เซมินารี
บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน: โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:1–65; หลักคำสอนและพันธสัญญา 2 (หน่วย 2)


บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:1–65; หลักคำสอนและพันธสัญญา 2 (หน่วย 2)

เนื้อหาเตรียมสอนสำหรับครูภาคการศึกษาที่บ้าน

บทสรุปของบทเรียนภาคการศึกษาที่บ้านประจำวัน

บทสรุปต่อไปนี้ของเหตุการณ์ หลักคำสอน และหลักธรรมที่นักเรียนเรียนรู้ขณะศึกษา โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:1–65 และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 2 (หน่วย 2) ไม่ได้มีเจตนาจะให้สอนในบทเรียนของท่าน บทเรียนที่ท่านสอนเน้นเฉพาะหลักคำสอนและหลักธรรมเหล่านี้เพียงไม่กี่ข้อ จงทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขณะพิจารณาความต้องการของนักเรียน

วันที่ 1 (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:1–20)

นักเรียนเรียนรู้จากประสบการณ์ของโจเซฟ สมิธขณะพยายามเรียนรู้ว่านิกายใดถูกต้อง และหากเราทูลถามพระผู้เป็นเจ้าด้วยศรัทธา พระองค์จะทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของเรา พวกเขาเน้นความจริงว่าโจเซฟ สมิธเห็นพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ จากประสบการณ์ของโจเซฟ สมิธ นักเรียนเรียนรู้เช่นกันว่าพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระเยซูคริสต์ทรงพระชนม์ พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงเป็นรูปกายแยกจากกันชัดเจน นอกจากนี้ นักเรียนยังค้นพบด้วยว่าหากเราตั้งใจแสวงหาความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้าเมื่อซาตานพยายามทำให้เราท้อแท้ พระผู้เป็นเจ้าจะทรงปลดปล่อยเราได้

วันที่ 2 (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:21–26)

นักเรียนเรียนรู้จากประสบการณ์ของโจเซฟ สมิธว่าในยามยากเราสามารถดึงพลังมาจากแบบอย่างของผู้เปี่ยมด้วยศรัทธาในพระคัมภีร์ การศึกษาว่าโจเซฟ สมิธรับมือกับการข่มเหงที่ท่านเผชิญหลังจากเห็นนิมิตแรกอย่างไรทำให้นักเรียนได้เรียนรู้หลักคำสอนและหลักธรรมที่สามารถช่วยพวกเขาได้เมื่อพวกเขาประสบการต่อต้านเพราะประจักษ์พยานของพวกเขา นอกจากนี้ นักเรียนยังเรียนรู้ด้วยว่าเราจะมีประจักษ์พยานเกี่ยวกับความจริงของพระคัมภีร์ได้โดยปฏิบัติหลักธรรมที่สอนในนั้น

วันที่ 3 (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:27–54; หลักคำสอนและพันธสัญญา 2)

โจเซฟ สมิธปรารถนาจะรู้ฐานะของท่านต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า ท่านยอมรับความผิดพลาดและความอ่อนแอของตนและรู้สึกเสียใจ เฉกเช่นโจเซฟ สมิธ เมื่อเรายอมรับบาปของเราและรู้สึกเสียใจเพราะบาปเหล่านั้น เราสามารถสวดอ้อนวอนขอการให้อภัยจากพระบิดาบนสวรรค์ได้ นักเรียนศึกษาการเยือนโจเซฟ สมิธของโมโรไนและเรียนรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงมีงานให้โจเซฟ สมิธทำซึ่งจะแผ่ขยายไปทั่วแผ่นดินโลก งานนี้รวมถึงเอลียาห์นำอำนาจการผนึกกลับมาแผ่นดินโลกก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์ด้วย

วันที่ 4 (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:55–65)

นักเรียนไตร่ตรองสัญญาที่โมโรไนให้แก่โจเซฟ สมิธว่าพระเจ้าจะทรงคุ้มครองแผ่นจารึก และพวกเขาเรียนรู้ว่าเมื่อเรารับผิดชอบและปกปักรักษาสิ่งซึ่งพระเจ้าประทานแก่เรา พระเจ้าจะประทานความคุ้มครองและความช่วยเหลือ เมื่อนักเรียนศึกษาเรื่องที่มาร์ติน แฮร์ริสนำสำเนาอักขระบนแผ่นจารึกทองคำและงานแปลไปให้ศาสตราจารย์แอนธันกับ ดร. มิทเชลล์ดู พวกเขาเรียนรู้ว่าคำพยากรณ์ของผู้รับใช้พระเจ้าจะบังเกิดขึ้น

