศึกในปี 1858 ระหว่างความขัดแย้งครั้งนี้—ต่อมาเรียกว่าสงครามยูทาห์—กองทัพสหรัฐกับทหารบ้านยูทาห์เกี่ยวข้องกับการรุกรานแต่ไม่เคยร่วมรบ

  • ท่านจะสรุปการเลือกที่ชักนำให้เกิดการสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์ว่าอย่างไร

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรบ้างจากเรื่องสลดใจดังกล่าว (นักเรียนอาจระบุหลักธรรมหลากหลาย แต่คำตอบของพวกเขาอาจรวมถึง: การเลือกปกปิดบาปของเราจะชักนำให้เราทำบาปมากขึ้น การเลือกปกปิดบาปของเราจะทำให้เกิดความเสียใจและความทุกข์

อธิบายว่าการสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์ไม่เพียงส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 120 คนเท่านั้น แต่ทำให้เด็กที่รอดชีวิตและญาติคนอื่นๆ ของผู้เสียชีวิตทนทุกข์แสนสาหัสเช่นกัน ชาวอินเดียนแดงเผ่ายุตทนทุกข์จากการถูกปรักปรำอย่างไร้ความยุติธรรมเช่นกัน นอกจากนี้ คน “ที่ดำเนินการสังหารหมู่ใช้ชีวิตที่เหลือภายใต้ความรู้สึกผิดที่ตามหลอกหลอนและฝันร้ายบ่อยๆ ถึงสิ่งที่พวกเขารู้เห็นและทำลงไป” (ริชาร์ด อี. เทอร์ลีย์ จูเนียร์, “The Mountain Meadows Massacre,” 20)

รับรองกับนักเรียนว่าถ้าพวกเขาเริ่มไปตามเส้นทางของความผิดและบาป พวกเขาสามารถป้องกันความปวดร้าวและความเสียใจในอนาคตได้โดยหันมาหาพระเจ้าและกลับใจจากบาปของพวกเขา

อธิบายว่าเพราะวิสุทธิชนยุคสุดท้ายจำนวนหนึ่งในท้องที่รับผิดชอบเรื่องวางแผนและดำเนินการสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์ เหตุการณ์นี้จึงทำให้ประชาชนมีทัศนะลบๆ ต่อศาสนจักรโดยรวม

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องรู้ว่าการกระทำผิดของสมาชิกศาสนจักรบางคนไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความจริงของพระกิตติคุณ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด

ภาพ
ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์

“พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ที่เรารับไว้ ชิงชังการเข่นฆ่าชายหญิงและเด็กอย่างเลือดเย็น โดยแท้แล้ว พระกิตติคุณสนับสนุนความสงบสุขและการให้อภัย สิ่งที่สมาชิกของศาสนจักรเราทำไว้นานแล้ว [ที่เมาน์เทนเมโดวส์] แสดงให้เห็นว่าพวกเขาละทิ้งคำสอนและความประพฤติแบบชาวคริสต์อย่างร้ายแรงจนไม่อาจยกโทษให้ได้” (“150th Anniversary of Mountain Meadows Massacre,” Sept. 11, 2007, mormonnewsroom.org/article/150th-anniversary-of-mountain-meadows-massacre)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฮีลามัน 5:12 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่เราทำได้เพื่อพัฒนาและรักษาประจักษ์พยานของเราไว้เผื่อช่วงเวลายากๆ เช่นเมื่อเราเรียนรู้จากกรณีที่สมาชิกศาสนจักรไม่ดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระเยซูคริสต์ ศรัทธาของเราจะไม่สั่นคลอน

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ฮีลามัน 5:12เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อพัฒนาและรักษาประจักษ์พยานของเราไว้ (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: เราพัฒนาประจักษ์พยานให้เข้มแข็งได้โดยสร้างศรัทธาของเราบนรากฐานของพระเยซูคริสต์)

เพื่ออธิบายหลักธรรมนี้ ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าต่อไปนี้