คำนำ

บทนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจนิมิตแรกของโจเซฟ สมิธลึกซึ้งขึ้น อีกทั้งจะให้โอกาสพวกเขาได้เรียนรู้ว่าต้องพยายามแสวงหาคำตอบของคำถามและเห็นคุณค่าบทบาทของตนในการเรียนพระกิตติคุณ นักเรียนจะเรียนรู้วิธีเสริมสร้างศรัทธาของตนต้านการข่มเหงและการต่อต้านที่พวกเขาอาจประสบ

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:5–20

พระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ทรงปรากฏต่อโจเซฟ สมิธ

ขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาปรารถนาคำตอบของคำถามทางวิญญาณหรือคำถามที่เกี่ยวข้องกับพระกิตติคุณ จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • ท่านทำอะไรเพื่อหาคำตอบสำหรับคำถามของท่าน

เตือนความจำนักเรียนว่าโจเซฟ สมิธอายุเท่านักเรียนเซมินารีหลายคนเมื่อท่านสนใจคำถามสำคัญและเริ่มค้นหาคำตอบ แม้ประสบการณ์ของโจเซฟจะไม่เหมือนใคร แต่เหตุการณ์ที่นำไปสู่ประสบการณ์นั้นเป็นแบบฉบับที่เราแต่ละคนทำตามได้เพื่อรับความช่วยเหลือและคำตอบจากพระผู้เป็นเจ้า

ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลี “ผมเรียนรู้ด้วยตนเอง” ใน โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:20

แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละสองหรือสามคน ขอให้แต่ละกลุ่มอ่าน โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:8, 11–12, 14–15 โดยมองหาสิ่งที่โจเซฟ สมิธทำเพื่อได้รับคำตอบสำหรับคำถามของท่าน เชื้อเชิญให้แต่ละกุล่มส่งตัวแทนคนหนึ่งออกมาเขียนองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่กลุ่มของตนพบไว้บนกระดาน บอกชั้นเรียนว่าไม่ต้องคัดลอกข้อใดบนกระดาน หากนักเรียนหาสิ่งที่โจเซฟทำไม่เจอ ท่านอาจจะช่วยพวกเขาโดยเสนอแนะบางอย่างดังนี้: โจเซฟใคร่ครวญ (คิด) อย่างจริงจัง เข้าร่วมการประชุมของศาสนจักร ศึกษาคำสอนของนิกายต่างๆ ศึกษาพระคัมภีร์ สวดอ้อนวอนด้วยความตั้งใจแน่วแน่

ถามคำถามต่อไปนี้

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากโจเซฟ สมิธเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องทำเพื่อเรียนรู้เรื่องทางวิญญาณ (ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: การเรียนรู้ทางวิญญาณเรียกร้องความพยายามในส่วนของเรา ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเราจึงจำเป็นต้องพยายามทุ่มเทเรียนรู้ความจริงทางวิญญาณ

  • การประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้จะช่วยท่านได้อย่างไรในการศึกษาพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาของท่านปีนี้

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:16–17 ขอให้ชั้นเรียนดูพระคัมภีร์ตามและมองหาสิ่งที่โจเซฟ สมิธประสบเมื่อท่านพยายามทุ่มเทให้ได้ความรู้

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 17 โจเซฟ สมิธเห็นใคร (พึงกล่าวชัดเจนว่า โจเซฟ สมิธเห็นพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์)

  • ท่านเรียนรู้อะไรระหว่างนิมิตนี้เกี่ยวกับพระอติรูปสองพระองค์นี้

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความต่อไปนี้จากประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธผู้อธิบายความสำคัญของนิมิตแรก

ภาพ
ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ

“เหตุการณ์ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในโลกนับแต่การฟื้นคืนพระชนม์ของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าจากอุโมงค์และการเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ของพระองค์คือการที่พระบิดาและพระบุตรเสด็จมาปรากฏต่อหน้าเด็กหนุ่มโจเซฟ สมิธ” (Gospel Doctrine, 5th ed. [1939], 495)

  • ท่านรู้สึกว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องมีประจักษ์พยานว่าพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงปรากฏต่อโจเซฟ สมิธจริงๆ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:18–20 ขอให้นักเรียนหาสิ่งที่โจเซฟ สมิธเรียนรู้ด้วยตนเองเพราะท่านพยายามปฏิบัติด้วยศรัทธา จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • โจเซฟ สมิธเรียนรู้อะไรด้วยตนเอง

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรบ้างจากประสบการณ์ของโจเซฟ สมิธเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้เมื่อเราศึกษาพระคำของพระผู้เป็นเจ้าและปฏิบัติตามที่เราอ่าน (คำตอบอาจรวมถึงความจริงต่อไปนี้: หากเราศึกษาพระคำของพระผู้เป็นเจ้าอย่างขยันหมั่นเพียรและปฏิบัติด้วยศรัทธา เมื่อนั้นเราจะรู้ความจริงของพระกิตติคุณด้วยตัวเราเอง ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดานและเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนไว้ตรงช่องว่างริมหน้าพระคัมภีร์ของพวกเขา)

  • ความจริงนี้อาจจะช่วยเพื่อนหรือสมาชิกครอบครัวผู้มีคำถามเกี่ยวกับพระกิตติคุณได้อย่างไร

  • ความจริงนี้อาจจะช่วยท่านตอบคำถามหรือไขข้อกังวลของท่านได้อย่างไร

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:20–65; หลักคำสอนและพันธสัญญา 2

โจเซฟ สมิธแต่งงานกับเอ็มมา เฮล รับแผ่นจารึกทองคำ และเริ่มแปล

ขอให้นักเรียนทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นกับโจเซฟ สมิธหลังจากนิมิตแรกของท่าน พวกเขาพึงเข้าใจว่าท่านศาสดาพยากรณ์ประสบการข่มเหงอย่างรุนแรงหลังจากบอกคนอื่นๆ เรื่องนิมิต เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่านช่วงท้ายๆ ของ โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:20 ด้วยตนเอง เริ่มที่วลี “ดูเหมือน…” จากนั้นถามนักเรียนด้วยคำถามต่อไปนี้:

  • ตามคำกล่าวของโจเซฟ สมิธ เหตุใดเขาจึงประสบการข่มเหงอย่างหนักทั้งที่อายุยังน้อย (การข่มเหงมาจากอิทธิพลของซาตานเพราะเขาทราบดีว่าโจเซฟ สมิธจะเป็น “ผู้ก่อกวนและผู้ก่อความรำคาญให้อาณาจักรของ [ซาตาน]”)

  • สถานการณ์ใดบ้างในปัจจุบันที่ท่านหรือคนอื่นๆ รู้ว่าอาจจะประสบการข่มเหง

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:24–25 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุว่าเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้มีพลังในยามยากลำบาก

  • เราจะทำอะไรได้บ้างในยามยากลำบากเพื่อให้มีพลังที่เปี่ยมด้วยศรัทธา (นักเรียนอาจให้คำตอบต่างกัน พวกเขาพึงระบุหลักธรรมต่อไปนี้: ในยามยากลำบากเราสามารถดึงพลังมาจากแบบอย่างของผู้เปี่ยมด้วยศรัทธาในพระคัมภีร์ ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดานและเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนไว้ตรงที่ว่างริมหน้าพระคัมภีร์ของพวกเขา)

เชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวน โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:24–25 โดยมองหาคำหรือวลีที่อาจจะทำให้พวกเขากล้าหรือมีพลังทำสิ่งถูกต้องในเวลาที่มีการข่มเหง หลังจากนักเรียนรายงานวลีที่พบแล้ว ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายวลี “ข้าพเจ้าเห็นนิมิต; ข้าพเจ้ารู้เรื่องนี้, และข้าพเจ้ารู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงทราบเรื่องนี้, และข้าพเจ้าไม่สามารถปฏิเสธเรื่องนี้ได้”

ถามนักเรียนดังนี้

  • วลีนี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับประจักษ์พยานของโจเซฟ สมิธเรื่องนิมิตแรก

  • วลีนี้จะช่วยท่านได้อย่างไรเมื่อมีคนท้าทายประจักษ์พยานของท่านหรือข่มเหงท่านเพราะความเชื่อของท่าน

สรุปบทเรียนนี้โดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับหลักธรรมที่สนทนาในบทเรียน เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันประสบการณ์หรือความรู้สึกของพวกเขาเกี่ยวกับความจริงเหล่านี้

หน่วยถัดไป (หลักคำสอนและพันธสัญญา 3–7; 10; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:66–67)

พระคัมภีร์มอรมอน 116 หน้าแรกที่โจเซฟ สมิธแปลสูญหายและไม่ได้คืนอย่างไร เมื่อนักเรียนศึกษาหน่วยถัดไปพวกเขาจะเรียนรู้เกี่ยวกับมาร์ติน แฮร์ริส และต้นฉบับที่หาย พวกเขาจะเรียนรู้คำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่ผู้ปรารถนาจะรับใช้พระผู้เป็นเจ้าเช่นกัน