“เจมส์ แซนเดอร์สเป็นเหลนชาย … ของเด็กคนหนึ่งที่รอดชีวิตจากการสังหารหมู่ [และเป็นสมาชิกของศาสนจักรด้วย] … บราเดอร์แซนเดอร์ส … กล่าวว่าการทราบว่าบรรพชนของเขาเสียชีวิตในการสังหารหมู่ ‘ไม่ได้มีผลต่อศรัทธาของผมเพราะศรัทธาของผมมีรากฐานบนพระเยซูคริสต์ ไม่ใช่บนคนใดในศาสนจักร’” (ริชาร์ด อี. เทอร์ลีย์ จูเนียร์, “The Mountain Meadows Massacre,” 21)

  • ศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์จะทำให้เราเข้มแข็งขึ้นได้อย่างไรเมื่อเราเรียนรู้จากกรณีที่สมาชิกศาสนจักรไม่ดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด

  • ท่านทำอะไรที่ช่วยให้ท่านสร้างศรัทธาบนรากฐานของพระเยซูคริสต์

เป็นพยานถึงความสำคัญของการดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดและวางฐานศรัทธาของเราบนพระองค์และพระกิตติคุณของพระองค์ เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะสร้างศรัทธาบนรากฐานของพระเยซูคริสต์ให้ดีขึ้นและตั้งเป้าหมายจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ความรับผิดชอบต่อการสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ แห่งฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อการสังหารหมู่ที่เมาส์เทนเมโดวส์ดังนี้

ภาพ
ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์

“ความรับผิดชอบต่อ [การสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์] ตกอยู่กับผู้นำในท้องที่ของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายในเขตใกล้เมาน์เทนเมโดวส์ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับตำแหน่งทางทหารและตกอยู่กับสมาชิกศาสนจักรที่ทำตามคำสั่งของพวกเขา …

“… ความยุติธรรมจากเบื้องบนจะกำหนดโทษที่เหมาะสมให้ผู้รับผิดชอบต่อการสังหารหมู่ครั้งนี้แน่นอน” (“150th Anniversary of Mountain Meadows Massacre,” Sept. 11, 2007, mormonnewsroom.org/article/150th-anniversary-of-mountain-meadows-massacre)

ริชาร์ด อี. เทอร์ลีย์ จูเนียร์ผู้ช่วยผู้บันทึกและนักประวัติศาสตร์ศาสนจักรอธิบายว่าสุดท้ายแล้วผู้นำทั่วไปของศาสนจักรเรียนรู้จากการสังหารหมู่อย่างไร เขาสรุปผลที่เกิดกับคนร้ายบางคนดังนี้

ภาพ
ริชาร์ด อี. เทอร์ลีย์ จูเนียร์

“ถึงแม้บริคัม ยังก์และผู้นำศาสนจักรท่านอื่นในซอลท์เลคซิตี้ทราบเรื่องการสังหารหมู่หลังจากเกิดขึ้นไม่นาน แต่พวกท่านเข้าใจขอบเขตความเกี่ยวข้องของผู้ตั้งถิ่นฐานและรายละเอียดที่น่ากลัวของการทำผิดครั้งนี้เมื่อเวลาล่วงเลยไปพอสมควรแล้ว คริสต์ศักราช 1859 พวกท่านปลดไอแซค เฮจท์ประธานสเตคและผู้นำที่โดดเด่นคนอื่นๆ ของศาสนจักรในซีดาร์ซิตี้ผู้มีบทบาทในการสังหารหมู่จากการเรียกของพวกเขา คริสต์ศักราช 1870 พวกท่านปัพพาชนียกรรมไอแซค เฮทจ์และจอห์น ดี. ลีจากศาสนจักร

“คริสต์ศักราช 1874 คณะลูกขุนประจำเขตปกครองตั้งข้อหาชายเก้าคนว่ามีบทบาทในการสังหารหมู่ ในที่สุดพวกเขาส่วนใหญ่ถูกจับกุม แต่เฉพาะลีคนเดียวถูกไต่สวน ถูกพิพากษาว่ามีความผิด และถูกลงโทษประหารชีวิต ชายอีกคนหนึ่งที่ถูกตั้งข้อหากลับคำให้การ [อาสาเป็นพยานและให้การขัดแย้งกับผู้กระทำผิดคนอื่นๆ] และอีกหลายคนเลี่ยงกฎหมายอยู่หลายปี ทหารอาสาคนอื่นๆ ที่ร่วมในเหตุการณ์สังหารหมู่ทำงานหนักตลอดชีวิตที่เหลือภายใต้ความรู้สึกผิดที่ตามหลอกหลอนและฝันร้ายซ้ำๆ เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขารู้เห็นและทำลงไป” (ริชาร์ด อี. เทอร์ลีย์ จูเนียร์, “The Mountain Meadows Massacre,” Ensign, Sept. 2007, 20)

ลำดับเวลาของเหตุการณ์แวดล้อมการสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์

วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1857: ขบวนเกวียนประมาณ 140 คน ส่วนใหญ่มาจากอาร์คันซอ เดินทางผ่านซีดาร์ซิตี้ ยูทาห์ สมาชิกบางคนของขบวนเกวียนเข้าไปมีส่วนในความขัดแย้งกับวิสุทธิชนยุคสุดท้ายบางคนในท้องที่ หลังจากสมาชิกบางคนของขบวนเกวียนไม่ยอมให้จับกุม ผู้นำศาสนาจักรและผู้นำท้องถิ่นในซีดาร์ซิตี้ขออนุญาตจากวิลเลียม เดมผู้บัญชาเขตทหารในปาโรวันเมืองใกล้เคียงเรียกทหารบ้านออกมาเผชิญหน้ากับผู้ย้ายถิ่น

วันศุกร์ที่ 4 กันยายน ค.ศ. 1857: วิลเลียม เดมส่งสารตอบโดยสั่งผู้นำในซีดาร์ซิตี้ไม่ให้ดำเนินการใดๆ กับผู้ย้ายถิ่น ไอแซค ซี. เฮจท์และผู้นำคนอื่นๆ ในซีดาร์ซิตี้คิดแผนชักชวนชาวอินเดียนแดงในท้องที่ให้โจมตีขบวนเกวียนผู้ย้ายถิ่น เฮจท์เรียกตัวจอห์น ดี. ลีจากฟอร์ตฮาร์โมนีย์ที่อยู่ใกล้ๆ มาเป็นหัวหน้าการโจมตี

วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1857: ไอแซค ซี. เฮจท์เป็นประธานควบคุมการประชุมสภาในซีดาร์ซิตี้และแจ้งผู้นำในท้องที่เรื่องแผนโจมตีผู้ย้ายถิ่น ผู้นำบางคนค้านแผนนี้และเกลี้ยกล่อมให้เฮจท์ส่งเจมส์ แฮสแลมผู้ส่งสารไปขอคำแนะนำเรื่องนี้จากประธานบริคัม ยังก์

วันจันทร์ที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1857: จอห์น ดี. ลีกับชาวอินเดียนแดงโจมตีขบวนเกวียนผู้ย้ายถิ่นที่เมาน์เทนเมโดวส์ เจมส์ แฮสแลมนำจดหมายขอคำแนะนำจากประธานบริคัม ยังก์ออกจากซีดาร์ซิตี้ไปซอลท์เลคซิตี้ ทหารบ้านซีดาร์ซิตี้สองนายโจมตีผู้ย้ายถิ่นสองคนที่อยู่นอกกองเกวียน ผู้ย้ายถิ่นคนหนึ่งรอดชีวิตและกลับเข้ากองพร้อมแจ้งข่าวว่าผู้ตั้งถิ่นฐานในท้องที่กำลังโจมตีผู้ย้ายถิ่น

วันอังคารที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1857: วิสุทธิชนยุคสุดท้ายบางคนและชาวอินเดียนแดงมีส่วนในการโจมตีขบวนเกวียนอีกสองครั้ง ผู้ย้ายถิ่นปกป้องที่มั่นของตนสำเร็จ แต่ชาวซีดาร์ซิตี้ฆ่าชายอีกสองคนที่พยายามหนีไปขอความช่วยเหลือ

วันพุธที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1857: ไอแซค ซี. เฮจท์เดินทางจากซีดาร์ซิตี้ไปปาโรวันเพื่อเข้าพบวิลเลียม เดม สภาปาโรวันตัดสินใจว่าควรยอมให้คณะผู้ย้ายถิ่นไปตามทางของพวกเขาอย่างสงบ แต่เฮจท์พยายามวิ่งเต้นและได้รับอนุญาตจากเดมให้เรียกทหารบ้านออกมาโจมตีผู้ย้ายถิ่นที่ถูกโอบล้อม

วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1857: ไอแซค ซี. เฮจท์กลับไปซีดาร์ซิตี้และหารือกับผู้นำในท้องที่ พวกเขาออกคำสั่งให้ฆ่าผู้ย้ายถิ่นทุกคนยกเว้นเด็กเล็ก เจมส์ แฮสแลมมาถึงซอลท์เลคซิตี้ มอบข่าวของเฮจท์ และเริ่มเดินทางกลับซีดาร์ซิตี้พร้อมคำตอบของประธานยังก์

วันศุกร์ที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1857: ทหารบ้านหลอกล่อผู้ย้ายถิ่นที่เหลือให้ออกจากค่ายของพวกเขา ทหารบ้านกับชาวอินเดียนแดงโจมตีและฆ่าผู้ย้ายถิ่นยกเว้นเด็กเล็ก 17 คน

วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1857: เจมส์ แฮสแลมกลับจากซอลท์เลคซิตี้พร้อมคำแนะนำเป็นลายลักษณ์อักษรของบริคัม ยังก์ให้ปล่อยผู้ย้ายถิ่นไปอย่างสงบ

ค.ศ. 1859: เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางรับเด็กที่รอดชีวิตมาดูแลและส่งพวกเขากลับไปอยู่กับญาติๆ ในอาร์คันซอ

ค.ศ. 1870: ประธานบริคัม ยังก์ทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสังหารหมู่และปัพพาชนียกรรมไอแซค ซี. เฮจท์กับจอห์น ดี. ลี

ค.ศ. 1874: คณะลูกขุนใหญ่ประจำเขตตั้งข้อหาชายเก้าคนว่ามีบทบาทในการสังหารหมู่

ค.ศ. 1875: จอห์น ดี. ลีเป็นผู้ก่อการคนเดียวที่ถูกสอบสวน แต่คดีส่งผลให้คณะลูกขุนเห็นขัดแย้งกัน

ค.ศ. 1876: จอห์น ดี. ลีถูกสอบสวนอีกครั้งและถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆาตกรรมเพราะเขามีบทบาทในการสังหารหมู่

วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1877: จอห์น ดี. ลีถูกหน่วยยิงเป้าประหารชีวิตที่เมาน์เทนเมโดวส์

สงครามยูทาห์

กลาง ค.ศ. 1857 ผู้นำวิสุทธิชนยุคสุดท้ายได้ยินข่าวลือว่ารัฐบาลกลางอาจให้คนที่ทหารรัฐบาลกลางจำนวนมากหนุนหลังมาเป็นผู้ว่าการคนใหม่ของอาณาเขตยูทาห์แทนบริคัม ยังก์ ข่าวลือเหล่านี้ได้รับการยืนยันเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมจากชายฉกรรจ์วิสุทธิชนยุคสุดท้ายผู้เดินทางจากตะวันออกมาถึงซอลท์เลคซิตี้ (ดู Ronald W. Walker, Richard E. Turley Jr., and Glen M. Leonard, Massacre at Mountain Meadows: An American Tragedy [2008], 30) อับราฮัม สมูท, จัดสัน สตอดดาร์ด และออร์ริน พอร์เตอร์ ร็อคเวลล์มาถึงซอลท์เลคซิตี้วันที่ 23 กรกฎาคมพร้อมแจ้งข่าวว่ากองทัพกำลังประชิด วันรุ่งขึ้นพวกเขานำข่าวนี้ขึ้นไปที่บิกคอตตอนวูดแคนยอนซึ่งบริคัม ยังก์กับวิสุทธิชนจำนวนมากกำลังฉลองการเข้าสู่หุบเขาซอลท์เลคของผู้บุกเบิกครบ 10 ปี (ดู ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003], 394–395)

ประธานบริคัม ยังก์และผู้นำศาสนจักรคนอื่นๆ เชื่อว่ากองทหารรัฐบาลกลางที่กำลังประชิดมีเจตนาร้ายต่อวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1857 ผู้นำศาสนจักรประกาศแผนป้องกันหรือสกัดกั้นไม่ให้ทหารเข้าอาณาเขตยูทาห์ วันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1857 บริคัม ยังก์ประกาศกฎอัยการศึกในอาณาเขต ท่าน “สั่งให้กองทหารนอวูเตรียมรับการรุกรานด้วย ชุมชนยูทาห์เกือบทุกแห่งเร่งเตรียมการป้องกัน ท่านแนะนำอธิการในหมู่บ้านต่างๆ ด้วยว่าให้เตรียมเผาทุกอย่างหากทหารมีเจตนาร้ายจริง” (ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, 395)

สมาชิกกองทหารนอวู [ตั้งชื่อตามทหารบ้านของอาณาเขตยูทาห์] ถูกส่งไปรังควานกองทหารรัฐบาลกลางขณะพวกเขาเดินทัพใกล้ถึงอาณาเขต “[สมาชิกกองทหาร] วางเพลิงเผาเกวียนทั้งหมดเจ็ดสิบสี่เล่มที่บรรจุเสบียงมากพอจะเลี้ยงดูทหารกองใหญ่ได้นานสามเดือน พวกเขายึดปศุสัตว์หนึ่งพันสี่ร้อยตัวจากสองพันตัวที่มากับคณะสำรวจได้ด้วย” (ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, 399) ทั้งหมดนี้ทำให้ทหารรัฐบาลกลางเดินทัพช้าลงและป้องกันไม่ให้พวกเขาเข้ามาในหุบเขาซอลท์เลคจนถึงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1858

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1858 ประธานยังก์แนะนำให้วิสุทธิชนถอนถิ่นฐานทั้งหมดทางภาคเหนือของยูทาห์ วิสุทธิชน “ซ่อนก้อนหินทั้งหมดที่สกัดมาสร้างพระวิหารซอลท์เลค ปรับหน้าดิน และกลบฐานรากเพื่อให้ที่ดินดูคล้ายนาที่ถูกไถและยังไม่มีการเพาะปลูกใดๆ” (ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, 401) บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ในซอลท์เลคซิตี้เต็มไปด้วยฟางเผื่อไว้เผาสถานที่เหล่านั้นแทนที่จะให้กองทัพยึดครอง วิสุทธิชน 30,000 กว่าคนเดินทางไปโพรโวและเมืองอื่นๆ ทางภาคกลางและภาคใต้ของยูทาห์ที่ซึ่งสมาชิกศาสนจักรคนอื่นๆ ช่วยจัดหาที่พักให้และดูแลพวกเขา

ผู้นำศาสนจักรและผู้นำอาณาเขตในซอลท์เลคซิตี้แก้ปัญหาความขัดแย้งกับรัฐบาลสหรัฐผ่านการเจรจาสงบศึก ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1858 ผู้นำศาสนจักรต้อนรับอัลเฟรด คัมมิงก์ผู้ว่าการคนใหม่สู่ซอลท์เลคซิตี้ บริคัม ยังก์มอบบันทึกเกี่ยวกับอาณาเขตและตราประทับให้ผู้ว่าการคนใหม่และสร้างความสัมพันธ์ฉันมิตรกับเขา ต้นเดือนมิถุนายน ผู้ส่งสารของประธานาธิบดีเจมส์ บูคานันมาถึงซอลท์เลคซิตี้พร้อมข้อเสนอเรื่องการลดหย่อนโทษให้วิสุทธิชนยุคสุดท้าย ผู้นำศาสนจักรยอมรับข้อเสนอนี้ซึ่งพิสูจน์ว่ากองทหารนอวูไม่มีความผิดฐานจู่โจมขบวนเสบียงของกองทัพ วันที่ 26 มิถุนายน กองทัพเข้าเมืองหลวงที่เงียบสงัดและร้างผู้คนอย่างสงบ เพราะทหารไม่เข้าไปวุ่นวายกับทรัพย์สินของวิสุทธิชน วิสุทธิชนที่ยังอยู่ในเมืองจึงไม่เผาทำลายสิ่งปลูกสร้างตามคำขู่ของพวกเขา หลังจากอยู่ในเมืองสองสามวัน กองทัพไปตั้งด่านใหม่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของซอลท์เลคซิตี้ประมาณ 48 ไมล์ (77 กิโลเมตร) ซึ่งพวกเขาตั้งชื่อว่าค่ายฟลอยด์ วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1858 บริคัม ยังก์นำวิสุทธิชนกลับไปบ้านของพวกเขาทางภาคเหนือของยูทาห์ (ดู ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, 402–403

เกิดอะไรขึ้นกับลูกหลานผู้ย้ายถิ่นที่รอดชีวิตจากการสังหารหมู่

วิสุทธิชนยุคสุดท้ายบางคนรับดูแลลูกหลานผู้ย้ายถิ่นที่รอดชีวิตจากการสังหารหมู่ คริสต์ศักราช 1859 เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางส่งเด็กเหล่านี้กลับไปให้ญาติๆ ของพวกเขาในอาร์คันซอ

สมาชิกของขบวนเกวียนผู้ย้ายถิ่นวางยาพิษชาวอินเดียนแดงหรือไม่

ริชาร์ด อี. เทอร์ลีย์ จูเนียร์ผู้ช่วยผู้บันทึกและนักประวัติศาสตร์ศาสนจักรอธิบายว่า

ภาพ
ริชาร์ด อี. เทอร์ลีย์ จูเนียร์

“ประวัติยูทาห์ดั้งเดิมบางตอนเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เมาน์เทนเมโดวส์ยอมรับคำอ้างว่าการวางยาพิษส่งผลให้เกิดความขัดแย้งเช่นกัน—ว่าผู้ย้ายถิ่นชาวอาร์คันซอจงใจทำให้แหล่งน้ำจืดและซากวัวใกล้ฟิลมอร์กลางเมืองยูทาห์เป็นพิษ ส่งผลให้ชาวอินเดียนแดงในท้องที่ป่วยและเสียชีวิต ตามที่เรื่องนี้บอกกล่าว ชาวอินเดียนแดงจึงโกรธแค้นและติดตามผู้ย้ายถิ่นไปเมาน์เทนเมโดวส์ ที่ซึ่งพวกเขากระทำการโหดร้ายป่าเถื่อนด้วยตนเองอีกทั้งบีบบังคับผู้ตั้งถิ่นฐานวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่หวาดกลัวให้ร่วมโจมตีกับพวกเขา การค้นคว้าเชิงประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ถูกต้อง

“แม้จะจริงที่ว่าปศุสัตว์บางตัวของผู้ย้ายถิ่นตายระหว่างทาง รวมทั้งใกล้ๆ ฟิลมอร์ แต่ความตายเป็นผลสืบเนื่องจากโรคที่กระทบต่อฝูงปศุสัตว์ตามเส้นทางตัดผ่านของทศวรรษ 1850 มนุษย์ติดโรคจากสัตว์ที่ติดเชื้อผ่านแผลถูกของมีคมบาดหรือแผลเปื่อยหรือผ่านการกินเนื้อปนเปื้อน หากไม่มีความเข้าใจสมัยนี้ ผู้คนคงคิดว่าปัญหาเกิดจากการวางยาพิษ” (“The Mountain Meadows Massacre,” Ensign, Sept. 2007, 16)

การกระทำที่ไม่เหมาะสมของสมาชิกศาสนจักร

คำกล่าวต่อไปนี้ของของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุดจะช่วยให้เรารู้วิธีตอบสนองหากเรารู้ว่าผู้นำศาสนจักรทำผิด

ภาพ
ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

“พูดตามตรงคือมีหลายครั้งที่สมาชิกหรือผู้นำในศาสนจักรทำผิดพลาด อาจพูดหรือทำหลายสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยม หลักธรรม หรือหลักคำสอนของเรา

“ข้าพเจ้าคิดว่าศาสนจักรจะดีพร้อมได้ก็ต่อเมื่อดำเนินงานโดยผู้ที่ดีพร้อม พระผู้เป็นเจ้าทรงดีพร้อม และหลักคำสอนของพระองค์บริสุทธิ์ แต่พระองค์ทรงทำงานผ่านเรา—บุตรธิดาผู้ไม่ดีพร้อมของพระองค์—และคนที่ไม่ดีพร้อมย่อมทำผิดพลาด …

“นี่คือวิถีที่เป็นมาโดยตลอดและจะเป็นจนกว่าจะถึงวันที่สมบูรณ์เมื่อพระคริสต์ทรงปกครองแผ่นดินโลกด้วยพระองค์เอง

“น่าเสียดายที่บางคนสะดุดเพราะความผิดพลาดของมนุษย์ แต่ทั้งที่เป็นเช่นนี้ ความจริงนิรันดร์ของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายมิได้มัวหมอง เสื่อมถอย หรือเสียหายแต่อย่างใด” (“เชิญมาร่วมกับเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 22–23)

การสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์ที่ Gospel Topics บน LDS.org และค้นหา “Mountain Meadows Massacre